อดทนรอเพื่อกำไร - Forbes Thailand

อดทนรอเพื่อกำไร

FORBES THAILAND / ADMIN
22 Feb 2023 | 08:30 AM
READ 2038

Chua Thian Poh สร้างความแข็งแกร่งให้กับ Ho Bee Land ด้วยการประกาศขายคอนโดมิเนียมใน Sentosa Cove ได้ถูกที่ถูกเวลา ประกอบกับการเดินเกมการค้าที่สร้างกระแสเงินสดและมองหาข้อตกลงธุรกิจในต่างประเทศ


​    เมื่อพูดถึงวิสัยทัศน์ระยะยาวในโครงการของตนเองแล้ว นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จำนวนมากไม่ได้จริงจังอะไรมากนัก แต่ไม่ใช่กับ Chua Thian Poh ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการ Ho Bee Land บริษัทอสังหาริมทรัพย์ในสิงคโปร์ 

    เขาต้องรอนานถึง 9 ปี ถึงได้เจอจังหวะเหมาะๆ ที่จะเริ่มขายห้องชุดในโครงการ Cape Royale ซึ่งมีทั้งสิ้น 302 ยูนิต โครงการดังกล่าวพัฒนาขึ้นเมื่อปี 2013 ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง Ho Bee และ IOI Properties จากมาเลเซีย ตั้งอยู่ในย่านหรูหราอย่าง Sentosa Cove

    เขาเพิ่งเริ่มเปิดรับข้อเสนอไปเมื่อเดือนกรกฎาคม และสามารถขายได้ทันที 25 ยูนิต และยังคงทำยอดขายได้ดีอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยขายได้อีก 10 ยูนิต อะพาร์ตเมนต์ขนาด 3 ห้องนอนมีราคากลางๆ อยู่ที่ 4 ล้านเหรียญสิงคโปร์ (2.85 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ส่วนห้องพักขนาด 4 ห้องนอนราคาเริ่มต้น 5.5 ล้านเหรียญสิงคโปร์ 

    แม้จะวัดด้วยมาตรฐานเหนือระดับแห่ง Sentosa Cove ซึ่งเป็นย่านพิเศษที่สุดแห่งหนึ่งของสิงคโปร์แล้ว ทำเลฝั่งไกลของ Cape Royale ก็ยังนับว่ามีทิวทัศน์ดีที่สุดแห่งหนึ่ง ด้วยพื้นที่ติดกับท่าจอดเรือทำให้เจ้าของห้องสามารถนำเรือยอชต์เข้ามาจอด และพักผ่อนกันในคลับที่ให้บริการเฉพาะสมาชิก

    “เราว่ามันเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่พิเศษไม่เหมือนใคร” Nicholas Chua ซีอีโอ Ho Bee Land และบุตรชายคนโตของผู้ก่อตั้งบริษัทกล่าว ขณะนั่งเคียงข้างคุณพ่อในอะพาร์ตเมนต์หนึ่งที่ Cape Royale “แค่ต้องรอให้ถึงเวลาที่ใช่” 

    สองพ่อลูกตัดสินใจกลับมาขายอสังหาริมทรัพย์อีกครั้งเพราะสิงคโปร์กำลังเติบโตอย่างมีชีวิตชีวาหลังยุคโควิด โดยมี GDP เติบโตถึง 8% ในปี 2021 และคาดว่า ปี 2022 จะเติบโตอีกเกือบ 4% ขับเคลื่อนราคาอสังหาริมทรัพย์ทั่วประเทศให้พุ่งทะยาน รวมถึงที่ Sentosa Cove

    ย้อนกลับไปเมื่อปี 2013 Ho Bee เลื่อนกำหนดการเปิดขาย Cape Royale รวมทั้งยูนิตที่เหลือในโครงการอีก 2 แห่ง หลังจากที่ราคาปรับลดลงกว่า 30% จากจุดสูงสุดเมื่อปี 2010 อสังหาริมทรัพย์ในย่านนี้เคยขายกันกว่า 2,300 เหรียญสิงคโปร์ต่อตารางฟุต 

    นับตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมารัฐบาลประกาศใช้มาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมราคาที่แพงทะลุเพดาน ส่งผลให้ราคาลดลงในที่สุด แต่ Ho Bee ไม่ยอมรับราคาที่ถูกกดต่ำขนาดนั้น เขาจึงหันมาปล่อย Cape Royale ให้เช่าแทน Nicholas บอกว่า รายได้จากการเช่านำมาหักต้นทุนจากการถืออสังหาริมทรัพย์ไว้ตลอดทศวรรษที่ผ่านมาได้อย่างเหลือเฟือ

    จนถึงวันนี้สองพ่อลูกยังคงไม่รีบขายอาคารชุดเพราะส่วนใหญ่มีผู้เช่าอยู่แล้ว Nicholas บอกว่า ที่ Cape Royale มีผู้เช่ากว่า 90% นอกจากนี้ เกือบ 30% ของผู้ซื้อ Cape Royale ยังเป็นผู้เช่าปัจจุบันที่ตัดสินใจซื้อที่พักอาศัยของตนเอง ขณะที่ผู้ซื้ออีกหลายคนกำลังรอให้สัญญาเช่าหมดอายุ

    ข้อมูลที่รวบรวมจาก Urban Redevelopment Authority แสดงให้เห็นว่า แม้ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ Sentosa Cove ยังไม่สามารถกลับคืนสู่จุดสูงสุดเมื่อปี 2010 ได้ และอย่างน้อยมันก็ไม่ใช่ตอนนี้ 

    แต่ปัจจุบันที่อยู่อาศัยในย่านนี้ซื้อขายกันที่ราคาเฉลี่ยเกือบ 1,900 เหรียญสิงคโปร์ต่อตารางฟุต เพิ่มขึ้นจากราคาไม่ถึง 1,500 เหรียญสิงคโปร์ต่อตารางฟุตในช่วงวิกฤตโรคระบาดเมื่อปี 2020 ขณะที่ Ho Bee เผยว่า ห้องชุดใน Cape Royale บางยูนิตทำราคาได้กว่า 2,200 เหรียญสิงคโปร์ต่อตารางฟุต เกือบเท่าราคา ณ จุดสูงสุดเลยทีเดียว

    Ho Bee มีโครงการก่อสร้างทั้งหมด 8 โครงการ หรือเกินกว่าครึ่งหนึ่งของที่พักอาศัยทั้งหมดในย่านนี้ ปัจจุบัน Sentosa Cove มีที่พักทั้งในรูปแบบบ้านและอาคารชุด 2,150 รายการ 

    “เราลงทุนสร้างที่พักริมทะเลที่ Sentosa Cove ซึ่งสร้างผลตอบแทนได้ดีเหลือเชื่อ” Chua กล่าวไว้ในสารจากประธานกรรมการในรายงานประจำปีของ Ho Bee เมื่อปี 2006 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกลยุทธ์ที่ประสบความสำเร็จของ Sentosa ในปีนั้น Ho Bee มีมูลค่าตามราคาตลาดสูงกว่า 1 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ สูงกว่าเมื่อครั้งที่พวกเขาเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี 1999 ถึง 4 เท่าตัว

    กลยุทธ์ที่ Sentosa คือตัวอย่างแนวทางหนึ่งที่ Chua ผู้เป็นพ่อนำมาใช้ตลอดทศวรรษที่ผ่านมาเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับ Ho Bee จากบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ทรงเกียรติ แต่มุ่งเน้นการดำเนินกิจการภายในประเทศ กลายเป็นธุรกิจที่มีทรัพย์สินสร้างกระแสเงินสดอย่างแข็งแกร่ง สามารถขยายฐานธุรกิจในต่างประเทศเพิ่มขึ้น 

    แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อจำนองจะเพิ่มขึ้นจนอาจกระทบต่อความต้องการอสังหาริมทรัพย์หรู แต่ Nicholas บอกว่า เขายังคงมองโลกในแง่ดีว่า ยอดขายที่ Sentosa Cove จะยังคงไปได้อยู่ เนื่องจากกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพล้วน “ร่ำรวย” และได้รับผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยน้อยกว่า

    “จริงๆ แล้วเรากลับยิ่งมั่นใจในโอกาสของ Sentosa Cove” Nicholas กล่าว “สิงคโปร์ต้านทานวิกฤตโรคระบาดได้เป็นอย่างดี และด้วยบรรยากาศทางการเมืองที่มั่นคงเราจะสามารถดึงดูดคนจากทั่วโลกได้มากมายอย่างต่อเนื่อง”

ความคิดบวกของเขากว้างไกลไปถึงจีน แม้ว่ายอดขายบ้านจะลดลงท่ามกลางวิกฤตหนี้สินรุมเร้าบรรดานักพัฒนารายใหญ่ แต่ ณ เดือนธันวาคม ปี 2021 Ho Bee มีมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ในจีนคิดเป็นประมาณ 7% ของมูลค่าอสังหาริมทรัพย์รวมของบริษัทซึ่งอยู่ที่ 6.6 พันล้านเหรียญสิงคโปร์ 

    Ho Bee พัฒนาโครงการต่างๆ ในจีนร่วมกับ Yanlord Land Group ของเศรษฐีพันล้าน Zhong Sheng Jian และยังขายดิบขายดี Nicholas บอกว่า นั่นแปลได้ว่า สถานการณ์ที่ไม่สู้ดีนักในจีนแผ่นดินใหญ่ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อ Ho Bee มากนัก 

    ในทางเดียวกันเขาไม่ได้กังวลกับความต้องการที่อยู่อาศัยที่แผ่วบางลงในออสเตรเลีย ซึ่งคิดเป็น 3% ของธุรกิจในกลุ่มบริษัท เช่นกัน “เราคาดว่าในที่สุดความต้องการจะเพิ่มขึ้น”

    เวลานี้กำไรของ Ho Bee มาจากสองเครื่องยนต์ที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโต นั่นก็คือการกลับมาขายอสังหาริมทรัพย์ที่ Sentosa Cove และรายได้จากการเช่าที่เพิ่มขึ้นจากการที่กลุ่มบริษัทขยายทรัพย์สินจำพวกสำนักงานใน London และสิงคโปร์ 

    จากรายงานของบริษัทเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2022 ระบุว่า ในครึ่งปีแรกของปี 2022 บริษัทมีกำไรสุทธิ 150 ล้านเหรียญสิงคโปร์ เพิ่มขึ้นจากปี ก่อนหน้านั้นถึง 42% หลังจากที่กำไรสุทธิเติบโตกว่าเท่าตัวมาอยู่ที่ 331 ล้านเหรียญสิงคโปร์ในปี 2021 ในรอบ 6 เดือนแรกของปี 2022 บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้น 13% มาอยู่ที่ 178 ล้านเหรียญสิงคโปร์

     สะท้อนให้เห็นรายได้ก้อนแรกจากการให้เช่า The Scalpel อาคารสำนักงานหรูใน London ที่บริษัทเพิ่งซื้อมาหมาดๆ บวกกับการขายอะพาร์ตเมนต์ที่ Sentosa Cove

    เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2021 บริษัทเดินทางไปเยี่ยมชม The Scalpel ตึกระฟ้าความสูง 36 ชั้นในย่านการเงินของ London และเพียง 4 เดือนหลังจากนั้นพวกเขาก็จัดการซื้อมาเสร็จสิ้นในราคา 718 ล้านปอนด์ (850 ล้านเหรียญ) 

    ในเดือนมีนาคม ปี 2022 ซึ่งถือเป็นจังหวะเวลาพอเหมาะพอเจาะเลยทีเดียว JLL บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์เผยแพร่ผลการวิจัยพบว่า การเช่าอาคารสำนักงานใน London จะปรับตัวเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 3% ตลอดระยะเวลา 5 ปีข้างหน้าเนื่องจากจำนวนอาคารสำนักงานหรู ในเมืองใหญ่แห่งนี้มีอยู่อย่างจำกัด

    ปัจจุบันอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ใน London และสิงคโปร์คิดเป็นสัดส่วน 77% ของสินทรัพย์กลุ่มบริษัท ในปี 2021 Ho Bee มีรายได้จากการเช่า 224 ล้านเหรียญสิงคโปร์ หรือเพิ่มขึ้นกว่า 20 เท่าตัวในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา 

    นอกจากนี้ บริษัทกำลังพัฒนาคอมเพล็กซ์สำนักงานแห่งที่ 2 ในสิงคโปร์ที่มีชื่อว่า Elementum ตั้งอยู่ที่ Biopolis ซึ่งเป็นศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อชีวิตในเขต Buona Vista ทางตะวันตกของสิงคโปร์ มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2023 โดยจะตั้งอยู่ติดกับอาคาร The Metropolis ของบริษัทเช่นกัน อาคารแห่งนี้เป็นที่ทำงานของบริษัทจากนานาประเทศ ไม่ว่าจะเป็น Shell รวมถึง General Electric 

    “อาคารสำนักงานใหม่ๆ ของสิงคโปร์มีอยู่ไม่มากนัก ประกอบกับการเติบโตของเศรษฐกิจในทิศทางบวกทำให้การเช่าสำนักงานน่าจะยังคงเติบโตต่อไปในปี 2023 และในอนาคต” Tricia Song หัวหน้าฝ่ายวิจัยประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ CBRE ในสิงคโปร์กล่าว

    Chua วัย 74 ปี ยังคงรายงานตัวต่อบริษัททุกวัน เขาทยอยมอบหมายอำนาจหน้าที่ให้ลูกชายคนโตที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นซีอีโอ เมื่อเดือนมกราคม ปี 2022 “Nicholas ได้รับการฟูมฟักเพื่อเข้ามารับตำแหน่งนี้” Chua กล่าวพร้อมยิ้ม “เขาทำงานให้บริษัทมา 20 ปีผ่านวัฏจักรทั้งดีและร้ายในตลาดอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลกมาแล้วก็หลายครั้ง”

Nicholas Chua ซีอีโอ Ho Bee Land (ยืน) และพ่อของเขา Chua Thian Poh

     Chua ลาออกจากโรงเรียนอาชีวศึกษาตอนอายุได้ 16 ปี เขายืมเงินคุณแม่ 15,000 เหรียญสิงคโปร์เพื่อเปิดธุรกิจผลิตตะขอและเดือยให้กับบริษัทตัดและค้าไม้ ต่อมาเขาเดินทางไปยังอินโดนีเซียเพื่อซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ 

    ซึ่งในที่สุดก็ทำให้เขาได้ทุนมาเริ่มต้นกิจการอสังหาริมทรัพย์ในสิงคโปร์เมื่อปี 1987 ปัจจุบัน Chua เป็นเจ้าของหุ้นส่วนใหญ่ของ Ho Bee ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หุ้นในส่วนนี้บวกกับสินทรัพย์นอกตลาดอื่นๆ ทำให้เขามีทรัพย์สินสุทธิ 1.5 พันล้านเหรียญ ขยับ 6 อันดับขึ้นสู่อันดับ 28 ของทำเนียบ Singapore’s 50 Richest

    อย่างไรก็ตามเส้นทางสำหรับ Chua ลูกชายวัย 46 ปี ราบรื่นกว่านั้น หลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาด้านการเงินและการตลาดจาก University of Oregon เขาได้ร่วมงานกับ DBS Group ก่อนย้ายมา Ho Bee ในปี 2002 

    และรับตำแหน่งรองซีอีโอในปี 2018 Nicholas รับหน้าที่ผู้นำการขยายกิจการในต่างประเทศ ดำเนินโครงการต่างๆ ในออสเตรเลียและจีน พร้อมกับเพิ่มการลงทุนในสหราชอาณาจักร (คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 40% ของสินทรัพย์รวมของกลุ่มบริษัท) 

    ในขณะที่ครุ่นคิดถึงอนาคตของ Ho Bee ไปด้วยนั้น Nicholas นึกถึงคำแนะนำของพ่อ “พ่อมองการณ์ไกลกว่าคนอื่น และมีวิสัยทัศน์ก้าวไกล เห็นสิ่งต่างๆ ที่คนอื่นมองไม่เห็น”

เรื่อง: JONATHAN BURGOS และ GLORIA HARAITO เรียบเรียง: รัน-รัน

 
ภาพ: NICKY LOH, DARREN SOH/BLOOMBERG, COURTESY OF HO BEE LAND, COURTESY OF HO BEE LAND


อ่านเพิ่มเติม: Susan Wojcicki ลงจากตำแหน่ง ซีอีโอ YouTube


คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมกราคม 2566 ในรูปแบบ e-magazine