"Chailease Holding" ธุรกิจลีสซิ่งแถวหลัง ก้าวผงาดขึ้นในเอเชีย - Forbes Thailand

"Chailease Holding" ธุรกิจลีสซิ่งแถวหลัง ก้าวผงาดขึ้นในเอเชีย

FORBES THAILAND / ADMIN
23 Dec 2020 | 11:21 AM
READ 4752

มหาเศรษฐี Andre Koo เข้าบริหาร Chailease Holding บริษัทชั้นสองในอาณาจักรการเงินของครอบครัวแล้วเปลี่ยนให้กลายเป็นธุรกิจลีสซิ่งยักษ์ใหญ่ของภูมิภาค

ในปี 1997 Andre Koo เข้าไปนั่งเป็นหัวเรือใหญ่ของ Chailease Holding บริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ของไต้หวัน ที่ก่อตั้งเมื่อปี 1977 โดย Jeffrey Koo Sr. บิดาผู้ล่วงลับของเขาจากเป็นบริษัทไม่ทำเงินในธุรกิจการเงินอย่างมั่นคงให้กับตระกูล Koo เขาได้เปลี่ยน Chailease ให้กลายเป็นหนึ่งในบริษัทลีสซิ่งที่เติบโตเร็วที่สุดของเอเชีย ราคาหุ้นของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้น 7 เท่าในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา จนกลายเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าตามราคาตลาดที่ 5.5 พันล้านเหรียญ ความลับสู่ความเติบโตของบริษัทที่มียอดขายต่อปีที่ 1.7 พันล้านเหรียญคือ การเข้าหาธุรกิจที่มีขนาดเล็กเกินไปหรือเฉพาะตัวเกินไปที่ธนาคารจะยอมให้สินเชื่อ “เราเก่งมากในการหาตลาดเฉพาะกลุ่ม” Koo วัย 52 ปีกล่าว เขาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ Chailease และเป็นหนึ่งในผู้อำนวยการบริหารของบริษัท “เรามั่นใจมากว่า เราจะสามารถจัดการความเสี่ยงในธุรกิจสำหรับกลุ่มตลาดดังกล่าวได้เป็นอย่างดี” ปีที่แล้ว Chailease ได้เข้าไปอยู่ในทำเนียบ Best Over A Billion ของ Forbes (ที่เพิ่งเปิดตัวครั้งแรก) ทำเนียบนี้รวบรวมบริษัทยอดขาย 1 พันล้านเหรียญหรือมากกว่า ที่มีผลการดำเนินงานดีที่สุด 200 แห่งของภูมิภาค “ที่ผ่านมา Chailease มีผลงานที่โดดเด่นและแข็งแกร่ง” Ken Shih นักวิเคราะห์จาก DBS Research ของฮ่องกงกล่าว ผลประกอบการของ Chailease ใน 3 ไตรมาสแรกของปี 2019 ซึ่งได้รับการเปิดเผยเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาอยู่ที่ 1.2 หมื่นล้านเหรียญไต้หวัน (386 ล้านเหรียญ) จากรายได้ 4.3 หมื่นล้านเหรียญไต้หวัน ในช่วง 1980 Chailease ได้ให้บริการเช่าซื้ออุปกรณ์การก่อสร้างแก่บริษัทชั้นนำที่มีบทบาทในการพัฒนาอุตสาหกรรมของไต้หวัน จากนั้น Chailease ก็ได้ปล่อยเช่าอีกหลายสิ่งตั้งแต่รถยนต์และเครื่องบิน ไปจนถึงอุปกรณ์ครัวและเรือแก่บริษัทเหล่านี้ ซึ่งในขณะนั้นกำลังเร่งการขยายธุรกิจไปยังหลายประเทศในเอเชียตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา Chailease ได้สะสมสิ่งที่ในปัจจุบันเรียกว่า Big Data ในทุกอุตสาหกรรมที่บริษัทให้การอุดหนุนด้านการเงิน “ความแข็งแกร่งของบริษัทอยู่ที่ข้อมูลที่เก็บรวบรวมมา 30 ปี ซึ่งได้ช่วยให้บริษัทสามารถปรับปรุงโมเดลความเสี่ยงภายในได้” Shih กล่าว ถึงตอนนี้ Koo พร้อมแล้วที่จะใช้ความรู้ความเข้าใจเหล่านั้นในการขยายธุรกิจของ Chailease ในจีนแผ่นดินใหญ่ซึ่งมีมูลค่ามหาศาลอยู่แล้ว แม้จะเจอกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และจำนวนบริษัทผิดนัดชำระหนี้มีมากขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2019 จำนวนเงินที่ Chailease ปล่อยกู้ในจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 26 เป็น 1.31 แสนล้านเหรียญไต้หวัน (4.4 พันล้านเหรียญ) เป็นการเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 ใน 3 ของเงินให้สินเชื่อทั้งหมดเกือบ 1.3 หมื่นล้านเหรียญของพอร์ต “ธุรกิจเราอาจชะลอตัวลงเล็กน้อยเพราะวิกฤตโรคระบาด” Kevin Liao รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโสของ Chailease กล่าว แม้สำนักงานของ Chailease ใน Wuhan จะปิดตัวลงชั่วคราว “เรายังคาดหมายการเติบโตในจีน 10-20 ปีจากนี้อย่างไม่ต้องสงสัย” เขากล่าว Chailease เป็นเพียงชิ้นส่วนเล็กๆ ของฟันเฟืองธุรกิจขนาดมหึมาของครอบครัวที่บุกเบิกเมื่อกว่าศตวรรษก่อน โดย Koo Hsien-jung ปู่ทวดของ Koo โดยเพชรเม็ดงามของกลุ่มธุรกิจคือ ธนาคาร CTBC ที่ก่อตั้งโดย Jeffrey Sr. พ่อของ Koo ในปี 1966  

ปั่นธุรกิจลิซซิ่งของครอบครัว

Koo เดินตามรอยเท้าของพ่อในการคว้าปริญญาโทสาขาบริหารธุรกิจจากวิทยาลัย Stern แห่ง New York University ในปี 1994 เมื่อเรียนจบเขาอยู่ใน New York ต่อเพื่อทำงานที่บริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์ Colony Capital เป็นเวลา 1 ปี “Thomas Barrack (ผู้ก่อตั้ง) ได้แสดงให้ผมเห็นวิธีการทำงาน และทำให้ผมตื่นเต้นกับงานด้านอสังหาริมทรัพย์” Koo กล่าว “มันเป็นสิ่งที่หล่อหลอมความต้องการของผม” Koo ออกจาก Colony เพื่อไปดูแลการลงทุนของครอบครัวในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงโรงแรม Hilton และ Radisson ทั่วประเทศ “ตอนนั้นเป็นช่วงชีวิตที่สนุกที่สุดของผม” เขากล่าวถึงงานในอุตสาหกรรมการบริการที่เขาทำอยู่ 2 ปี อย่างไรก็ดีในปี 1996 Jeffrey Sr. ได้เรียกตัวลูกชายคนเล็กกลับไต้หวันเพื่อมาทำงานที่ Chailease บริษัทที่ย่ำอยู่กับที่ในอาณาจักรของเขา งานแรกของ Koo คือ เรียนรู้เกี่ยวกับส่วนงานต่างๆ ภายใต้แบรนด์ Chailease ในเวลานั้น Chailease ได้เข้าไปอุดช่องว่างขนาดใหญ่ของระบบนิเวศการเงินไต้หวัน โดยการเป็นผู้จัดหาสินเชื่อแก่บริษัทขนาดเล็กที่ธนาคารส่วนใหญ่พยายามเลี่ยงด้วยเหตุผลที่ว่า ความเสี่ยงสูงแต่ผลตอบแทนต่ำ ขณะที่ Chailease ขยายธุรกิจไปในพื้นที่ต่างๆ บริษัทก็ได้พัฒนาสิ่งที่นำเสนอด้วยเช่นกัน โดยได้เพิ่มโครงการเช่าซื้อเพื่อเป็นเจ้าของ และรับซื้อหนี้การค้า เมื่อ Koo มาร่วมงาน Chailease เป็นผู้นำตลาดด้วยส่วนแบ่งร้อยละ 40 ของตลาดลีสซิ่งในไต้หวัน แต่เมื่อ Koo ล้วงลึกลงไปก็พบว่า ผลกำไรของบริษัทถูกบั่นทอนจากการมีหน่วยงานยิบย่อยมากเกินไป แต่ละหน่วยต่างก็ตั้งขึ้นมาให้เข้าเกณฑ์ของผลิตภัณฑ์หนึ่งๆ แต่กลับแข่งขันแย่งชิงลูกค้ากลุ่มเดียวกัน “อะไรๆ มันติดขัดไม่ราบรื่น” เขาเล่า ในปี 1998 Koo เสนอให้มีการยุบรวมแผนกสินเชื่อการค้าต่างประเทศกับธุรกิจลีสซิ่งเพื่อลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงาน Jeffrey Sr. เห็นด้วย แต่มีเงื่อนไขคือห้ามมีการปลดพนักงาน Koo ตกลง แต่ก็เช่นเดียวกับการควบรวมส่วนใหญ่ เมื่อสององค์กรถูกรวมเข้าด้วยกันย่อมสร้างความไม่พอใจกับคนบางกลุ่มและทำให้มีการลาออกของพนักงานจำนวนมาก “ถ้าถามผม การควบรวมครั้งนั้นถือว่าล้มเหลว” Koo กล่าว “ผมไม่สามารถปกป้องอำนาจสั่งการได้” ในปี 2000 Koo ได้เรียกทีมที่ปรึกษามา พวกเขาใช้เวลา 3 ปีช่วยกันยกเครื่อง Chailease ครั้งใหญ่ และมีการเข้าซื้อหุ้นบริษัทเป็นการภายในโดยผู้บริหารและพนักงานของ Chailease การปรับเปลี่ยนครั้งนี้ได้ผล Liao เผยว่า ตั้งแต่นั้นมา Koo สามารถเพิ่มกำไรให้ Chailease 19 เท่า ตั้งแต่เข้ารับหน้าที่บริหาร  

ขยายธุรกิจสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นอกจากนี้ Koo ยังสานต่อความพยายามของพ่อด้วยการรุกเข้าสู่ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มจากประเทศไทยในปี 1989 ต่อมาในปี 2006 Chailease ติดตามบรรดาผู้ผลิตของไต้หวันเข้าไปในเวียดนาม จนในปี 2016 บริษัทกลายมาเป็นบริษัทลีสซิ่งที่ใหญ่ที่สุดที่นั่น ไม่กี่ปีที่ผ่านมา Chailease ยังได้ขยายตลาดไปยังประเทศกัมพูชา มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ และมีแผนจะเปิดสำนักงานในอินโดนีเซียและสิงคโปร์ในปีนี้ ทุกวันนี้ ร้อยละ 15 ของพอร์ตการลงทุนของ Chailease อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในปี 2019 ทำกำไรให้บริษัทคิดเป็นร้อยละ 4 Thierry Tea ประธานบริหารบริษัท PhilJets ซึ่งประกอบธุรกิจเครื่องบินให้เช่าจาก Manila กล่าวว่า “Chailease ได้พัฒนาความเชี่ยวชาญที่เจาะกลุ่มโดยมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินสำหรับธุรกิจการบิน โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจขนาดกลาง” บริษัทของเขาลงนามในข้อตกลงกับ Chailease เมื่อปี 2015

ความท้าทายในตลาดจีน

อย่างไรก็ดี ธุรกิจของ Chailease เติบโตที่สุดในประเทศจีน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 37 ของพอร์ตการลงทุนของบริษัท หลังจากเข้าสู่ตลาดจีนในปี 2005 Koo ต้องการเพิ่มทุนเพื่อขยายธุรกิจ แต่ไต้หวันในเวลานั้นห้ามไม่ให้มีการเสนอขายหุ้นไอพีโอเพื่อระดมทุนไปใช้ทำธุรกิจในจีนแผ่นดินใหญ่ ดังนั้น Koo จึงเสนอขายหุ้นไอพีโอในสิงคโปร์ ทำให้ Chailease เป็นบริษัทสัญชาติไต้หวันแห่งแรกที่เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์และได้ขายหุ้นออกไปประมาณร้อยละ 27 ในปี 2007 เป็นเงิน 170 ล้านเหรียญ หลังจากไต้หวันยกเลิกข้อห้ามดังกล่าว Chailease จึงถอนบริษัทออกจากตลาดหุ้นสิงคโปร์และกลับเข้าซื้อขายในตลาดหุ้นไต้หวัน ธุรกิจลีสซิ่งในจีนนั้นเติบโตอย่างรวดเร็วอยู่แล้ว ตลาดลีสซิ่งมูลค่า 2.54 แสนล้านเหรียญ มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 20 ในปี 2019 แต่ข้อมูลจากรายงาน World Leasing Yearbook ปี 2020 ของบริษัทที่ปรึกษา White Clark จากอังกฤษระบุว่า ตัวเลขดังกล่าวคิดเป็นเพียงร้อยละ 7 ของการลงทุนทั้งหมด ธุรกิจลีสซิ่งในจีนได้รับอานิสงส์จากการออกกฎห้ามการดำเนินงานของ “ธนาคารเงา” ในปี 2016 ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การจัดหาเงินนอกงบดุลโดยธนาคาร ไปจนถึงการกู้ยืมภาคเอกชนและการกู้ยืมเงินระหว่างบุคคลต่อบุคคล แม้รัฐบาลจะออกมาตรการปราบปรามเพื่อแก้ปัญหาปริมาณหนี้สินในจีน แต่บรรดาบริษัทขนาดเล็กต้องประสบปัญหาในการหาเงินกู้ และต้องหันหน้าไปพึ่งบริษัทลีสซิ่งแบบดั้งเดิมอย่าง Chailease ขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนชะลอตัวการผิดนัดชำระหนี้ก็เพิ่มมากขึ้นและอัตราดอกเบี้ยก็ลดลงแต่ Koo ไม่หวั่นไหว ความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นช่วยให้บริษัทสามารถเพิ่มอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อ แม้เมื่อต้นทุนการจัดสรรสินเชื่อลดลง “Chailease อยู่ในตำแหน่งทางธุรกิจที่ดีพอที่จะมีอำนาจการต่อรองที่แข็งแกร่ง” Shih กล่าว ขณะเดียวกันอัตราการค้างชำระที่แม้จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 เป็น 2.5 พันล้านเหรียญไต้หวัน ก็ยังน้อยกว่าร้อยละ 2 ของสินเชื่อทั้งหมดที่ Chailease ให้แก่ผู้กู้ในจีน ข้อมูลของบริษัทที่สะสมมา 40 ปีช่วยให้ Chailease สามารถจัดการความเสี่ยงด้านการผิดนัดชำระหนี้ได้อย่างดี สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญอีกประการก็คือ ความที่ Koo ชอบการกระจายความเสี่ยง Chailease ไม่เพียงกระจายความเสี่ยงในแง่ภูมิศาสตร์ แต่ยังทำด้วยการลงทุนในหลายอุตสาหกรรม “ไม่มีกลุ่มอุตสาหกรรมไหนที่บริษัทเข้าไปลงทุนมากกว่าร้อยละ 10” Hsu จากบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Fitch กล่าว
คลิกอ่านฉบับเต็ม “"Chailease Holding" ธุรกิจลีสซิ่งแถวหลัง ก้าวผงาดขึ้นในเอเชีย” และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2563 ในรูปแบบ e-magazine