“5 เศรษฐีใจบุญ” แห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก - Forbes Thailand

“5 เศรษฐีใจบุญ” แห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

FORBES THAILAND / ADMIN
12 Dec 2022 | 12:19 PM
READ 5313

Forbes เผยไฮไลต์ 5 เศรษฐีใจบุญแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จากทั้งหมด 15 รายชื่อของ Asia’s 2022 Heroes of Philanthropy ครั้งที่ 16 


    การจัดทำรายชื่อ Asia’s 2022 Heroes of Philanthropy ครั้งที่ 16 เป็นการจัดทำข้อมูล "เศรษฐีใจบุญ" ทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมาอย่างต่อเนื่องในทุกๆ ปี โดยบุคคลที่ได้รับคัดเลือกให้อยู่ในรายชื่อของแต่ละปีนั้น ต่างมีความมุ่งมั่นในการอุทิศเวลาและทรัพย์สินส่วนตัวในการช่วยเหลือการกุศล ทั้งด้านการศึกษา สิ่งแวดล้อม และสังคม 

    ซึ่งรายชื่อดังกล่าวจะจัดเรียงตามตัวอักษรโดยมิได้มีการเรียงอันดับตามมูลค่าเงินบริจาคแต่อย่างใด อีกทั้งเกณฑ์การจัดทำข้อมูลยังเน้นเรื่องการบริจาคสินทรัพย์ในนามส่วนบุคคลตามความสนใจในการช่วยเหลือสังคมด้านต่างๆ และไม่นับรวมการบริจาคในรูปแบบขององค์กรยกเว้นการบริจาคในนามของบริษัทที่มีบุคคลผู้ซึ่งเป็นเจ้าของและถือหุ้นเป็นส่วนใหญ่ในบริษัท


    ทั้งนี้ จากรายชื่อที่จัดทำทั้งหมดจำนวน 15 รายชื่อ มีไฮไลต์ของ 5 เศรษฐีใจบุญที่โดดเด่น ดังนี้

จุน วนวิทย์

อายุ: 85 ปี

ผู้ก่อตั้งแบรนด์พัดลม “ฮาตาริ”
ประเทศ: ไทย

    เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา จุน วนวิทย์ ผู้ก่อตั้ง Hatari Electric หนึ่งในผู้ผลิตพัดลมแบรนด์ชั้นนําของประเทศไทยและครอบครัวได้บริจาคเงินให้แก่มูลนิธิรามาธิบดี จํานวน 900 ล้านบาท (24 ล้านเหรียญสหรัฐ) โดยแยกเป็นการระดมทุนให้กับโรงพยาบาลรามาธิบดีและบริการสาธารณสุข จํานวน 160 ล้านบาท จัดสรรให้กับศูนย์การเรียนรู้ทางการแพทย์ของโรงพยาบาล 300 ล้านบาท และ สําหรับอาคารโรงพยาบาลและศูนย์นวัตกรรมทางการแพทย์แห่งใหม่อีกจำนวน 440 ล้านบาท

    ทั้งนี้ จากการรายงานของสื่อต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา มหาเศรษฐีเจ้าของแบรนด์พัดลมผู้ใจบุญรายนี้ไม่ค่อยนำเสนอข้อมูลของตัวเองให้ปรากฎในสังคมเท่าไรนัก อีกทั้ง จุนยังกล่าวด้วยว่า "ลูกๆ ของฉันต่างมีอาชีพและเงินของตัวเอง ฉันต้องการบริจาคเงินนี้คืนให้กับผู้ป่วยทั่วไป" จุนเริ่มต้นธุรกิจด้วยการเปิดร้านซ่อมพัดลมขนาดเล็กก่อนที่จะย้ายไปรับจ้างผลิตแบรนด์ให้ญี่ปุ่นและในที่สุดก็เปิดตัวแบรนด์พัดลมเป็นของตัวเอง โดยบริษัท Hatari Electric จำกัด ถือเป็นบริษัทเอกชนที่มีรายได้สูงถึง 6.3 พันล้านบาทในปี 2021

Gautam Adani
อายุ 60 ปี
ประธานกรรมการและผู้ก่อตั้ง Adani Group
ประเทศ: อินเดีย

    Gautam Adani มหาเศรษฐีที่รวยที่สุดของอินเดีย ได้บริจาคเงิน 600 พันล้านรูปี (7.7 พันล้านเหรียญ) เพื่อฉลองวันเกิดครบอายุ 60 ปี ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยเงินจะถูกโอนผ่านมูลนิธิ Adani ของครอบครัวซึ่งแบ่งเป็นการช่วยเหลือส่งเสริมใน 3 ด้าน อย่างเรื่องของการดูแลสุขภาพ การศึกษา และพัฒนาทักษะ ทั้งนี้แนวทางดังกล่าวจะช่วยให้ประชาชนของอินเดียมีความเท่าเทียมและมีความพร้อมที่ดีขึ้นในอนาคต

    มูลนิธิ Adani ก่อตั้งขึ้นในปี 1996 โดยมี Priti Adani ภรรยาของ Gautam เป็นผู้ริเริ่มตั้งแต่ต้น Priti มีตำแหน่งเป็นประธานมูลนิธิ ได้ช่วยเหลือผู้คนเกือบ 3.7 ล้านคนทั่วประเทศในอินเดียเป็นประจําทุกปี

Hiroshi Mikitani

อายุ 57 ปี

ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ, Rakuten Group

ประเทศ: ญี่ปุ่น

    เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา Hiroshi ได้ทวีตประกาศมอบของขวัญมูลค่า 1 พันล้านเยน (7.2 ล้านเหรียญ) ให้กับประเทศยูเครนเพื่อจัดการกับผลกระทบด้านมนุษยธรรมจากการรุกรานที่เกิดขึ้นของรัสเซีย นอกจากนี้ ในช่วงเริ่มต้นความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน

    ทาง Rakuten บริษัทอีคอมเมิร์ซและโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ที่มีมูลค่าตลาดอยู่ราวๆ 7.4 พันล้านเหรียญ ยังอนุญาตให้ชาวยูเครนใช้แอปส่งข้อความของ Rakuten Viber ติดตั้งบนสมาร์ทโฟนได้ถึงร้อยละ 97 ในประเทศเพื่อโทรไปยังโทรศัพท์บ้านหรือมือถือได้ฟรี

    เว็บไซต์เพื่อบริจาคออนไลน์ของ Rakuten ที่ได้ช่วยเหลือชาวยูเครนเริ่มต้นในเดือนกุมภาพันธ์ยังระดมทุนได้เกือบ 1.3 พันล้านเยนจากผู้มีส่วนร่วมกว่า 70,000 ราย นอกจากนี้ ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา Hiroshi ยังเป็นเจ้าภาพสนับสนุน Tina Karol ซูเปอร์สตาร์เพลงป๊อปชาวยูเครนสําหรับการจัดงานดนตรีการกุศลในโตเกียวเพื่อช่วยระดมทุนให้กับประเทศยูเครน

Ronnie Chan

อายุ 73 ปี

ประธานกรรมการ Hang Lung Group

ประเทศ: ฮ่องกง

และ
Gerald Chan

อายุ 71 ปี

ผู้ร่วมก่อตั้ง, Morningside Group

ประเทศ: ฮ่องกง

    ครอบครัว Chan ยังคงบริจาคเงินให้แก่มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาอย่างต่อเนื่อง โดยเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มูลนิธิ Morningside ได้บริจาคเงิน 100 ล้านเหรียญ ให้กับสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์เพื่อจัดตั้ง MIT Morningside Academy for Design ที่เปิดตัวไปเรียบร้อยแล้วในเดือนกันยายน    

    Gerald (ภาพคู่ - คนขวา) บอกว่า "การออกแบบเป็นวิธีการฝึกความคิดสร้างสรรค์อย่างมีระเบียบวินัย และการศึกษาด้านการออกแบบเป็นส่วนเสริมของการศึกษา STEM [วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์] แบบดั้งเดิม"

    ย้อนหลังกลับไปในเดือนกันยายน ปี 2021 มูลนิธิของครอบครัว Chan ยังได้บริจาคเงิน 175 ล้านเหรียญให้กับโรงเรียนแพทย์ของมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ ซึ่งถือเป็นของขวัญที่ใหญ่ที่สุดที่มหาวิทยาลัยเคยได้รับ

    นอกจากนี้ ในปี 2014 ทางมูลนิธิยังมอบเงิน 350 ล้านเหรียญให้กับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดซึ่งเป็นโรงเรียนเก่าของ Gerald ในเวลานั้นและยังถือเป็นเงินบริจาคที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ 386 ปีของมหาวิทยาลัย

Melanie Perkins

อายุ 35 ปี

ซีอีโอ, Canva

ประเทศ: ออสเตรเลีย
และ

Cliff Obrecht

อายุ 36 ปี

ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ, Canva

ประเทศ: ออสเตรเลีย

    ภายในระยะเวลาไม่กี่เดือนหลังจากการระดมทุน 200 ล้านเหรียญ ในปี 2021 บริษัทออกแบบกราฟิก Canva ของ Melanie และ Cliff ได้ขยับขึ้นมามีมูลค่าเป็น 40 พันล้านเหรียญในทันที ทั้งคู่ได้เข้าร่วมกับมหาเศรษฐีใจบุญคนอื่นๆ ในการลงนาม “The Giving Pledge” โดยสัญญาว่าจะบริจาคทรัพย์สินส่วนมากที่มีเพื่อการกุศล และยังมอบหุ้นร้อยละ 30 จากสัดส่วนที่พวกเขาถือหุ้น 31% ให้สามารถนำไปใช้ในโครงการต่างๆ หรือในมูลนิธิของ Canva 

    จากระยะเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน Canva ได้ให้การสนับสนุนการแก้ปัญหาจากโควิด-19 ในอินเดีย, กองทุนตอบสนองด้านมนุษยธรรมในยูเครน และยังมีส่วนร่วมในโครงการช่วยเหลือผู้คนที่ยากจนขั้นรุนแรงในประเทศมาลาวี ด้วยการมอบเงินให้โดยตรงมูลค่า 10 ล้านเหรียญ

    นอกจากนี้ บริษัทยังบริจาคสิทธิ์ในการเข้าถึงแพลตฟอร์มระดับพรีเมียมให้กับองค์กรไม่แสวงผลกําไรกว่า 250,000 แห่ง และได้เปิดตัวโครงการ Canva for Education ซึ่งเป็นบริการที่ออกแบบมาสําหรับนักเรียนและครูระดับ K-12 ทั่วโลกให้ได้ใช้ฟรี และถึงแม้ว่าเหล่านักลงทุนจะลดการประเมินมูลค่าของบริษัท Canva ลงเหลือ 26 พันล้านเหรียญท่ามกลางการรุกตลาดเทคโนโลยีที่กว้างขึ้นแต่คู่รักเจ้าของแพลตฟอร์มการออกแบบกราฟิกก็ยังมั่นใจถึงตัวเลขการใช้งานเครื่องมือซอฟต์แวร์ของผู้บริโภคที่มีกว่า 100 ล้านคนในทุกเดือน


แปลและเรียบเรียงโดย กนกวรรณ มณีแสงสาคร จากบทความ ASIA’S 2022 HEROES OF PHILANTHROPY เผยแพร่บน ​Forbes.com

อ่านเพิ่มเติม: 


ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine


TAGGED ON