6 มหาเศรษฐีไทย จากการจัดอันดับ 50 มหาเศรษฐีไทยประจำปี 2560 - Forbes Thailand

6 มหาเศรษฐีไทย จากการจัดอันดับ 50 มหาเศรษฐีไทยประจำปี 2560

FORBES THAILAND / ADMIN
13 Jul 2017 | 02:16 PM
READ 4904
แม้ว่าในปีนี้สภาวะเศรษฐกิจจะไม่เอื้ออำนวยสักเท่าไหร่ แต่ทรัพย์สินของผู้ที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศไทย 50 อันดับแรกยังคงเพิ่มขึ้นจากเมื่อปี 2559 ถึง 16% เป็น 1.235 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งสูงกว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นแค่ 12% ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา ทั้งนี้ สองในสามของมหาเศรษฐี 50 อันดับแรกของไทยมีสินทรัพย์เพิ่มขึ้น โดยกลุ่มที่มูลค่าสินทรัพย์เพิ่มขึ้นมากที่สุดคือกลุ่มอภิมหาเศรษฐีที่ติดอยู่ในห้าอันดับแรก ทั้งนี้เราได้รวบรวมเรื่องราวของ 6 มหาเศรษฐีไทยที่น่าสนใจจาก 50 รายชื่อมหาเศรษฐีไทย ในแง่ทิศทางการลงทุนรวมไปถึงมูลค่าความมั่งคั่งของธุรกิจที่น่าสนใจ เพชร โอสถานุเคราะห์: รอจังหวะ มีการคาดการณ์ว่าการขายหุ้น IPO ของโอสถสภา ผู้ผลิตเครื่องดื่มชูกำลังขายดี M-150 และ ธุรกิจขายสินค้าอุปโภคบริโภคเก่าแก่ของไทยซึ่งมีอายุถึง 125 ปี จะเป็นดีล IPO ที่มีขนาดใหญ่อันดับต้นๆ ของตลาดหุ้นไทย แต่เดิมบริษัทมีแผนจะเข้าตลาดในปี 2559 แต่ก็เลื่อนแผนขายหุ้นออกไปเนื่องจากภาวะตลาดหุ้นยังอ่อนแอ ในขณะที่มีการปรับเกณฑ์การเข้าจดทะเบียนให้เข้มงวดขึ้นกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม คาดว่าโอสถสภา น่าจะขายหุ้น IPO ได้ในปีนี้ ซึ่งการชะลอแผนการเข้าตลาดดังกล่าวทำให้ครอบครัวโอสถานุเคราะห์ (อันดับที่ 24) มีเวลามากขึ้นในการตัดสินใจว่านอกจากธุรกิจเครื่องดื่มแล้ว จะนำบริษัทไหนในเครือที่มีมากถึงเกือบ 50 บริษัทพ่วงเข้าตลาดมาด้วย ทั้งนี้ เพชร ซึ่งเป็นซีอีโอของโอสถสภา ถือหุ้นร่วมกับ รัตน์ซึ่งเป็นน้องชาย และ นิติ ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้อง รวมกันเกือบสองในสามของบริษัท นอกจากจะรับหน้าที่อธิการบดีของมหาวิทยาลัยกรุงเทพซึ่งก่อตั้งโดยครอบครัวของเขาแล้ว เพชรยังเป็นนักสะสมงานศิลปะที่สะสมผลงานมานานกว่าสามทศวรรษแล้ว และไม่นานมานี้เขา “เพิ่งซื้อผลงานของปีกัสโซชิ้นแรก” มาเก็บไว้ในคอลเล็คชั่นส่วนตัวด้วย เพชรกำลังเตรียมสร้างพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยชื่อ “แสนแสบ” ซึ่งเขาบอกว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะเป็นของขวัญที่เขามอบให้กับประเทศไทย วิชัย ศรีวัฒนประภา: ช็อปก่อนขึ้นเครื่อง ธุรกิจท่องเที่ยวของไทยที่บูมขึ้นมา ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเที่ยวประเทศไทยมากเป็นประวัติการณ์ถึง 32.6 ล้านคนในปี 2559 ซึ่งกว่าหนึ่งในสี่เป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน และจากการจับจ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติทำให้ยอดขายของร้านค้าปลอดภาษี King Power ของวิชัยในปีที่แล้วโตถึง 20% เป็น 2.4 พันล้านเหรียญ ซึ่งส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินของเขาเพิ่มขึ้นถึง 1.45 พันล้านเหรียญ และทำให้เขาขยับขึ้นมาติดอันดับหนึ่งใน 5 อภิมหาเศรษฐีของไทยเป็นครั้งแรก แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกอย่างจะราบรื่นไปเสียหมด เพราะรัฐบาลทหารได้เริ่มเอาจริงกับการปราบทัวร์ศูนย์เหรียญจากจีนมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้วและกำลังพิจารณาที่จะเลิกการผูกขาดกิจการร้านค้าปลอดภาษีในสนามบินของ King Power ในปี 2020 อย่างไรก็ตาม ปีที่แล้ววิชัยได้ขยายอาณาจักรธุรกิจออกไปจากร้านค้าปลอดภาษี โดยทุ่มเงิน 225 ล้านเหรียญเพื่อซื้อหุ้น 21% ใน Thai Air Asia นอกจากนี้ วิชัยซึ่งเป็นแฟนกีฬาฟุตบอลตัวยงก็ยังสามารถพลิกสถานะของสโมสร Leicester City จนคว้าแชมป์รายการ Premiere League ได้สำเร็จ ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีรายงานข่าวว่าเขาได้ทำข้อตกลงเข้าซื้อ OH Leuven ซึ่งเป็นทีมฟุตบอลชั้นรองของเบลเยี่ยมโดยไม่เปิดเผยราคาอีกด้วย ชูชาติ เพ็ชรอำไพ และ ดาวนภา เพชรอำไพ: เงินติดล้อ ธุรกิจของเมืองไทย ลิสซิ่ง ผู้ให้บริการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยซึ่งมีลูกค้า 1 ล้านคนและมีสาขาถึง 2,000 สาขากำลังไปได้สวย พอร์ตสินเชื่อของบริษัทเติบโตขึ้นกว่า 80% เป็น 695 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2559 ราคาหุ้นทะยานขึ้นถึง 60% ตั้งแต่ปีที่แล้ว ทำให้สินทรัพย์รวมของผู้ก่อตั้งบริษัทมีมูลค่าเกิน 1 พันล้านเหรียญเป็นครั้งแรก คู่สามีภรรยาซึ่งลาออกจากการทำงานธนาคารมาเปิด บริษัท เมืองไทย ลิสซิ่งในปี 2535 รั้งอันดับที่ 19 พร้อมกับสินทรัพย์มูลค่า 1.4 พันล้านเหรียญ ชูชาติ นักสะสมไวน์ตัวยงซึ่งเป็นเจ้าของไวน์ชั้นดี 2,000 ขวดในห้องเก็บไวน์ส่วนตัวกล่าวว่า เขาและภรรยาตั้งเป้าการเติบโตของบริษัทในปีนี้ไว้ที่ 50% และวางแผนจะเปิดสาขาเพิ่มอีก 600 แห่ง ศุภชัย เจียรวนนท์: รุ่นลูกก็มาแรง เครือเจริญโภคภัณฑ์ กลุ่มบริษัทธุรกิจการเกษตรขนาดใหญ่ซึ่งบริหารงานโดยตระกูลที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศไทย ได้ประกาศการส่งมอบตำแหน่งบริหารสูงสุดขององค์กรให้กับทายาทรุ่นต่อมาเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ธนินท์ เจียรวนนท์ หลังจากที่ดำรงตำแหน่งประธานและซีอีโอตลอด 48 ปีที่ผ่านมา ได้แต่งตั้งสุภกิต วัย 53 ปี บุตรชายคนโต และศุภชัย วัย 50 ปี บุตรชายคนเล็ก ให้ดำรงตำแหน่งประธานและซีอีโอของเครือตามลำดับ สุภกิต ศิษย์เก่าจาก New York University รับหน้าที่บริหารงานในบริษัทสำคัญๆ ของเครือ ส่วนศุภชัยซึ่งสำเร็จการศึกษาจาก Boston University เริ่มต้นชีวิตการทำงานที่ธุรกิจค้าปลีกของบริษัทอย่าง สยามแม็คโคร และต่อมาได้ขยายไปคุมธุรกิจโทรคมนาคมของในเครืออย่างทรูซึ่งยังคงต้องดิ้นรนสร้างผลประกอบการให้มีกำไร ทั้งๆ ที่เครือซีพีได้ทุ่มเงินลงทุนไปแล้วหลายพันล้านเหรียญฯ เมื่อเร็วๆ นี้ศุภชัยได้ประกาศแผน “ซีพี 4.0” ซึ่งจะเปลี่ยนโฉมบริษัทโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นหลัก ศุภชัยกล่าวว่า “ผมมองว่าตัวเองเป็นทั้งนักธุรกิจมืออาชีพและผู้ประกอบการ” เชื่อกันว่าเจ้าสัวธนินท์ในวัย 77 ปีซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานอาวุโสกิตติมศักดิ์ยังคงเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจตัวจริง ณัฐชไม ถนอมบูรณ์เจริญ: เจ้าแม่เครื่องดื่มบำรุงกำลัง แม้ในปีที่ตลาดเครื่องดื่มบำรุงกำลังในประเทศไทยทรุดตัวลง 3% แต่บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยผู้ผลิตเครื่องดื่มคาราบาวแดง ซึ่งเป็นเครื่องดื่มบำรุงกำลังที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับ 2 ของประเทศไทยนั้นยังคงมียอดขายเติบโตเป็น 2 เท่า ขณะที่หุ้นของบริษัททะยาน 55% ในช่วงระยะเวลา 12 เดือนที่ผ่านมา ผลักดันให้ณัฐชไม ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ ประกาศนำหุ้นเข้าตลาดเป็นครั้งแรก เธอเป็นเจ้าของหุ้น 26% ติดโผการจัดอันดับเป็นครั้งแรกในอันดับ 46 โดยมีทรัพย์สินมูลค่า 590 ล้านเหรียญ หลังจากที่นายเสถียร เศรษฐสิทธิ์ หุ้นส่วนทางธุรกิจของเธอติดโผมาก่อนหน้านี้ในปี 2558 สำหรับสาวณัฐชไมแยกตัวออกมาจากธุรกิจผู้ให้บริการทางการเงินของครอบครัว เพื่อทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ร่วมกับเสถียร ก่อนที่ในปี 2542 จะก่อตั้งโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง ซึ่งเป็นทั้งโรงเบียร์ขนาดเล็กและร้านอาหาร ถัดมา 2 ปี ทั้งคู่จับมือเป็นพันธมิตรกับ แอ๊ด คาราบาวศิลปินเพื่อชีวิตชื่อดัง เพื่อเจาะตลาดเครื่องดื่มบำรุงกำลัง อนันต์ อัศวโภคิน: คดีวัดอลวน เจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์ตกเป็นข่าวฉาวว่ามีเอี่ยวทางการเงินกับวัดพระธรรมกาย รายงานข่าวระบุว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษเรียกตัวนายอนันต์เข้าให้ข้อมูล เรื่องอาจจะมีการซุกสัญญาซื้อขายที่ดินร่วมกับอดีตประธานคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ที่กำลังรับโทษจำคุกข้อหาทุจริตภายในสหกรณ์อยู่ในเวลานี้ จากข้อกล่าวหาที่ว่า ได้ขายที่ดินไปให้กับอนันต์ในราคาถูกกว่าราคาตลาดอยู่มาก ต่อมาอนันต์ได้นำที่ดินไปขายต่อคิดเป็นกำไรมหาศาล และนำเงินที่ได้บริจาคให้กับวัดธรรมกาย รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า อนันต์รู้สึกงงที่โดนเรียกตัวไปสอบปากคำ (แต่เมื่อสอบถามไปก็ไม่มีการตอบรับที่จะแสดงความคิดเห็น) อย่างไรก็ดี อนันต์ได้ลาออกจากตำแหน่งประธาน คณะกรรมบริษัทของตนเอง 4 แห่งด้วยกัน คือ บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ว่ากันว่าเป็นเพราะแรงกดดันจากธนาคารแห่งประเทศไทยนั่นเอง ทั้งนี้ในการคำนวณมูลค่าทรัพย์สินเราใช้ราคาปิด และอัตราแลกเปลี่ยนของวันที่ 18 พฤษภาคม 2560 เป็นเกณฑ์
คลิกอ่าน "การจัดอันดับ 50 มหาเศรษฐีไทยประจำปี 2560" ฉบับเต็ม ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ มิถุนายน 2560 ในรูปแบบ e-Magazine