การจัดอันดับทำเนียบสุดยอดบริษัทจดทะเบียนยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียครั้งที่ 13 ประกอบไปด้วยองค์กรดาวรุ่งที่น่าจับตามองจากทั่วภูมิภาคเอเชีย ทว่า จีนน่าจับตามองมากที่สุด สำหรับปีนี้ 29 จาก 50 บริษัทที่ติดอันดับคือกิจการจากแดนมังกร จีนมีจำนวนบริษัทที่ติดโผรายชื่อมากที่สุดในปีนี้โดยเพิ่มขึ้นจาก 22 แห่งเมื่อปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพด้านธุรกิจและความสามารถด้านการเป็นผู้ประกอบการของบริษัทในประเทศ
ถ้าวัดกันด้วยตัวเลขรายได้ Rajesh Exports จากอินเดียซึ่งติดอันดับเป็นครั้งแรกคว้าอันดับผู้นำไปครอง บริษัทสัญชาติอินเดียกวาดอันดับ Fab 50 มากเป็นอันดับที่ 2 ด้วยจำนวน 8 บริษัทเท่ากับปีที่ผ่านมา ส่วนฮ่องกงและญี่ปุ่นมีบริษัทติดอันดับ 3 แห่งเท่ากัน ในขณะเดียวกันเกาหลีใต้มีบริษัทติดโผอันดับเพียง 2 รายซึ่งลดลงจาก 5 รายเมื่อปี 2016 ในปีที่ผ่านมาบริษัทจากเวียดนามผ่านเข้ามาติดอันดับ Fab 50 เป็นครั้งแรก ส่วนในปีนี้ Mobile World Investment คือบริษัทเวียดนามเพียงหนึ่งเดียวจากผู้ติดอันดับทั้งหมด 50 บริษัท โดยรวมแล้วการจัดอันดับครั้งนี้มีบริษัทหน้าใหม่ทั้งหมด 20 รายที่ทะลุผ่านเข้ามาติดอันดับ Fab 50 และมี 8 รายที่กลับมาติดอันดับอีกครั้งหลังจากหลุดโผไปเมื่อ 1 ปีก่อนหรือนานกว่านั้น CK Asset Holdings (ฮ่องกง) อุตสาหกรรม: พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ยอดขาย: 9 พันล้านเหรียญ มูลค่าตลาด: 3.19 หมื่นล้านเหรียญ ผู้บริหารสูงสุด: Victor Li บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แห่งนี้มี Li Ka-Shing ดำรงตำแหน่งประธานบริษัท และเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในฮ่องกง โดยเป็นเจ้าของผลงานอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพักอาศัยถึง 1 ใน 7 ของฮ่องกง นอกจากนี้ยังพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์และอุตสาหกรรมทั้งในประเทศ รวมทั้งทั่วจีนแผ่นดินใหญ่ สิงคโปร์ สหราชอาณาจักร และบาฮามาส เมื่อปี 2008 เคยติดโผการจัดอันดับ Fab 50 มาแล้ว ก่อนที่จะมีการปรับโครงสร้างองค์กรมาเป็นบริษัทในปัจจุบัน Foshan Haitian (จีน) Flavouring & Food อุตสาหกรรม: เครื่องปรุงอาหาร ยอดขาย: 1.9 พันล้านเหรียญ มูลค่าตลาด: 1.68 หมื่นล้านเหรียญ ผู้บริหารสูงสุด: Pang Kang บริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายซอสถั่วเหลืองแห่งนี้เป็นผู้เล่นรายใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมเครื่องปรุงรสของจีนเมื่อพิจารณาจากรายได้ บริษัทดำเนินกิจการมาแล้ว 22 ปี และติดโผ Waiting in the Wings เมื่อปีที่แล้ว ส่วนในเวลานี้อยู่ระหว่างเติมความหลากหลายให้กับสินค้า แม้ว่าซอสถั่วเหลืองจะยังคงคิดเป็นอัตราส่วน 61% ของรายได้บริษัทในปีที่ผ่านมา แต่ซอสหอยนางรม ถั่วกวน (bean paste) และซุปไก่สกัดก็เริ่มมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเช่นกัน บริษัทยังเป็นผู้สนับสนุนรายการโทรทัศน์ชื่อดังถึง 5 รายการ แม้กระทั่ง Harvard Business School ยังหยิบรายการที่โด่งดังที่สุด คือ If You Are the One ซึ่งเป็นรายการเกมโชว์หาคู่ความยาว 90 นาทีของจีนมายกเป็นกรณีศึกษาเมื่อปี 2014 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ Foshan Haitian เปิดขายหุ้นให้แก่สาธารณชน MIXI (ญี่ปุ่น) อุตสาหกรรม: เกมมือถือ ยอดขาย: 1.9 พันล้านเหรียญ มูลค่าตลาด: 4.1 พันล้านเหรียญ ผู้บริหารสูงสุด: Kenji Kasahara Kenji Kasahara ก่อตั้งบริษัทขึ้นเมื่อปี 1999 เดิมทีมีวัตถุประสงค์ที่จะให้บริการด้านโซเชียลเน็ตเวิร์คเพียงปี 2012 บริษัทก็มีผู้ใช้งานที่มีความเคลื่อนไหวถึงเดือนละ 14 ล้านคน อย่างไรก็ตาม ความนิยมใน Facebook บวกกับกระแส “Mixi Tsukare” หรือที่แปลได้ว่า “เบื่อ Mixi” ทำให้ในปี 2011 ราชาโซเชียลเน็ตเวิร์คแห่งญี่ปุ่นต้องประสบภาวะตกต่ำสุดขีดราคาหุ้นทรุดจนเหลือไม่ถึง 10% ของราคาสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อปี 2008 Kasahara จึงได้เข้ามายึดฐานข้อมูลลูกค้า พร้อมพัฒนาบริการอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นอี-คอมเมิร์ซ หาคู่ หาที่พัก แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จสักอย่าง แต่ในปี 2013 Monster Strike ซึ่งเป็นเกมมือถือผ่านระบบ iOS ที่บริษัทพัฒนาขึ้นนั้นช่วยชีวิตบริษัทไว้ได้สำเร็จ พอถึงปี 2014 หุ้นของบริษัทก็ดีดตัวกลับถึง 191% ส่งผลให้ Kasahara กลับมาติดอันดับ Japan’s 50 Richest อีกครั้งในปี 2015 หลังจากที่หลุดโผไปนานถึง 4 ปี ในปีงบประมาณที่ผ่านมา Mixi ทำรายได้ 93% มาจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโทรศัพท์มือถือ Mobile World Investment (เวียดนาม) อุตสาหกรรม: ค้าปลีกเครื่องมือและอิเล็กทรอนิกส์ ยอดขาย: 2 พันล้านเหรียญ มูลค่าตลาด: 1.5 พันล้านเหรียญ ผู้บริหารสูงสุด: Nguyen duc tai บริษัทจาก Ho Chi Minh City แห่งนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2004 เพื่อจำหน่ายโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยสามารถรักษาอัตราการขยายตัวของรายได้ในแต่ละปีได้ถึงกว่า 60% นับตั้งแต่เสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนในครั้งแรกเมื่อปี 2014 บริษัทมีร้านค้า 1,527 แห่งกระจายอยู่ใน 63 เมืองของเวียดนาม นอกจากนี้ยังมีอีก 1 สาขาในกัมพูชา พร้อมเตรียมการขยายตลาดสู่ลาวและเมียนมา อีกทั้งยังเปิดตลาดออนไลน์ในชื่อ Thegiodidong.com (หรือแปลได้ว่าโลกมือถือ) เพื่อจำหน่ายโทรศัพท์และคอมพิวเตอร์แล็ปท็อป ขณะที่ Dienmay.com (อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค) จัดจำหน่ายโทรทัศน์ ตู้เย็น และเครื่องเล่นคาราโอเกะ เมื่อเดือนที่แล้ว Mobile World กลายเป็นผู้จัดจำหน่ายโทรศัพท์สมาร์ทโฟนสเปคสูงที่เวียดนามผลิตเองเป็นครั้งแรก นั่นคือ BPhone โทรศัพท์ราคา 440 เหรียญที่เพิ่งเปิดตัวไปนั่นเอง Rajesh Exports (อินเดีย) อุตสาหกรรม: อัญมณีทองคำ ยอดขาย: 3.61 หมื่นล้านเหรียญ มูลค่าตลาด: 3.3 พันล้านเหรียญ ผู้บริหารสูงสุด: Rajesh Mehta นี่คือบริษัททองคำรายใหญ่ที่สุดในโลกและดำเนินกิจการทุกอย่าง ตั้งแต่การขุดเหมืองและสกัดทองไปจนถึงบริการหลังการค้าส่งและค้าปลีก จนสามารถทำรายได้เติบโตถึง 7 เท่าตัวในระยะเวลา 5 ปี สองพี่น้อง Rajesh และ Prashant Mehta ก่อตั้งบริษัทแห่งนี้ขึ้นเมื่อปี 1989 ปัจจุบันบริษัทมีโรงงานสกัดทองอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์และอินเดีย นอกจากนี้ยังเปิดร้านค้าปลีกในชื่อ Shubh Jewellers ซึ่งกำลังวางแผนที่จะขยายสาขาจากปัจจุบัน 80 สาขาเป็นประมาณ 500 สาขาในระยะเวลา 3 ปี โดยยอดขาย 1 ใน 3 มาจากทวีปยุโรป และ 1 ใน 5 มาจากสหรัฐฯ บริษัทผลิตทองคำแท่งให้กับแบรนด์ชั้นนำทั่วโลก Rajesh ดำรงตำแหน่งประธานบริษัทและเป็นขาประจำในการจัดอันดับเศรษฐี India’s 100 Richest ของเราด้วย สำหรับขั้นตอนการคัดเลือก Fab 50 เราเริ่มจากการประเมินบริษัทมหาชน 1,694 แห่งที่มีรายได้อย่างน้อย 1.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี (บริษัทเอกชน อย่างเช่น Huawei Technologies จากจีนจะไม่นำมาเข้าร่วมการประเมิน) หลังจากนั้นบริษัทที่มีผลการดำเนินงานขาดทุนหรือมีรายได้น้อยกว่าที่เคยทำได้เมื่อ 5 ปีก่อนจะถูกคัดออกบริษัทที่มีอัตราส่วนหนี้สินสูงหรือมีภาครัฐถือครองหุ้นเกินกว่า 50% จะไม่ผ่านการพิจารณในรอบนี้ ทั้งนี้ เนื่องจากเรามีเป้าหมายเพื่อมุ่งเน้นไปยังบริษัทที่มีคุณสมบัติด้านการเป็นผู้ประกอบการจริง ไม่ใช่บริษัทที่เติบโตเพราะพึ่งพาเส้นสายความสัมพันธ์จากรัฐบาล กิจการที่มีบริษัทแม่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และถือครองสัดส่วนหุ้นเกิน 50% จะถูกคัดออกเช่นกัน สุดท้ายเราจะพิจารณาบริษัทที่ผ่านเข้ารอบด้วยเกณฑ์การประเมินด้านการเงินอีกหลายสิบข้อทั้งหมดนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเฟ้นหาบริษัทชั้นดีที่มีผลการดำเนินงานยอดเยี่ยมซึ่งเป็นที่สุดของที่สุดแห่งภูมิภาคติดตามการจัดอันดับ Fab 50 "50 สุดยอดบริษัทมหาชน" ฉบับเต็มได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ พฤศจิกายน 2560 ได้ในรูปแบบ e-Magazine