พบกับกลุ่มวัยรุ่นที่เด็กสุดแห่งทำเนียบ “30 Under 30 Asia” ประจำปี 2021

ไม่ใช่วัยรุ่นทุกคนที่จะเล่นเกมออนไลน์หรือนั่งชมการถ่ายทอดสดในช่วงวิกฤตโควิด-19 เสมอไป เพราะหญิงสาวทั้ง 5 คนนี้ได้พัฒนาเครื่องช่วยหายใจที่มีราคาถูกและน้ำหนักเบา เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในอัฟกานิสถาน ซึ่งหลังจากการทดสอบครั้งสุดท้ายสำเร็จ การเปิดตัวของเครื่องมือการแพทย์ชิ้นนี้จะมีส่วนช่วยในการบรรเทาการขาดแคลนของเครื่องช่วยหายใจในประเทศไม่มากก็น้อย
หญิงสาววัย 15-19 ปีกลุ่มนี้ ประกอบด้วย
Somaya Faruqi, Ayda Hayderpoor, Elham Mansoori, Florance Pouya และ
Diana Wahabzada ทั้งหมดเป็นสมาชิกของ Afghan Girls Robotic Team ทีมพัฒนาหุ่นยนต์หญิงที่ได้รับการสนับสนุนโดย Digital Citizen Fund องค์การไม่แสวงหากำไรจากมหานครนิวยอร์ก ซึ่งเยาวชนกลุ่มนี้คือ 1 ใน 20 ของทำเนียบ
30 Under 30 Asia ที่มีอายุน้อยกว่า 21 ปี ซึ่งก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ไม่มีใครเด็กเกินไปที่จะสร้างความแตกต่างและเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้อื่น

ด้าน
Yong Xun Ong วัย 21 ปีจากมาเลเซีย คือ อีกหนึ่งตัวอย่างของกลุ่มคนเจน Z ที่ค้นพบโอกาสใหม่ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 โดยในช่วงต้นปี 2020 Ong ใช้เวลาในการศึกษาการเขียนโปรแกรมจาก Youtube พร้อมไปกับการทำงานพาร์ทไทม์ที่บริษัทขนส่งแห่งหนึ่ง ต่อมาในเดือนมิถุนายน เขาจึงได้เปิดตัว
JomStudy แอปพลิเคชันเรียนฟรี ที่มียอดดาวน์โหลดมากกว่า 10,000 ครั้งภายใน 4 เดือน และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ยอดดาวน์โหลดก็เพิ่มสูงขึ้นกว่า 2 เท่าตัวจากการปิดโรงเรียนในช่วงสถานการณ์โรคระบาด
นอกจากการเป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวมโน้ตทบทวนของผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมมาไว้ในที่เดียวกันแล้ว ในอนาคต Ong วางแผนที่จะขยายการให้บริการไปสู่การจัดทำวิดีโอและบททดสอบท้ายบทเรียนภายในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้เช่นกัน

ขณะที่
Kamal Singh กล้าที่จะเดินตามฝันของตนเอง ด้วยการสมัครเรียนบัลเลต์ที่ Imperial Fernando Ballet School ใน Delhi ขณะอายุ 17 ปี หลังพบว่าตนเองชอบดูภาพยนตร์เรื่อง ABCD: Any Body Can Dance กระทั่ง 4 ปีต่อมา เขาก็ได้เข้าฝึกในโรงเรียน English National Ballet School และล่าสุดในปีที่ผ่านมาได้เป็นชาวอินเดียคนแรกที่ได้รับเลือกให้เข้าโปรแกรมฝึกนักบัลเลต์มืออาชีพในสถาบันชั้นนำจากอังกฤษ
ในฐานะบุตรชายของคนขับรถลาก Singh สามารถระดมทุนเพื่อใช้สำหรับค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าที่อยู่อาศัยเป็นจำนวน 28,000 เหรียญสหรัฐฯ ในระยะเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ ซึ่งมีผู้ให้การสนับสนุนเขากว่า 300 คนที่ยินดีจะบริจาคเพื่อสมทบทุนให้ อาทิ นักแสดงบอลลีวูดอย่าง Kunal Kapoor และ Hrithik Roshan

อีกด้านหนึ่ง
Grace Stratton วัย 21 ปี ผู้ใช้วีลแชร์มาตลอดชีวิตจากภาวะสมองพิการ ก่อตั้ง
All is for All ขึ้นในปี 2019 เพื่อให้การสนับสนุนผู้ทุพพลภาพในอุตสาหกรรมแฟชั่น โดยหน่วยงานของเธอยังได้มีส่วนช่วยในการแคสนางแบบพิการทั้ง 6 คนสำหรับงาน New Zealand Fashion Week 2019 ซึ่งภายในงานนี้ Stratton ยังรับหน้าที่เป็นหนึ่งในผู้บรรยายอีกด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น ในปีที่ผ่านมาเธอยังได้รับรางวัล New Zealand’s Attitude ACC Supreme Award 2020 และ New Zealand Youth Award for Innovation 2019 เช่นกัน
พรสวรรค์อันล้ำค่า
สำหรับในปีนี้ปรากฎรายชื่อผู้ได้รับรางวัลที่มากด้วยพรสวรรค์และดาวเด่นผู้มีความสามารถด้านกีฬาในภูมิภาคมากมาย อาทิ
Sumire Nakamura สาวน้อยชาวญี่ปุ่นวัย 12 ขวบ ผู้สร้างความตะลึงด้วยการก้าวเข้าสู่นักเล่นหมากล้อมมืออาชีพในปี 2019 โดยเธอเริ่มเข้าสู่การแข่งขันในฐานะผู้เล่นที่อายุน้อยที่สุดด้วยวัยเพียง 10 ปี
และสามารถเอาชนะ Chieko Tanaka วัย 67 ปีในการแข่งขันรอบที่ 2 ในเดือนกรกฎาคม 2019

ทั้งนี้ Nakamura บุตรสาวของ Shinya Nakamura ผู้เล่นหมากล้อมมืออาชีพ เริ่มเล่นเกมกลยุทธ์ที่ซับซ้อนตั้งแต่อายุ 3 ขวบ และเข้าแข่งขันในทัวร์นาเมนต์ระดับชาติที่ญี่ปุ่นเมื่ออายุได้ 7 ขวบ
ด้าน
Gaurika Singh วัย 18 ปี เริ่มเรียนว่ายน้ำตั้งแต่อายุ 9 ขวบ
และเข้าแข่งขันที่เนปาลเมื่ออายุได้ 12 ปี ทั้งยังสามารถคว้า 4 เหรียญทองจากการแข่งขัน South Asian Games 2019 และเป็นนักกีฬาที่อายุน้อยที่สุดในการแข่งขัน Rio Olympic Games 2016 และล่าสุดเธอยังได้รับเลือกให้เข้าแข่งขันใน Tokyo 2020 Olympic Games ที่ถูกเลื่อนมาจัดในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2021 นี้
นอกจากความสามารถทางด้านกีฬาแล้ว เธอเข้าร่วมกิจกรรมจิตอาสา และได้รับเลือกให้เป็นทูตสันถวไมตรีขององค์การไม่แสวงหากำไรอย่าง Maiti Nepal และ Shanti Education Initiative

ในปี 2019
Komalika Bari วัย 17 ปี กลายเป็นนักยิงธนูหญิงคนที่ 2 ของอินเดียต่อจาก Deepika Kumari ที่สามารถคว้าเหรียญทองในการแข่งขัน World Archery Youth Championships 2009 ที่ Madrid
ไม่นานหลังจากนั้น เธอก็สามารถคว้าเหรียญเงินในรอบการแข่งขันเดี่ยว และเหรียญทองในรอบทีมที่การแข่งขัน Khelo India University Games ในเดือนกุมภาพันธ์ 2020 และล่าสุด Bari ก็ได้รับเลือกให้เข้าแข่งขันใน Tokyo Olympics เช่นกัน

ด้าน
Lalu Muhammad Zohri นักวิ่งประเภทลู่และสนามชาวอินโดนีเซีย เจ้าของสถิติระดับชาติ 100 เมตรในระยะเวลาเพียง 10.13 วินาที ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “คนที่เร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" สามารถคว้าเหรียญเงินจากการแข่งขัน Asian Athletics Championships ที่กาตาร์ในปี 2019
ไม่เพียงเท่านี้ Zohri วัย 20 จะเข้าแข่งขันใน Tokyo Olympics หลังจากที่คว้าอันดับ 3 ในการแข่งขัน Golden Grand Prix 2019 ใน Osaka ขณะที่ในปี 2018 Zohri ยังเป็นชาวอินโดนีเซียคนแรกที่สามารถคว้าเหรียญทองจากการแข่งขัน 100 เมตรรุ่นเยาวชนที่ World Athletics U20 Championships ซึ่งจัดขึ้นที่ฟินแลนด์เมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา
แปลและเรียบเรียงจากบทความ Get To Know The Youngest Members Of Forbes 30 Under 30 Asia 2021 เผยแพร่บน Forbes.com
อ่านเพิ่มเติม:
“30 Under 30 Asia” สุดยอดหนุ่มสาวดาวรุ่งแห่งเอเชีย 2021