15 ตระกูลมหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในเอเชีย ปี 2017 - Forbes Thailand

15 ตระกูลมหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในเอเชีย ปี 2017

FORBES THAILAND / ADMIN
28 Dec 2017 | 02:58 PM
READ 13448

Ambani แห่งอินเดียคือครอบครัวใหม่ที่ครองอันดับ 1 ตระกูลที่รวยที่สุดในเอเชีย แซงหน้าตระกูล Lee เจ้าของโทรศัพท์มือถือ Samsung จากเกาหลีใต้ ขณะที่เจียรวนนท์-จิราธิวัฒน์ยังคงโลดแล่นในทำเนียบความร่ำรวย โดยมีตระกูลอยู่วิทยาเข้ามาติดอันดับเป็นครั้งแรก

ตระกูลที่ร่ำรวยที่สุดในเอเชียยังคงส่งผ่านความร่ำรวยไปสู่รุ่นลูกหลาน จากการจัดอันดับ 50 ตระกูลเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดของเอเชียโดย Forbes Asia ประจำปี 2017 ครั้งนี้มี 43 ตระกูลที่ทรัพย์สินเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว สาเหตุสำคัญมาจากการที่ตลาดหุ้นเอเชียขยับเพิ่มขึ้นถึง 25% ในรอบปีที่ผ่านมาจนถึงวันที่ 31 ตุลาคม โดยอิงจากดัชนี MSCI AC Asia ตระกูลที่ร่ำรวยมากที่สุดในเอเชีย 50 อันดับแรกมีสินทรัพย์รวมกัน 6.99 แสนล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 35% ตระกูลที่มีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นมากที่สุดในปีนี้คือตระกูล Ambanis ของอินเดีย ซึ่งมูลค่าสินทรัพย์เพิ่มขึ้นสูงที่สุดทั้งในแง่เม็ดเงิน และอัตราการเติบโต โดยมูลค่าสินทรัพย์ของตระกูลนี้เพิ่มขึ้น 1.9 หมื่นล้านเหรียญ เป็น 4.48 หมื่นล้านเหรียญ แซงหน้าตระกูล Lee แห่งอาณาจักร Samsung ขึ้นเป็นอันดับ 1 และปีนี้ยังเป็นปีที่ 3 ที่ตระกูลเศรษฐีจากอินเดียยึดอันดับในทำเนียบเศรษฐีเอเชียมากที่สุดถึง 18 ตระกูล รองลงมาคือฮ่องกง ซึ่งมี 9 ตระกูล สำหรับประเทศไทย ตระกูลเจียรวนนท์ เจ้าของเครือเจริญโภคภัณฑ์ มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเป็น 3.66 หมื่นล้านเหรียญ ครองอันดับที่ 4 ลดอันดับลงจากปีก่อนที่เคยอยู่ในอันดับที่ 2 ทางด้านตระกูลจิราธิวัฒน์ ผู้บริหารเครือเซ็นทรัล มีทรัพย์สินเพิ่มเป็น 1.93 หมื่นล้านเหรียญ และขยับอันดับจากอันดับที่ 14 ขึ้นเป็นอันดับที่ 10 ในปีนี้ ขณะที่ตระกูลอยู่วิทยา ผู้ร่วมก่อตั้งเครื่องดื่มกระทิงแดง มีทรัพย์สินมูลค่า 1.31 หมื่นล้านเหรียญ และทะยานขึ้นมาติดการจัดอันดับเป็นครั้งแรกในอันดับที่ 22 Forbes Thailand ได้คัดเลือกเรื่องราวของตระกูลเศรษฐีเอเชีย 15 อันดับแรกของปี 2017 รวมถึงหน้าใหม่อย่างตระกูลอยู่วิทยามารายงานที่ forbesthailand.com วิธีการจัดอันดับ: ตระกูลที่ติดอันดับต้องมีสินทรัพย์อย่างน้อย 5 พันล้านเหรียญและมีสมาชิกตระกูลร่วมสร้างความมั่งคั่งมาแล้ว 3 รุ่นขึ้นไป การจัดอันดับของ Forbes Asia ยึดตามราคาปิดของมูลค่าหุ้น และอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2560 โดยประเมินมูลค่าบริษัทนอกตลาดกับมูลค่าของบริษัทจดทะเบียนที่มีการซื้อขายในตลาดหุ้น   อันดับ ตระกูล AMBANI 4.48 หมื่นล้านเหรียญ อินเดีย Mukesh Ambani ราคาหุ้น Reliance Industries ของ Mukesh Ambani พุ่งสูงขึ้นในปีที่แล้วจากค่าการกลั่นที่เพิ่มขึ้น และอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจาก Reliance Jio ซึ่งเป็นธุรกิจโทรคมนาคมในเครือ หลังจากที่เขาจุดชนวนการแข่งขันด้านราคาในตลาดมือถืออินเดียด้วยการเปิดให้บริการ 4G ของ Jio ในปี 2016 ซึ่งทำให้จำนวนผู้ใช้บริการของ Jio เพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 140 ล้านเลขหมาย (Reliance เป็นเจ้าของ 18 เครือข่ายมือถือ) ขณะที่ Reliance Communications ของ Anil น้องชายของเขาก็ยกเลิกแผนการควบรวมกิจการกับ Aircel ของมหาเศรษฐีมาเลเซีย Ananda Krishnan จากความล่าช้าในการขออนุญาตจากทางการ และต่อมาก็ปิดให้บริการ 2G ทั้งนี้ Dhirubhai Ambani ซึ่งเป็นพ่อของพวกเขาเคยทำงานที่ปั๊มน้ำมันในเยเมน และซื้อขายเครื่องเทศและสิ่งทอ ก่อนที่จะมาก่อตั้ง Reliance Textile และให้กำเนิดแบรนด์ Vimal ของอินเดีย หลังจากที่พ่อของพวกเขาเสียชีวิตปี 2002 Mukesh และ Anil ก็แตกคอกัน และทำให้อาณาจักรธุรกิจของพวกเขาแตกเป็น 2 ส่วน   อันดับ ตระกูล LEE (BYUNG-CHULL) 4.08 หมื่นล้านเหรียญ เกาหลีใต้ Lee Kun-Hee อดีตประธานกรรมการบริษัท Samsung หลังจากถูกศาลสั่งลงโทษในคดียักยอกทรัพย์เมื่อปี 2009 แต่คดีของเขาได้รับการอภัยโทษในภายหลัง และ Kun-Hee ล้มป่วยจากอาการหัวใจวายในเวลาต่อมา ครอบครัว Lee ที่แตกแขนงออกไปอย่างกว้างขวางถือหุ้นรวมกันถึงเกือบ 45% ใน Samsung Electronics โดยประธาน Lee Kun-Hee ซึ่งเป็นทายาทของผู้ก่อตั้งยังอยู่ในวิกฤตจากภาวะหัวใจวายเฉียบพลันในปี 2014 โดย Jay Y. Lee บุตรชายคนเดียวของเขาถูกตัดสินจำคุก 5 ปีเมื่อเดือนสิงหาคมจากการเข้าไปมีส่วนในเรื่องอื้อฉาวทางการเมือง จึงทำให้อดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ Park Geun-Hye ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง ซึ่งเขาให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาในเรื่องของการจ่ายสินบนและรีดไถซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการขออุทธรณ์ แต่แม้จะเกิดคดีความดังกล่าว ราคาหุ้นSamsung ก็ยังคงวิ่งขึ้นจากปีที่แล้วถึง 75%   อันดับ 3 ตระกูล KWOK 4.04 หมื่นล้านเหรียญ ฮ่องกง Thomas Kwok (ชุดสูทน้ำตาล) ในช่วงที่ได้รับอนุญาตประกันตัวจากคดีติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐเมื่อปี 2016 ตระกูลธุกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ร่ำรวยที่สุดของเอเชียนี้เป็นเจ้าของ Sun Hung Kai Properties โดย Thomas Kwok อดีตประธานร่วมของเครือถูกส่งกลับเข้าคุกหลังจากที่ศาลปฏิเสธฎีกาของเขาในคดีติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ   อันดับ 4 ตระกูลเจียรวนนท์ 3.66 หมื่นล้านเหรียญ ไทย ธนินท์ เจียรวนนท์ (Cr: โพสต์ทูเดย์) ครอบครัวที่กุมอำนาจบริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจผลิตอาหารสัตว์และเนื้อสัตว์ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้ มีมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเกือบ 9 พันล้านเหรียญในปีที่ผ่านมาจากการเข้าถือหุ้น Ping An ธุรกิจประกันในประเทศจีนซึ่งราคาหุ้นวิ่งขึ้นแรงจากรายได้และผลตอบแทนจากพันธบัตรที่เพิ่มขึ้น ธุรกิจเครือ CP ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 1921 เมื่อสองพี่น้อง Chia Ek Chor และ ชนม์เจริญ เจียรวนนท์เปิดร้านขายเมล็ดพันธุ์ซึ่งนำเข้าจากประเทศจีนเพื่อขายให้กับเกษตรกรไทย ปัจจุบันเครือ CP มี ธนินท์ซึ่งเป็นทายาทของ Chia Ek Chor เป็นผู้นำสูงสุดขององค์กร ดำรงตำแหน่งประธานอาวุโส โดยถือหุ้นร่วมกับพี่น้องอีก 3 คนและเครือญาติ หลังจากที่ธนินท์ทำหน้าที่ประธานและซีอีโอของเครือ CP มาอย่างยาวนานถึง 48 ปี เขาก็ได้ถ่ายโอนตำแหน่งประธานเครือ CP ให้กับ ศุภกิจ ลูกชายคนโตอายุ 53 ปี และมอบตำแหน่งซีอีโอให้กับ ศุภชัยลูกชายคนเล็กวัย 50 ปี   อันดับ 5 ตระกูล HARTONO 3.2 หมื่นล้านเหรียญ อินโดนีเซีย Budi Hartono (Cr: Tatler Indonesia) ตระกูลที่ร่ำรวยที่สุดในอินโดนีเซียได้ทุ่มลงทุนโดยเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในธนาคาร Bank Central Asiaเป็น 55% เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาจากเดิม 47% โดยมูลค่าการลงทุนใน BCA ในปัจจุบันคิดเป็น 2 ใน 3 ของทรัพย์สินของตระกูล โดยตระกูล Hartono เข้าซื้อหุ้นใน BCA จากองค์กรปรับโครงสร้างระบบธนาคารอินโดนีเซียหลังจากตระกูล Salim (อันดับที่ 27) สูญเสียอำนาจการบริหารธนาคารไปในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียในปี 1997-1998 ทั้งนี้ ตระกูล Hartano เริ่มสร้างฐานะขึ้นมาจากธุรกิจยาสูบ โดยทุกวันนี้บุหรี่ยี่ห้อ Djarum ที่ตั้งชื่อตามเข็มเครื่องเล่นแผ่นเสียงก็ยังคงเป็นหนึ่งในกิจการบุหรี่ที่ใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย สองพี่น้อง Budi และ Michael ร่วมกันบริหารธุรกิจของตระกูล ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าแบรนด์ดังอย่าง Polytron ไปจนถึงธุรกิอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำใน Jakarta โดยปัจจุบันทายาทรุ่นที่ 3 กำลังก้าวขึ้นสู่บทบาทผู้บริหารใน BCA และ Djarum   อันดับ 6 ตระกูล LEE (SHAU KEE) 2.9 หมื่นล้านเหรียญ ฮ่องกง Lee Shau Kee (Cr: Jerome Favre / Bloomberg) Lee Shau Kee ซึ่งยังรั้งตำแหน่งประธาน Henderson Land Development บอกว่าเขาจะเกษียณแล้ว โดยมี Martin ลูกชายของเขาดูแล Henderson Land ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของตระกูลในฐานะรองประธาน ส่วน Pete ซึ่งเป็นลูกชายอีกคนที่รับตำแหน่งรองประธานเหมือนกันรับหน้าที่ดูแลธุรกิจในประเทศจีน ขณะที่ Margaret ลูกสาวก็รับหน้าที่เป็นผู้บริหารด้วย ทายาทรุ่นที่ 3 กำลังจะเข้ามาร่วมทำหน้าที่บริหาร ในปัจจุบัน Kristine Li ซึ่งเป็นหลานคนโตก็เข้ามาดูแลธุรกิจห้างสรรพสินค้า ทั้งนี้ Shau Kee ย้ายฐานธุรกิจจากมณฑล Guangdong ไปที่ฮ่องกงในปี 1948 โดยเริ่มจากการซื้อขายโลหะมีค่าและค้าเงิน ต่อมาเขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทอสังหาริมทรัพย์ Sun Hung Kai กับพันธมิตร 2 ราย แต่ท้ายที่สุดก็แยกทางกันและมาก่อตั้ง Henderson Development เมื่อปี 1973 นอกจากนี้ Lee ยังถือหุ้นในธุรกิจบริการก๊าซ และการลงทุน อีกด้วย   อันดับ 7 ตระกูล KWEK/QUEK 2.33 หมื่นล้านเหรียญ สิงคโปร์, มาเลเซีย Kwek Leng Beng สมาชิกของตระกูลกว่า 15 คนร่วมกันบริหารธุรกิจในเครือ Hong Leong Group ซึ่งเป็นกิจการที่ครอบคลุมตั้งแต่ธุรกิจการเงินไปจนถึงอสังหาริมทรัพย์ โดยมีความร่ำรวยของตระกูลย้อนหลังไปตั้งแต่ปี 1941 เมื่อ Kwek Hong Png ก่อตั้งบริษัทขึ้นมาร่วมกับพี่น้อง 3 คน ปัจจุบัน Kwek Leng Beng ซึ่งเป็นลูกชายคนโต ของ Hong Png รับหน้าที่เป็นผู้บริหารสูงสุดของกิจการในสิงคโปร์ ส่วน Sherman ซึ่งเป็นหลานเข้ารับตำแหน่งซีอีโอของธุรกิจ City Developmentsของตระกูลมาตั้งแต่เดือนมกราคม ส่วน Quek Leng ลูกพี่ลูกน้องของ Leng Beng ก็ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลกิจการในเครือที่มาเลเซีย   อันดับ 8 ตระกูล CHENG 2.25 หมื่นล้านเหรียญ ฮ่องกง Sonia Cheng รุ่น 3 ของตระกูล เป็นผู้ดูแลด้านธุรกิจบริการ Cheng Yu-tung เสียชีวิตเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว เมื่อ 4 ปีก่อน เขาได้แต่งตั้ง Henry ลูกชายคนโตเป็นประธานและกรรมการบริหารของ Chow Tai Fook กิจการร้านเพชรของตระกูล และ New Worldซึ่งครอบคลุมธุรกิจมากมายตั้งแต่โทรคมนาคมไปจนถึงบ่อนกาสิโน Sonia ซึ่งเป็นลูกสาวของ Henry รับหน้าที่ดูแลธุรกิจบริการ และเข้าไปซื้อกิจการโรงแรมระดับไฮเอนด์ในเครือ Rosewood เมื่อปี 2011 ส่วน Adrian ลูกชายรับหน้าที่ดูแล New World และเริ่มก่อตั้ง C Ventures ซึ่งเน้นลงทุนในธุรกิจแฟชั่นในประเทศจีนเพื่อจับตลาดคนรุ่นใหม่ Peter น้องชายของ Henry รับหน้าที่ดูแล New World China Land ซึ่งมีพอร์ตอสังหาริมทรัพย์ในประเทศจีนมูลค่าสูงถึง 1.6 หมื่นล้านเหรียญ ทั้งนี้ Cheng เริ่มทำงานที่ Chow Tai Fook ในมาเก๊า ก่อนที่จะแต่งงานกับลูกสาวเถ้าแก่ร้าน และย้ายมาตั้งรกรากในฮ่องกง   อันดับ 9 ตระกูล Sy 2.01 หมื่นล้านเหรียญ ฟิลิปปินส์ Howard Sy รุ่น 3 ของตระกูลกับกิจการ StorageMart ที่เขาก่อตั้งขึ้นเอง Henry Sy คือคนที่รวยที่สุดในประเทศฟิลิปปินส์ โดยเขาเริ่มต้นธุรกิจจากการเปิดร้านรองเท้าเล็กๆ ใน Manila ก่อนที่จะสร้างเป็นห้างสรรพสินค้าเล็กๆ ที่ชื่อ SM Prime โดยปัจจุบันกิจการ SM Investments Corp. ของครอบครัวกลายมาเป็นธุรกิจค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดของฟิลิปปินส์ ซึ่งขยายกิจการไปมากกว่า 200 สาขา เขามอบหมายให้ลูกๆ ทั้ง 6 คนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารธุรกิจ และรุ่นหลานก็เข้ามามีบทบาทในการบริหารด้วยโดย Howard ซึ่งเป็นรุ่นหลานเพิ่งก่อตั้งกิจการของตัวเองที่ชื่อ StorageMart ซึ่งเป็นกิจการรับฝากของด้วยตัวเองใน Makati ประเทศฟิลิปปินส์   อันดับ 10 ตระกูลจิราธิวัฒน์ 1.93 หมื่นล้านเหรียญ ไทย ทศ จิราธิวัฒน์ (Cr: Bangkok Post) ตระกูลที่อยู่เบื้องหลังธุรกิจค้าปลีกใน เครือเซ็นทรัล ซึ่ง 30% ของรายได้ 9.6 พันล้านเหรียญในปีก่อนมาจากธุรกิจในต่างประเทศ ผู้บริหารสูงสุดของเครือเซ็นทรัลในปัจจุบันคือ ทศ ซึ่งเป็นหลานผู้ก่อตั้งกิจการ เครือเซ็นทรัลกำลังรุกไปยังธุรกิจออนไลน์ โดยปัจจุบันเป็นเจ้าของเว็บไซต์แฟชั่น Zalora ในประเทศไทย และเป็นพันธมิตรกับ JD.com ของจีนโดยทุ่มเงินถึง 500 ล้านเหรียญเพื่อร่วมลงทุนในธุรกิจการพาณิชย์และฟินเทคเวนเจอร์ เตียง ซึ่งเป็นปู่ของทศและเป็นชาวจีนอพยพที่ยากจน ได้เริ่มเปิดร้านขายของเล็กๆ ขึ้นในปี 1927 โดยใช้ชื่อว่า Keng Seng Lee และต่อมาในปี 1956 สัมฤทธิ์ ลูกชายเตียงก็เปิดห้างสรรพสินค้าแห่งแรกของประเทศไทยขึ้นที่วังบูรพา   อันดับ 11 ตระกูล PREMJI 1.92 หมื่นล้านเหรียญ อินเดีย Azim Premji ธุรกิจ Wipro ของตระกูลก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1945 ด้วยการผลิตน้ำมันสำหรับปรุงอาหาร โดยประธานบริษัท Azim Premji เลิกเรียนหนังสือกลางคันเพื่อมาดูแลธุรกิจเมื่อ Mohamed Hasham Premji พ่อของเขาเสียชีวิต ในปี 1966 เขาขยายกิจการไปสู่ธุรกิจซอฟต์แวร์และทำให้กิจการของเขาเฟื่องฟู โดยในปัจจุบันกิจการของเขาเป็นบริษัท outsource ด้านเทคโนโลยีที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของอินเดียโดยมียอดขายสูงถึง 9 พันล้านเหรียญ ทั้งนี้ Wipro มีศูนย์นวัตกรรมใน Silicon Valley ซึ่งเน้นพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ และร่วมลงทุนกับกิจการสตาร์ทอัพ โดย Rishad ซึ่งเป็นลูกชายของเขารับหน้าที่เป็นผู้คุมกลยุทธ์ของ Wipro และนั่งเป็นกรรมการอยู่ในบริษัทด้วย   อันดับ 12 ตระกูล HINDUJA 1.88 หมื่นล้านเหรียญ อินเดีย, อังกฤษ Gopichand Hinduja (ซ้าย) และ Srichand Hinduja (ขวา) สองในสี่พี่น้องแห่งตระกูล สี่พี่น้องรับหน้าที่ดูแลกิจการในเครือ Hinduja ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่รถบรรทุก น้ำมันหล่อลื่น ธนาคาร ไปจนถึงเคเบิลทีวี โดย Parmanand Deepchand Hinduja พ่อของพวกเขาเป็นผู้ก่อตั้งกิจการด้วยการค้าขายในย่าน Sindh ของอินเดีย (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของปากีสถาน) ก่อนจะย้ายกิจการไปที่อิหร่านในปี 1919 จนกระทั่งลูกชายทั้ง 4 คนย้ายฐานธุรกิจไปที่ London และ Geneva ในปี 1979 ลูกชายคนเล็กของเขาดูแลกิจการในอินเดียที่ Mumbai โดยในปัจจุบันมีรุ่นหลาน 7 คนเข้ามาทำงานในธุรกิจของตระกูล   อันดับ 13 ตระกูล TSAI (WAN-TSAI, WAN-LIN) 1.77 หมื่นล้านเหรียญ ไต้หวัน Tsai Hong-Tu (Cr: forbes.com) สองพี่น้อง Wan-Tsai และ Wan-Lin ก่อตั้ง Cathay Insurance ขึ้นเมื่อปี 1962 แต่ต่อมาทั้งคู่ก็แตกคอกันและแยกธุรกิจออกจากกันเมื่อปี 1979 โดย Wan-Lin (เสียชีวิตเมื่อปี 2004) ได้ Cathay ไป ขณะที่ Wan-Tsai ก่อตั้งกิจการ Fubon ปัจจุบัน Hong-Tu ซึ่งเป็นลูกของ Wan-Lin เป็นผู้บริหารสูงสุดของ Cathay Financial Holdingsซึ่งเป็นกิจการปล่อยกู้ที่ใหญ่ที่สุดของไต้หวัน โดยลูกชายของ Hong-Tu ได้รับแต่งตั้งเป็นรองประธานฝ่ายบริหารของบริษัทในเครือ และมีบทบาทในการบริหารบริษัทในเครืออย่าง Cathay United Bank ขณะที่ Daniel และ Richard ซึ่งเป็นลูกชายของ Wan-Tsai ก็รับหน้าที่ดูแล Fubon หลังจากที่เขาเสียชีวิตในปี 2014 โดยมีทายาทรุ่นหลานรับหน้าที่เป็นผู้บริหาร Fubon Sports & Entertainment   อันดับ 14 ตระกูล MITTAL 1.72 หมื่นล้านเหรียญ อินเดีย Lakshmi Mittal ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง ArcelorMittal ของ Lakshmi Mittal ร่วมกับผู้ผลิตเหล็กสัญชาติอิตาเลียน Marcegaglia เข้าซื้อกิจการของกลุ่มบริษัทเหล็กของอิตาลี Ilva ด้วยเงิน 2.1 พันล้านเหรียญเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา Mohan Lal บิดาของ Mittal เริ่มธุรกิจผลิตเหล็กของตระกูลในช่วงทศวรรษ 1950 เมื่อธุรกิจที่บ้านเกิดอย่างอินเดียต้องเผชิญข้อจำกัดหลายๆ อย่าง บิดาของ Lakshmi ส่งเขาไปอินโดนีเซียในปี 1976 และตัวเขาได้สร้างโรงงานเหล็กขึ้นแห่งหนึ่งที่นั่น ในที่สุด Lakshmi ได้แยกตัวจากพี่ๆ น้องๆ และตั้ง Mittal Steel ซึ่งควบรวมกับ Arcelor ในปี 2006 Vanisha ซึ่งเป็นบุตรสาวของเขาดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์ของบริษัทผลิตเหล็กอย่าง Aperam ส่วน Aditya บุตรชายดำรงตำแหน่งซีเอฟโอ   อันดับ 15 ตระกูล KUOK 1.66 หมื่นล้านเหรียญ มาเลเซีย, สิงคโปร์ Robert Kuok (Cr: South China Morning Post) Robert Kuok ก่อตั้ง Kuok Group บริษัทค้าสินค้าโภคภัณฑ์ขึ้นในปี 1949 ปัจจุบันเป็นเจ้าของเชนโรงแรมหรู Shangri-La โดยบุตรชายคนหนึ่งของเขาบริหารเชนโรงแรมในทวีปเอเชีย ส่วนบุตรชายอีกคนบริหารกิจการเรือสำรวจแหล่งน้ำมันและก๊าซนอกชายฝั่งที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย PACC Offshore Services Holdings และบุตรชายคนที่ 3 ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการของ Kerry Logistics ในเดือนธันวาคม 2015 Robert ได้ขายหุ้นส่วนของเขาใน South China Morning Post ของฮ่องกงให้กับ Alibaba ในราคา 265 ล้านเหรียญ Kuok Group ยังถือหุ้นใน Wilmar International ยักษ์ใหญ่แห่งวงการน้ำมันปาล์ม ซึ่งมี Kuok Khoon Hong หลานชายของ Robert เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูลมีบทบาทสำคัญในบริษัทหลายแห่งใน Kuok Group   อันดับ 22 ตระกูลอยู่วิทยา (ติดอันดับเป็นครั้งแรก) 1.31 หมื่นล้านเหรียญ ไทย สราวุฒิ อยู่วิทยา (Cr: Bangkok Post) ความมั่งคั่งของตระกูลเริ่มต้นจากเจ้าพ่อแห่งวงการเครื่องดื่มชูกำลังอย่าง เฉลียว ซึ่งร่วมกับอดีตผู้บริหารฝ่ายการตลาดชาวออสเตรียน Dietrich Mateschitz ก่อตั้งธุรกิจ กระทิงแดง ขึ้นมาในปี 1987 ภายหลังการเสียชีวิตของเฉลียวในปี 2012 ธุรกิจของครอบครัวขยายไปสู่ธุรกิจโรงพยาบาล อสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจบริหารสโมสรกีฬา ปัจจุบัน เฉลิม บุตรชายคนโตเป็นผู้บริหารสูงสุดของกลุ่มธุรกิจ มีธุรกิจหลักคือกระทิงแดง ซึ่งสามารถจำหน่ายได้มากถึง 6 พันล้านกระป๋องทั่วโลกในปี 2016 ทรัพย์สิน 51% ของบริษัทครอบครองโดยคนในตระกูลอยู่วิทยา โดยที่ทรัพย์สิน 2% มีเฉลิมเป็นผู้ถือครองโดยตรง สราวุฒิ ซึ่งเป็นน้องชายของเฉลิม ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของ Red Bull Thailand วาริท ซึ่งเป็นบุตรชายของเฉลิม ช่วยดูแลธุรกิจไวน์และตัวแทนจำหน่ายรถ Ferrari ของตระกูล ส่วน วรยุทธ บุตรชายอีกคนหนึ่ง กำลังเป็นที่ต้องการตัวขององค์การตำรวจสากลในฐานะผู้ต้องหาคดีชนแล้วหนีซึ่งเกิดขึ้นในปี 2012
คลิกเพื่ออ่าน "ทำเนียบตระกูลมหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในเอเชียประจำปี 2017 ทั้ง 50 ตระกูล" ได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ ธันวาคม 2560 ได้ในรูปแบบ e-Magazine