15 ตระกูลมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในเอเชีย - Forbes Thailand

15 ตระกูลมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในเอเชีย

FORBES THAILAND / ADMIN
16 Feb 2017 | 04:09 PM
READ 3426

จากอันดับตระกูลที่ร่ำรวยที่สุดของเอเชียปีนี้ มีอยู่ประเทศหนึ่งที่มีจำนวนเศรษฐีโดดเด่นกว่าใครในทั้ง 50 อันดับ แต่ธุรกิจของเหล่าเศรษฐีในประเทศดังกล่าว ไม่ได้จำกัดอยู่ในอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง 5 ตระกูลที่รวยที่สุดนั้นทำธุรกิจหลากหลายตั้งแต่เทคโนโลยี ปศุสัตว์ อสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ แม้ทั้ง 50 ตระกูลจะทำธุรกิจอยู่ในเอเชีย แต่บริษัทในเครือของพวกเขาต่างสยายปีกไปทั่วโลก ปี 2016 นี้ รวมทรัพย์สินจากทั้ง 50 ตระกูลแล้วมีมูลค่ากว่า 5.19 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ พบ 15 อันดับ ตระกูลมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในเอเชีย

15 อันดับ ตระกูลมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในเอเชีย 1. ตระกูล LEE มูลค่าทรัพย์สิน: 2.96 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ เกาหลีใต้ ทรัพย์สินร้อยละ 35 ของตระกูลทรงอิทธิพลแห่งเกาหลีใต้มาจาก Samsung Electronics ประธานบริษัท Lee Kun-Hee ลูกชายของผู้ก่อตั้งยังอยู่ในอาการโคม่าหลังจากหัวใจวายเมื่อปี 2014 Lee Jae-yong ลูกชายคนเดียวและทายาท กำลังเผชิญบททดสอบครั้งใหญ่หลังบริษัทต้องเรียกคืนโทรศัพท์ Galaxy รุ่นใหม่ทั่วโลก และจำเป็นต้องยุติการผลิต กระนั้น หุ้นของ Samsung กลับมีราคาเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 เมื่อสิงหาคมที่ผ่านมา Lee Jay-hyun ลูกพี่ลูกน้องของ Lee Jae-yong ได้รับการอภัยโทษจากประธานาธิบดี Park Geun-hye หลังจากรับโทษในข้อหายักยอกทรัพย์และเลี่ยงภาษีเป็นเวลาสองปี 2. ตระกูล เจียรวนนท์ มูลค่าทรัพย์สิน: 2.77 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ไทย ตระกูลที่อยู่เบื้องหลังกลุ่มบริษัท เจริญโภคภัณฑ์ หนึ่งในผู้ผลิตอาหารสัตว์และปศุสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของโลกทรัพย์สินของตระกูลเพิ่มขึ้นอ้างอิงจากรายงานผู้ถือหุ้นล่าสุดของบริษัท ย้อนประวัติความมั่งคั่งของตระกูลเริ่มต้นจากร้านขายเมล็ดพันธุ์นำเข้าจากจีนจำหน่ายแก่เกษตรกรชาวไทยเมื่อปี 1921 ปัจจุบัน ธุรกิจของบริษัทมี ธนินทร์ เจียรวนนท์ เป็นผู้บริหารหลักและแบ่งสรรปันส่วนทรัพย์สินในระหว่างพี่น้องสี่คนและญาติๆ ด้าน ศุภชัย เจียรวนนท์ ลูกชายของธนินทร์รับหน้าที่บริหารงานที่บริษัท True ซึ่งเป็นบริษัทโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสามของไทย True ประมูลสัมปทานระบบ 4G จากรัฐบาลด้วยจำนวนเงินสูงสุดเป็นประวัติการณ์คือ 3 พันล้านเหรียญ 3. ตระกูล AMBANI มูลค่าทรัพย์สิน: 2.58 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ อินเดีย Mukesh Ambani เจ้าพ่อวงการน้ำมันและก๊าซ ก่อสงครามราคาในตลาดสื่อสารโทรคมนาคมของอินเดียด้วยการเปิด Jio บริการโทรศัพท์ 4G เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ในเดือนเดียวกัน Anil พี่ชายของเขา ประกาศการควบรวมกิจการระหว่างReliance Communication และ Aircel บริษัทคู่แข่งซึ่งกำลังอยู่ระหว่างรอการอนุมัติ Dhirubhai Ambani ผู้พ่อ สร้างเนื้อสร้างตัวจากธุรกิจเครื่องเทศและด้ายจากนั้นจึงสร้าง Reliance จนกลายเป็นหนึ่งในบริษัทเอกชนที่ใหญ่ที่สุดของอินเดีย หลังการจากไปของ Dhirubhai ในปี 2002 Mukesh และ Anil มีปัญหาขัดแย้งกันกระทั่งมีการแบ่งทรัพย์สมบัติ ลูกแฝดของ Mukesh ช่วยงานพ่อที่บริษัทเทเลคอม Reliance Jio Infocomm และ Reliance Retail ขณะที่ลูกชายของ Anil ทำงานที่ Reliance Capital 4. ตระกูล KWOK มูลค่าทรัพย์สิน: 2.52 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ฮ่องกง ถือเป็นตระกูลที่ร่ำรวยที่สุดในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ของเอเชีย บริษัท Sun Hung Kai Properties เป็นเจ้าของอาคารสูงที่สุดในฮ่องกง สองพี่น้อง Thomas และ Raymond นั่งเป็นประธานร่วม บริหารงานบริษัทที่มีทรัพย์สินสุทธิมูลค่า 6.1 หมื่นล้านเหรียญ ก่อนที่ Thomas จะถูกตัดสินจำคุกในปี 2014 ข้อหาติดสินบนเจ้าหน้าที่เขาได้รับการประกันตัวออกไปเมื่อเดือนกรกฎาคมและกำลังอยู่ระหว่างยื่นอุทธรณ์ ลูกชายของ Raymond ทำงานในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายและโครงการของกลุ่มบริษัท ขณะที่ลูกชายของ Thomas ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการบริหาร Kwok Tak-Seng ผู้เป็นบิดา ก่อตั้ง Sun Hung Kai & Co. ร่วมกับ Fung King Hey และ Lee Shau Kee ในปี 1969 ต่อมาเขาเปิดบริษัท Sun Hung Kai Properties ซึ่งเขยิบฐานะเป็นบริษัทมหาชนเมื่อปี 1972 ลูกชายอีกคนคือ Walter ซึ่งถูก Thomas และ Raymond ขับออกจากตระกูล เปิดบริษัทอสังหาริมทรัพย์ของตัวเอง คือ Empire Group Holdings 5. ตระกูล LEE มูลค่าทรัพย์สิน: 2.47 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ฮ่องกง Lee Shau Kee หัวเรือใหญ่ของครอบครัว เพิ่งต้อนรับหลานคนที่เจ็ดเมื่อปี 2015 และวางแผนที่จะแจกเงินสองล้านเหรียญเป็นของขวัญกับเพื่อนๆ และพนักงานเพื่อฉลองรับขวัญหลานคนล่าสุด ซึ่งเป็นทายาทของ Martin ลูกชายคนเล็กของเขา ผู้กุมบังเหียน Henderson Land บริษัทอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ของครอบครัว 6. ตระกูล HARTONO มูลค่าทรัพย์สิน: 1.86 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ อินโดนีเซีย ทรัพย์สินมหาศาลของตระกูลได้มาจากธุรกิจธนาคาร Bank Central Asia ธนาคารเอกชนแห่งใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซียซึ่งราคาหุ้นพุ่งขึ้นมาเกือบร้อยละ 20 ครอบครัวก่อร่างสร้างตัวจากธุรกิจยาสูบ โดย Budi และ Michael เข้าบริหารงานกิจการผลิตยาสูบ Djarum ซึ่งก่อตั้งโดยบิดาผู้ล่วงลับเมื่อปี 1951 ปัจจุบันมี Victor บุตรชายของ Budi เป็นผู้ดูแล Djarum กำลังเผชิญปัญหาภาษียาสูบที่สูงขึ้นขณะที่รัฐบาลกำลังพยายามปราบปรามการผลิตทายาทรุ่นที่สามของตระกูลช่วยกันบริหารบริษัทต่างๆ ในเครือ Victor พี่ชายของ Martin ลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีดาวรุ่ง Armand รับตำแหน่งผู้อำนวยการ BCA และRoberto ลูกพี่ลูกน้อง ได้เปิดตัว Fira ระบบปฏิบัติการ สำหรับโทรศัพท์มือถือ 7. ตระกูล KWEK/QUEK มูลค่าทรัพย์สิน: 1.85 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ สิงคโปร์/มาเลเซีย กลุ่มบริษัท Hong Leong Group ซึ่งดำเนินกิจการตั้งแต่ด้านการเงินไปจนถึงอสังหาริมทรัพย์นั้น บริหารงานโดยสมาชิกครอบครัวมากกว่า 15 คน ตั้งแต่ปี 1941 Kwek Hong Png ได้ก่อตั้งบริษัทร่วมกับพี่ชายน้องชายอีกสามคน Kwek Leng Beng ลูกชายคนโตของ Hong Png ดูแลกิจการในสิงคโปร์ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา Sherman หลานชาย ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของตระกูล ส่วน Quek Leng Chan ลูกพี่ลูกน้องของ LengBeng ดูแลธุรกิจที่มาเลเซีย 8. ตระกูล CHENG มูลค่าทรัพย์สิน: 1.73 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ฮ่องกง Cheng Yu-tung หัวเรือใหญ่ของตระกูลเสียชีวิตลงในเดือนกันยายนที่ผ่านมา เมื่อปี 2012 เขาแต่งตั้ง Henry ลูกชายคนโตเป็นประธานและกรรมการผู้จัดการบริษัทผลิตเครื่องประดับของครอบครัว Chow Tai Fook รวมทั้งกลุ่มบริษัท New World Adrian ลูกชายของ Henry คอยดูแลงานการดำเนินงานของ New World ขณะที่ Sonia ลูกสาวรับหน้าที่บริหารโรงแรมหรู Rosewood ด้าน Peter พี่ชายของ Henry ควบคุมธุรกิจของ New World China Land ซึ่งครอบครองอสังหาริมทรัพย์ในจีนที่ Cheng ซื้อไว้มูลค่าถึง 16 หมื่นล้านเหรียญฯ William Doo น้องเขยของ Henry ก็มีส่วนช่วยพา FSE Engineering บริษัทรับเหมาของ New World เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี 2015  Yu-tung ตัดสินใจตั้งถิ่นฐานในฮ่องกงหลังจากแต่งงานกับลูกสาวของเจ้านายที่เป็นเจ้าของร้านทอง Chow Tai Fook ดั้งเดิม 9. ตระกูล TSAL (การเงิน) มูลค่าทรัพย์สิน: 1.53 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ไต้หวัน เมื่อปี 1962 สองพี่น้อง Wan-Tsai และ Wan-Lin ก่อตั้งบริษัท Cathay Insurance แต่แล้วความขัดแย้งในครอบครัวทำให้พวกเขาต้องแยกกันเดินบนเส้นทางธุรกิจในปี 1979 Wan-Lin (เสียชีวิตในปี 2014) แยกไปดูแล Cathay ส่วน Wan-Tsai บริหาร Fubon Hong-tu ลูกชายของ Wan-Lin กุมบังเหียน Cathay Financial Holdings ผู้ปล่อยกู้รายใหญ่ที่สุดในไต้หวัน ซึ่งมีลูกชายของ Hong-tu ดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการ นอกจากนี้พวกเขายังเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการและรองประธาน Cathay United Bank ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทลูกเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา 10. ตระกูล HINDUJA มูลค่าทรัพย์สิน: 1.49 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ อินเดีย, อังกฤษ สี่พี่น้องชายล้วนจากตระกูล Hinduja เจ้าของบริษัท Hinduja Group ทำธุรกิจหลากหลายตั้งแต่รถบรรทุกน้ำมันหล่อลื่น ไปจนถึงธนาคารและเคเบิลโทรทัศน์ Parmanand Deepchand Hinduja พ่อของพวกเขาเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทซึ่งเริ่มต้นจากการค้าขายสินค้าในเขต Sindh ของอินเดีย (ปัจจุบันอยู่ในปากีสถาน) ก่อนจะย้ายไปอิหร่านในปี 1919 และตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทที่นั่นจนกระทั่งปี 1979 ลูกชายทั้งสี่ของเขาย้ายสำนักงานไปยังกรุง London ประเทศอังกฤษ ทุกวันนี้มีทายาทรุ่นที่สามของครอบครัว 7 คน ช่วยกันบริหาร 11. ตระกูล PREMJI มูลค่าทรัพย์สิน: 1.46 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ อินเดีย บริษัท Wipro ของครอบครัวดำเนินธุรกิจผลิตน้ำมันถั่วลิสงตั้งแต่ปี 1945 Azim Premji สืบทอดกิจการต่อหลังจากพ่อของเขา Mohamed Hasham Premji เสียชีวิตเมื่อปี 1966 และร่ำรวยจากการขยายกิจการสู่ธุรกิจซอฟต์แวร์ ปัจจุบัน Wipro เป็นผู้ให้บริการเทคโนโลยีรายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสามของอินเดีย (ทำยอดขาย7.7 พันล้านเหรียญ) เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา Wipro ซื้อบริษัท Appirio บริษัทผู้ให้บริการระบบ Cloud จาก Indianapolis ของสหรัฐฯ มาในมูลค่า 500 ล้านเหรียญRishad ลูกชายของ Azim เป็นหัวเรือใหญ่ด้านการวางกลยุทธ์และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริษัท 12. ตระกูล CHUNG มูลค่าทรัพย์สิน: 1.45 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ เกาหลีใต้ สินทรัพย์จำนวนมากของตระกูลเป็นของ Chung Mong-Koo ประธานบริษัท Hyundai Motor และ Eui-Son ลูกชายของเขา รายได้ของ Hyundai ลดลงเป็นไตรมาสที่ 10 ติดต่อกันหลังประสบปัญหารถนำเข้าตีตลาดและความต้องการจากตลาดจีนลดลง แต่ทรัพย์สินของครอบครัวกลับเพิ่มขึ้นรับข่าวใหม่ของบริษัท ช่วงทศวรรษที่ 40 Ju-yung พ่อของ Mong-Koo เริ่มต้นจากกิจการอู่ซ่อมรถเล็กๆ ในกรุง Seoul ปัจจุบันธุรกิจของครอบครัวมีตั้งแต่ Hyundai Motor ห้างสรรพสินค้า Hyundai Department StoreHyundai Heavy Industries และ KCC 13. ตระกูล MISTRY มูลค่าทรัพย์สิน: 1.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ อินเดีย ทรัพย์สินส่วนใหญ่ของตระกูลอยู่ในกิจการบริษัท Tata Group มูลค่า 1.03 แสนล้านเหรียญฯ (รายได้) ซึ่งมี Cyrus ทายาทรุ่นที่สี่นั่งตำแหน่งประธานจนถึงเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาก่อนจะถูกขับออกระหว่างการประชุมคณะกรรมการบริษัท Pallonji ทวดของเขาเป็นผู้ก่อตั้งธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง โดยได้รับงานสร้างอ่างเก็บน้ำใน Mumbai เพื่อการอุปโภคบริโภคสำหรับชาวเมือง Shapoorji ปู่ของเขา เข้าซื้อหุ้นของบริษัท Tata Sons ในช่วงทศวรรษที่ 30 ส่วน Pallonji พ่อของเขาเป็นผู้ผลักดันให้บริษัทได้งานที่ทำกำไรให้บริษัททั้งในอินเดียและประเทศแถบอ่าวเปอร์เซีย Pallonji มอบหมายให้ Shapoor ลูกชาย เป็นผู้สานต่องานที่ Shappoorji Pallonji Group 14. ตระกูลจิราธิวัฒน์ มูลค่าทรัพย์สิน: 1.38 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ไทย ตระกูลผู้อยู่เบื้องหลังธุรกิจค้าปลีกในกลุ่มเซ็นทรัล (CG) ซึ่งเป็นผู้พัฒนาศูนย์การค้ารายใหญ่ที่สุดของไทยได้เข้าซื้อหุ้น Big C Supercenter ในเวียดนามจาก Casino Group กลุ่มทุนสัญชาติฝรั่งเศสในมูลค่า 1.1 พันล้านเหรียญเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา แต่แพ้ประมูลการเข้าซื้อหุ้น Big C ในไทยจากกลุ่ม Casino เครือเซ็นทรัลกรุ๊ปอยู่ภายใต้การนำทัพของทศ จิราธิวัฒน์ ย้อนกลับไปเมื่อปี 1927 เตียง จิราธิวัฒน์ปู่ของทศเริ่มต้นเปิดร้านแห่งแรกขึ้นที่กรุงเทพฯ ต่อมาในปี 1957 สัมฤทธิ์ผู้เป็นลูกชายได้เปิดห้างสรรพสินค้าแห่งแรกของประเทศขึ้นในเขตพระนคร 15. ตระกูล KUOK มูลค่าทรัพย์สิน: 1.34 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ มาเลเซีย, สิงคโปร์ เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว Robert Kuok ขายหุ้น South Asia’s Richest Families China Morning Post ให้กับ Alibaba ไปในราคา 265 ล้านเหรียญ กิจการในเครือ Kuok Group ซึ่งเขาก่อตั้งขึ้นในปี 1949 เริ่มจากธุรกิจซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์เป็นเจ้าของเครือโรงแรมหรูอย่าง Shangri-La ที่ลูกชายคนหนึ่งของเขารับหน้าที่บริหารดูแลเครือโรงแรมในส่วนภูมิภาคเอเชีย ส่วนลูกชายอีกคนกุมบังเหียน PACC Offshore Services Holdings ธุรกิจเรือขนส่งน้ำมันและก๊าซนอกชายฝั่งที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ขณะที่ลูกชายคนที่สามดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารของ Kerry Logistics นอกจากนี้ตระกูลยังถือหุ้น Wilmar International บริษัทน้ำมันปาล์มยักษ์ใหญ่ ซึ่ง Kuok Khoon Hong ผู้เป็นหลานของ Robert ร่วมก่อตั้งขึ้น ทายาทธุรกิจในรุ่นที่ 3 ได้เข้ามามีบทบาทในการสืบสานกิจการของครอบครัว
คลิ๊กเพื่ออ่านฉบับเต็ม "50 ตระกูลที่ร่ำรวยที่สุดในเอเชีย" ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2559