10 อันดับ "มหาเศรษฐีฟิลิปปินส์" ประจำปี 2019 - Forbes Thailand

10 อันดับ "มหาเศรษฐีฟิลิปปินส์" ประจำปี 2019

FORBES THAILAND / ADMIN
26 Sep 2019 | 07:29 PM
READ 14107

จากรายชื่อ 50 อันดับมหาเศรษฐีฟิลิปปินส์ที่จัดโดย Forbes ได้จากโลกนี้ไปถึง 5 รายในช่วงปีที่ผ่านมา โดย 2 ใน 5 รายดังกล่าวเป็นเศรษฐีที่อยู่ในทำเนียบ 10 อันดับแรก

2 มหาเศรษฐีที่ติดอยู่ใน 10 อันดับมหาเศรษฐีฟิลิปปินส์ คือ Henry Sy อดีตมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของประเทศ และ George Ty มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้ง Metrobank และ GT Group สำหรับอีก 3 รายชื่อได้แก่ Beatrice Campos มหาเศรษฐีหญิง ผู้ก่อตั้งธุรกิจยา, Gilberto Duavit มหาเศรษฐีผู้ผลิตสื่อ และ Jon Ramon Aboitiz แห่งธุรกิจ Aboitiz & Company Inc. สำหรับมหาเศรษฐีหน้าใหม่ในปีนี้ ตบเท้าเข้ามา 3 รายและยังก่อร่างสร้างธุรกิจด้วยตนเอง ได้แก่ Antonio Lee Tiu ติดในอันดับที่ 49 จากธุรกิจพลังงานจากธรรมชาติ, Delfin Wenceslao มหาเศรษฐีนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่นำบริษัท D.M. Wenceslao & Associates เข้าตลาดหลักทรัพย์เมื่อมิถุนายนปีที่ผ่านมา และ Dennis Uy มหาเศรษฐีหน้าใหม่ที่ติดอันดับที่สูงสุดที่สุดในอันดับที่ 22 ซึ่งกลุ่ม Udenna group มูลค่าทรัพย์สินพุ่งกระฉูด 28 เปอร์เซ็นต์เมื่อปีที่ผ่านมา โดย Udenna group ดำเนินธุรกิจทางด้านน้ำมันและปิโตรเลียม รวมถึงธุรกิจโลจิสติกส์ อสังหาริมทรัพย์ การศึกษาและธุรกิจเกม ร่วมติดตาม 10 อันดับแรก จาก การจัดอันดับ 50 มหาเศรษฐีฟิลิปปินส์ ประจำปี 2019

10 อันดับ มหาเศรษฐีฟิลิปปินส์ ประจำปี 2019

มหาเศรษฐีฟิลิปปินส์ อันดับ 1 พี่น้องตระกูล Sy มูลค่าทรัพย์สิน: 1.72 หมื่นล้านเหรียญฯ ธุรกิจ: หลากหลาย ภายหลังการจากไปของ Henry Sy บังลังก์ธุรกิจได้รับการสานต่อโดย 6 ทายาทธุรกิจได้แก่ Teresita, Elizabeth, Henry Jr., Hans, Herbert และ Harley โดยทายาททั้ง 6 ต่างถือหุ้นในทรัพย์สินที่เป็นธุรกิจของครอบครัวผ่าน SM Investments และ SM Prime ความยิ่งใหญ่ของตระกูล Sy เริ่มต้นจากร้านขายรองเท้าเมื่อปี 2501 ที่ก่อตั้งโดย Henry Sy  ทุกวันนี้ SM ถือเป็นกลุ่มธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดำเนินธุรกิจหลากหลาย อาทิ ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ธนาคาร โรงแรม อสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจเหมือง ปัจจุบันบริหารโดยผู้บริหารมืออาชีพ เหล่าพี่น้องตระกูล Sy นั่งบริหารงานในฐานะคณะกรรมการและทำหน้าที่กำหนดยุทธศาสตร์ธุรกิจ   มหาเศรษฐีฟิลิปปินส์ อันดับ 2 Manuel Villar อายุ 69 ปี มูลค่าทรัพย์สิน: 6.6 พันล้านเหรียญฯ ธุรกิจ: อสังหาริมทรัพย์ ประธานบริหารแห่ง Starmalls มอลล์ขนาดใหญ่ที่สุดในฟิลิปปินส์ และ Vista & Landscapes ธุรกิจรับสร้างบ้านที่ใหญ่ที่สุดของฟิลิปปินส์ โดย 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทสร้างผลงานอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ อาทิ การเปิดตัวแบรนด์ Golden Haven Memorial Park ทั้งนี้ ปี  2017 บริษัทได้เข้าซื้อและควบรวมกิจการ Bria Homes ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ระดับกลางทั้งแนวราบและแนวสูงและเปลี่ยนชื่อเป็น Golden Bria ต่อยอดและขยายฐานธุรกิจในอนาคต วัยเด็กของ Manuel Villar ช่วยมารดาขายอาหารทะเลในตลาดสดของกรุง Manila ปัจจุบันภรรยา Cynthia Villar นั่งทำงานในสภาสูงของประเทศฟิลิปปินส์   มหาเศรษฐีฟิลิปปินส์ อันดับ 3 John Gokongwei, Jr. อายุ 93 ปี มูลค่าทรัพย์สิน: 5.3 พันล้านเหรียญฯ ธุรกิจ: หลากหลาย ผู้ก่อตั้ง JG Summit วัย 93 ปี ดำเนินธุรกิจหลากหลาย อาทิ ธุรกิจสายการบิน การสื่อสาร ธนาคาร อาหาร พลังงาน รวมไปถึงอสังหาริมทรัพย์ เมื่อปี 1957 เขาเปิดโรงงานผลิตแป้งข้าวโพดภายใต้บริษัท Universal Robina Corporation (URC) กระทั่งปัจจุบัน URC เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมด้านอาหารและเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ ปัจจุบัน JG Summit อยู่ภายใต้การบริหารธุรกิจโดย James Go น้องชายของเขาในตำแหน่งประธานกรรมการ JG Summit ด้าน Lance บุตรชายคนเดียวของ Gokongwei นั่งตำแหน่งซีอีโอของบริษัท ส่วนบุตรสาวคนโต Robina บริหารงานกลุ่มธุรกิจ Robinson Retail Holdings ผู้ค้าปลีกอันดับสองของประเทศ โดยลูกสาวคนอื่นๆ อาทิ Lisa ดูแล Summit Media สื่อออนไลน์ด้านไลฟ์สไตล์   มหาเศรษฐีฟิลิปปินส์ อันดับ 4 Enrique Razon, Jr. อายุ 59 ปี มูลค่าทรัพย์สิน: 5.1 พันล้านเหรียญฯ ธุรกิจ: ท่าเรือ Enrique Razon, Jr. ประธานคณะกรรมการ the International Container Terminal Services (ICTSI) ผู้บริหารท่าเทียบเรือภายในประเทศ ทั้งยังมีธุรกิจบริษัทย่อยในยุโรปตะวันตก แอฟริกา และสหรัฐฯ ตระกูล Razon ดำเนินธุรกิจท่าเรือตั้งแต่รุ่นปู่ของเขาเมื่อปี 2495 หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง บิดาของเขาสามารถสร้างธุรกิจท่าเรือและเติบโตสู่บริษัทระดับโลก นอกจากบริษัทท่าเรือแล้วนั้น เขายังดำเนินธุรกิจทางด้านสุขภาพและธุรกิจกาสิโน   มหาเศรษฐีฟิลิปปินส์ อันดับ 5  Jaime Zobel de Ayala อายุ 85 ปี มูลค่าทรัพย์สิน: 3.7 พันล้านเหรียญฯ ธุรกิจ: หลากหลาย Jaime Zobel de Ayala วางมือจากธุรกิจครอบครัว Ayala Group ตั้งแต่บุตรชาย Jaime II เข้ามารับช่วงการบริหารธุรกิจต่อจากเขาในปี 2006 โดยลูกๆ ทั้ง 7 ของเขาบริหารรายได้ราว 1 ใน 3 ของรายได้รวม 3.9 พันล้านเหรียญฯ Ayala Group ดำเนินธุรกิจโรงกลั่นสุราใน Manila และขยายฐานธุรกิจสู่กลุ่มธนาคาร อสังหาริมทรัพย์ โรงแรม การสื่อสาร และการศึกษาในเวลาต่อมา   มหาเศรษฐีฟิลิปปินส์ อันดับ 6  Lucio Tan อายุ 85 ปี มูลค่าทรัพย์สิน: 3.6 พันล้านเหรียญฯ ธุรกิจ: หลากหลาย Lucio Tan วัย 85 ปี ผู้ก่อตั้งและยังคงนั่งตำแหน่งประธานบริษัท LT Group ที่มีรายได้ 1.1 พันล้านเหรียญฯ มาจากธุรกิจที่หลากหลายของเขาไม่ว่าจะเป็น ยาสูบ สุรา และเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์และไม่มีแอลกอฮอล์ ธนาคาร การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ Tan นำความรู้ด้านเคมีที่เขาเรียนจาก Far East University โดยปี 1982 มาก่อตั้ง Asia Brewery ที่ปัจจุบันอยู่ภายใต้ LT Group และเป็นกลุ่มธุรกิจด้านเครื่องดื่มเพียงกลุ่มเดียวที่มีความสามารถแข่งขันด้านตลาดกับ San Miguel เบอร์หนึ่งของตลาดฟิลิปปินส์   มหาเศรษฐีฟิลิปปินส์ อันดับ 7 Tony Tan Caktiong อายุ 66 ปี มูลค่าทรัพย์สิน: 3 พันล้านเหรียญฯ ธุรกิจ: อาหาร ผู้ก่อตั้งและประธานบริษัท Jollibee Food หนึ่งในธุรกิจที่ขยายเครือข่ายธุรกิจรวดเร็วรายหนึ่งของโลก ตุลาคมปีที่ผ่านมา Jollibee ได้เปิดสาขาต่างประเทศลำดับ 37 ไม่ไกลจาก Times Square ย่านดังบนเกาะ Manhattan สหรัฐอเมริกา เมนูอาหารนานาชาติของ Jollibee ประกอบด้วยอาหารพื้นเมืองของชาวฟิลิปปินส์ อาหารจีน อาหารสไตล์ยุโรป โดดเด่นด้วยความรวดเร็วและราคาที่จับต้องได้ Jollibee Food เติบโตมาจากธุรกิจร้านไอศกรีม จนกระทั่งปัจจุบันมีรายได้รวมที่ 2.5 พันล้านเหรียญและกำลังขายฐานธุรกิจแบบปูพรมตั้งแต่มาเก๊าไปจนประเทศอังกฤษ   อันดับ 8 Ramon Ang อายุ 65 ปี มูลค่าทรัพย์สิน: 2.8 พันล้านเหรียญฯ ธุรกิจ: หลากหลาย Ramon Ang ประธาน และประธานกรรมการบริษัท San Miguel ธุรกิจที่ดำเนินมาอย่างยาวนานในประเทศฟิลิปปินส์ โดย San Miguel ถือเป็นผู้นำทางด้านอาหารและเครื่องดื่ม แต่รายได้หลักจริงๆ มาจากธุรกิจพลังงานและโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยเขายังถือหุ้นใน Eagle Cement บริษัทที่เพิ่งนำเข้าตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี 2016 ที่ผ่านมา และนำบริษัท San Miguel เข้าไปถือหุ้นใหญ่ราว 85.7 % ใน Holcim Philippines บริษัทผู้ผลิตซีเมนต์ของประเทศ   อันดับ 9  พี่น้องตระกูล Ty มูลค่าทรัพย์สิน:  2.6 พันล้านเหรียญฯ ธุรกิจ: การธนาคาร 4 พี่น้องตระกูล Ty แห่ง Arthur, Alfred, Alesandra, Anjanette ทายาทธุรกิจที่เข้ามารับช่วงธุรกิจหลังการจากไปของ George Ty บิดาและผู้ก่อตั้ง Metrobank Arthur Ty พี่ใหญ่ของตระกูลได้รับเลือกเป็นผู้นำทัพ GT Capital ที่ดำเนินธุรกิจธนาคาร ยานยนต์ การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ การผลิตไฟฟ้า และประกันภัย   อันดับ 10 Andrew Tan อายุ 67 ปี มูลค่าทรัพย์สิน: 2.55 พันล้านเหรียญฯ ธุรกิจ: หลากหลาย Andrew Tan ประธานบริหาร Alliance Global กลุ่มบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้าน ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจเกมและอสังหาริมทรัพย์ Tan ก่อร้างสร้างธุรกิจและสร้างชื่อในฐานะนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เป็นเจ้าของอาคารหลายแห่งใน Manila และบริหารแบรนด์ข้ามชาติอย่าง McDonald's และบริษัท Emperador จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์   การจัดอันดับนี้ใช้ข้อมูลทางการเงินและการถือครองหุ้น ที่ได้รับมาจากทางครอบครัวและปัจเจกบุคคล ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ นักวิเคราะห์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและหน่วยงานกำกับดูแลหลายแห่ง รวมถึงทรัพย์สินของครอบครัวและทรัพย์สินที่ถือครองโดยสมาชิกครอบครัวในหลายรุ่น ทั้งนี้ มูลค่าทรัพย์สินในบริษัทมหาชนคำนวณจากราคาหุ้นและอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 6 กันยายน ส่วนทรัพย์สินในบริษัทที่ถือครองส่วนตัวประเมินค่าโดยเปรียบเทียบกับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเดียวกันที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ Photo Credit:  forbes.com
ไม่พลาดบทความด้านธุรกิจ ติดตามได้ที่ Facebook: Forbes Thailand Magazine