10 อันดับ “มหาเศรษฐีจีน” ประจำปี 2018 ปีแห่งการฟันฝ่ามรสุมเศรษฐกิจแดนมังกร - Forbes Thailand

10 อันดับ “มหาเศรษฐีจีน” ประจำปี 2018 ปีแห่งการฟันฝ่ามรสุมเศรษฐกิจแดนมังกร

FORBES THAILAND / ADMIN
30 Dec 2018 | 10:30 AM
READ 23640

ราว 3 ใน 4 ของ "มหาเศรษฐีจีน" 400 อันดับแรกมีทรัพย์สินลดลงในปีนี้ แต่กลุ่มเทคโนโลยีและธุรกิจสุขภาพยังไปได้สวย ขณะที่ผลกระทบหนักที่สุดเกิดขึ้นกับภาคการผลิต

กราฟดัชนีตลาดหลักทรัพย์และค่าเงินหยวนที่ตกต่ำ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเครดิตและการค้า ส่งผลให้สินทรัพย์ของบรรดามหาเศรษฐีชาวจีนลดฮวบ ประมาณ 3 ใน 4 ของ 400 อันดับผู้มั่งคั่งที่สุดในปีที่ผ่านมามีสินทรัพย์สุทธิลดลง ทำให้มีผู้หลุดจากอันดับถึง 93 ราย สำหรับผู้ที่ยังอยู่ 229 รายถือครองสินทรัพย์น้อยลงจากปีที่แล้ว และเกือบ 1 ใน 3 มีทรัพย์สินลดฮวบถึงร้อยละ 20 หรือมากกว่านั้น ในปีนี้ ผู้ที่มีมูลค่าสินทรัพย์ดิ่งลงหนักที่สุดเมื่อคิดเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯ คือ Hui Ka Yan นักธุรกิจผู้คร่ำหวอดจากแวดวงอสังหาริมทรัพย์ซึ่งครองอันดับ 1 ในปีที่ผ่านมา สินทรัพย์สุทธิของเขาลดลงถึง 1.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือร้อยละ 28 ตกลงมาอยู่ในอันดับที่ 3 สลับที่กับ Jack Ma ประธานบริษัทอี-คอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ Alibaba ซึ่งกลับขึ้นไปครองอันดับที่ 1 เป็นครั้งแรกนับจากปี 2557 ด้วยสินทรัพย์มูลค่า 3.46 หมื่นล้านเหรียญ แม้ว่าจะเป็นจำนวนที่น้อยกว่าปีที่แล้วถึง 4 พันล้านเหรียญ ขณะที่ Ma Huateng แห่ง Tencent (หรืออีกชื่อที่รู้จักกันคือ Pony Ma) ยังรั้งอันดับที่ 2 แม้สินทรัพย์ลดลง 6.2 พันล้านเหรียญ Wang Wei แห่ง S.F. Holding หรือที่ได้รับสมญาว่า Fedex of China มีสินทรัพย์ลดลงมากเป็นอันดับที่ 2 คือ 7.4 พันล้านเหรียญ หรือคิดเป็นร้อยละ 33 อีกหนึ่งผู้เสียหายจากการเทขายหุ้นจีนอย่างต่อเนื่องคือ Richard Liu ผู้ก่อตั้ง JD.com (อันดับที่ 30) เว็บไซต์ค้าปลีกออนไลน์ที่มีนักลงทุนอย่าง Tencent และ Walmart สินทรัพย์สุทธิของเขาดิ่งลงร้อยละ 34 ราคาหุ้นลดลง 1 ใน 4 นับตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม เมื่อ Liu ถูกจับที่รัฐ Minnesota สหรัฐอเมริกา จากข้อกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมมิชอบทางเพศ เขาได้รับการปล่อยตัวในวันต่อมาโดยไม่ได้ถูกตั้งข้อกล่าวหา JD.com แถลงว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวไม่เป็นความจริง แม้มูลค่าที่เสื่อมลงจะเกิดขึ้นกับธุรกิจด้านอินเทอร์เน็ต แต่นักธุรกิจ 2 รายจากกลุ่มเทคโนโลยีและอี-คอมเมิร์ซกลับกลายเป็น 2 อันดับมาแรงบน Top 400 ในปีนี้ Wang Xing (อันดับที่ 37) มีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นเป็น 5.1 พันล้านเหรียญ จากเพียง 4.05 พันล้านเหรียญในปีที่แล้ว อันเป็นผลจากการนำหุ้นของแอพพลิเคชั่น Meituan ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นสำหรับการซื้อแบบรวมกลุ่ม (Group-buying) และสั่งอาหาร ออกเสนอขายแก่ประชาชนครั้งแรก (IPO) ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงเมื่อเดือนกันยายน เช่นเดียวกันกับ Lei Jun ซีอีโอแห่ง Xiaomi (อันดับที่ 11) ที่มีสินทรัพย์ก้าวกระโดดเป็น 1.19 หมื่นล้านเหรียญ จาก 6.8 พันล้านเหรียญหลังจากการขายหุ้น IPO ในเดือนกรกฎาคม รวมแล้วมีนักธุรกิจจากแวดวงเทคโนโลยีเข้าอันดับมาใหม่ในปีนี้ 12 ราย ซึ่งรวมถึง Colin Huang ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ Pinduoduo (อันดับที่ 12) ซึ่งเพิ่งเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น Nasdaq ในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา ขณะที่สังคมผู้สูงอายุในจีนใช้จ่ายมากขึ้นในการดูแลตัวเอง นักธุรกิจจากบริษัทด้านเภสัชภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพก็ได้รับอานิสงส์นี้ Sun Piaoyang ซีอีโอ Jiangsu Hengrui Medicine ซึ่งขึ้นมาเป็นอันดับที่ 15 ปีนี้มีนักธุรกิจจากกลุ่มผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพเข้าอันดับ 43 ราย เพิ่มจากปีก่อน 3 ราย แม้เกือบทุกอุตสาหกรรมจะประสบกับความตกต่ำในมูลค่าสินทรัพย์รวม ภาคการผลิตซึ่งทำรายได้ให้จีนมากที่สุดดูจะได้รับผลกระทบหนักกว่าใคร ด้วยจำนวนผู้เข้าอันดับที่ลดลงจาก 79 เป็น 72 รายและสินทรัพย์เฉลี่ยของพวกเขาลดลงเหลือ 1.8 พันล้านเหรียญ จาก 2.1 พันล้านเหรียญ ทั้งนี้ สินทรัพย์คำนวณจากราคาหุ้นและอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 12 ตุลาคม ตัวเลขประมาณการบางรายการได้รวมเอาสินทรัพย์ที่ถือครองโดยสมาชิกครอบครัว หุ้นที่จัดให้มีการฝากทรัพย์สิน (Collateralized shares) ไม่ได้ถูกนำมาคำนวณด้วย และเหล่านี้คือ Top 10 อันดับมหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยที่สุดของจีนประจำปี 2018  

อันดับ 1 Jack Ma

ทรัพย์สิน 3.46 หมื่นล้านเหรียญ บริษัท Alibaba Group อายุ: 54 ปี อดีตครูสอนภาษาอังกฤษผู้ผันตัวมาก่อตั้ง Alibaba Group หนึ่งในบริษัทอี-คอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในปี 2014 Alibaba เปิดขายหุ้นไอพีโอใน New York และเป็นการสร้างสถิติใหม่ของการเปิดขายหุ้นต่อสาธารณะด้วยการระดมทุนได้สูงสุดถึง 2.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ความเคลื่อนไหวล่าสุดช่วงเดือนกันยายน 2018 Ma ประกาศว่าเขาจะลงจากตำแหน่งประธานกรรมการของ Alibaba ภายใน 1 ปี และผู้ที่จะรับสืบทอดตำแหน่งนี้คือซีอีโอคนปัจจุบัน Daniel Zhang สำหรับการลงทุนส่วนตัวนอกเหนือจาก Alibaba ของ Ma เขาถือหุ้นในอุตสาหกรรมบันเทิงของจีนในบริษัท Huayi Brothers และ Beijing Enlight Media  

อันดับ 2 Ma Huateng

ทรัพย์สิน 3.28 หมื่นล้านเหรียญ บริษัท Tencent อายุ: 47 ปี Ma Huateng หรือที่รู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่า Pony Ma คือประธานกรรมการ Tencent Holdings บริษัทไอทียักษ์ใหญ่ของจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงสุดของแดนมังกร โดยมีผลิตภัณฑ์ยอดนิยมคือแอปพลิเคชั่น WeChat ที่มีผู้ใช้งานกว่า 1 พันล้านคน Ma ก่อตั้ง Tencent เมื่อปี 1998 และเติบโตจนถึงปัจจุบัน ล่าสุด Tencent เพิ่งซื้อหุ้น 12% ในบริษัท Snap ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Snapchat เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2017 และกำลังเตรียมตัวนำ Snap เข้าจดทะเบียนซื้อขายหุ้นไอพีโอ ในทางตรงข้ามกับบริษัทคู่แข่งอย่าง Alibaba ซึ่งบอสใหญ่ของบริษัทชอบออกงานสังคม Ma Huateng เป็นเศรษฐีที่ใช้ชีวิตแบบโลว์โปรไฟล์ ด้วยพื้นฐานอาชีพของเขาที่เป็นวิศวกรมาก่อน  

อันดับ 3 Hui Ka Yan

ทรัพย์สิน 3.08 หมื่นล้านเหรียญ บริษัท China Evergrande อายุ: 60 ปี เขาคือประธานกรรมการบริษัท Evergrande Group หนึ่งในบริษัทเรียลเอสเตทที่ใหญ่ที่สุดของจีน โดยเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง Evergrande ซึ่งเข้าจดทะเบียนในตลาดฯ เมื่อปี 2009 ปัจจุบันมีการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รวมกว่า 800 โครงการใน 280 เมือง Hui ผู้ก่อตั้งบริษัท เคยทำงานเป็นช่างเทคนิคในโรงงานเหล็กอยู่ 10 ปี ก่อนจะเริ่มก่อตั้ง Evergrande ในปี 1996 โดยเริ่มจากการพัฒนาอสังหาฯ ระดับล่างในตลาดขนาดเล็กก่อนจะเติบใหญ่ถึงทุกวันนี้  

อันดับ 4 Wang Jianlin

ทรัพย์สิน 2.27 หมื่นล้านเหรียญ บริษัท Dalian Wanda อายุ: 64 ปี Wang Jianlin นั่งตำแหน่งประธานกรรมการ Dalian Wanda Group หนึ่งในบริษัทอสังหาฯ ที่ใหญ่ที่สุดของโลก โดยบริษัทของเขาคือผู้พัฒนาย่านกลางเมืองกว่า 200 แห่งของจีน นอกจากนี้ เครือบริษัท Dalian Wanda ยังเป็นเจ้าของเชนโรงภาพยนตร์ AMC และสตูดิโอภาพยนตร์ Legendary Entertainment อย่างไรก็ตาม Wang เริ่มเกษียณอายุตั้งแต่ปี 2017 และขายพอร์ตหุ้นในกลุ่มธุรกิจโรงแรมและท่องเที่ยวในประเทศจีน เช่น ธีมปาร์ค สตูดิโอภาพยนตร์ คิดเป็นมูลค่ากว่า 9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อมาช่วงต้นปี 2018 Wanda ยังขายสินทรัพย์ใน London และในประเทศออสเตรเลีย รวมถึงขายหุ้นที่ถือในสโมสรฟุตบอลสเปนอย่าง Atletico de Madrid ด้วย  

อันดับ 5 He Xiangjian

ทรัพย์สิน 1.95 หมื่นล้านเหรียญ บริษัท Midea อายุ: 76 ปี Midea หนึ่งในบริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก ก่อตั้งโดย He Xiangjian เขาเริ่มต้นจากการรวบรวมคน 23 คนในเมือง Beijiao มณฑล Guangdong เพื่อร่วมกันผลิตฝาครอบ การก่อตั้งเมื่อปี 1968 ในครั้งนั้นกลายมาเป็น Midea ทุกวันนี้ซึ่งขยายตัวออกไปจนมีบริษัทย่อยกว่า 200 แห่ง ในจำนวนนี้รวมถึงบริษัทหุ่นยนต์ Kuka ในเยอรมนีด้วย He Xiangjian ลงจากตำแหน่งควบคุมงานปฏิบัติการเมื่อปี 2012 ส่วนลูกชายของเขา He Jianfeng ได้ขึ้นเป็นผู้อำนวยการของ Midea Group และ Midea Real Estate Holdings  

อันดับ 6 Yang Huiyan

(PHOTO CREDIT: people.followcn.com)
ทรัพย์สิน 1.71 หมื่นล้านเหรียญ บริษัท Country Garden อายุ: 37 ปี บัณฑิตจาก Ohio State University ได้รับหุ้นส่วนใหญ่ของบริษัท Country Garden มาจาก Yeung Kwok Keung คุณพ่อของเธอในปี 2007 ปัจจุบัน Yang Huiyan ถือหุ้น 57% ในบริษัท นอกจากนี้เธอยังเป็นประธานกรรมการบริษัท Bright Scholar Education Holdings บริษัทด้านการศึกษาของจีนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ New York เมื่อปี 2007 สินทรัพย์ที่เธอครอบครองทั้งหมด ทำให้เธอเป็นหนึ่งในเศรษฐีจีน 15 รายบนทำเนียบของ Forbes ปีนี้ที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปี  

อันดับ 7 Wang Wei

ทรัพย์สิน 1.49 หมื่นล้านเหรียญ บริษัท SF Express อายุ: 48 ปี Wang Wei ก่อตั้งบริษัท S.F.Holding บริการจัดส่งพัสดุที่ถูกขนานนามว่าเป็น “Fedex แห่งเมืองจีน” ในปี 1993 ที่เมือง Shunde มณฑล Guangdong ปัจจุบัน Wang ถือหุ้นราว 60% ของบริษัท ล่าสุด S.F.Holding เป็นบริษัทแรกของจีนที่ได้รับใบอนุญาตให้จัดส่งพัสดุด้วยโดรนเมื่อเดือนมีนาคม 2018  

อันดับ 8 Robin Li

ทรัพย์สิน 1.46 หมื่นล้านเหรียญ บริษัท Baidu อายุ: 49 ปี Li ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Baidu เครื่องมือค้นหาข้อมูลที่ใหญ่ที่สุดของจีน Baidu เป็นหนึ่งในกลุ่ม “BAT” สามประสานบริษัทที่ใหญ่ที่สุดของจีนอันได้แก่ Baidu, Alibaba และ Tencent Li ตกเป็นข่าวเมื่อปี 2016 เมื่อตัวเขาเองพยายามยื่นราคาซื้อ iQiyi แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งวิดีโอชื่อดังของจีนและเป็นบริษัทลูกของ Baidu เอง แต่เขายื่นซื้อในราคาต่ำกว่าที่ตลาดประเมิน ทำให้ดีลนี้ถูกยกเลิก และในที่สุด iQiyi ได้เปิดขายหุ้นไอพีโอในสหรัฐฯ ไปเมื่อปี 2018  

อันดับ 9 Li Shufu

ทรัพย์สิน 1.42 หมื่นล้านเหรียญ บริษัท Geely Automobile อายุ: 55 ปี บัณฑิตด้านวิศวกรรมศาสตร์ Li Shufu ประธานกรรมการ Geely Automobile Holdings หนึ่งในสิบบริษัทยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของจีน และเป็นหนึ่งในไม่กี่บริษัทเหล่านั้นที่ไม่ใช่บริษัทรัฐวิสาหกิจ สำหรับปีที่ผ่านมา Geely ทำยอดขายได้ดีและราคาหุ้นก็พุ่งขึ้นสูง จากความสำเร็จของการขายรถ SUV ด้านการลงทุนของ Li เอง เขามีบริษัทส่วนตัวที่เข้าไปลงทุนใน Volvo ตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปี 2010  

อันดับ 10 William Ding

ทรัพย์สิน 1.35 หมื่นล้านเหรียญ บริษัท Netease อายุ: 47 ปี William Ding ซีอีโอแห่ง Netease หนึ่งในบริษัทเกมออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เขาเคยเป็นเศรษฐีจีนคนแรกที่สร้างตัวจากบริษัทเกมและอินเทอร์เน็ตและเคยเป็นเศรษฐีที่รวยที่สุดของประเทศอีกด้วย ช่วงที่ผ่านมา เขากำลังเผชิญการแข่งขันอันรุนแรงหลังจาก Tencent ก้าวเข้ามาเล่นในตลาดภาพยนตร์ มิวสิกสตรีมมิ่ง และอี-คอมเมิร์ซ ซึ่งมีผลกับการบริโภคเกมของลูกค้า  
อ่านทำเนียบฉบับเต็มของ 100 อันดับแรกมหาเศรษฐีจีนปี 2018 พร้อมบทวิเคราะห์หลากอุตสาหกรรม/บริษัทจีน ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2561