โลจิสติกส์ไร้พรมแดน เชื่อมแผ่นฟ้าจรดท้องทะเล - Forbes Thailand

โลจิสติกส์ไร้พรมแดน เชื่อมแผ่นฟ้าจรดท้องทะเล

WICE เปิดเกมรุกสู่ผู้นำโลจิสติกส์ครบวงจรในภูมิภาคอาเซียนชู SEL แห่งสิงคโปร์เป็นฐานขยายน่านฟ้าขนส่งทางอากาศรับโอกาสธุรกิจ ดันรายได้เติบโตติดปีกสู่ระดับพันล้าน

หากย้อนกลับไปสู่ห่วงเวลาในการก่อร่างสร้าง บริษัท ไวส์ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) ของ อารยา คงสุนทร คงต้องเริ่มย้อนไปเมื่อครั้งที่เธอเริ่มต้นเป็นพนักงานสายการเดินเรือต่างประเทศซึ่งสั่งสมประสมการณ์จนเชี่ยวชาญในสาขาธุรกิจนี้ และเมื่อได้รับโอกาส เธอได้ซื้อหุ้นจากหุ้นส่วนต่างชาติและสร้างบริษัทโลจิสติกส์ไทยแท้ ในเวลาต่อเธอปรับโครงสร้างและควบรวมบริษัทต่างๆ ก่อนแปรสภาพ เป็น บริษัท ไวส์ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) และนั่งตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารกระทั่งปัจจุบัน

“บริษัทเริ่มต้นจากพนักงาน 4-5 คน ซึ่งเปิดโอกาสให้เราได้เรียนรู้ในทุกฟังก์ชั่นของงาน จากที่เคยเป็นพนักงานขายกลายเป็นต้องทำทุกอย่าง หลังจากบริหารประมาณ 10 ปีกลุ่มผู้ร่วมทุนได้ขายกิจการและชวนให้เราขายด้วย แต่เราขอซื้อหุ้นกลับ ทำให้กลายเป็นบริษัทคนไทย 100% เราเชื่อว่า เราไปต่อได้จากชื่อเสียงของบริษัทที่สั่งสมนับสิบปี” หญิงแกร่งแห่งธุรกิจโลจิสติกส์เล่าถึงช่วงแรกในการบุกเบิกธุรกิจ โดยมี ชูเดช คงสุนทร กรรมการผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ คู่ชีวิตและคู่คิดในการทำงานร่วมให้สัมภาษณ์

แม้จะเป็นบริษัทโลจิสติกส์สัญชาติไทยแต่อารยาสามารถสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจยืนหยัดในเวทีเดียวกับยักษ์ใหญ่ระดับโลก จากกลยุทธ์การตอบสนองทุกความต้องการของลูกค้า ด้วยการบริการอันหลากหลาย ได้แก่ การรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทางทะเล (sea freight)  ซึ่งบริษัททำหน้าที่เป็นผู้จัดหาระวางเรือและตู้คอนเทนเนอร์จากสายการเดินเรือชั้นนำที่มีชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือ โดยอาศัยความเชี่ยวชาญการขนส่งไทย-สหรัฐอเมริกาตั้งแต่แรกเริ่มของไวส์ กรุ๊ป (WICE Group) ในอดีต โดยรักษาฐานลูกค้าในสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดหลัก ตามมาด้วยประเทศญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และจีน

ขณะเดียวกันบริษัทยังมีบริการขนส่งระหว่างประเทศทางอากาศ (air freight)  ทำหน้าที่ติดต่อและจองระวางสายการบินตามตารางเวลาและข้อกำหนดที่ลูกค้าต้องการ โดยให้บริการครอบคลุมเขตการค้าสำคัญในประเทศต่างๆ ซึ่งมีตลาดในแถบเอเชียเป็นตลาดหลัก เช่น ประเทศสิงคโปร์ ฮ่องกง จีน โดยสินค้าส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และเพิ่มทางเลือกจัดส่งสินค้าแบบเร่งด่วนภายใน 24 ชั่วโมงจากสิงคโปร์มากรุงเทพฯ ในลักษณะ door-to-door หรือการให้บริการรับจัดการขนส่งตั้งแต่หน้าประตูโรงงานลูกค้าต้นทาง เพื่อส่งมอบไปยังหน้าประตูโรงงานลูกค้าปลายทาง และแบบ EXW (ex works) คือ การให้บริการรับจัดการขนส่งที่ผู้นำเข้ารับผิดชอบภาระค่าขนส่งตั้งแต่หน้าประตูโรงงานผู้ส่งออกไปจนถึงผู้รับปลายทาง

“แต่ละโหมดของการขนส่งมีความแตกต่างกัน เช่น ทางเรือใช้กับสินค้าปริมาณมาก ราคาถูกกว่า แต่ใช้เวลานานกว่าจะส่งมอบปลายทาง ส่วนทางอากาศใช้กับสินค้ามูลค่าสูงและต้องการความรวดเร็ว เพราะค่าขนส่งราคาสูง ซึ่งเราให้บริการเสริมในกรณีฉุกเฉิน เช่น การรับหิ้วสินค้าแบบถึงมือผู้รับ (hand carrier) ภายใน 24 ชั่วโมง”

โดยสิ่งสำคัญที่สุดการดำเนินธุรกิจโลจิสติกส์คือคุณภาพของงานบริการที่รวดเร็ว ถูกต้อง และน่าเชื่อถือ พร้อมยังศึกษาความต้องการของลูกค้า จัดรูปแบบ และเส้นทางการขนส่งที่เหมาะสมด้วยทางเลือกการขนส่งอย่างน้อย 3 รูปแบบพร้อมติดต่อสายการเดินเรือหรือสายการบินเพื่อจอง และต่อรองค่าระวาง ประสานงานกับตัวแทนในต่างประเทศ และรับผิดชอบงานด้านเอกสารที่เกี่ยวกับการจัดการขนส่งสินค้าทั้งหมด ตลอดจนให้คำปรึกษา และแก้ปัญหาให้ลูกค้า

นอกจากนี้ บริษัทยังคงรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับสายการเดินเรือรวมกว่า 15 รายและสายการบินกว่า 10 ราย รวมถึงตัวแทนต่างประเทศ (oversea agent) เพื่อให้บริการจัดการการขนส่งในเขตประเทศที่ตัวแทนแต่ละรายดูแล ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีตัวแทนในประเทศต่างๆ ครอบคลุมกว่า 100 ประเทศ ทั่วโลก รวมถึงบริษัทย่อยยังเป็นหนึ่งในสมาชิกเครือข่าย Sun Express Group ประกอบด้วย บริษัทใน 6 ประเทศและตัวแทนอื่นกว่า 100 แห่งทั่วโลก

“กลุ่มเป้าหมายของเรา ได้แก่ ผู้นำเข้าและส่งออกตั้งแต่รายกลางถึงรายใหญ่ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และวัสดุก่อสร้าง ซึ่งลูกค้ามักจะเปรียบเทียบด้านการบริการและราคา ความรวดเร็วในการตอบสนองความต้องการของลูกค้า เวนเดอร์ซัพพลายเออร์ต้องพร้อมปรับเปลี่ยนหรือปรับตัวตลอดเวลา”

โดยดีลใหญ่แห่งปีที่กลายเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญให้บริษัทสามารถสร้างการเติบโตในภูมิภาคได้อย่างแข็งแกร่งเกิดขึ้นหลังจากบริษัทเข้าซื้อกิจการ Sun Express Logistics Pte. Ltd. (SEL) บริษัทรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศชั้นนำของประเทศสิงคโปร์เพื่อรุกธุรกิจงานด้านขนส่งทางอากาศ และขยายอาณาจักรธุรกิจในต่างประเทศ

“ตามเป้าหมายของเรา 2559-2561 จะเติบโตไม่น้อยกว่า 20% โดยสิ้นปี 2559 รายได้ของเราจะอยู่ที่ประมาณ 1 พันล้านบาทและปี 2560 น่าจะเติบโตได้ 30-40% ประมาณ 1.3 พันล้านบาท นอกจากการรวมตัวเลข SEL ได้เต็มปี เรายังขยายฐานธุรกิจใหม่ๆ เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินค้าโซลาร์ และการให้บริการเพิ่มเติม เช่น warehouseและ transport”

ไม่เพียงสร้างการเติบโตในธุรกิจขนส่งระหว่างประเทศ แต่อารยายังสนใจโอกาสที่เกิดขึ้นจากการย้ายฐานการผลิตของผู้ประกอบการจีนมายังประเทศไทย พร้อมวางกลยุทธ์ด้านโลจิสติกส์ในประเทศ

ภาพที่ซีอีโอวาดไว้เป็นแนวทางสำหรับพนักงาน คือ การวางอนาคตให้บริษัทอยู่ได้เป็นร้อยปี และยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ด้วยการสืบทอดและสานต่อจากรุ่นสู่รุ่นโดยเปลี่ยนจากระบบเถ้าแก่เป็นระบบการบริหารงานโดยผู้บริหารมืออาชีพ พร้อมสร้างความยั่งยืนด้วยการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในกลุ่มบริการหมวดธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ในช่วงกลางปี 2558 เพื่อระดมทุนขยายกิจการสร้างคลังสินค้า เพิ่มจำนวนรถ ขยายพื้นที่ลานจอดรถบรรทุก พัฒนาระบบสารสนเทศ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ เพื่อรองรับการขยายตัวด้านโลจิสติกส์และเตรียมพร้อมสำหรับการเติบโตอย่างมีศักยภาพ

ขณะเดียวกันยังเดินหน้าผลักดันให้พนักงานมีส่วนร่วมในการสร้างบริษัทให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง มั่นคง และยั่งยืน ภายใต้ดีเอ็นเอความมีวินัย รู้หน้าที่ และความรับผิดชอบในบทบาทของตัวเอง พร้อมยึดหลักความซื่อสัตย์ คุณธรรม และจริงใจต่อลูกค้าคู่ค้าและทุกฝ่าย เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับบริษัท รวมถึงการสร้างทีมเวิร์กร่วมขับเคลื่อนองค์กร ด้วย “passion” ใช้ใจในการทำงาน

“เราต้องการแข่งกับตัวเองมากกว่าการมุ่งเอาชนะหรือสนใจเฉพาะตัวเลขเป้าหมายโดยในระยะยาวเราต้องการเป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์ในประเทศแบบครบวงจรและก้าวสู่ผู้ให้บริการระดับภูมิภาค” อารยาปิดท้ายถึงเป้าหมายการเติบโตทั้งในประเทศและต่างประเทศ


คลิ๊กอ่านฉบับเต็ม "โลจิสติกส์ไร้พรมแดน เชื่อมแผ่นฟ้าจรดท้องทะเล" ได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ มกราคม 2560