แนวรบที่เปลี่ยนไปของ "สิงคโปร์" - Forbes Thailand

แนวรบที่เปลี่ยนไปของ "สิงคโปร์"

FORBES THAILAND / ADMIN
28 Oct 2019 | 09:30 AM
READ 1238

สิงคโปร์ ไม่อาจยืนหยัดที่จะเป็นตัวเชื่อมต่อในห่วงโซ่แห่งคุณค่าของโลกอีกต่อไป

สิงคโปร์ เดินทางมาได้ไกล เป็นเพราะการเปิดกว้างและสร้างความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี รัฐบาลสิงคโปร์มีบทบาทสำคัญในความสำเร็จของประเทศแห่งนี้ด้วยการเสนอวิสัยทัศน์เชิงยุทธศาสตร์ ลัทธิปฏิบัตินิยม และการลงมือทำแม้ว่าประเทศที่เป็นเกาะแห่งนี้จะไม่อาจหลบเลี่ยงผลกระทบจากความอ่อนไหวของเศรษฐกิจโลก สิงคโปร์ก็สามารถพาตัวเองผ่านพ้นวิกฤตการณ์ทางการเงิน ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ตลอดจนปัจจัยภายนอกที่มากระทบในช่วง 5 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยอาศัยคลื่นแห่งเทคโนโลยีลูกแล้วลูกเล่า สร้างตัวเองให้แข็งแกร่งกว่าเดิมและดีกว่าเดิม

สิงคโปร์จะยังต้องเจอกับความท้าทายใหม่ๆ อีกมากมายในอีกหลายปีจากนี้ ในขณะที่ความตึงเครียดทางการค้าและภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ จะเป็นตัวถ่วงเศรษฐกิจโลกต่อไปในอนาคตอันใกล้ ความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) จะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผันต่อห่วงโซ่แห่งคุณค่าของโลก (global chain value) แม้จะเป็นความน่าฉงน แต่ ICT ทุกวันนี้ช่วยให้บริษัทต่างๆ สามารถนำพาธุรกิจและกิจกรรมการผลิตไปยังทำเลที่ตั้งในต่างประเทศ รวมทั้งย้ายการผลิตของพวกเขากลับไปยังต้นทาง (การแทนที่งานที่ใช้ทักษะต่ำในประเทศที่มีค่าจ้างถูกด้วยระบบอัตโนมัติที่ทำได้จากประเทศต้นทาง) การพลิกโฉมทางเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ท้าทายความสามารถในการปรับตัวของสิงคโปร์อีกครั้ง

เพราะอะไรน่ะหรือ มีคำอธิบายได้คือ ICT ทำให้บริษัทต่างๆ สามารถเคลื่อนย้ายบริการอันซับซ้อนที่เคยทำจากประเทศแม่ แตกแขนงส่วนงานเป็นหน่วยขนาดเล็กและหน้าที่ที่ยิบย่อยกว่าที่เคย โดยทำได้ง่ายขึ้นและใช้ต้นทุนอย่างคุ้มค่ามากขึ้น บริการเหล่านี้รวมถึงบริการก่อนการคิดค้นเช่น วิจัยและพัฒนา การออกแบบผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงบริการหลังการคิดค้นสิ้นสุดลง อาทิ การขายและการตลาด ขนส่งทางเรือและจัดส่งสินค้า

ขณะเดียวกัน หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ ก็ช่วยให้บริษัทสามารถแทนที่คนงานทักษะต่ำค่าจ้างถูกในต่างประเทศด้วยระบบอัตโนมัติที่มีความซับซ้อนมากขึ้นที่ประเทศต้นทาง ซึ่งใกล้กับลูกค้าของพวกเขามากกว่า การผลิตในต่างประเทศจึงถูกย้ายกลับด้วยวิธีนี้ ผลลัพธ์ก็คือ การผลิตกลายมาเป็นกิจกรรมที่เน้นหนักในด้านการบริการ อันที่จริงในภาคการผลิตทุกวันนี้ การบริการสร้างคุณค่าให้กับธุรกิจมากกว่าการสร้างผลิตภัณฑ์จริงๆ เสียอีก พราะฉะนั้น ICT จึงเข้ามาพลิกโฉมห่วงโซ่แห่งคุณค่าของโลก ซึ่งจะมีการค้าบริการเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญมากขึ้น ขณะที่การค้าชิ้นส่วนจริงๆ จะมีบทบาทน้อยลง

แนวโน้มนี้ถูกแสดงในแผนภาพที่สรุปข้อมูลจากฐานข้อมูลจาก World Input-Output Database ในช่วงทศวรรษระหว่างปี 2007-2017 ความหนาแน่นของการค้าโลกถดถอยลงในทุกภาคอุตสาหกรรมสำคัญ ยกเว้นภาคบริการที่ต้องใช้องค์ความรู้สูง ซึ่งได้กลายมาเน้นหนักในด้านการค้ามากขึ้นด้วย โดยมี ICT เป็นตัวช่วย และตอนนี้กำลังเป็นตัวขับเคลื่อนห่วงโซ่แห่งคุณค่าของโลก

เป็นการยากที่จะทำนายผลกระทบทางเศรษฐกิจและธุรกิจของห่วงโซ่แห่งคุณค่าของโลกใหม่นี้ ในอดีต รัฐบาลสิงคโปร์สามารถผลักดันเศรษฐกิจด้วยการดึงดูดอุตสาหกรรมอย่างเทคโนโลยีชีวภาพ ยา และการเงิน มาเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ให้กับ สิงคโปร์ ทำให้ประเทศเล็กๆ แห่งนี้กลายเป็นตัวเชื่อมต่อของห่วงโซ่แห่งคุณค่าของโลกในทันที

อย่างไรก็ตาม ในอนาคต การดึงดูดอุตสาหกรรมที่ใช่ให้มาตั้งโรงงานหรือสำนักงานในสิงคโปร์ อาจไม่ใช่เครื่องรับประกันความสำเร็จอีกต่อไป ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่บนเวทีการแข่งขันระหว่างประเทศด้านทำเลการทำธุรกิจ ความสามารถในการแข่งขันถูกชี้วัดมากขึ้นเรื่อยๆ จากศักยภาพของสถานที่นั้นๆ ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมการบริการและมีมูลค่าเพิ่มในขั้นตอนการผลิต ทำเลการทำธุรกิจที่ใดที่หนึ่ง สามารถประสบความสำเร็จได้ง่ายๆ ด้วยการจัดหาบริการอย่างมีประสิทธิภาพแก่อุตสาหกรรมของโลกจากที่ตั้งอยู่ไกลๆ การเป็นฐานการผลิตไม่ใช่เงื่อนไขของความสามารถในการแข่งขันอีกแล้ว

ความสำคัญที่เพิ่มมากขึ้นของการค้าบริการที่ใช้องค์ความรู้สูง จะเป็นโอกาสให้สิงคโปร์ได้ใช้จุดแข็งของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นแรงงานที่มีความรู้และทักษะสูง โครงสร้างพื้นฐานด้าน ICT ชั้นเยี่ยม ความสะดวกในการทำธุรกิจและความยืดหยุ่นของกฎหมาย ตลอดจนประสบการณ์อันคร่ำหวอดในการใช้เทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม ธรรมชาติของ ICT ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและคาดการณ์ได้ยาก ทำให้แนวทางซึ่งนำโดยรัฐบาลของสิงคโปร์ที่ผ่านการทดลองและทดสอบแล้วนั้น ต้องได้รับการตอบรับที่มีความสมดุลและคล่องตัวกว่าเก่า ทั้งจากภาครัฐและเอกชน นั่นก็หมายความว่า รัฐบาลควรจะมองหาผู้ประกอบการที่กล้าเสี่ยง สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมและฉวยโอกาสทางธุรกิจที่ผ่านเข้ามา นอกจากนี้ ยังหมายความรวมถึงการเป็นศูนย์กลางสำหรับนวัตกรรมท้องถิ่นที่บริษัทระดับโลกสามารถจัดการและเชื่อมโยงเครือข่ายกับพันธมิตรได้ทุกที่ และเพื่อบรรลุถึงเป้าหมายในการสร้างความหลากหลายอย่างยั่งยืนนี้ จึงจำเป็นต้องมีผู้ประกอบการที่ตระหนักถึงความเป็นไปของโลกและกล้าเสี่ยง และยังเก่งในภาคธุรกิจบริการต้องใช้องค์ความรู้สูง พวกเขาจะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างการเติบโต โดยเชื่อมต่อกับโครงสร้างพื้นฐานของนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ และภาคบริการทางการเงินของสิงคโปร์ อนาคตของสิงคโปร์ขึ้นอยู่กับสิ่งนี้

  เรื่อง: Yuwa Hedrick-Wong
คลิกอ่านฉบับเต็ม “50 อันดับ มหาเศรษฐีสิงคโปร์ ประจำปี 2019” ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกันยายน 2562 ได้ในรูปแบบ e-Magazine