“เศรษฐีใจบุญ” แห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประจำปี 2020 ตอนที่ 3 - Forbes Thailand

“เศรษฐีใจบุญ” แห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประจำปี 2020 ตอนที่ 3

FORBES THAILAND / ADMIN
14 Nov 2020 | 07:30 PM
READ 1988

Forbes Asia จัดลำดับมหาเศรษฐีใจบุญครั้งที่ 14 ประจำปี 2020 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่บริจาคทรัพย์สินส่วนบุคคลมูลค่าสูงที่สุด เพื่อช่วยเหลือในประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นในภูมิภาค

สำหรับในตอนที่ 3 นี้ สะท้อนให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของมหาเศรษฐีใจบุญจากหลากหลายอุตสาหกรรม ที่สนับสนุนการพัฒนาทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม ตลอดจนนโยบายสาธารณะ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน ทั้งในระดับภายในประเทศและระหว่างประเทศ เศรษฐีใจบุญ Manuel Villar วัย 70 ปี  ประธาน Vista Mall และ Vista Land & Landscapes ฟิลิปปินส์ ในปี 2019 Manuel Villar ประธานของหนึ่งในบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในฟิลลิปปินส์ มอบพื้นที่มากกว่า 2 เฮคเตอร์ให้ Saint Jude Catholic School ในกรุงมะนิลา และล่าสุดเพิ่งอนุมัติการบริจาคพื้นที่อีก 5 เฮคเตอร์ให้กับ The University of the Philippines ซึ่งเป็นสถานศึกษาระดับมหาวิทยาลัยของตน เพื่อสร้างศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้ โดยพื้นที่ที่ได้บริจาคไปทั้งสองแห่งนี้มีมูลค่าราว 8 พันล้านเปโซ (165 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)  นอกจากนี้ Villar ยังได้สมทบทุนให้กับโรงเรียนในฟิลิปปินส์อีก 4 แห่ง เพื่อพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกทางการศึกษา เพราะเขาเชื่อว่า การศึกษา คือ องค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เขา ซึ่งเติบโตมาในครอบครัวที่ยากจนได้มีชีวิตอย่างเช่นทุกวันนี้ “การศึกษาสามารถยกระดับชีวิตคนๆ หนึ่งจากความยากจน ด้วยการนำมาซึ่งเกียรติยศและหน้าที่การงาน”  Villar อธิบายผ่านทางอีเมล ขณะที่ การบริจาคอีกส่วนหนึ่งได้ถูกส่งมอบให้กับการบูรณะโบสถ์ การบรรเทาความยากจน ตลอดจนการจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์และการสมทบทุนเพื่อเปลี่ยนอาคารเป็นสถานกักกันโรคโควิด-19 เศรษฐีใจบุญ Simon Lin วัย 67 ปี ประธาน Wistron ไต้หวัน ในเดือนพฤศจิกายน 2019 Lin ให้คำมั่นสัญญาว่า ในระยะเวลา 5 ปี เขาจะบริจาคทรัพย์สินส่วนตัวมูลค่า 5.2 ล้านเหรียญให้กับ The National Chiao Tung University สถานศึกษาระดับมหาวิทยาลัยของตน โดยเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 1.04 ล้านเหรียญ เพื่อที่จะนำผู้เชี่ยวชาญระดับโลกด้านปัญญาประดิษฐ์มาบรรยายที่มหาวิทยาลัย Lin ดำรงตำแหน่งประธาน Wistron ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่ปี 2001 ซึ่งเป็นปีที่บริษัทแยกตัวออกมาจาก Acer บริษัทรายใหญ่ในอุตสาหกรรมดังกล่าวของไต้หวัน และในขณะเดียวกัน เขาก็ดำรงตำแหน่งประธาน Wistron Foundation ซึ่งก่อตั้งในปี 2010 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เศรษฐีใจบุญ Lee Su-Young วัย 82 ปี ประธาน Gwangwon Industry เกาหลีใต้ ในเดือนกรกฎาคม 2020 Lee Su-Young นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ได้บริจาคเงินให้กับ Korea Advanced Institute of Science and Technology (KAIST) ที่มูลค่า 68 พันล้านวอน (57 ล้านเหรียญ) ซึ่งเป็นยอดบริจาคที่มากที่สุดนับตั้งแต่มหาวิทยาลัยเคยได้รับมา โดย Lee หวังว่า เงินดังกล่าวจะมีส่วนช่วยในการสนับสนุนให้เกิดงานวิจัยรางวัลโนเบลสาขาวิทยาศาสตร์ในเกาหลีใต้ นอกจากนี้ Lee ในฐานะอดีตผู้สื่อข่าวสายการเงิน ที่ผันตัวมาเป็นผู้ประกอบการ ยังได้มอบที่ดินใน Los Angeles ซึ่งมีมูลค่าราว 8 ล้านเหรียญให้กับ KAIST ซึ่งเงินบริจาคในส่วนนี้ ทางมหาวิทยาลัยได้วางแผนที่จะนำไปสร้าง Lee Su-Young Foundation for Science Education ขณะที่รายได้ส่วนหนึ่งที่มาจากค่าเช่าจะนำไปเป็นทุนสนับสนุนการศึกษาวิจัยของศาสตราจารย์เป็นระยะเวลา 10 ปี Li Xiting วัย 69 ปี  ประธาน Shenzen Mindray Bio-Medical Electronics จีน ในเดือนมิถุนายน 2020 Li Xiting ประธานของหนึ่งในบริษัทผู้ผลิตเครื่องมือทางการแพทย์รายใหญ่ที่สุดในจีน บริจาคเงินให้ The University of Science and Technology of China ซึ่งเป็นสถานศึกษาระดับมหาวิทยาลัยของตน เป็นจำนวน 107 ล้านหยวน (16 ล้านเหรียญ) ซึ่งเป็นมูลค่าสูงสุดที่ทางมหาวิทยาลัยเคยได้รับในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา โดยเงินส่วนนี้จะถูกนำไปใช้เพื่อก่อตั้งมูลนิธิ Li Xitng Foundation เพื่อคัดเลือกและพัฒนาบุคคลที่มีความสามารถ อีกทั้ง ในช่วงก่อนหน้านี้ Li ได้มอบเงินราว 4.5 ล้านเหรียญให้กับมหาวิทยาลัย เพื่อนำไปใช้ในการจัดซื้ออุปกรณ์ให้กับโรงพยาบาลภายในเครือ ขณะที่ในปี 2016 เขาได้บริจาคเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติจำนวน 120 เครื่องให้กับทางมหาวิทยาลัย ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของจีนที่มีเครื่องมือทางการแพทย์ดังกล่าว Rakesh Jhunjhunwala วัย 60 ปี ผู้ก่อตั้ง Rare Enterprises อินเดีย มูลนิธิ R. Jhunjhunwala Foundation ของมหาเศรษฐีพันล้าน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือในด้านการศึกษาและสาธารณสุข โดยได้บริจาคเงินครึ่งหนึ่งของ 7.5 ล้านเหรียญของทางมูลนิธิ ให้กับโรงพยาบาลจักษุแห่งใหม่ ที่ตั้งอยู่ใกล้เมืองมุมไบ เพื่อให้ผู้ด้อยโอกาสสามารถเข้ารับการผ่าตัดต้อกระจกโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยโรงพยาบาลดังกล่าวพร้อมเปิดให้บริการในปี 2021 นอกจากนี้ Rakesh Jhunjhunwala ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะบริจาคเงินทั้งสิ้น 17 ล้านเหรียญให้กับ Ashoka University ภายในปี 2022 ซึ่งในปัจจุบันได้มอบไปแล้วหนึ่งในสามของมูลค่าดังกล่าว   และเป็นประจำทุกปีที่มหาเศรษฐีพันล้านผู้นี้ จะมอบเงิน 1 ล้านเหรียญให้กับ Agastya International Foundation ซึ่งเป็นมูลนิธิที่สนับสนุนการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ให้กับผู้ยากไร้ในชนบท โดย Jhunjhunwala ได้กล่าวไว้เมื่อปี 2011 ว่า ในปี 2020 เขาในวัย 60 ปี จะบริจาคร้อยละ 25 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าอยู่ที่ 2.7 พันล้านเหรียญ) เพื่อสนับสนุนกิจกรรมดังกล่าว อย่างไรก็ดี สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้แผนการที่วางไว้ข้างต้นจำเป็นต้องชะลอไป เพื่อนำเงินส่วนนั้นไปช่วยเหลือและเยี่ยวยาผลกระทบจากสภาวะที่เกิดขึ้นเสียก่อน “ตอนที่ผมได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาเศรษฐีพันล้านในปี 2008 พ่อของผมไม่ได้สนใจมูลค่าทรัพย์สินที่ผมมีอยู่เลย เขาสนใจแต่เพียงจำนวนเงินที่ผมจะบริจาค” Jhunjhunwala กล่าว พร้อมเล่าถึงเป้าหมายที่ตั้งใจจะบริจาคเงินให้ได้ทั้งสิ้น 750 ล้านเหรียญ Yusaku Maezawa วัย 44 ปี อดีตประธาน Zozo ในปี 2020 นี้ Yusaku Maezawa มหาเศรษฐีพันล้านจากธุรกิจค้าปลีก สนับสนุนทุนการศึกษาวิจัยกว่า 9.5 ล้านเหรียญ ภายใต้หัวข้อ "เงินเดือนให้เปล่า (Universal Basic Income) กับการพัฒนาสังคม" ซึ่งเป็นแนวคิดที่ว่าด้วยการจัดสรรรายได้ขั้นพื้นฐานให้แก่ประชาชนทุกคนจำนวนหนึ่งต่อเดือน ซึ่งเพียงพอต่อการดำเนินชีวิตขั้นพื้นฐาน โดยเป็นเงินให้เปล่าที่ไม่มีเงื่อนไขใดใด การพิสูจน์แนวคิดข้างต้น เริ่มต้นด้วยการมอบเงินให้กับผู้เข้าร่วมในการทดลอง 79,000 คน ซึ่ง 1,000 คนในจำนวนนั้นมาจากการคัดเลือกผ่านผู้ติดตามในโซเลียลมีเดียของ Maezawa ที่มีทั้งหมด 11 ล้านคน ในท้ายที่สุด จึงได้บทสรุปว่า ร้อยละ 90 มีความเห็นตรงกันถึงความจำเป็นของเงินได้เปล่าที่ได้รับมา โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ขณะที่อีกร้อยละ 45 กล่าวว่า ถ้าตนได้รับเงินได้เปล่าราว 9,500 เหรียญต่อเดือน พวกเขาจะนำไปใช้ในการเริ่มต้นธุรกิจหรือลงทุนเพื่อการศึกษาเพิ่มเติม แปลและเรียบเรียงโดย ชญาน์นัทช์ ธนินท์พงศ์ภัค จากบทความ Heroes of Philanthropy เผยแพร่บน forbes.com อ่านเพิ่มเติม: “เศรษฐีใจบุญ” แห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประจำปี 2020 ตอนที่ 2