“เศรษฐีใจบุญ” แห่งทวีปเอเชีย ประจำปี 2021 ตอนที่ 1 - Forbes Thailand

“เศรษฐีใจบุญ” แห่งทวีปเอเชีย ประจำปี 2021 ตอนที่ 1

FORBES THAILAND / ADMIN
14 Dec 2021 | 04:30 PM
READ 2792

“เศรษฐีใจบุญ” แห่งทวีปเอเชีย ประจำปี 2021 ครั้งที่ 15 เผยรายชื่อ 15 ผู้ประกอบการและมหาเศรษฐีในภูมิภาคที่บริจาคและทุ่มเทกายใจ เพื่อช่วยเหลือในประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา 

เช่นเดียวกับในปีที่ผ่านมา Pham Nhat Vuong บุคคลที่ร่ำรวยที่สุดของเวียดนาม ยังคงมีส่วนร่วมอย่างมากในการบรรเทาผลกระทบของโควิด-19 ในชุมชนท้องถิ่น โดยตั้งแต่ปีที่แล้ว Vuong ได้มอบเงินกว่า 320 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อบรรเทาวิกฤตโรคระบาดในเวียดนาม อย่างไรก็ดี การเยียวยาและลดผลกระทบจากโควิด-19 เป็นเพียงด้านหนึ่งของยอดบริจาคที่เพิ่มสูงขึ้นในปีนี้ เพราะในทำนองเดียวกัน ก็มีมหาเศรษฐีจำนวนมากที่เล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาระดับอุดมศึกษามากขึ้น อันได้แก่ Gerald และ Ronnie Chan สองพี่น้องมหาเศรษฐีชาวฮ่องกง ผู้ซึ่งบริจาคเงิน 175 ล้านเหรียญให้กับโรงเรียนแพทย์ใน Massachusetts ขณะที่ผู้ประกอบการด้านการผลิตของญี่ปุ่น Takemitsu Takizaki บริจาคหุ้นของบริษัทของเขา ซึ่งมีมูลค่าเกือบ 2.3 พันล้านเหรียญ เพื่อเป็นทุนการศึกษาสำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยในญี่ปุ่น  ด้าน Lin Chen-hai เจ้าสัวอสังหาริมทรัพย์มอบเงิน 100 ล้านเหรียญในปีที่แล้ว เพื่อก่อตั้งวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ที่ National Tsing Hua University ในไต้หวัน ในขณะเดียวกัน Anil Agarwal ก็ได้ร่วมลงนามใน The Giving Pledge เพื่อให้คำมั่นว่าจะร่วมบริจาคอย่างน้อย “ครึ่งหนึ่ง” ของทรัพย์สมบัติทั้งหมดให้แก่การกุศล เช่นเดียวกับ มหาเศรษฐีด้านเทคโนโลยีของออสเตรเลีย Mike Cannon-Brookes ที่ให้คำมั่นว่าจะบริจาคเงินกว่า 350 ล้านเหรียญให้กับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรเพื่อรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ พบกับ 5 “เศรษฐีใจบุญ” แห่งทวีปเอเชีย ประจำปี 2021 ตอนที่ 1  “เศรษฐีใจบุญ” แห่งทวีปเอเชีย Joseph Tsai  ผู้ร่วมก่อตั้ง Alibaba  วัย: 57 ปี ประเทศ: ฮ่องกง Clara Wu Tsai ผู้ก่อตั้ง The Joe and Clara Tsai Foundation  วัย: 55 ปี ประเทศ: ฮ่องกง ในเดือนกรกฎาคม คู่สามีและภรรยาได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะมอบเงิน 220 ล้านเหรียญแก่มูลนิธิ The Joe and Clara Tsai Foundation เพื่อเป็นทุนแก่ทีมผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการจากสถาบันของรัฐและเอกชนชั้นนำ 6 แห่งในการศึกษาและนำเทคโนโลยีชีวภาพ มาพัฒนาต่อยอดด้านสมรรถภาพทางกายของมนุษย์ “มีความก้าวหน้าอย่างมากในการถ่ายภาพร่างกาย วิศวกรรมชีวภาพ และ AI แต่ไม่มีสิ่งใดถูกนำไปใช้กับกีฬาและสมรรถภาพทางกาย” Wu Tsai กล่าวกับ Forbes “จากการใกล้ชิดกับนักกีฬา เราสังเกตเห็นว่ายังไม่มีนวัตกรรมในด้านการรักษาและการฝึกอบรมมากนัก นั่นเป็นเพราะเงินทุนส่วนใหญ่จากหน่วยงานของรัฐมุ่งเน้นไปที่การรักษาโรคต่างๆ” ทั้งนี้ Tsai ผู้ร่วมก่อตั้ง Alibaba อี-คอมเมิร์ซรายใหญ่ของจีน มีความสนใจด้านกีฬาอย่างมาก ครั้นศึกษาระดับปริญญาตรีที่ Yale University เขาได้ร่วมทีมลาครอสและบาสเก็ตบอลของมหาวิทยาลัย  ต่อมาในปี 2017 คู่สามีภรรยาได้ซื้อสิทธิ์ความเป็นเจ้าของร้อยละ 49 ของทีมบาสเก็ตบอล Brooklyn Nets แห่ง NBA ก่อนที่จะเข้าซื้อในส่วนที่เหลือจากมหาเศรษฐีชาวรัสเซีย Mikhail Prokhorov พร้อมสิทธิ์ในการดำเนินงานของ Barclay’s Center ในข้อตกลงมูลค่าประมาณ 3.3 พันล้านเหรียญ โดยในเวลานั้น Tsai ยังเป็นเจ้าของ New York Liberty ของ WNBA และทีมลาครอสมืออาชีพ The San Diego Seals เช่นกัน นอกจากการแข่งขันในสนามแล้ว ทั้งคู่ได้มอบเงินบริจาคจำนวนมหาศาล เพื่อสนับสนุนการวิจัยสมองและความยุติธรรมทางสังคม โดยในเดือนสิงหาคมปี 2020 พวกเขาให้คำมั่นสัญญาว่าจะมอบเงิน 50 ล้านเหรียญ เพื่อสร้างกองทุนความยุติธรรมทางสังคมที่มุ่งต่อสู้กับการเหยียดเชื้อชาติและส่งเสริมการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจใน Brooklyn อ่านเพิ่มเติม: ผู้ร่วมก่อตั้ง Alibaba จับมือพันธมิตรจัดตั้ง Wu Tsai Human Performance Alliance “เศรษฐีใจบุญ” แห่งทวีปเอเชีย Pham Nhat Vuong  ผู้ก่อตั้งและประธาน Vingroup วัย: 54 ปี ประเทศ: เวียดนาม ตั้งแต่ปี 2020 เงินบริจาคของ Vingroup กลุ่มบริษัทที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ถูกส่งมอบให้กับกองทุนวัคซีนแห่งชาติ เพื่อซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 จำนวน 4 ล้านโดสและชุดทดสอบ 33 ล้านชุด นอกจากนี้ ทางบริษัทยังบริจาคยาต้านไวรัส Remdesivir และ Monupiravir หลายล้านโดสให้กับจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดใหญ่เช่นกัน  ล่าสุด ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2021 กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ยานยนต์ และเทคโนโลยีแยกกันบริจาคเงิน 45 ล้านเหรียญให้กับ Vuong's Kind Heart Foundation ซึ่งเปิดตัวในปี 2006 เพื่อเป็นสะพานบุญให้กับ 30 โครงการที่ริเริ่มขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้ ซึ่งมีตั้งแต่ทุนการศึกษาไปจนถึงการบรรเทาภัยพิบัติ รวมถึงการสนับสนุนเด็กกำพร้ากว่า 2,000 รายในเวียดนามที่สูญเสียพ่อแม่ในช่วงการระบาดใหญ่ ไม่เพียงเท่านี้ ในปี 2020 Vingroup ยังได้พัฒนาและผลิตเครื่องช่วยหายใจโดยใช้ส่วนประกอบที่ผลิตในท้องถิ่น ซึ่ง Nguyen Viet Quang ซีอีโอของ Vingroup เผยว่า "บริษัทไม่ได้สร้างกำไรจากเครื่องช่วยหายใจ และยังได้บริจาคหลายพันเครื่องให้รัสเซียและยูเครนเช่นกัน" “เศรษฐีใจบุญ” แห่งทวีปเอเชีย Lin Chen-hai ผู้ก่อตั้งและประธาน Pau Jar Group วัย: 74 ปี ประเทศ: ไต้หวัน ในเดือนพฤษภาคม 2020 มหาเศรษฐีอสังหาริมทรัพย์รายนี้มอบเงิน 100 ล้านเหรียญ ผ่านทาง TSE Foundation เพื่อก่อตั้งวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ที่ National Tsing Hua University ซึ่งเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยชั้นนำของไต้หวัน ด้าน Erin Ting หัวหน้าฝ่ายวิจัย Savills Real Estate ในไทเปกล่าวว่า บริษัท Pau Jar Group ของ Lin เป็นผู้สร้างโครงการบ้านใหม่ที่มีผลงานมากที่สุดในไต้หวัน โดยในปีที่แล้ว บริษัทเปิดตัวโครงการมูลค่ารวม 4.5 พันล้านเหรียญ ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่าคู่แข่งชาวไต้หวันราวร้อยละ 50  ทั้งนี้ Lin ก่อตั้ง Pau Jar Group เมื่อ 3 ทศวรรษก่อน และได้ขยายธุรกิจไปยังออสเตรเลีย จีน มาเลเซีย และเวียดนาม “เศรษฐีใจบุญ” แห่งทวีปเอเชีย Teresita Sy-Coson  รองประธาน SM Investments Corps. วัย: 71 ปี ประเทศ: ฟิลิปปินส์ ทันทีที่วัคซีนโควิด-19 ออกสู่ตลาดในปีนี้ SM Group ได้เข้าซื้อ 560,000 โดสเพื่อฉีดให้กับพนักงานของกลุ่มบริษัทมากกว่า 120,000 ราย พร้อมบริจาคอีก 150,000 โดสให้กับรัฐบาลและชุมชนชายขอบ  ในทำนองเดียว SM Foundation ยังได้บริจาควัคซีน อุปกรณ์ทางการแพทย์ และอุปกรณ์ป้องกันสำหรับบุคลากรทางการแพทย์รวมเป็นมูลค่ากว่า 1.5 พันล้านเปโซ (30 ล้านเหรียญ)  ปัจจุบัน Sy-Coson บุตรสาวคนโตของ Henry Sy ผู้ล่วงลับไปแล้ว ขึ้นดำรงตำแหน่งรองประธานมูลนิธิการกุศล ซึ่งก่อตั้งโดยพ่อแม่ของเธอในปี 1983  โดยตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมา SM Foundation ได้สนับสนุนการรักษาผู้ป่วยด้อยโอกาส 1.2 ล้านราย ช่วยนักเรียนกว่า 8,000 รายให้เข้าศึกษาในวิทยาลัยและสถาบันอาชีวศึกษาด้านเทคนิค และให้ทุนสนับสนุนการสร้างโรงเรียนกว่า 100 แห่งทั่วประเทศ  นอกจากนี้ ครอบครัวที่ร่ำรวยที่สุดของฟิลิปปินส์ยังได้ก่อตั้ง Henry Sy Foundation ขึ้นในปี 2008 เพื่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในโรงเรียนสำหรับสถาบันการศึกษาที่สำคัญๆ Anil Agarwal  ผู้ก่อตั้งและประธาน Vedanta Resources  วัย: 67 ปี ประเทศ: อินเดีย Anil Agarwal ผู้ค้าโลหะและเหมืองแร่ของอินเดีย ร่วมลงนามใน The Giving Pledge ในเดือนมีนาคมนี้ “เช่นเดียวกับชายหนุ่มและหญิงสาวหลายคนในอินเดีย ผมเริ่มทำงานเมื่ออายุเพียง 15 ปี” เขาระบุในจดหมายถึงการเริ่มต้นชีวิตอย่างถ่อมตน Agarwal ยังบรรยายถึงวิธีที่เขาสร้างธุรกิจตั้งแต่การเข้าซื้อกิจการครั้งแรกในปี 1976 จนถึงการใช้ประโยชน์จากโอกาสในอินเดียที่เปิดเสรีทางเศรษฐกิจในเวลาต่อมา พร้อมเสริมว่างานด้านการกุศลของเขามุ่งเน้นไปยังโครงการในอินเดียที่ทำงานเพื่อ "ขจัดความยากจน สวัสดิภาพเด็ก และการเพิ่มขีดความสามารถของผู้หญิง" ในเดือนกรกฎาคม Agarwal ประกาศโครงการ 5 ปี มูลค่า 5 หมื่นล้านรูปี (660 ล้านเหรียญ) ซึ่งดำเนินการโดย Anil Agarwal Foundation เพื่อสนับสนุนโครงการต่างๆ ตั้งแต่การดูแลสุขภาพไปจนถึงสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งกว่าร้อยละ 60 มาจากทรัพย์สินส่วนตัวของเขา ทั้งนี้ Nand Ghar ซึ่งเป็นโครงการหลักภายใต้ความคิดริเริ่มนี้ มีเป้าหมายเพื่อจัดตั้งศูนย์ดูแลเด็กปฐมวัยภายใต้ความร่วมมือกับรัฐบาลอินเดีย นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงกับ Bill and Melinda Gates Foundation เพื่อแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพและโภชนาการใน Uttar Pradesh ทางตอนเหนือ  โดยรวมแล้ว Nand Ghar คาดว่าจะสร้างคุณประโยชน์ให้กับเด็กประมาณ 70 ล้านคนและผู้หญิง 20 ล้านคนทั่วประเทศ ขณะที่โครงการอื่นๆ อีก 2 โครงการภายใต้ความคิดริเริ่มนี้ ได้แก่ การสนับสนุนด้านการดูแลสุขภาพใน 1,000 หมู่บ้านใน 12 รัฐสำหรับ 2 ล้านคน และโครงการฝึกอบรมทักษะในกว่า 35 ธุรกิจการค้าในพื้นที่ 200 แห่งทั่วอินเดีย แปลและเรียบเรียง ชญาน์นัทช์ ธนินท์พงศ์ภัค จากบทความ ASIA’S 2021 HEROES OF PHILANTHROPY เผยแพร่บน ​Forbes.com อ่านเพิ่มเติม: การลดภาษี คือยาที่จะช่วยให้เศรษฐกิจเฟื่องฟู