เมื่อเทรนด์การศึกษาต่อเปลี่ยนทิศ - Forbes Thailand

เมื่อเทรนด์การศึกษาต่อเปลี่ยนทิศ

FORBES THAILAND / ADMIN
31 Jan 2018 | 02:32 PM
READ 10697

Brian Ong ชายหนุ่มผู้ช่วยชี้แนะเส้นทางใหม่ของการก้าวสู่มหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ ให้แก่เด็กนักเรียนชาวจีน

เมื่อสิบปีที่แล้ว Brian Ong ตัดสินใจขายทรัพย์สมบัติทั้งหมดของตนเองและบินมาปักหลักที่ Shanghai เขาไม่มีดีกรีการศึกษาจากสาขาเทคโนโลยีหรือวิศวกรรมศาสตร์ ดังนั้นเขาจึงไม่มีทางเลือกอาชีพที่สดใสรออยู่มากนักเขารู้เพียงอย่างเดียวว่าตัวเองต้องการทำธุรกิจ และ Shanghai ก็เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยโอกาส Ong ได้ค้นคว้าแนวคิดการทำธุรกิจในแวดวงการเงินไปจนถึงอสังหาริมทรัพย์ จนในที่สุดมาลงเอยที่ธุรกิจให้คำปรึกษากับนักเรียนมัธยมศึกษาชาวจีนที่ตั้งใจจะศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐฯ ปัจจุบัน Ong ในวัย 33 ปีเป็นเจ้าของและบริหารกิจการของ Bangdai ซึ่งมีพนักงานทั้งหมด 48 คน ประจำสำนักงาน 3 แห่งใน Shanghai, Beijing และ Shenzhen เขามีผู้ติดตามมากกว่า 15,000 คน ใน Weibo และได้ชื่อว่าเป็นที่ปรึกษาที่ดีที่สุดสำหรับครอบครัวชาวจีนผู้มั่งคั่งซึ่งต้องการจะส่งบุตรหลานไปเรียนต่อในสถาบันการศึกษาที่ดีที่สุดในสหรัฐฯ โดย Ong คิดค่าบริการตั้งแต่ 12,000-60,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อนักเรียน 1 คน หรือเทียบเท่ากับค่าเล่าเรียนรายปีของมหาวิทยาลัยเอกชนในสหรัฐฯ บางแห่ง Bangdai ให้คำปรึกษานักเรียน 160 คนต่อปี ไม่ต้องสงสัยเลยว่าใครเป็นคนจ่ายค่าธรรมเนียมดังกล่าว “ผู้ที่มีรายชื่ออยู่ในทำเนียบอภิมหาเศรษฐีประมาณ 25% ส่งลูกไปเรียนต่อที่อเมริกา” Ong กล่าวโดยอ้างถึงรายชื่อบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศจีน 400 คน ซึ่งสามารถดูได้ที่ Forbes.com การที่ Bangdai สามารถเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในอัตราที่สูงเช่นนี้ทำให้ Ong สามารถจ่ายค่าจ้างที่ปรึกษาได้มากถึง 1,500-4,500 เหรียญต่อเดือน ซึ่งเป็นรายได้มหาศาลเมื่อเปรียบเทียบกับมาตรฐานรายได้ของพนักงานอายุงานไม่เกิน 1 ปีในบริษัทตรวจสอบบัญชีระดับโลก 4 แห่งประจำสาขาในจีนแผ่นดินใหญ่ซึ่งมีรายได้อยู่ที่ 1,200 เหรียญต่อเดือน บริการแนะแนวการศึกษาชั้นดีมีส่วนช่วยเปลี่ยนแปลงวิธีการสมัครเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาของนักเรียน รวมถึงสาขาที่พวกเขาเลือกเรียนอีกด้วย ตามปกติแล้ว นักเรียนชาวจีนที่จะเรียนต่อในสถาบันอุดมศึกษาในสหรัฐฯ มักจะเลือกเรียนในสาขาที่เรียกรวมว่า STEM (ซึ่งหมายถึง วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์) โดยมีเป้าหมายคือได้งานที่มีค่าตอบแทนสูง ได้วีซ่าประเภท H1-B และสุดท้ายคือได้กรีนการ์ดเพื่อพำนักอาศัยในสหรัฐฯ c9jในปัจจุบันมีนักเรียนจากครอบครัวฐานะร่ำรวยจำนวนมากเลือกเรียนในสาขามนุษยศาสตร์ เช่น ประวัติศาสตร์ ปรัชญา หรือวรรณคดีอังกฤษ ถึงแม้ว่าการสำเร็จการศึกษาในสาขาดังกล่าวจะไม่ได้เป็นหนทางนำไปสู่หน้าที่การงานที่มีค่าตอบแทนสูงในทันที ข้อมูลจากการสำรวจความคิดเห็นของนักเรียนชาวจีนโดยบริษัทในจีนอย่าง New Oriental และบริษัทวิจัยการตลาดใน New York อย่าง Millward Brown ระบุว่าปีนี้นักเรียนชาวจีนประมาณ 61% ที่เรียนต่อหรือวางแผนเรียนต่อต่างประเทศกล่าวว่า “การเปิดหูเปิดตาและมองเห็นโลกกว้าง” เป็นสิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก และ 56% กล่าวว่าตนเลือกเรียนในสาขาวิชาที่ตนเองสนใจ นักเรียนเหล่านี้กล่าวว่าการเรียนในสาขามนุษยศาสตร์เปิดโอกาสให้ตนเองมีความเข้าใจสังคมอเมริกันได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้นประกอบกับมีความรู้ภาษาอังกฤษ ทักษะการเขียน และทักษะในการคิดเชิงวิเคราะห์ที่เข้มแข็งมากขึ้นด้วย Ong ซึ่งเติบโตในประเทศมาเลเซียมีความเชื่อว่า หากผู้ที่จะเติบโตขึ้นเป็นนักธุรกิจทรงอิทธิพลในจีนแผ่นดินใหญ่ในอนาคตได้รับการศึกษาในสาขามนุษยศาสตร์แล้ว สักวันหนึ่งพวกเขาจะสามารถเติมความคิดสร้างสรรค์และกลิ่นอายของวัฒนธรรมลงในผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศจีนได้มากกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ แต่ปัจจุบันนักเรียนเหล่านี้เดินทางกลับมาประเทศจีนหลังจากศึกษาเล่าเรียนเกี่ยวกับ Aristotle, Machiavelli และ Shakespeare เป็นเวลา 4 ปี พวกเขาเป็นคนหนุ่มสาวเนื้อหอม ซึ่งบริษัทแนะแนวการศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยที่เปิดใหม่อยากได้ตัวไปร่วมงานด้วย Ong เจ้าของ Bangdai กล่าวว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การเรียนในสาขามนุษยศาสตร์ไม่ได้รับความนิยมในจีนก็เป็นเพราะผู้ปกครองรู้สึกว่าการประสบความสำเร็จในสาขานี้ “ไม่มีเกณฑ์ชี้วัดความสำเร็จ” ในประเทศจีนมีการแจกรางวัลมากมายในสาขาวิทยาศาสตร์แต่แทบจะไม่มีรางวัลในสาขามนุษยศาสตร์เลย การที่ไม่มีเกณฑ์ชี้วัดความสำเร็จทำให้บรรดาผู้ปกครองคิดว่ามนุษยศาสตร์เป็นสาขาวิชาระดับรองลงมา “ถึงแม้ว่าเสียงสะท้อนของคำพูดของบรรดาผู้ปกครองชาวจีนที่ได้ยินกันจนชินหูว่า ‘การเรียนจบเอกมนุษยศาสตร์หมายถึงการตกงาน’ จะดังกึกก้อง” เรื่อง: Rebecca Feng เรียบเรียง: ริศา
อ่านฉบับเต็ม "เมื่อเทรนด์การศึกษาต่อเปลี่ยนทิศ" ได้ใน นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับ ธันวาคม 2560 ในรูปแบบ E-Magazine