สุวัฒน์ เชาว์ปรีชา แจ้งเกิดฤทธาโชว์ผลงาน CLMV - Forbes Thailand

สุวัฒน์ เชาว์ปรีชา แจ้งเกิดฤทธาโชว์ผลงาน CLMV

FORBES THAILAND / ADMIN
26 May 2017 | 11:12 AM
READ 14463

การลาออกครั้งสุดท้ายและตัดสินใจหันหลังให้กับชีวิตมนุษย์เงินเดือนของ สุวัฒน์ เชาว์ปรีชา กลับกลายเป็นจุดกำเนิดของ บริษัท ฤทธา จำกัด หนึ่งในบริษัทรับเหมาก่อสร้างชั้นนำของไทย และพร้อมขึ้นแท่นเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในตลาดอาเซียน โดยสุวัฒน์ประกาศเป้าหมายใน 3 ปีข้างหน้า บริษัทจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อปูทางสร้างความน่าเชื่อถือรองรับการขยายงานทั้งในและนอกประเทศ

 

ดันฤทธาสู่ท็อปรับเหมา

สุวัฒน์เป็นเด็กหนุ่มจากปากน้ำโพ ครอบครัวของเขาหารายได้จากการเดินเรือรับส่งทั้งผู้โดยสารและสินค้าในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งรายได้นี้ส่งให้เขาได้เล่าเรียนถึงคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่แล้วการขนส่งทางบกพัฒนาขึ้น ทำให้คนหันไปสัญจรทางบกและการเดินเรือของที่บ้านต้องเลิกไปในที่สุด
สุวัฒน์ เชาว์ปรีชา ผู้ก่อตั้ง บริษัท ฤทธา จำกัด ในวัย 73 ปี
สุวัฒน์ ผู้ผ่านร้อนหนาวกว่า 73 ปี ย้อนวันวานว่า เขาเรียนจบในปี 2510 และเริ่มงานในกรมทางหลวงอยู่ 1 ปี แต่ต่อมาจำต้องลาออกเพราะเงินเดือนไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายของครอบครัว เขาจึงย้ายไปทำงานบริษัทเอกชนทั้งไทย ญี่ปุ่น และต่างประเทศ ซึ่งทำให้เขาได้สั่งสมประสบการณ์ด้านวิศวกรรมโยธาอย่างโชกโชนเป็นระยะเวลากว่า 20 ปี และแล้วฤทธาก็ได้เริ่มต้นขึ้นในปี 2532 “ผมทำงานกินเงินเดือนมา 20 กว่าปีตอนนั้นผมอายุเกือบ 40 ปี มีครอบครัวแล้ว ...จึงเกิดความคิดว่าถ้าออกมาตั้งบริษัทเอง น่าจะมีโอกาสที่จะมีรายได้มากกว่า...” สุวัฒน์กล่าว หลังจากนั้นเขาจึงชักชวนรุ่นน้องที่เคยร่วมงานกัน คือ อุทร ภูษิตกาญจนา ปัจจุบันเป็นกรรมการผู้จัดการ และ กมล โอภาสกิตติ เป็นผู้จัดการทั่วไปของฤทธา แรกเริ่มฤทธารับงานแบบ subcontract โครงการละไม่กี่ล้านบาท แต่ด้วย
อุทร ภูษิตกาญจนา กรรมการผู้จัดการ และ กมล โอภาสกิตติ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ฤทธา จำกัด (ขอบคุณภาพจาก thenextreal.com และ homechiangmai.co.th)
ประสบการณ์ บุคลากร และผลงานที่พิสูจน์ ทำให้ฤทธาได้รับความไว้วางใจให้ทำงานขนาดใหญ่ จากหลักล้านบาทสู่พันล้านบาท จนปัจจุบันมีรายได้อยู่ที่ปีละมากกว่าหมื่นล้านบาท

ชิงส่วนแบ่งรับเหมาไทยและ CLMV

บทวิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจรับเหมาก่อสร้างของทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยาประเมินว่า ในปี 2559 ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างขยายตัวที่ 7 - 8.7% มีมูลค่าประมาณ 1.24 - 1.26 ล้านล้านบาท ซึ่งโครงการส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานโดยภาครัฐเป็นหลัก ขณะที่การลงทุนของภาคเอกชนทั้งเชิงพาณิชย์และที่อยู่อาศัยชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ แต่ปี 2560 คาดว่าธุรกิจรับเหมาก่อสร้างจะเติบโต 9-10% จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่มีต่อเนื่อง และการลงทุนภาคเอกชนที่จะกลับมาฟื้นตัว สำหรับมูลค่าการรับรู้รายได้ต่อปี หากพิจารณารายได้ของบริษัทรับเหมาก่อสร้างไทย 10 บริษัท ในปี 2558 พบว่ามีรายได้รวมกัน 1.91 แสนล้านบาท โดยฤทธามีส่วนแบ่งตลาดคิดเป็น 7.55% ขณะที่บริษัทที่มีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ อิตาเลียนไทย (27.16%) ช.การช่าง (19.84%) และทีทีซีแอล (11.49%) ซึ่งสัดส่วนรายได้หลักของบริษัทเหล่านี้มาจากการรับงานโครงการภาครัฐซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ ส่วนฤทธาเน้นรับงานเอกชนซึ่งถือเป็นจุดแข็งหนึ่งของบริษัท นอกจากการรับงานก่อสร้างในประเทศแล้ว โอกาสของผู้รับเหมาไทยยังมีอีกมากในประเทศอาเซียน โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านอย่าง CLMV ที่เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก และเขตเศรษฐกิจพิเศษ ได้แก่ ลาว เมียนมา กัมพูชา ซึ่งมีชายแดนติดกับไทยทำให้ได้เปรียบในการขนส่งวัสดุและเครื่องจักร ส่วนเวียดนามมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสูง แต่อาจจะมีอุปสรรคเรื่องการขนส่งบ้าง หลักการสำคัญในการบริหารที่สุวัฒน์ยึดถือคือ การบริหารต้นทุนการก่อสร้าง เนื่องจากงานรับเหมาก่อสร้างจะได้รับค่าจ้างเป็นงวด หากบริหารจัดการไม่ดี ค่าใช้จ่ายอาจบานปลายได้ จึงเป็นที่มาของการทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้างแบบครบวงจร อาณาจักรฤทธาประกอบด้วย 4 บริษัทในเครือ ได้แก่ บริษัท ไซมิส สแกฟโฟลดิ้ง จำกัด บริการขายและให้เช่านั่งร้าน บริษัท ไซมิส อีควิปเม้นท์ แอนด์ แมชชีนเนอรี่ จำกัด บริการขายและให้เช่าเครื่องมือ/เครื่องจักร บริษัท ไทยโกลบอล เอ็นเนอร์จี้ จำกัด รับออกแบบและก่อสร้างอาคารประหยัดพลังงาน โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และ บริษัท ไทย ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริการสร้างอาคารสำหรับเช่าระยะยาว
ตัวอย่างนั่งร้านแบบหอสูง จากบริษัท ไซมิส สแกฟโฟลดิ้ง จำกัด ในเครือของฤทธา
ทั้งยังมีโรงงานผลิตชิ้นส่วนคอนกรีตสำเร็จรูปหรือพรีคาสต์ โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์เหล็ก และเพิ่มโอกาสด้วยธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ “การทำธุรกิจครบวงจร จะทำให้ประหยัดเวลาและต้นทุนก่อสร้างได้ รวมทั้งบริษัทในเครือที่ตั้งขึ้นมายังสร้างโอกาสการเติบโตในหน้าที่การงานของพนักงานได้อีกด้วย ...แต่ถ้ามีเพียงบริษัทเดียว ตำแหน่งผู้บริหารอาจจะมีอยู่ไม่กี่ตำแหน่ง ดังนั้น บริษัทในเครือเป็นช่องทางการเติบโต” สุวัฒน์ถ่ายทอดแนวคิดการบริหาร
ตัวอย่างผลงานก่อสร้างของฤทธา: เมกา บาง (บนซ้าย), สาทร สแควร์ (ล่างกลาง), เทอร์มินอล 21 (ล่างซ้าย), อาคาร 100 ปี คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง วัดพระธรรมกาย (บนขวา), โรงแรม ดับเบิ้ลยู กรุงเทพฯ (ล่างขวา)

ลุยอสังหาฯ ปักหมุดกัมพูชา

ก้าวสำคัญของฤทธาในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เริ่มต้นเมื่อกลุ่ม บริษัท ชิป มง กรุ๊ป จำกัด (Chip Mong Group Co., Ltd. หรือ CMG) หนึ่งในบริษัทขนาดใหญ่ของกัมพูชา ต้องการขยายธุรกิจด้านโรงแรมและอาคารสำนักงานเพิ่มเติม ทั้งสองจัดตั้งบริษัทร่วมทุนขึ้นมาภายใต้ชื่อ บริษัท ชิป มง ฤทธา เอนจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด โดย CMG ถือหุ้นที่ 55% และฤทธา 45% แผนธุรกิจเบื้องต้นคือ การพัฒนาโครงการระยะยาว 10 ปี เป็นอาคารสูง 3 อาคาร มูลค่ารวมกว่า 1 หมื่นล้านบาท  ได้แก่ โรงแรม Hyatt Regency Phnom Penh ย่านใจกลางเมืองที่เริ่มก่อสร้างเมื่อเดือนมีนาคม 60, โรงแรม Marriott Phnom Penh อยู่ระหว่างออกแบบ ส่วนอีกอาคารมีแผนเป็นสำนักงานและโรงแรม สุวัฒน์วางแผนไว้ว่า โครงการนี้จะเป็น pilot project ในการเริ่มขยายตลาดออกไปรับเหมาก่อสร้างยังกลุ่มประเทศอาเซียนอย่างจริงจังของฤทธา เพราะการรับงานในต่างประเทศย่อมเป็นการกระจายความเสี่ยงที่ดี หากธุรกิจก่อสร้างในประเทศชะลอตัวลง  

มุ่งสร้างรายได้ 2 หมื่นล้าน

หลังจากขยายอาณาจักรทางธุรกิจให้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง สุวัฒน์เตรียมความพร้อมเพื่อนำฤทธาเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายใน 3 ปีนี้ เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือในการทำธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้าน “ผมในฐานะเป็นผู้ก่อตั้ง ซึ่งอายุก็มากแล้ว การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อาจจะมีผู้ถือหุ้นที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจเดียวกัน และหากถือหุ้นในสัดส่วนที่เพียงพอ เขาจะสามารถช่วยเสริมทัพบริหารให้ดียิ่งขึ้นได้...” เขากล่าว ฤทธาสร้างผลงานและมีรายได้เติบโตอย่างต่อเนื่อง สามารถรักษาอัตราการเติบโตจนปีที่ผ่านมาฤทธามีรายได้ประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท และตั้งเป้ารายได้แตะ 2 หมื่นล้านบาทใน 3 ปีข้างหน้า ไม่เพียงการนั่งเก้าอี้ผู้บริหารระดับสูงและดูแลด้านนโยบาย สุวัฒน์ยังให้ความสำคัญกับการมอนิเตอร์การทำงานในแต่ละวัน ทุกวันนี้ ถึงแม้อายุจะอยู่ในวัยเกษียณ แต่สุวัฒน์ยังคงกำกับงานทุกวันจนแต่ละโครงการเสร็จสมบูรณ์ และไม่ว่างานจะยุ่งเพียงใด เขาไม่พลาดที่จะออกรอบกอล์ฟกับเพื่อนๆ “ไม่ว่าจะเป็นกอล์ฟหรือทำงาน ล้วนเริ่มจากการเรียนรู้พื้นฐานในสิ่งที่ทำ เมื่อเรียนรู้แล้วก็ต้องฝึกหัดและฝึกฝนให้เกิดความชำนาญ แล้วจึงปฏิบัติจริง...” ดังสโลแกนที่ฤทธา ยึดเป็นแนวทางว่า “We have made the impossible possible!”   เรื่อง: จุฑามาศ ศรีสวัสดิ์ ภาพ: กิตติเดช เจริญพร และ บริษัท ฤทธา จำกัด
คลิกอ่านฉบับเต็ม "สุวัฒน์ เชาว์ปรีชา แจ้งเกิดฤทธาโชว์ผลงาน CLMV" ได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ มีนาคม 2560