มารู้จัก Tony Fernandes ซีอีโอขวัญใจมหาชน - Forbes Thailand

มารู้จัก Tony Fernandes ซีอีโอขวัญใจมหาชน

FORBES THAILAND / ADMIN
11 Mar 2014 | 12:16 PM
READ 2952

นับตั้งแต่ข่าวเที่ยวบิน QZ8501 สายการบิน AirAsia Indonesia หายสาบสูญ ปรากฏในเช้า 28 ธันวาคม 2014 จนมาถึงวันนี้ ที่คณะทำงานกู้ภัยกำลังกู้ซากเครื่องและร่างผู้เสียชีวิต 162 คน จากน่านน้ำทะเลชวา ชายคนหนึ่งได้รับการจับจ้องจากสาธารณะเป็นพิเศษ ทั้งที่มิใช่เจ้าหน้าที่หรือคนอินโดนีเซียที่เกี่ยวข้อง ในฐานะ "เจ้าภาพ" ของการค้นหาครั้งนี้

เขาคือ Tony Fernandes, CEO ของ AirAsia Group ซึ่ง Forbes Asia เคยยกย่องให้เป็นนักธุรกิจแห่งปี 2010 "มองโลกในแง่ดีไว้ และเข้มแข็งต่อไป" เขายังทวิตข้อความให้กำลังทุกคนในตอนเที่ยงวันจันทร์ 29 ธันวาคม หลังเครื่องบินสูญหายนานเกิน 24 ชั่วโมง จนแทบจะหมดหวังโดยสิ้นเชิงแล้ว แต่กลับมีคนตอบกลับเป็นกำลังใจให้เขาเป็นจำนวนมาก Fernandes ได้รับเสียงชื่นชมอย่างยิ่ง ทั้งที่เหตุร้ายครั้งนี้คือวิกฤติครั้งร้ายแรงที่สุดของสายการบินต้นทุนต่ำในเครือ AirAsia ในฐานะผู้บริหารสูงสุดของ AirAsia Berhad ซึ่งเป็นเจ้าของ AirAsia Indonesia 49% เขาก้าวออกมายอมรับความจริงที่เกิดขึ้น ด้วยบทบาทเชิงรุกด้านสื่อสาร ไม่ว่าจะแถลงข่าวด้วยตนเอง หรือผ่านสื่อออนไลน์ รวมทั้งสื่อส่วนตัว เช่น Twitter รวมไปถึงเว็บไซต์ของบริษัท ได้ให้ข้อมูลข่าวสารอย่างชัดเจน ทันสถานการณ์ รวมทั้งยังมีส่วนร่วมในความเศร้าโศกไปพร้อมกับญาติมิตรผู้ประสบเคราะห์อีกด้วย สำหรับชาวมาเลเซียแล้ว เขามิใช่เพียงมหาเศรษฐีอันดับ 28 ของประเทศ ผู้ครอบครองทรัพย์สินมูลค่า 650 ล้านเหรียญเท่านั้น อาจกล่าวได้ว่าเขาคือ "เซเลป" ที่คนมาเลเซียเกือบทุกคนต้องรู้จัก หนุ่มใหญ่วัย 50 ปี ชอบนุ่งบลูยีนส์ และสวมหมวกเบสบอลแดงประทับโลโก้ AirAsia อยู่เสมอ   ไม่ว่าจะพบเขาที่สนามบินหรือที่ไหนก็ตาม ต้องมีคนปรี่เข้าไปขอลายเซ็นต์หรือถ่ายรูปด้วย ซึ่งตัวเขาก็ตอบรับด้วยความยินดีอย่างยิ่ง เมื่อปี 2001 ที่เขาเทคโอเวอร์สายการบินแห่งนี้ เป็นยุคที่ยังไม่มีที่ยืนให้กับธุรกิจสายการบินราคาประหยัด ทั้งที่ในทวีปอเมริกาเหนือและยุโรป ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางแล้ว แต่ภายใต้การบริหารของคนหนุ่มวัย 37 ปี (อายุขณะนั้น) กลับพลิกฟื้นสายการบินที่เคยเป็นของรัฐ และแทบจะล้มละลาย ให้กลับมาประสบความสำเร็จในเวลาอันรวดเร็ว อย่างที่ไม่เคยมีใครในภูมิภาคทำได้มาก่อน นับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา การเติบโตของสายการบินราคาประหยัด ช่วยทำให้ราคาเฉลี่ยตั๋วเครื่องบินของภูมิภาคลดลงไปกว่าครึ่ง และยังช่วยกระตุ้นให้คนเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอีกด้วย ในราคาค่าตั๋วที่คนทั่วไปซื้อหาได้  รวมทั้งการเปิดเส้นทางการบินใหม่ๆ ที่เรียกผู้โดยสารได้อีกเป็นล้านๆ คน AirAsia ประเมินว่าครึ่งหนึ่งของผู้โดยสาร เป็นผู้เดินทางทางเครื่องบินเป็นครั้งแรก  Fernandes ชอบย้ำว่า ตัวเขามักจะพบเจอผู้สูงอายุเข้ามาสารภาพว่า "ไม่เคยคิดมาก่อนเลย จะได้ขึ้นเครื่องบินก่อนตาย"หรือ "ตอนนี้ฉันกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดได้แล้ว" อยู่เป็นประจำ ในด้านหนึ่ง เขาคือผู้หยิบยื่นโอกาสอันยิ่งใหญ่ให้กับคนหาเช้ากินค่ำ คนธรรมดาสามัญ หรือใครต่อใคร “ก็บินได้” ด้วยสายการบินต้นทุนต่ำ แต่ในอีกด้านนั่นเอง คนจำนวนมหาศาลซึ่งเคยขาดอภิสิทธิ์ในการเดินทางทางอากาศ คือตลาดใหญ่ที่ธุรกิจสายการบินแบบเก่ามองข้ามหัวมาตลอด ปูมหลังแต่ครั้งวัยเด็ก อาจช่วยให้เราเข้าใจสายตาอันเฉียบคมของนักธุรกิจและนักการตลาด ผู้มัดใจผู้คนจำนวนมากได้ดียิ่งขึ้น มีแม่เป็น "นักการตลาด" ไม่น่าเชื่อว่า หนทางสู่เจ้าพ่อสายการบินต้นทุนต่ำจะเริ่มต้นที่ Tupperware  ในวัย 6 ขวบ เขาคือมือเปียโนประจำงานเลี้ยงสังสรรค์ลูกค้า Tupperware ของมารดา ซึ่งเป็นลูกครึ่งโปรตุเกส-เอเชีย เติบโตใน Malacca เธอเป็นครูสอนดนตรีที่มีวิญญาณของคนทำมาค้าขาย จนกลายมาเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจขายตรง Tupperware ในประเทศมาเลเซีย "แม่ผมเป็นคนชอบเข้าสังคม เธอแน่เอามากๆ ขนาดขายน้ำแข็งให้คนเอสกิโมได้เลยละ ในงานประชุมตัวแทนจำหน่าย ซึ่งก็คืองานปาร์ตี้ที่บ้านนั่นแหละ แม่แต่งเพลงสั้นๆ ให้กับ Tupperware แล้วให้ผมเล่น เป็นชีวิตที่มีสีสันมากๆ" ชีวิตที่เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจค้า Tupperware ระดับประเทศ ก็คือโรงเรียนวิชาการตลาดสำหรับ Fernandes และยังทำให้หนุ่มน้อยได้พบกับโลกของการบินพาณิชย์ "ผมมีความสุขทุกครั้งที่ไปตามสนามบินต่างๆ จนบอกกับพ่อแม่ว่าสักวันจะเป็นเจ้าของสายการบิน พ่อบอกผมว่า 'ถ้าแกจะเอาอย่างนั้น ก็ไปเป็นพนักงานเปิดประตูโรงแรมฮิลตันให้ได้ก่อน ฉันจะปลื้มอย่างมาก' " รายได้จาก Tupperware ของแม่นั่นเอง ส่งเสียให้  Fernandes ในวัย 12 ปี มีโอกาสบินไปเรียนต่อที่อังกฤษ เขาใช้ชีวิตในสนามกีฬามากกว่าในห้องเรียน แต่บทเรียนสำคัญที่ทำให้เขามีวันนี้ก็คือ พ่อแม่ไม่ยอมซื้อตั๋วเครื่องบินให้บินกลับมาเยี่ยมบ้านช่วงปิดภาคเรียนอย่างเด็ดขาด ทำให้หนุ่มน้อยต้องใช้ชีวิตวันหยุดใน London และส่วนใหญ่ก็จะหมกตัวอยู่แถวสนามบิน Heathrow นั่นเอง "ผมเป็นพวกหลงใหลเครื่องบิน (planespotter) เอาเลยนะ" เขากล่าว "ผมกับเพื่อนๆ ขึ้นไปอยู่บนอาคารลานจอดรถชั้นบนสุด เอาแต่เฝ้ามองเครื่องบินลงจอด สำหรับเด็กอายุ 13 ถึง 17 แล้ว มันน่าเศร้าเสียจริงๆ นะ" และช่วงนั้นเอง Sir Freddy Laker ได้เริ่มเปิดสายการบินราคาประหยัดแห่งแรกของยุโรป ในชื่อ Skytrain "ผมชอบความคิดของเขามาก คิดว่าสักวัน ผมต้องทำแบบนี้ให้ได้ในเอเชีย" ก่อนจะประสบความสำเร็จตามฝัน เขาได้ใช้ชีวิต 14 ปีในธุรกิจดนตรี โดยเริ่มต้นที่ London ในแผนกการเงินบริษัท Virgin Group ของ Richard Branson แล้วย้ายกลับมาที่  Kuala Lumpur ในฐานะหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ Warner Music จากนั้น Fernandes จับมือกับมิตรสหายในแวดวงธุรกิจดนตรี แล้วมาเจรจากับทางการมาเลเซียเพื่อขอเปิดสายการบินราคาประหยัด แม้ว่านายกรัฐมนตรี Mahathir Mohamad จะเอาด้วย แต่กลับยื่นข้อเสนอให้ไปปัดฝุ่นสายการบินเก่าของรัฐบาล  Fernandes จ่ายเงินเพียง 1 ริงกิตเพื่อเทคโอเวอร์สายการบิน AirAsia ที่เวลานั้นมีเครื่องบินประจำการเพียง 2 ลำ พร้อมกับหนี้ 40 ล้านเหรียญ เขาต้องจำนองบ้านเพื่อหาเงินมาเป็นทุนหมุนเวียนกิจการ จนกระทั่งนำสายการบินแห่งนี้กลับมาได้กำไรด้วยเวลาอันรวดเร็ว มีพ่อเป็น "หมอนักบุญ" ผู้นิยมเดินทางด้วยสายการบินราคาประหยัด ย่อมต้องการที่พักราคาประหยัดด้วย ในปี 2007 Fernandes จึงเริ่มธุรกิจโรงแรม Tune Hotels ด้วยสโลแกน "ห้องพักระดับห้าดาวในราคาดาวเดียว"กระจายในเมืองปลายเส้นทางบินต่างๆ ไม่ว่า Bali London อินเดีย บังคลาเทศ ไทย ฟิลิปปินส์ และจีน เบื้องหลังกิจการคือบริษัทแม่ Tune Group ได้ลงทุนทำธุรกิจด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Tune Talk บริการโทรศัพท์โรมมิ่งราคาประหยัด, Tune Money บัตรเดบิตและประกัน และ Tune Sports สนับสนุนกีฬามอเตอร์สปอร์ตและบาสเกตบอล รวมไปถึงเป็นเจ้าของทีมฟุตบอล Queens Park Rangers แห่งเกาะอังกฤษ Fernandes นิยามธุรกิจของเขาว่าเป็น "ธุรกิจบริการสำหรับผู้ที่ไม่เคยได้รับบริการ" เหตุผลที่เขาผูกพันกับกลุ่มเป้าหมายที่กลายมาเป็นลูกค้า อาจเกิดจากอิทธิพลที่ได้รับจากบิดาชาวอินเดีย ซึ่งเป็นนายแพทย์หัวสังคมนิยม เชื่อมั่นในอุดมการณ์ว่า การรักษาพยาบาลต่างๆ จะต้องเป็นบริการสาธารณะแบบให้เปล่า เพื่อประโยชน์สุขของคนทั่วไป "ยังมีคนอีกมากที่ไม่มีโอกาสขึ้นเครื่องบิน ยังมีคนอีกมากที่ไม่มีเครดิตการ์ด หรือไม่ได้ทำประกัน ผมมองเห็นคนส่วนใหญ่ คนจำนวนมากมาตลอด และผมก็รู้สึกดีที่อยู่กับพวกเขา โดยสัตย์จริงที่ว่า ผมชอบอยู่กับผู้คน ทำให้ผมมองเห็นว่า พวกเขาต้องการสิ่งใด และมีความสุขที่ช่วยเขาได้ เป็นความรู้สึกที่ยิ่งใหญ่มาก"
- Tony Fernandes กับครอบครัวของลูกเรือสาว เที่ยวบิน QZ8501 ในขณะร่วมพิธีศพ -
ผู้บินเหนือกว่า ในเดือนตุลาคม 2010 ยอดผู้โดยสารของ AirAsia ผ่านหลัก 100 ล้านคนไปแล้ว ความสำเร็จส่วนหนึ่งเกิดจากแคมเปญมากมาย เช่นการชิงโชคตั๋วฟรีในบางครั้งคราว จนทำให้เว็บไซต์ AirAsia.com กลายเป็นเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซขนาดใหญ่อันดับสองของเอเชียในปีนั้น หากพิจารณาจากยอดขายและจำนวนผู้เข้าเว็บ ผลสำรวจความพึงพอใจในบริการของลูกค้าโดย Skytrax พบว่า นักเดินทางยกให้ AirAsia เป็นสายการบินต้นทุนต่ำที่ดีที่สุดในโลก ต่อเนื่องนาน 6 ปีติดกัน ตั้งแต่ปี 2009 จนถึงปี 2014 ในไตรมาส 3 ของปี 2014 AirAsia มีรายรับ 1.32 พันล้านริงกิต เพิ่มขึ้น 3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน รายรับที่เพิ่มขึ้นนั้น มาจากบริการอื่นๆ ที่ไม่ใช่ค่าตั๋ว เฉลี่ยรายได้ต่อผู้โดยสารหนึ่งรายเพิ่มจาก 41 ริงกิต เป็น 47 ริงกิต หรือเพิ่มขึ้น 15%  ขณะที่จำนวนผู้โดยสารในไตรมาสเดียวกัน เฉพาะที่มาเลเซียรวมแล้ว 5.29 ล้านคน จากวันแรกที่มีเครื่องบินเพียง 2 ลำ กลายมาเป็น 168 ลำในปัจจุบัน และเป็นเครื่อง Airbus A320-200ทั้งหมด โดยอยู่ระหว่างรอสั่งซื้ออีก 291 ลำ มีพนักงานมากกว่า 1 หมื่นคน มีสายการบินในเครือข่ายถึง 9 สายการบิน ได้แก่ AirAsia India, AirAsia X, Indonesia AirAsia, Indonesia AirAsia X, Philippines AirAsia, AirAsia Zest, Thai AirAsia, Thai AirAsia X และ AirAsia Japan และมีเส้นทางการบินรวมทั้งหมด 121 เส้นทาง ในจำนวนนี้มากกว่า 40 เส้นทาง ไม่เคยมีสายการบินรายใดเคยบินมาก่อน นอกจากนี้  AirAsia ยังเป็นบรรษัทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพียงไม่กี่ราย ที่ไม่มีสายป่านหรือความสัมพันธ์ใดๆ ในทางการเมือง หรือเป็นกิจการสัมปทานของรัฐ หรือธุรกิจผูกขาดไร้การแข่งขัน ที่ระดับโลกให้การยอมรับ "เราบินเหนือกว่าสายการบินของรัฐบาลแล้ว" Fernandes หมายถึง Malaysia Airlines สายการบินในกำกับดูแลของรัฐบาลมาเลเซีย ที่ในปี 2014 ต้องเผชิญวิกฤติหนักหนาไม่แพ้กัน และยิ่งกว่านั้น รัฐบาลมาเลเซียก็เคยเป็นเจ้าของ AirAsia มาก่อน ก่อนจะโละทิ้งให้เขา พร้อมกับภาระหนี้ก้อนโต
นพพร วงศ์อนันต์ บรรณาธิการบริหาร Forbes Thailand ในรายการ "World Focus รู้รอบโลก" ทางอัมรินทร์ทีวี 7 มกราคม 2558

TAGGED ON