ภารกิจกอบกู้ PANASONIC - Forbes Thailand

ภารกิจกอบกู้ PANASONIC

FORBES THAILAND / ADMIN
28 Sep 2016 | 11:34 AM
READ 2907

เมื่อ 4 ปีที่แล้ว Kazuhiro Tsuga ร่วมวงภารกิจยกเครื่องบริษัทครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น แต่ปฏิบัติการพลิกชะตายักษ์ใหญ่แห่งวงการอิเล็กทรอนิกส์เพื่อผู้บริโภคของเขายังไม่จบลงเพียงแค่นี้

เรื่อง: Michael Schuman  เรียบเรียง: ปาริชาติ ชื่นชม เมื่อพูดถึง PANASONIC อาจทำให้คุณคิดถึงโทรทัศน์ แต่อันที่จริงก็ทีวีนั่นแหละที่ทำให้ Panasonic กลายเป็นแบรนด์ผลิตภัณฑ์ประจำครอบครัว ตั้งแต่สิงคโปร์ไปจนถึง San Francisco พร้อมส่งให้บริษัทอิเล็กทรอนิกส์สัญชาติญี่ปุ่นแห่งนี้ก้าวขึ้นสู่การเป็นหนึ่งในผู้เล่นระดับโลกในอุตสาหกรรมดังกล่าวแต่สำหรับ Kazuhiro Tsuga ซึ่งเป็นประธานบริษัท เขามองว่านั่นละคือปัญหา กว่าที่เขาจะเข้ามารับตำแหน่งผู้บริหารบริษัทในปี 2012 Panasonic ก็เริ่มเสียส่วนแบ่งตลาด โดยโดนคู่แข่งจากเกาหลีใต้อย่าง Samsung และ LG ฉกฉวยความได้เปรียบ ซ้ำร้ายไปกว่านั้น พวกเขายังตัดสินใจพลาดมหันต์ เมื่อทุ่มเงินลงทุนมหาศาลในเทคโนโลยีพลาสม่าจอแบน ที่สร้างภาพฉายขึ้นจอด้วยก๊าซที่กระตุ้นด้วยไฟฟ้า กลับกลายเป็นว่าผู้บริโภคกลับชอบคู่แข่งอย่าง ทีวีจอ LCD ที่ทั้งมีน้ำหนักเบากว่าและทนทานกว่าถึงอย่างนั้น ผู้บริหาร Panasonic ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ เพราะจอพลาสม่าประสิทธิภาพของภาพสูงกว่า LCD เขายังคงดื้อดึงว่าตนคือผู้ชนะตัวจริงในเทคโนโลยีนี้ “คนของเราเกลียดทีวีจอ LCD ใหญ่เอามากๆ เลยครับ” Tsuga กล่าว ในการทำธุรกิจนั้นถือว่า Panasonic ทำผิดพลาดอย่างร้ายกาจที่ไม่สนใจฟังเสียงของตลาด Tsuga รู้ดีว่าถึงเวลาที่จะต้องสำนึกผิดและกำจัดทีวีพลาสม่าออกไปได้แล้ว ในที่สุด เขาก็ตัดสินใจทลายกำแพงต่อต้านภายในองค์กรลงด้วยการเปิดเผยความจริง ผู้บริหารระดับสูงหลายคนก่อนหน้านี้ปิดบังพนักงานส่วนใหญ่ไม่ให้รับรู้ระดับความเสียหายในหน่วยธุรกิจทีวี แต่เขาเป็นผู้เปิดเผยมันออกมา “มีบุคลากรฝ่ายบริหารไม่กี่คนหรอกครับที่รู้ว่าความเสียหาย (ของฝ่ายธุรกิจทีวี) นั้นรุนแรงแค่ไหน” Tsuga อธิบาย “ผมจึงบอกพวกเขาไปว่า ‘มีความเสียหายเกิดขึ้น เสียหายมากมายเลยจริงๆ’ แล้วผมก็อธิบายถึงความเสียหายนั้นอย่างละเอียดในทุกขั้นตอน เมื่อพวกเขามองเห็นภาพก็จะไม่อยากสร้างความเสียหายขึ้นมาอีก” เมื่อ Tsuga ก้าวขึ้นรับตำแหน่งหัวหน้าหน่วยอิเล็กทรอนิกส์เพื่อผู้บริโภคในปี 2011 เขาเริ่มเบนความสนใจออกจากทีวีพลาสม่า ต่อมาในเดือนตุลาคม ปี 2013 บริษัทตัดสินใจประกาศปิดการบริหารงานในส่วนนี้ลงทั้งหมด โรงงานผลิตจอพลาสม่าของ Panasonic แห่งสุดท้ายในญี่ปุ่นปิดตัวลงหลังจากนั้นไม่กี่เดือน ขณะที่ธุรกิจทีวีในส่วนอื่นๆ ก็ลดขนาดลงเช่นกัน Panasonic ไม่ได้ขายโทรทัศน์ในสหรัฐฯ อีกต่อไป และครองส่วนแบ่งเพียงเล็กน้อยในตลาดจีน ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา สิ้นสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม Panasonic ขายทีวีไปได้ 7.9 ล้านเครื่องเท่านั้น สวนทางกับเมื่อปีงบประมาณ 2010 ที่ขายได้มากกว่านี้กว่า 2 เท่าตัว อย่างไรก็ตาม กลับเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี ที่ธุรกิจทีวีทำกำไร Tsuga ดำเนินแผนปฏิรูปมากมาย โดยมีเป้าหมายยื้อชีวิตบริษัทเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น (ซึ่งกำลังจะฉลองครบรอบ 100 ปีในอีก 2 ปีข้างหน้า) การโละธุรกิจทีวีอันน่าตกใจในครั้งนี้นับเป็นแผนการที่มีความหมายมากที่สุด และยังเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โตมากที่สุดด้วย เขาลงมือแปลงโฉมองค์กรครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ธุรกิจญี่ปุ่น ด้วยการกำจัดหน่วยธุรกิจอันเป็นที่รักของหลายคน ทว่าขาดทุนออกไป พร้อมปรับโครงสร้างสารพัดหน่วยธุรกิจของ Panasonic ซึ่งมีตั้งแต่หลอดไฟไปจนถึงแบตเตอรี่รถยนต์และเครื่องซักผ้า ขณะเดียวกันก็หันมาให้ความสำคัญกับการลงทุนในธุรกิจที่ดูจะมีแววรุ่งมากกว่า ไม่ว่าจะเป็น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับยานยนต์ อุปกรณ์เก็บข้อมูล และระบบสร้างความบันเทิงในเครื่องบิน อีกทั้งยังพยายามเพิ่มงานบริการลูกค้าควบคู่ไปกับการผลิตอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ Joseph Taylor ประธานเจ้าหน้าที่บริหารหน่วยธุรกิจประจำทวีปอเมริกาเหนือของ Panasonic ซึ่งรับใช้บริษัทมายาวนานถึง 33 ปีบอกว่า “ลองดูสิ่งที่เขาลงมือทำในเวลาอันน้อยนิดสิครับ มันยอดเยี่ยมมากเลย” ตัวเลขผลประกอบการพิสูจน์ความสำเร็จได้เป็นอย่างดี ก่อนที่ Tsuga จะเข้ามารับตำแหน่งประธานบริษัท องค์กรซึ่งตั้งอยู่ที่ Osaka แห่งนี้เพิ่งรายงานตัวเลขขาดทุนอันน่าสะพรึงสูงถึง 9,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปีนั้น แต่ในปีงบประมาณ 2016 บริษัทสามารถทำกำไรสุทธิ 1,600 ล้านเหรียญ หลังจากที่โกยยอดขาย 63,000 ล้านเหรียญ นับเป็นการทำกำไรติดกัน 3 ปีซ้อน เมื่อเปรียบเทียบผลประกอบการของ Panasonic กับคู่แข่งสัญชาติญี่ปุ่นรายอื่นๆ ที่อยู่ในช่วงขาลงแล้วจะพบว่า Sony รายงานตัวเลขขาดทุนแล้ว 4 ปีในช่วง 6 ปีหลังมานี้ ขณะที่ Sharp ก็ถูก Foxconn ซึ่งเป็นบริษัทต่อประกอบ iPhone ของไต้หวันเข้าซื้อกิจการเมื่อไม่นานมานี้ หลังจากที่ประสบภาวะขาดทุนมหาศาล จนต้องขอรับความช่วยเหลือจากธนาคารแห่งต่างๆ ในญี่ปุ่น ด้าน Toshiba ก็ประกาศตัวเลขขาดทุน 4,300 ล้านเหรียญในปีงบประมาณที่ผ่านมา ท่ามกลางกระแสข่าวฉาวเรื่องตัวเลขในบัญชีให้เป็นที่น่าอับอายอยู่แล้ว ในเวลานี้ Panasonic รั้งอันดับ 245 ในกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่สุดในโลกตามรายงาน Global 2000ของ FORBES ประจำปีนี้ แม้ว่าจะลดลงจากอันดับ 89 ในปี 2009 แต่ก็กระโดดขึ้นมาจากอันดับ 553 ในปีที่แล้ว อุปสรรคในกลุ่มผู้บริหารชาวญี่ปุ่นคือ พวกเขามักยึดติดกับวิถีแบบเดิมมากเกินไป จนไม่ยอมปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ไม่ยอมกระโดดเข้าหาธุรกิจใหม่ๆ หรือปรับตัวให้เข้ากับตลาดใหม่ๆ ยึดติดอยู่กับของเดิมที่หมดความสามารถในการแข่งขันลงไปแล้ว อย่างเช่นเมื่อครั้งที่ Panasonic ดำเนินธุรกิจทีวี การนิยมเก็บความลับเฉพาะในกลุ่มของตนเอง ทำให้พนักงานไม่กล้าแสดงความคิดเห็นหรือแบ่งปันข้อมูลข้ามแผนก จนกลายเป็นอุปสรรคต่อการริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ผู้บริหารระดับสูงชาวญี่ปุ่นส่วนมากใช้เวลาตลอดอายุการทำงานอยู่กับบริษัทของตนเพียงแห่งเดียวเท่านั้น จึงไม่ยอมเปลี่ยนแปลงอะไรง่าย ๆ หลายครั้งที่การตัดสินใจเกิดขึ้นเพราะความจำเป็นแท้ๆ Tsuga รู้เลยว่าเขาต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนจึงปรึกษากับ Tetsuro Homma วัย 54 ปี ผู้บริหารแผนกการวางกลยุทธ์ประจำหน่วยอิเล็กทรอนิกส์เพื่อผู้บริโภคตลอดระยะเวลา 90 วันหลังจากนั้น ทั้งคู่ร่วมกันวางรากฐานเพื่อฟื้นฟู Panasonic โดย Homma ใช้เวลาหลายต่อหลายชั่วโมงวิเคราะห์การเงินของทั้ง 88 แผนกคัดแยกแผนกที่แข็งแกร่งกับอ่อนแอออกจากกัน และก็พบว่ากลุ่มธุรกิจถึง 1 ใน 3 ส่วนเต็มๆ นั้นกำลังขาดทุน ไม่ใช่แค่ทีวีเท่านั้น แต่ผลิตภัณฑ์อันขึ้นชื่อหลายอย่างของบริษัทก็กำลังเผชิญภาวะวิกฤตเช่นกัน Tsuga และ Homma เดินทางเข้าเยี่ยมชมหน่วยธุรกิจทุกหน่วย ผู้บริหารหน่วยที่กำลังขาดทุนอยู่นั้นได้รับคำสั่งเดียวเลยคือ ‘ปรับปรุงซะ’ Tsuga มักจะเปิดเผยสถานะทางการเงินของทุกแผนกอยู่เสมอ เพื่อให้ผู้บริหารแผนกนั้นๆ ได้เปรียบเทียบการทำงานของตนเองกับผู้บริหารแผนกคนอื่น “ทำอย่างนี้กันทุกไตรมาสดูเลยว่าใครกำลังทำกำไร ใครกำลังขาดทุน” Homma กล่าว “ผมคิดว่ามันเป็นวิธีอบรมวินัยทางการเงินกันอย่างเข้มข้นเลยละ” Tsuga ยังคงมีงานต้องทำอีกมากมาย แม้ว่าบริษัทจะเริ่มกลับมามีกำไรแล้ว แต่ก็ไม่มีการขยายตัว Panasonic รายงานกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 8% ในปีงบประมาณที่ผ่านมา แต่ยอดขายกลับหดตัว 2% ลงมาแตะ 7.55 ล้านล้านเยน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาและการลดขนาดองค์กรลงอย่างต่อเนื่อง เดือนมีนาคมที่ผ่านมานี้ เขายอมรับว่า บริษัทจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายรายได้ 10 ล้านล้านเยนได้ภายในปีงบประมาณ 2019 นี้ Jang จาก Fitch บอกว่า Panasonic กำลังอยู่ในช่วง “หัวเลี้ยวหัวต่อ พวกเขาพลิกสถานการณ์ธุรกิจแล้วก็จริง แต่เรายังต้องรอดูต่อไปว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับบริษัทแห่งนี้” ขณะเดียวกัน วิธีการบริหารงานแบบเปิดใจของ Tsuga เปิดโอกาสให้ฝ่ายบริหารได้ลองเสนอแนวทางใหม่ๆ เพื่อการปรับปรุงและพัฒนา “เหมือนกับบริษัทอื่นในญี่ปุ่นนั่นแหละครับ การเปิดใจแสดงความเห็นก็ไม่ได้จะทำกันง่ายๆ” Enokido ผู้บริหารรายหนึ่งของบริษัทกล่าว “แต่ Mr. Tsuga สร้างบรรยากาศให้เราสามารถพูดออกมาได้ตรงๆ ไม่มีเรื่องห้ามพูดอีกต่อไปแล้ว” Tsuga นำทาง Panasonic มาไกลแล้วก็จริง แต่เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงนำไปสู่ความสำเร็จได้นั้น การเดินทางต่อไปจะยังไม่หยุดเพียงเท่านี้ บรรดาผู้บริหารของเขาเชื่อมั่นเหลือเกินว่า เขาจะทำแน่ๆ “เรากำลังมุ่งหน้าสู่ปลายทางที่เราจะต้องไป แต่เรายังไปไม่ถึง” Taylor ประธานเจ้าหน้าที่บริหารในสหรัฐฯ กล่าว “ผมขอบอกว่า ภารกิจของเขายังไม่เสร็จครับ”
คลิ๊กอ่านการจัดอันดับ "ภารกิจกอบกู้ PANASONIC" ฉบับเต็ม ได้ที่ Fobes Thailand Magazine ฉบับ AUGUST 2016