ผู้ประกอบการหญิงรุ่นใหม่แห่งทำเนียบ “30 Under 30 Asia 2021” - Forbes Thailand

ผู้ประกอบการหญิงรุ่นใหม่แห่งทำเนียบ “30 Under 30 Asia 2021”

ทำเนียบ 30 Under 30 Asia ประจำปี 2021 เผยรายชื่อผู้ประกอบการหญิงรุ่นใหม่ ผู้กล้าสร้างความเปลี่ยนแปลงตั้งแต่อายุยังน้อยจากธุรกิจค้าปลีกและสตาร์ทอัพอี-คอมเมิร์ซ

แม้การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อาจทำให้กิจกรรมหลายๆ อย่างหยุดชะงักไปบ้าง แต่ไม่ใช่กับการชอปปิ้งออนไลน์ ซึ่งจากการรายงาน “Recovery Insights:  Commerce E-volution” ของ MasterCard Economics Institute ระบุว่า การล็อกดาวน์ในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดได้นำไปสู่มูลค่าการใช้จ่ายในโลกออนไลน์ทั่วโลกที่เพิ่มสูงกว่า 9 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยในปีนี้ ผู้ประกอบการหญิงรุ่นใหม่หลายรายเลือกที่จะคว้าโอกาสสร้างความเติบโตในอุตสาหกรรมค้าปลีกและอี-คอมเมิร์ซอย่างค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากการจับกลุ่มความต้องการของลูกค้าเฉพาะกลุ่ม โดยอาศัยความเชี่ยวชาญและความริเริ่มสร้างสรรค์ ท่ามกลางข้อท้าทายต่างๆ ในยุคโควิด-19
30 Under 30 Asia
Natalie Khoei และ Shadi Kord ผู้ร่วมก่อตั้ง Meshki
เริ่มกันที่ Natalie Khoei และ Shadi Kord สองสาวชาวออสซี่ที่รู้จักกันในปี 2012 ขณะเข้าศึกษาระดับปริญญาตรีที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย New South Wales และค้นพบว่าทั้งคู่ต่างมีความหลงใหลในแฟชั่น ในปีต่อมาจึงร่วมกันก่อตั้ง Meshki ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซขนาดย่อมเพื่อจัดจำหน่ายเครื่องประดับ โดยเริ่มจากเงินลงทุนคนละ 155 เหรียญ  ด้วยอานิสงส์ของผู้ติดตามในอินสตาแกรมส่วนตัวของทั้งคู่ จึงทำให้ธุรกิจดำเนินไปได้อย่างดี จนสามารถต่อยอดไปสู่การออกแบบ ผลิต และจัดจำหน่ายไลน์สินค้าด้วยตนเองในปี 2015 “เราตระหนักว่าในตลาดยังคงมีช่องว่างสำหรับสินค้าที่มีทั้งความเป็นเอกลักษณ์ ความหรูหรา แต่สามารถเข้าถึงคนจำนวนมาก” Khoei กล่าว Meshki ในภาษาเปอร์เซีย หมายถึง สีดำ ซึ่งในที่นี้หมายถึงมรดกร่วมกันของผู้ร่วมก่อตั้งทั้งสอง โดยปัจจุบันได้กลายเป็นธุรกิจอี-คอมเมิร์ซที่มีลูกค้ากว่า 750,000 รายทั่วโลก และมีพนักงาน 50 คน มากกว่านั้น ด้วยการออกแบบที่ทันสมัยและโดดเด่นจึงไม่น่าแปลกใจที่จะได้รับความสนใจจากเซเลบริตี้ชื่อดังอย่าง Ariana Grande และ Jennifer Lopez รวมถึงเหล่าอินฟลูอินเซอร์บนโซเชียลมีเดียจำนวนมาก ซึ่งเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นว่า การทำการตลาดบนสื่อสังคมออนไลน์อย่างอินสตาแกรมสามารถสร้างยอดขายให้กับ Meshi ราวร้อยละ 50 ด้วยจำนวนผู้ติดตามอยู่ที่ 2 ล้านราย
30 Under 30 Asia
Priscilla Hijiantoni ผู้ก่อตั้ง Bangn Body
ด้าน Priscilla Hijiantoni วัย 27 ปี ก่อตั้ง Bangn Body แบรนด์สกินแคร์ใน Melbourne ปี 2019 ซึ่งได้รับกระแสตอบรับดีมากจากผลิตภัณฑ์โลชั่นกระชับผิวอเนกประสงค์ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “หลอดสีเหลืองแห่งความดี” ที่สกัดมาจากส่วนผสมทางธรรมชาติในรูปบรรจุภัณฑ์สีเหลืองโดดเด่น และไม่นานหลังจากนั้น สตาร์ทอัพแห่งนี้ก็ได้ต่อยอดไปสู่การผลิตลิปบาล์มและสครับผิว ทั้งยังสร้างรายได้กว่า 8 ล้านเหรียญในช่วง 2 ปีแรก
30 Under 30 Asia
Jade Spooner และ Amal Waka ผู้ร่วมก่อตั้ง Equalution
ในทำนองเดียวกัน อาหารและโภชนาการก็นับเป็นอีกด้านหนึ่งที่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ต่างหันมาให้ความสนใจ ดังเช่น Jade Spooner และ Amal Wakal เพื่อนรักผู้ร่วมก่อตั้ง Equalution ธุรกิจโภชนาการอาหารใน Sydney เมื่อปี 2016 หลังจากที่พวกเธอสามารถลดน้ำหนักร่วมกันกว่า 50 กิโลกรัมจากการคุมอาหารด้วยวิธีการที่ยืดหยุ่น ซึ่งในที่สุดได้กลายมาเป็นโปรแกรมมื้ออาหารเฉพาะบุคคล ที่รวมอาหารที่ทั้งดีต่อสุขภาพและเป็นที่โปรดปราน พร้อมกับแอปพลิเคชันคำนวณสารอาหารที่ได้รับต่อวัน ล่าสุด Equalution ครองอันดับที่ 14 จาก 50 บริษัทออสเตรียที่มีรายได้เติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาจากการจัดอันดับของ Deloitte Technology Fast 50 Australia ประจำปี 2020 การเติบโตของแบรนด์สัญชาติอินโดนีเซีย อินโดนีเซีย ประเทศที่มีประชากรมากกว่า 270 ล้านราย เป็นหนึ่งในตลาดค้าปลีกและอี-คอมเมิร์ซที่เติบโตเร็วที่สุดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งในที่นี้ Jennifer Heryanto เลือกคว้าโอกาสจากอุปสงค์ในผลิตภัณฑ์ที่ทำจากทองคำในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น ก่อตั้ง SKK Jewels หนึ่งในแบรนด์เครื่องประดับทองคำที่เติบโตเร็วที่สุดในอินโดนีเซีย
30 Under 30 Asia
Jennifer Heryanto ผู้ก่อตั้ง SKK Jewels
ปัจจุบัน บริษัทได้ก้าวสู่การเป็นผู้นำในการผลิตและพัฒนาสินค้าประเภททองคำ โดยมีพนักงานมากกว่า 250 ราย พร้อมกับการบริหารแบรนด์ในเครืออย่าง Hala Gold และ Sandra Dewi Gold  ไม่เพียงเท่านี้ Heryanto ยังเป็นผู้ก่อตั้ง The Wisemen & Company บริษัทบริหารจัดการแบรนด์ ที่เชี่ยวชาญในด้านสินค้าอุปโภคบริโภค ความงาม ความหรูหรา และไลฟ์สไตล์เช่นกัน ด้วยความมุ่งมั่นที่จะจัดหาเสื้อผ้าแฟชั่นราคาไม่แพงและสวมใส่สบาย Stefanie Tan ผู้จบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านศิลปศาสตร์จาก Singapore's Raffles Design Institute ก่อตั้ง Jolie Clothing ที่ Jakarta ในปี 2014 โดยคำนึงถึงการสวมใส่ในชีวิตประจำวันและเหมาะกับทุกรูปร่าง ขณะที่ Deca Group ของ Jessica Lin เป็นที่รู้จักในแบรนด์ Everwhite ที่เธอร่วมก่อตั้งขึ้นในปี 2016 หลังจากประสบปัญหาด้านผิวหนัง จนต้องมองหาผลิตภัณฑ์เพื่อผิวกระจ่างใสในราคาที่จับต้องได้ ซึ่งในที่สุดสตาร์ทอัพจากอินโดนีเซียแห่งนี้ก็ได้ขยายไปสู่ทรีทเมนต์รักษาสิวและเซรั่มต่อต้านริ้วรอย ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัยของผู้หญิง  ในช่วงที่ผ่านมา ผู้ประกอบการจำนวนมากในเอเชียได้หันมาให้ความสนใจกับผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัยของผู้หญิง อย่าง Hyeeun Bu และ Dojin Kim ที่ได้ร่วมกันก่อตั้ง Happy Moonday ผู้ผลิตแผ่นอนามัยจากฝ้ายออร์แกนิคในบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมไปกับการบริการจัดส่งให้กับผู้สมัครสมาชิกแต่ละคนในช่วงมีประจำเดือน ทั้งนี้ Bu และ Kim เริ่มก่อตั้งสตาร์ทอัพขึ้นในปี 2017 หลังจากเกิดประเด็นโต้แย้งในเกาหลีใต้ ที่ว่าด้วยการความเป็นไปได้ในการพบสารเคมีอันตรายในผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัย  ล่าสุด ในเดือนสิงหาคม 2020 Olive Young เชนความงามของเกาหลีใต้ได้เริ่มจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ตัวดังกล่าว  ขณะที่ทางบริษัทก็สามารถระดมทุนเป็นมูลค่ากว่า 2 ล้านเหรียญจากรัฐบาลและเอกชน เพื่อนำมาใช้ต่อยอดธุรกิจ
30 Under 30 Asia
Olivia Cotes-James ผู้ก่อตั้ง LUUNA
ด้าน Olivia Cotes-James ชาวนิวซีแลนด์ที่พำนักอยู่ในฮ่องกงก็เช่นกัน เธอก่อตั้ง LUUNA ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดช่วงมีประจำเดือน เช่น แผ่นรองปลอดสารพิษ ผ้าซับใน และถ้วยประจำเดือน พร้อมกับการจัดสัมมนาทางออนไลน์และเวิร์กช็อป เพื่อให้คำแนะนำด้านการดูแลสุขอนามัยของผู้หญิง และช่วยลดความเชื่อที่ผิดๆ เกี่ยวกับการมีประจำเดือนของคนเอเชีย “พันธกิจของเรา คือ การปรับทัศนคติใหม่เกี่ยวกับการมีประจำเดือนในคนเอเชีย เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและสิ่งแวดล้อมในเชิงบวก” Cotes-Jones ผู้ได้รับรางวัลนักธุรกิจรุ่นใหม่แห่งปีจากสมาคม International Professional Women's Society ใน Shianghai กล่าว แปลและเรียบเรียงจากบทความ 30 Under 30 Asia: The Female Entrepreneurs Leading Asia-Pacific’s Promising Retail And E-Commerce Startups เผยแพร่บน Forbes.com อ่านเพิ่มเติม: กลุ่มวัยรุ่นที่เด็กสุดแห่งทำเนียบ “30 Under 30 Asia 2021”

TAGGED ON