ติดปีกโฉบลงใต้ แกะรอยนโยบาย New Southbound ของไต้หวัน - Forbes Thailand

ติดปีกโฉบลงใต้ แกะรอยนโยบาย New Southbound ของไต้หวัน

FORBES THAILAND / ADMIN
18 Dec 2017 | 04:37 PM
READ 10507

นโยบายธุรกิจแบบฉบับผู้ประกอบการที่รุกตลาดเอเชียเกิดใหม่ของไต้หวันทำให้ความสัมพันธ์กับจีนตึงเครียด

ระหว่างที่ Christopher Cua มาเยี่ยมเยือนไต้หวัน เขาสังเกตเห็นได้ว่าชาไข่มุกนั้นเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมประจำเกาะนี้ Cua เป็นคนฟิลิปปินส์เชื้อสายไต้หวันที่อาศัยอยู่ในเขต Metro Manila ผู้คนที่นั่นชื่นชอบเครื่องดื่มคาเฟอีนที่มีรสหวาน อยู่แล้ว แต่กระแสชานมไข่มุกสไตล์ไต้หวันยังไม่มีจำหน่าย เขาจึงเปิดร้านแฟรนไชส์ Chatime สาขาแรกขึ้นใน Manila เมืองหลวงของประเทศฟิลิปปินส์ในปี 2011 ปัจจุบัน Chatime มีสาขาไม่น้อยกว่า 40 แห่งใน Metro Manila Cua เล่าถึงที่มาธุรกิจว่า “ชานมเป็นตัวเลือกที่ผมไม่ต้องใช้เวลาพิจารณานาน ผมเดินทางไปไต้หวันบ่อย และคิดอยู่ตลอดเวลาเลยว่า ‘คนฟิลิปปินส์จะต้องชอบชานมแบบนี้อย่างแน่นอน’” ไต้หวัน นโยบายเศรษกิจ ร้านชาไข่มุก ร้านชา Chatime ที่ Christoper Cua ซื้อแฟรนไชส์จากบริษัทไต้หวัน La Kaffa เข้าไปเปิดที่ฟิลิปปินส์ ถือเป็นต้นแบบการรุกลงทุนในอาเซียนของรัฐบาลไต้หวัน ความคิดเห็นดังกล่าวของ Cua สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของ La Kaffa บริษัทสัญชาติไต้หวันเจ้าของแบรนด์ Chatime ในปี 2016 La Kaffa ซึ่งมีรายได้ 65 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีร้านสาขาเกือบ 400 แห่งใน 9 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นไปตามกลยุทธ์การบุกตลาดโลกของบริษัท Henry Wang ประธานบริษัท La Kaffa กล่าวว่า “วัฒนธรรมการดื่มชาได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และปริมาณการบริโภคก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผู้คนในประเทศแถบนี้เปิดรับวัฒนธรรมจากภายนอกเป็นอย่างดี” รูปแบบการดำเนินธุรกิจของ Chatime ในภูมิภาคที่มีประชากร 630 ล้านคนนี้เป็นต้นแบบของนโยบายของรัฐบาลไต้หวัน ในเดือนตุลาคม 2016 รัฐบาลภายใต้การนำทัพของประธานาธิบดี Tsai Ing-wen ได้นำนโยบายขับเคลื่อนกองทัพนักลงทุนไต้หวันบุกเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อลดการพึ่งพาประเทศจีนมาปัดฝุ่นใหม่ Tsai เรียกนโยบายนี้ว่า New Southbound Policy ทว่า การที่ Tsai ไม่ยอมรับนโยบาย “จีนเดียว” ของรัฐบาลจีนสร้างความไม่พอใจให้กับจีน และจีนก็พยายามกีดกันความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไต้หวันกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก ไต้หวัน นโยบายเศรษกิจ ไช่อิงเหวิน Tsai Ing-wen ประธานาธิบดีไต้หวันผู้แข็งข้อกับจีน และผู้นำนโยบาย New Southbound ขึ้นมาปัดฝุ่นใหม่ หน่วยงานส่งเสริมการลงทุนที่มีรัฐบาลไต้หวันเป็นผู้สนับสนุนได้ตั้งธงให้ Chatime ใน Manila เป็นต้นแบบของบริษัทไต้หวันในการเจาะตลาดนอกประเทศจีนและเติมเต็มความต้องการของผู้บริโภคในตลาดนั้นๆ โดยฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งใน 18 ประเทศเป้าหมายตามนโยบาย New Southbound Policy (18 ประเทศดังกล่าว ได้แก่ ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บังคลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เนปาล ปากีสถาน ศรีลังกา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) และนอกจากการลงทุนทางตรงแล้ว นโยบายดังกล่าวยังครอบคลุมการท่องเที่ยว ภาคแรงงาน และการรับสมัครนักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยอีกด้วย   ผลที่เกิดขึ้นหลังนโยบาย New Southbound คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของไต้หวันรายงานว่ามูลค่าการค้ากับประเทศในกลุ่ม New Southbound คิดเป็น 19% ของมูลค่าการค้าของไต้หวันทั้งหมด และการขอรับการส่งเสริมการลงทุนที่ผ่านการอนุมัติแล้วจากประเทศในกลุ่มดังกล่าวก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ทดแทนการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในประเทศจีนที่เคยเป็นมาตลอด (อย่างไรก็ตาม นักลงทุนไต้หวันมีการตั้งฐานผลิตในจีนลดลงอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนมีนโยบายนี้ เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่จีนเริ่มขยับสูงขึ้น) รายงานจาก Taiwan Tourism Bureau ระบุว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจากประเทศในกลุ่ม New Southbound เพิ่มขึ้น 29% ในช่วง ต.ค. 2016 – มี.ค. 2017 ในขณะที่จำนวนคณะนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาเยือนไต้หวันในปี 2016 มีจำนวนลดลง 30% สำหรับจำนวนนักศึกษาระดับอุดมศึกษาในไต้หวันที่มาจากประเทศกลุ่ม New Southbound เพิ่มขึ้น 10% ในช่วง 6 เดือนหลังเริ่มต้นนโยบาย ส่วนจำนวนนักศึกษาในหลักสูตรอนุปริญญาจากประเทศจีนในปีการศึกษาปัจจุบันลดลง 4% เนื่องจากจีนพยายามกีดกันไม่ให้นักศึกษาและนักท่องเที่ยวเดินทางมาไต้หวัน เพื่อเป็นการตอบโต้ต่อนโยบาย New Southbound   ไต้หวันผูกสัมพันธ์อาเซียน ปัจจุบัน นโยบาย New Southbound Policy เปิดโอกาสให้ไต้หวันสามารถตั้งสำนักงานส่งเสริมการส่งออกในประเทศกลุ่ม New Southbound ที่เป็นประเทศเป้าหมายได้ มะนิลา ฟิลิปปินส์ ฟิลิปปินส์เป็นประเทศหนึ่งในนโยบาย New Southbound ของไต้หวันที่เปิดกว้างต่อการลงทุน และอีกหลายประเทศเล็งเห็นโอกาสที่จะได้จากการลงทุนของไต้หวัน แม้ต้องระมัดระวังความสัมพันธ์กับจีน ไต้หวันได้รื้อฟื้นข้อตกลงความร่วมมือทางด้านเกษตรกรรมกับอินโดนีเซีย และเริ่มต้นการเจรจาข้อตกลงแบบเดียวกันกับอินเดีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ไต้หวันมีความร่วมมือการค้าเสรีกับประเทศเพียงสองประเทศในกลุ่ม New Southbound ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 18 ประเทศ เพราะตามปกติแล้วจีนห้ามไม่ให้ทำข้อตกลงดังกล่าวอย่างเป็นทางการ ทั้งๆ ที่ความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการจะสร้างความไม่พอใจให้กับจีน แต่หลายประเทศก็ยังคงมองเห็นโอกาสทองในการสร้างความสัมพันธ์กับไต้หวัน ในประเทศฟิลิปปินส์ นักลงทุนไต้หวันไม่เพียงแต่สามารถรุกธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มได้อย่างง่ายดายเท่านั้น แต่ยังสามารถตั้งโรงงานผลิตเพื่อส่งออกไปยังสหภาพยุโรปได้อีกด้วย โดยนักลงทุนที่มาตั้งโรงงานที่นี่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีศุลกากรที่ฟิลิปปินส์ได้รับจากสหภาพยุโรปไปพร้อมกันด้วย นอกจากนี้ ไต้หวันยังมีความพยายามที่จะลงนามในข้อตกลงระหว่างไต้หวันกับยุโรป หรือเข้าร่วมในเขตการค้า Trans-Pacific Partnership ซึ่งเปิดการเจรจากันใหม่ภายในกลุ่มประเทศ Pacific Rim 11 ประเทศ ภายหลังจากที่สหรัฐฯ ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมทำข้อตกลงดังกล่าวในเดือนมกราคม ไต้หวัน นโยบายเศรษกิจ จีน ไต้หวันยังรุกภาคการท่องเที่ยวด้วยนโยบายยกเว้นวีซ่าให้นักท่องเที่ยวจากบรูไนและไทย ในเชิงการท่องเที่ยว ทางการไต้หวันได้ยกเว้นวีซ่าให้กับนักเดินทางจากบรูไนและประเทศไทย และกำลังพิจารณาว่าจะอนุญาตให้แรงงานจากอินโดนีเซียซึ่งเป็นแหล่งแรงงานต่างชาติที่มีจำนวนมากที่สุดในไต้หวัน (240,000 คนในปัจจุบัน) เดินทางเข้าประเทศได้เพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการบางรายมีความกังวลว่ากลุ่มประเทศ New Southbound อาจจะไม่เข้มแข็งพอที่จะเป็นตลาดหรือซัพพลายเชนสำหรับผลผลิตหลักๆ อย่างเช่นเครื่องจักรได้ ตัวอย่างเช่น อินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อว่าการเจาะตลาดภายในประเทศนี้ทำได้ยากมาก ถ้าหากไม่มีหุ้นส่วนที่เป็นคนท้องถิ่น ในขณะเดียวกันพันธมิตรผู้จงรักภักดีของจีนอย่างเช่นกัมพูชาซึ่งเป็นประเทศที่เศรษฐกิจมีการเติบโตในอัตราสูงก็ถูกกีดกันไม่ให้ทำข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับไต้หวันอีกด้วย   อาเซียนเปิดใจกว้าง อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภควัยหนุ่มสาวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างก็เปิดรับแบรนด์สินค้าใหม่ๆ ได้ ยกตัวอย่างเช่น Chatime ที่ประเทศฟิลิปปินส์ Cua กล่าวว่า “สาขาที่มียอดขายสูงคือสาขาที่ขายดีในวันจันทร์ถึงวันศุกร์” ในขณะที่ร้านสาขาดั้งเดิมใน Metro Manila มียอดขายอยู่ที่ 200 แก้วในปี 2011 แต่ปัจจุบันมีร้านหลายสาขาที่มียอดขายเฉลี่ยอยู่ที่ 800-1,000 แก้วต่อวัน และนอกจาก Chatime จาก La Kaffa แล้วยังมีร้านชานมไข่มุกไต้หวันอีก 4 แบรนด์ที่เข้ามาทำตลาดในฟิลิปปินส์ การผลักดันในรูปแบบที่เป็นทางการโดยรัฐบาลไต้หวันเป็นเพียงการตอกย้ำถึงโอกาสที่ผู้เข้าไปลงทุนในต่างประเทศก่อนหน้านี้มองเห็น รายงานของ McKinsey ในปี 2014 ระบุว่า ถ้าหากว่าครัวเรือนชนชั้นกลางในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีจำนวนเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวเป็น 120 ล้านครัวเรือนนับตั้งแต่ปี 2010 จนถึงปี 2025 แล้ว ส่วนแบ่งการตลาดของ La Kaffa ในภูมิภาคนี้ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 15% ก็จะสามารถเติบโตได้ Wang ประธานบริษัท La Kaffa กล่าวว่า “ความสามารถในการบริโภคของผู้คนในภูมิภาคนี้น่าทึ่งมาก”   เรื่อง: Ralph Jennings เรียบเรียง: ริศา
คลิกเพื่ออ่าน "ไต้หวันติดปีกโฉบลงใต้" ฉบับเต็ม จาก Forbes Thailand เดือนพฤศจิกายน 2560 ในรูปแบบ e-Magazine