นักธุรกิจหญิงแกร่งแห่งเอเชีย ประจำปี 2021 - Forbes Thailand

นักธุรกิจหญิงแกร่งแห่งเอเชีย ประจำปี 2021

FORBES THAILAND / ADMIN
02 Nov 2021 | 05:30 PM
READ 3011

20 นักธุรกิจหญิงแกร่งแห่งเอเชียจากทำเนียบ Asia’s Power Business Women ประจำปี 2021 ที่นำธุรกิจปรับตัวและเติบโตท่ามกลางความท้าทายจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ปะทุขึ้นมาเป็นระยะเวลากว่า 2 ปี 

ผู้ติดโผรายชื่อในปีนี้มีอายุระหว่าง 30 ถึง 70 ปี และเป็นผู้นำในหลากหลายอุตสาหกรรมทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตั้งแต่การธนาคารและไพรเวทอิควิตี้ไปจนถึงสายงานการผลิต การดูแลสุขภาพ และเทคโนโลยี ทว่าต่างนำพาธุรกิจก้าวไปสู่ความสำเร็จครั้งใหม่ในช่วงโควิด-19  พบไฮไลท์ 7 นักธุรกิจหญิงแกร่งแห่งเอเชีย ประจำปี 2021 ซึ่งเพิ่งก้าวเข้าสู่ทำเนียบในปีนี้เป็นครั้งแรก และได้รับเลือกจากความสำเร็จในการจัดการธุรกิจที่มีรายได้สูงหรือธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีมูลค่ามากกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ  Marina Budiman  ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานกรรมธิการ IDC Indonesia  วัย: 60 ปี ประเทศ: อินโดนีเซีย Budiman เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและประธานกรรมาธิการของ DCI Indonesia ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการศูนย์ข้อมูลที่ใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย โดยมีส่วนแบ่งการตลาดมากกว่าร้อยละ 50 นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์ข้อมูลระดับ Tier IV แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งได้รับคะแนนความน่าเชื่อถือและความยืดหยุ่นสูงที่สุดในอุตสาหกรรม  อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นักลงทุนประทับใจคือหุ้นของ DCI ที่เพิ่มสูงขึ้นราว 11,000 เปอร์เซ็นต์ นับตั้งแต่เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ในเดือนมกราคม ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับแรงหนุนจากการที่มหาเศรษฐี Antoni Salim เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทจากร้อยละ 3 เป็นร้อยละ 11 ในเดือนพฤษภาคม ทั้งนี้ DCI เป็นบริษัทมหาชนที่มีมูลค่ามากที่สุดบริษัทหนึ่งอยู่ที่ประมาณ 7 พันล้านเหรียญในปัจจุบัน “คุณจะไม่มีทางเบื่อภาคเทคโนโลยี” Budiman กล่าว “การเปลี่ยนแปลงจะคงที่ แต่นวัตกรรมมีแต่จะเร็วขึ้นและเร็วขึ้น”  Budiman เผยว่า ตอนแรกเธอต้องการเป็นนายธนาคาร หลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านการเงินและเศรษฐศาสตร์จาก University of Toronto จากนั้นจึงได้งานที่ Bank Bali ขณะอยู่ที่นั่น เธอเข้าร่วมโครงการของทางธนาคารเพื่อติดตั้งซอฟต์แวร์ในปี 1985 “นั่นเป็นครั้งแรกที่ฉันได้รู้ว่าเทคโนโลยีช่วยธุรกิจได้อย่างไร” เธอกล่าว และในที่สุดเธอก็ได้ก่อตั้ง DCI ในปี 2011 ร่วมกับพาร์ตเนอร์ 6 ราย ด้วยการเติบโตอย่างรวดเร็วของกระแสดิจิทัลในอินโดนีเซีย ได้ส่งผลให้บริษัทมีรายได้และกำไรเพิ่มขึ้นร้อยละ 81 และ 57 ตามลำดับในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ขณะที่บัญชีรายชื่อลูกค้าประกอบด้วยบริษัทโทรคมนาคม 44 แห่ง บริษัทการเงิน 134 แห่ง และบริษัทอี-คอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ปัจจุบัน สัดส่วนการถือหุ้นของ Budiman ในบริษัทมีมูลค่ากว่า 1 พันล้านเหรียญ  Cao Xiaochun ประธาน Hangzhou Tigermed Consulting วัย: 52 ปี จีน Cao ร่วมก่อตั้งบริษัทการแพทย์ Hangzhou Tigermed Consulting ในปี 2004 กับ Ye Xiaoping ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงและเซินเจิ้น และเติบโตขึ้นจนกลายเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการด้านการวิจัยและการทดลองทางคลินิกรายใหญ่ที่สุดของจีน โดยมีบริษัทมีมูลค่า ณ ราคาตลาด 2.3 หมื่นล้านเหรียญ ขณะที่ Cao มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 1.6 พันล้านเหรียญ ณ สิ้นเดือนตุลาคม  Cao ในฐานะผู้ดูแลการจัดการกิจการรายวันในบริษัท เผยว่า ธุรกิจกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นเนื่องจากบริษัทยาทั่วโลกเพิ่มการลงทุนเพื่อค้นหาและพัฒนาตัวยาใหม่ ๆ รวมถึงวัคซีนโควิด-19 ส่งผลให้รายรับในไตรมาสที่ 3 เพิ่มขึ้นร้อยละ 58 จากปีที่แล้วสู่ 1.3 พันล้านหยวน (210 ล้านเหรียญ) ในขณะที่กำไรสุทธิในส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 65 เป็น 526 ล้านหยวน  ปัจจุบัน บริษัทจัดจ้างพนักงานใน 48 ประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา และได้ทำการทดลองทางคลินิกไปแล้วกว่า 490 ครั้งในด้านต่างๆ ณ วันที่ 30 มิถุนายน เช่น เนื้องอกวิทยาและวัคซีน และในเดือนกรกฎาคม บริษัทได้บริจาคเงิน 9.8 พันล้านหยวน เพื่อร่วมเปิดตัว ‘โครงการกองทุน 20 พันล้านหยวน’ กับรัฐบาลเมือง Hangzhou (ซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัท) เพื่อลงทุนในสตาร์ทอัพสายสุขภาพ  Keiko Erika ประธาน Koei Tecmo  วัย: 72 ปี ประเทศ: ญี่ปุ่น Erikawa และสามี Yoichi ซึ่งดำรงตำแหน่งซีอีโอก่อตั้ง Koei Tecmo ซึ่งก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในบริษัทผู้พัฒนาวิดีโอเกมรายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นตลอด 4 ทศวรรษที่ผ่านมา  ปัจจุบัน บริษัทจดทะเบียนแห่งนี้มีมูลค่า ณ ราคาตลาด 8.5 พันล้านเหรียญ และสร้างกำไรสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ 11 ปีติดต่อกัน ด้วยรายได้ 262 ล้านเหรียญจากยอดขาย 534 ล้านเหรียญสำหรับปีงบการเงินสิ้นสุดในเดือนมีนาคม ขณะที่อัตรากำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่ร้อยละ 40 เหนือคู่แข่ง เช่น Electronic Arts (ร้อยละ 19) และ Nintendo (ร้อยละ 36)  ในอีก 3 ปีข้างหน้า บริษัทตั้งเป้าว่าจะมีรายรับ 796 ล้านเหรียญและกำไรจากการดำเนินงาน 266 ล้านเหรียญ จากการพัฒนาเกมคอนโซลและเกมมือถือใหม่อย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการผนึกกำลังร่วมมือกับบริษัทอื่นๆ ทั้งนี้ Koei Tecmo ได้ออกใบอนุญาตในทรัพย์สินทางปัญญามาตั้งแต่ปี 2017 ซึ่งกำลังจะกลายเป็นส่วนสำคัญของธุรกิจ ยกตัวอย่างเช่น Lingxi Interactive ของจีน ซึ่งเป็นบริษัทเกมที่เป็นส่วนหนึ่งของ Alibaba ได้พัฒนาเกมมือถือยอดนิยมโดยอิงจากเกม Romance of the Three Kingdoms ที่ขายดีที่สุดของ Koei Tecmo  นอกจากนี้ในเดือนมิถุนายน Erikawa ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการจากภายนอก และเป็นผู้หญิงคนเดียวในคณะกรรมการของ SoftBank Group ซึ่งคาดว่าเธออาจสามารถนำความรู้ด้านการลงทุนไปประยุกต์ใช้ที่นั่นได้ หลังจากที่สามารถจัดการทรัพย์สินมูลค่า 1.1 พันล้านเหรียญของ Koei Tecmo ในญี่ปุ่น ฮ่องกง และสหรัฐอเมริกาจนประสบความสำเร็จ  Meena Ganesh ผู้ร่วมก่อตั้งและประธาน Portea Medical  วัย: 58 ปี ประเทศ: อินเดีย  ผู้ร่วมก่อตั้ง Portea Medical บริษัทดูแลสุขภาพที่บ้านที่ใหญ่ที่สุดของอินเดีย (ด้านรายได้) เข้ารับตำแหน่งประธานในเดือนสิงหาคม ซึ่งก่อนหน้านี้เธอเคยมีประสบการณ์ด้านการบริหารบริษัทอายุ 8 ขวบใน Bangalore ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการและซีอีโอ  ด้วยเหตุนี้เธอจึงมีงานยุ่งตลอดทั้งปีในการประสานงาน การวินิจฉัย การปรึกษาทางไกล การไปพบแพทย์ และการรักษาพยาบาลที่บ้านของผู้ป่วย เป็นผลให้รายรับซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 เป็น 1.8 พันล้านรูปี (25 ล้านเหรียญ) สำหรับปีงบการเงินสิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2022 และขณะนี้บริษัท กำลังเตรียมจะขยายการดำเนินงานเป็น 50 เมืองจาก 22 เมืองภายในกลางปีหน้า “การระบาดใหญ่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวิธีที่รัฐบาลและหน่วยงานกำกับดูแลบริหารจัดการธุรกิจการดูแลสุขภาพที่บ้าน” เธอกล่าว โดยในปีที่ผ่านมา Portea ซึ่งทำงานร่วมกับโรงพยาบาล 70 แห่งและเครือข่ายการวินิจฉัยระดับประเทศ 6 แห่ง ได้ร่วมมือกับ 6 รัฐในอินเดีย เพื่อเข้าถึงผู้ป่วยโควิด-19 เกือบ 400,000 และติดตามทางโทรศัพท์เกือบ 4 ล้านครั้งพร้อมให้คำปรึกษาทางไกลจากแพทย์สำหรับผู้ป่วยทุกคน นักธุรกิจหญิงแกร่งแห่งเอเชีย 2021 Eiko Hashiba ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ VisaQ วัย: 43 ปี ประเทศ: ญี่ปุ่น ในปี 2001 Hashiba นักศึกษาจบใหม่ที่ได้รับปริญญาเศรษฐศาสตร์จาก University of Tokyo ได้งานวาณิชธนกิจที่ Goldman Sachs Japan ทว่าเพียง 1 ปีต่อมา เธอในวัย 23 ปี ได้ตัดสินใจลาออกเพื่อดูแลบุตรที่เพิ่งเกิด ซึ่งทำให้เธอเกิดความสงสัยว่า ทำไมเหตุการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตจึงต้องแลกมากับการหยุดประกอบอาชีพของตน คำถามเกี่ยวกับความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานนั้นส่งผลต่อการก่อตั้ง VisasQ ในปี 2012 ของเธอ ซึ่งขนานนามตัวเองว่าเป็น “แพลตฟอร์มการแบ่งปันความรู้ระดับมืออาชีพ” ที่จับคู่ผู้เชี่ยวชาญอิสระจากทั่วโลกสำหรับงานชั่วคราวจากบริษัทต่างๆ ตั้งแต่คำแนะนำ 1 ชั่วโมงไปจนถึงการให้คำปรึกษาสำหรับโครงการใหญ่ๆ "ความสามารถในการทำงานต่อไปโดยไม่คำนึงถึงช่วงชีวิตของบุคคลนั้นเป็นแรงผลักดันในวิสัยทัศน์ของ VisasQ ในการเชื่อมโยงความรู้ ซึ่งก้าวไปไกลกว่าองค์กร ช่วยอายุและภูมิศาสตร์" Hashiba กล่าวทางอีเมล ในปี 2020 มูลค่าหุ้นของ VisaQ ปรับตัวสูงขึ้นกว่า 4 เท่าจนบริษัทมีมูลค่า ณ ราคาตลาดอยู่ที่ 471 ล้านเหรียญ ขณะที่สัดส่วนการถือหุ้นของ Hashiba มีมูลค่ามากกว่า 240 ล้านเหรียญ  ล่าสุด ในเดือนสิงหาคม VisasQ ประกาศว่าจะซื้อกิจการ Coleman Research Group บริษัทเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญในสหรัฐฯ ที่มูลค่า 102 ล้านเหรียญ ซึ่งคาดว่าจะในเดือนพฤศจิกายน และจะมีส่วนช่วยเพิ่มปริมาณธุรกรรมของ VisaQ ขึ้นกว่า 3 เท่าเป็นเกือบ 9 พันล้านเยน จากจำนวนผู้เชี่ยวชาญที่เพิ่มมากขึ้นกว่า 260,000 รายใน 190 ประเทศ “การเป็นผู้หญิงไม่ได้หมายความว่าความสามารถของคุณมีขีดจำกัด” Hashiba กล่าว นักธุรกิจหญิงแกร่งแห่งเอเชีย 2021 Jo Horgan  ผู้ก่อตั้งและซีอีโอร่วม Mecca Brands ประเทศ: ออสเตรเลีย Horgan ก่อตั้ง Mecca Brands ร้านเครื่องสำอางมัลติแบรนด์ใน Melbourne ในปี 1997 กระทั่งปัจจุบันบริษัทได้ก้าวขึ้นเป็นผู้ค้าปลีกเครื่องสำอางรายใหญ่ที่สุดของออสเตรเลีย ด้วยยอดขายมูลค่า 3.2 พันล้านเหรียญจากการรายงานของนักวิจัย IBISWorld  Horgan ซึ่งเริ่มให้ความสนใจในธุรกิจความงามหลังจากทำงานด้านการจัดการโครงการที่ L’Oreal ได้ขยายเครือข่ายร้านค้าของ Mecca มากกว่า 100 แห่งทั่วออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ และจัดจำหน่ายแบรนด์ความงามเกือบ 200 แบรนด์ นอกเหนือจากผลิตภัณฑ์แต่งหน้าและสกินแคร์ของบริษัทเอง  บริษัทเครื่องสำอางแห่งนี้สามารถเพิ่มกำไรสุทธิกว่า 2 เท่าเป็น 17 ล้านเหรียญออสเตรเลีย (12 ล้านเหรียญ) ในปี 2019 จากปีก่อนหน้า ขณะที่รายรับที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 เป็น 538 ล้านเหรียญออสเตรเลียในปีงบการเงินล่าสุด  อย่างไรก็ดี แม้ว่ายอดขายของปีที่แล้วได้รับผลกระทบอย่างมากหลังจากร้านค้าในออสเตรเลียถูกบังคับให้ปิดตัวลงนานกว่า 1 เดือนเนื่องจากการระบาดใหญ่ แต่ Mecca ยังคงเดินหน้าเปิดร้านค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกำลังจะขยายเข้าสู่ประเทศจีนภายใต้ความร่วมมือกับ Tmall Global ของ Alibaba นักธุรกิจหญิงแกร่งแห่งเอเชีย Winnie Lee ผู้ร่วมก่อตั้งและซีโอโอ Appier วัย:  41 ปี ประเทศ: ไต้หวัน Lee เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของ Appier ซึ่งเป็นหนึ่งใน 2 สตาร์ทอัพยูนิคอร์นของไต้หวัน ซึ่งเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์โตเกียวในเดือนมีนาคม และระดมทุนได้ราว 3 หมื่นล้านเยน (270 ล้านเหรียญ)  Appier ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2012 และได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุนรายใหญ่อย่าง Sequoia Capital, SoftBank และ Temasek’s Pavilion Capital ให้บริการเครื่องมือซอฟต์แวร์ที่ขับเคลื่อนด้วยการเรียนรู้ของปัญญาประดิษฐ์ ที่ช่วยดูแลด้านการขายและการตลาด อาทิ การระบุลูกค้าที่มีแนวโน้มสูงสุดที่จะซื้อสินค้าซ้ำ ปัจจุบัน บริษัทมีลูกค้ามากกว่า 1,000 ราย เช่น DBS, Estee Lauder และ Toyota และมีรายรับสำหรับ 6 เดือนสิ้นสุด ณ วันที่ 30 มิถุนายนเพิ่มขึ้นร้อยละ 38 จากปีก่อนหน้าเป็น 52 ล้านเหรียญ ขณะที่มูลค่าการขาดทุนลดลงร้อยละ 10 เหลืออยู่ที่ 8 ล้านเหรียญ โดย Lee ได้มีส่วนช่วยในการพัฒนา Appier จากเดิมที่มีพนักงาน 5 รายเป็นมากกว่า 500 รายในสำนักงาน 17 แห่งในสิงคโปร์ ซิดนีย์ และโตเกียว และขณะนี้บริษัทกำลังขยายสู่ยุโรปและสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ ก่อนที่จะมาเป็นผู้ประกอบการ Lee ซึ่งจบปริญญาเอกด้านภูมิคุ้มกันวิทยาจาก Washington University และปริญญาโทด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพจาก Stanford University เคยเป็นนักเทคโนโลยีด้านการวิจัยที่ Boston Children’s Hospital  Lee ยกย่องความสำเร็จของเธอให้พ่อกับแม่ว่า “แม้ว่าฉันจะเลือกเปลี่ยนเส้นทางอาชีพจากงานวิชาการมาเป็นการเริ่มต้นบริษัท พวกเขายังคงยืนเคียงข้างฉัน โดยรู้ว่าฉันได้พิจารณาปัจจัยทั้งหมดแล้ว” เธอกล่าวทางอีเมล “ฉันรู้สึกมีความสุขที่ได้รับความรักและการสนับสนุนทั้งหมดของพวกเขา และฉันจะไม่มีทางเป็นอย่างที่ฉันเป็นทุกวันนี้หากไม่มีพวกเขา” แปลและเรียบเรียงจากบทความ Asia's Power Businesswomen 2021 เผยแพร่บน Forbes.com โดย ชญาน์นัทช์ ธนินท์พงศ์ภัค  อ่านเพิ่มเติม: เศรษฐินีสหรัฐฯ แห่งทำเนียบ Forbes 400 ประจำปี 2021