ทำเนียบ 10 มหาเศรษฐีที่รวยที่สุดแห่งสิงคโปร์ ปี 2017 - Forbes Thailand

ทำเนียบ 10 มหาเศรษฐีที่รวยที่สุดแห่งสิงคโปร์ ปี 2017

FORBES THAILAND / ADMIN
31 Oct 2017 | 03:35 PM
READ 6273

ท่ามกลางความขัดแย้งภายในครอบครัวระหว่างนายกรัฐมนตรี Lee Hsien Lonng และน้องชายน้องสาวกลายเป็นข่าวร้อนแรงบนสื่อสังคมออนไลน์และภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศซึ่งเติบโตเพียง 2% ในปี 2016 แต่มูลค่าทรัพย์สินรวมของมหาเศรษฐี 50 อันดับแรกของสิงคโปร์ยังคงพุ่ง โดยเพิ่มขึ้น 11% จากปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ 1.04 แสนล้านเหรียญ ด้วยแรงหนุนจากราคาหุ้นของบริษัทที่จดทะเบียนบนกระดานหลักของตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์

ทั้งนี้ ราว 2 ใน 3 ของบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดของสิงคโปร์ 50 รายมีความมั่งคั่งมากขึ้น แม้แต่มหาเศรษฐีผู้ติดโผรายสุดท้ายของปีนี้ยังครอบครองทรัพย์สินถึง 540 ล้านเหรียญเทียบกับ 455 ล้านเหรียญเมื่อปีที่ผ่านมา ขณะที่ Robert & Philip Ng สองพี่น้องนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รั้งอันดับหนึ่งเป็นปีที่ 8 ติดต่อกันด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 9.4 พันล้านเหรียญ แต่ Eduardo Saverin ผู้ร่วมก่อตั้ง Facebook ไล่จี้ขึ้นมาติดๆ โดยขยับขึ้นมาหนึ่งอันดับและอยู่ที่อันดับ 2 โดยมีทรัพย์สินในครอบครอง 9.3 พันล้านเหรียญ สองมหาเศรษฐีผู้ติดอันดับเป็นครั้งแรกได้แก่ Danny Yong ดาวรุ่งนักบริหารกองทุนเฮดจ์ฟันด์ผู้ร่วมก่อตั้ง Dymon Asia Capital และ Saurabh Mittal ผู้ร่วมก่อตั้ง Indiabulls เครือบริษัทอสังหาริมทรัพย์และบริการด้านการเงินสัญชาติอินเดีย Ching Chiat Kwong ผู้สร้างชื่อจากโครงการอะพาร์ตเมนต์ไซส์จิ๋วหรือที่เรียกกันว่าบ้านกล่องรองเท้า เขาหลุดโผไปเมื่อปีที่ผ่านมาแต่กลับมาติดอันดับอีกครั้งหลังจากราคาหุ้น Oxley Holdings ของเขาฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องหลังยอดขายในต่างประเทศไปได้ดี ในการจัดอันดับประจำปีนี้เราอิงราคาหุ้นและอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 14 กรกฎาคม 2017 และ Forbes Thailand ได้คัดเลือก 10 อันดับแรกจาก 50 อันดับมหาเศรษฐีที่รวยที่สุดของสิงคโปร์ปี 2017 รวมถึงอีก 4 เศรษฐีที่น่าจับตามอง ร่วมรายงานโดย Michael Chu, Russell Flannery, Sean Kilachand, Jane A. Peterson, Anuradha Raghunathan, Jessica Tan และ Kate Vinton   อันดับ 1 Robert & Philip Ng 9.4 พันล้านเหรียญ Far East Organization อายุ: 65 และ 58 ปี (Cr: Jonathan Wong/South China Morning Post และ The Straitstimes) คู่พี่น้อง Robert และ Philip Ng คือเจ้าของและผู้ดูแลกิจการ Far East Organization บริษัทเอกชนผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์และเจ้าของที่ดินรายใหญ่ที่สุดของสิงคโปร์ กลุ่ม Far East ก่อตั้งโดย Ng Teng Fong บิดาของพวกเขา ผู้อพยพจากประเทศจีนมายังสิงคโปร์เมื่อปี 1934 และต่อมาเป็นที่รู้จักในฉายา “ราชาแห่งถนน Orchard” ปัจจุบัน Robert พี่ชายคนโตพร้อมด้วยลูกชาย Daryl เป็นผู้ดูแล Sino Group บริษัทสาขาของกลุ่มในฮ่องกง ส่วน Philip เป็นผู้ดูแลกิจการในสิงคโปร์ อ่านเพิ่มเติม: เปิดพิกัดอาณาจักรหรู ราคาล้ำ แห่งสิงคโปร์   อันดับ 2 Eduardo Saverin 9.3 พันล้านเหรียญ Facebook  อายุ: 35 ปี นักลงทุนในบริษัทหน้าใหม่ชาวบราซิลผู้ร่วมก่อตั้ง Facebook ได้สละสัญชาติสหรัฐฯ มาตั้งถิ่นฐานที่สิงคโปร์เมื่อ 5 ปีก่อน เขาติดโผขึ้นแท่นมหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยที่สุดอันดับ 2 ของประเทศในปีนี้ ราคาหุ้นของบริษัทสื่อสังคมออนไลน์ยักษ์ใหญ่ซึ่งเขาถือครองหุ้นส่วนน้อยทะยานขึ้นกว่า 30% ในช่วงปีที่ผ่านมา หนุนให้มูลค่าทรัพย์สินในครอบครองของเขาเพิ่มขึ้นอีก 2.1 พันล้านเหรียญ Saverin พุ่งเป้าใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการสนับสนุนเงินทุนให้กับผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีในสหรัฐฯ และเอเชียผ่านกองทุนร่วมลงทุน 2 แห่งของเขา ได้แก่ Velos Partners และ B Capital Group เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา B-Cap ควักกระเป๋า 22.5 ล้านเหรียญลงทุนใน Inturn ธุรกิจค้าปลีกหน้าใหม่ในสหรัฐฯ นอกจากนี้กองทุนยังเป็นผู้นำในการระดมทุนรอบละ 25 ล้านเหรียญให้กับ CXA Group บริษัทประกันสุขภาพออนไลน์จากเอเชียและ Icertis ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับการบริหารสัญญาสัญชาติสหรัฐฯ การลงทุนอื่นๆ รวมถึง Ninja Van จากสิงคโปร์ และ Orami เว็บช้อปปิ้งออนไลน์สำหรับสาวๆ จากอินโดนีเซีย   อันดับ 3 Goh Cheng Liang 7.8 พันล้านเหรียญ Nippon Paint อายุ: 90 ปี (Cr: discoversg.com) สินทรัพย์ส่วนใหญ่ของ Goh Cheng Liang มาจากหุ้น 39% ที่เขาถืออยู่ใน Nippon Paint Holdings ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นบริษัทผลิตสีที่ใหญ่อันดับ 7 ของโลก เมื่อแรกก่อตั้ง Goh เป็นผู้ผลิตสีรายเล็กของสิงคโปร์ก่อนที่จะร่วมเป็นพันธมิตรกับ Nippon Paint ของญี่ปุ่นในปี 1962 ปัจจุบัน Hup Jin ลูกชายของ Goh เป็นกรรมการบริหารของ Nippon Paint และยังเป็นผู้บริหารบริษัทร่วมทุน Nipsea อีกด้วย   อันดับ 4 Kwek Leng Beng 7.1 พันล้านเหรียญ City Developments อายุ: 73 ปี Kwek Leng Beng นั่งตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท Hong Leong Group ซึ่งก่อตั้งโดยบิดาของเขาเมื่อปี 1941 รวมถึงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท City Developments บริษัทอสังหาริมทรัพย์อันดับ 2 ของสิงคโปร์ Kwek เป็นนักธุรกิจผู้ขับเคลื่อนการขยายบริษัทสู่ต่างประเทศโดยควบรวมกิจการทั้งในสหราชอาณาจักร, จีน และออสเตรเลีย Quek Leng Chan ลูกพี่ลูกน้องของเขาเป็นอีกคนหนึ่งของตระกูลที่เป็นเศรษฐีพันล้าน โดย Quek เป็นผู้บริหาร Hong Leong Group ในมาเลเซีย อ่านเพิ่มเติม: 15 ตระกูลมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในเอเชีย ปี 2016 ซึ่งตระกูล Kwek ติดอันดับที่ 7   อันดับ 5 Khoo family 6.3 พันล้านเหรียญ Goodwood Group of Hotels ครอบครัว Khoo เป็นผู้สืบทอดธุรกิจต่อจาก Khoo Teck Puat นายธนาคารผู้ริเริ่มลงทุนในธนาคาร Standard Chartered เมื่อปี 1986 โดยความมั่งคั่งส่วนใหญ่ของตระกูลเกิดจากการขายหุ้นมูลค่า 4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในธนาคาร Standard Chartered เมื่อปี 2006 ปัจจุบันตระกูล Khoo ยังเป็นผู้ควบคุมกิจการ Goodwood Group of Hotels มีผู้บริหารใหญ่คือ Mavis Khoo-Oei โดยบริษัทนี้คือเจ้าของโรงแรมที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนานอย่าง Goodwood Park Hotel   อันดับ 6 Wee Cho Yaw 5.8 พันล้านเหรียญ United Overseas Bank อายุ: 88 ปี Wee ดำรงตำแหน่งประธานกิตติคุณของ United Overseas Bank ซึ่งเป็นธนาคารผู้ปล่อยสินเชื่อรายใหญ่เป็นอันดับ 3 ของสิงคโปร์ที่บิดาของเขาร่วมก่อตั้งขึ้นในปี 1935 ทั้งนี้ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา Wee ตกเป็นข่าวใหญ่หลังจากที่ควักกระเป๋า 290 ล้านเหรียญเข้าซื้อห้องชุด 45 ยูนิตในโครงการคอนโดมิเนียมหรู The Nassim ผ่านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของครอบครัว โดยเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาขายทั่วไปในตลาดถึง 18% พร้อมกับช่วยให้ CapitaLand รอดพ้นจากบทลงโทษขนานใหญ่ข้อหาที่ไม่มีการจำหน่ายทรัพย์สินภายในระยะเวลาที่กำหนด นอกจากนี้ Wee ยังอาศัยช่องว่างทางภาษีเข้าซื้อหุ้นของบริษัทที่เป็นเจ้าของยูนิต แทนที่จะเป็นการเข้าซื้อเบ็ดเสร็จทั้งโครงการ เพื่อเลี่ยงอากรสแตมป์ในอัตรา 15% นับแต่นั้นมา สิงคโปร์ก็จัดการอุดช่องโหว่ดังกล่าวทันที   อันดับ 7 Kwee brothers 5.3 พันล้านเหรียญ Pontiac Land อายุ: 72 ปี 70, 65, 59 ปี พี่น้องตระกูล Kwee ทั้งสี่เป็นเจ้าของบริษัท Pontiac Land ผู้พัฒนาโรงแรมระดับลักซัวรี่และอาคารสำนักงานรูปทรงโดดเด่นจำนวนมากทั่วเกาะสิงคโปร์ บริษัท Pontiac Land ได้รับการก่อตั้งโดย Henry Kwee พ่อของพวกเขาซึ่งเป็นพ่อค้าผ้าและนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชาวอินโดนีเซียที่อพยพมายังสิงคโปร์ในปี 1958 ปัจจุบันมีโครงการสำคัญของ Kwee ที่กำลังพัฒนา อาทิ อะพาร์ตเมนต์ความสูง 82 ชั้นด้านข้างพิพิธภัณฑ์ Modern Art ใน New York ราคาตั้งแต่ 3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ถึง 70 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อยูนิต รวมถึงรีสอร์ตขนาดใหญ่ในมัลดีฟส์   อันดับ 8 Kuok Khoon Hong 2.7 พันล้านเหรียญ Wilmar อายุ: 67 ปี (Cr: businesstimes.com.sg) Kuok Khoon Hong เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Wilmar ในปี 1991 และก่อร่างสร้างบริษัทจนกลายเป็นหนึ่งในผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ของโลก นอกจากนี้ Kuok ยังลงทุนในหุ้นของบริษัทอื่นๆ เช่น Yanlord Land ของ เศรษฐีพันล้าน Zhong Sheng Jian และในบริษัท Perennial Real Estate Holdings เขายังลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในต่างแดนอีกด้วยโดยเป็นเจ้าของอาคาร Aviva Tower ในกรุง London ร่วมกับผู้ร่วมก่อตั้ง Wilmar อีกรายคือ Martua Sitorus มหาเศรษฐีชาวอินโดนีเซีย   อันดับ 9 Raj Kumar & Kishin RK 2.6 พันล้านเหรียญ RB Capital/Royal Holdings อายุ: 63 และ 34 ปี คู่พ่อลูก Raj Kumar และ Kishin RK เป็นหนึ่งในแลนด์ลอร์ดแนวหน้าของสิงคโปร์โดยบริหารอาณาจักรผ่านบริษัท RB Capital/Royal Holdings ทั้งคู่สะบัดปากกาเซ็นสัญญาซื้อขายขนานใหญ่นับตั้งแต่ที่ Raj ทำข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินกับน้องชาย Asok Kumar Hiranandani อีกหนึ่งเศรษฐีแห่งสิงคโปร์สำเร็จเรียบร้อยไปเมื่อปี 2011 ปัจจุบันคู่พ่อลูกเป็นเจ้าของโรงแรมจำนวนมาก อาทิ Holiday Inn Express at Clarke Quay ขนาด 442 ห้อง และโรงแรม 5 ดาว Hotel Intercontinental at Robertson Quay   อันดับ 10 Sam Goi 2.2 พันล้านเหรียญ Tee Yih Jia Food อายุ: 68 ปี Sam Goi เป็นลูกชาวนาจากจังหวัด Fujian ประเทศจีน เขาเป็นเจ้าของบริษัท Tee Yih Jia Food Manufactoring บริษัทผู้ผลิตแป้งห่อปอเปี๊ยะที่ใหญ่ที่สุดในโลก Goi จำต้องลาออกจากโรงเรียนเพื่อช่วยพ่อของเขาในร้านขายของชำ จากนั้นจึงเข้าทำงานในบริษัทอาหารแช่แข็งและเข้าซื้อบริษัทอาหารได้ในที่สุด ปัจจุบัน Goi ยังมีความสนใจในการลงทุนอสังหาฯ ผ่านการถือหุ้นในบริษัทจดทะเบียน GSH   อันดับ 28 Ron Sim 1.2 พันล้านเหรียญ V3 Group อายุ: 58 ปี เขาคือผู้ก่อตั้ง OSIM International บริษัทผู้ผลิตเก้าอี้นวดสำหรับใช้งานในครัวเรือน ก่อนจะถอนบริษัทออกจากตลาดหลักทรัพย์เมื่อปีที่แล้ว หลังจากที่หุ้นทรุดหนักจากที่เคยแตะระดับสูงสุดเมื่อปี 2014 นับแต่นั้นเป็นต้นมา Sim ก็ได้สร้างภาพลักษณ์ให้กับ V3 Group ธุรกิจของตัวเองขึ้นใหม่ พร้อมกันนี้ยังได้วางแผนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงด้วย ซึ่งเขาบอกว่าเป็นโอกาสทองเลยทีเดียว เนื่องจากกำลังหันไปให้ความสนใจตลาดจีนพอดี สำหรับกลุ่ม V3 ประกอบไปด้วยธุรกิจของ OSIM TWG Tea แฟรนไชส์ของผลิตภัณฑ์อาหารเสริม GNC และ Futuristic บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการวางผังร้านค้าที่ Sim เพิ่งเข้าซื้อมาไม่นาน สำหรับรายการทรัพย์สินของ Sim ก็รวมถึงหุ้นใน Perennial Real Estate Holdings ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่พัวพันกับเหตุบาดหมางอย่างรุนแรงกับตระกูล Kwee เพราะต้องการยุบกิจการร่วมค้าและหันไปจับโครงการดังอย่าง Capitol Singapore นั่นเอง   อันดับ 42 Danny Yong 670 ล้านเหรียญ Dymon Asia capital อายุ: 45 ปี (Cr: Bloomberg) นายธนาคารสิงคโปร์เริ่มงานกับ J.P. Morgan ในบ้านเกิดเมื่อ 20 ปีก่อน จากนั้นจึงย้ายมารับตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายซื้อขายอนุพันธ์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้กับ Goldman Sachs ในฮ่องกงและ Tokyo ก่อนจะย้ายไปร่วมงานกับ Citadel ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ต่อมาในปี 2008 Yong กับเพื่อนร่วมงานคนสนิทเดินทางกลับมายังสิงคโปร์เพื่อเปิดตัว Dymon Asia Capital ซึ่งมาจากตัวอักษรย่อของชื่อเต็มบริษัทว่า Danny Yong Macro Opportunities Navigator ก่อนที่จะเข้าสู่ยุควิกฤตเศรษฐกิจโลกนั้น Yong ได้รับเงินสนับสนุนจาก Paul Tudor Jones มหาเศรษฐีเจ้าพ่อธุรกิจเฮดจ์ฟันด์มา 100 ล้านเหรียญ บวกกับควักเงินตัวเองอีก 13 ล้านเหรียญ เงินทุนจาก Jones ทำให้ธุรกิจหน้าใหม่อย่าง Dymon ก้าวขึ้นมาติดตลาดเฮดจ์ฟันด์โลก พร้อมกับดึงดูดนักลงทุนมากมายไม่ว่าจะเป็น Temasek บริษัทด้านการลงทุนที่มีรัฐบาลสิงคโปร์เป็นเจ้าของ จนปัจจุบัน Dymon มีทรัพย์สินภายใต้การจัดการมูลค่า 5,700 ล้านเหรียญ โดยมีกองทุนเด่นคือ Dymon Asia Macro Fund ซึ่งสร้างผลตอบแทนสูงสุด ส่งให้ Yong ติดโผการจัดอันดับ 25 ผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่มีรายได้สูงสุดของ Forbes เมื่อปี 2015 และ 2017   อันดับ 44 Saurabh Mittal 650 ล้านเหรียญ Mission Holdings อายุ: 43 ปี Mittal วิศวกรจากสุดยอดสถาบัน Indian Institute of Technology ประจำเมือง Delhi และศิษย์เก่าโรงเรียนธุรกิจของ Harvard เขากระโจนเข้าสู่ธุรกิจเฮดจ์ฟันด์ในตำแหน่งหุ้นส่วนอาวุโสให้กับ Noonday ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ Farallon Capital Management และเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Indiabulls กลุ่มบริษัทผู้ให้บริการทางการเงินและอสังหาริมทรัพย์ในประเทศอินเดียขึ้นมาเมื่อปี 1999 ต่อมาในปี 2014 เขาขายหุ้นออกไปส่วนหนึ่ง ก่อนจะย้ายไปสิงคโปร์ Mittal ยังถือหุ้นในกิจการต่างๆ อีกมากมายผ่านบริษัทเอกชนด้านการลงทุนของตัวเองอีกแห่ง คือ Mission Holdings หนึ่งในนั้นคือ One Championship ซึ่งเป็นบริษัทจัดศึกศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสานที่ก่อตั้งขึ้นโดย ชาตรี ศิษย์ยอดธง นักธุรกิจลูกครึ่งไทย-อเมริกันนั่นเอง นอกจากนี้ Mittal (ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับมหาเศรษฐีแห่งอุตสาหกรรมเหล็กกล้าในกรุง London เลย) ยังเป็นเจ้าของ Incedo บริษัทวิเคราะห์ใน California ถึง 80% ตลอดจนถือหุ้นในบริษัทอื่นๆ อาทิ BSI Financial บริษัทด้านเทคโนโลยีการเงิน   อันดับ 45 Ching Chiat Kwong 615 ล้านเหรียญ Oxley holdings อายุ: 51 ปี หลังจากที่หลุดโผการจัดอันดับในปีที่ผ่านมา เจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์ก็กลับมาติดโผอีกครั้ง ด้วยหุ้นของธุรกิจหลัก คือ Oxley Holdings ที่ทะยานถึง 43% อานิสงส์จากยอดขายที่เติบโตในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในไอร์แลนด์ กัมพูชา และมาเลเซีย เท่านั้นยังไม่พอ Oxley ยังคงสยายปีกขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเข้าซื้อหุ้นในเขตเศรษฐกิจพิเศษของจีน ตลอดจนบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แห่งหนึ่งในออสเตรเลีย Oxley ยังเป็นเจ้าของโรงแรมในภูมิภาคนี้อีกด้วย ทั้ง Novotel และ Mercure ในสิงคโปร์ที่มีแผนเปิดให้บริการช่วงปลายปีนี้ทั้งคู่ รวมทั้ง Shangri La ใน Phnom Penh และ Jumeirah กับ Sofitel ใน Kuala Lumpur สำหรับ Kwong ศึกษาด้านสังคมวิทยาจาก National University of Singapore แต่เริ่มทำงานเป็นตำรวจ อย่างไรก็ตามเขาหันหลังให้กับอาชีพตำรวจในปี 1993 พร้อมหันมาลองจับกิจการหลายอย่างด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ ตัวแทนนำเที่ยว นักการตลาดให้กับเครื่องดื่ม ก่อนจะพบว่างานถนัดของตัวเองคือการก่อสร้างอะพาร์ตเมนต์ขนาดเล็กทั่วสิงคโปร์     เรื่อง: Naazneen Karmali เรียบเรียง: นวตา สันติวัฒนา
คลิกเพื่ออ่านฉบับเต็มของ "50 เศรษฐีที่รวยที่สุดของสิงคโปร์ ประจำปี 2017" ได้ในรูปแบบ e-Magazine