ตระกูลมหาเศรษฐีร่ำรวยที่สุดของเอเชีย: ลำดับที่ 41-50 - Forbes Thailand

ตระกูลมหาเศรษฐีร่ำรวยที่สุดของเอเชีย: ลำดับที่ 41-50

FORBES THAILAND / ADMIN
28 Jan 2016 | 04:25 PM
READ 2814

สืบสายสืบทรัพย์ ครั้งแรกของการจัดอันดับ 50 ตระกูลมหาเศรษฐีของเอเชีย

ครอบครัวคือแกนกลางสำคัญของธุรกิจยักษ์ใหญ่และแบรนด์ดังจำนวนมากในเอเชีย ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคงหนีไม่พ้นตระกูล Lee แห่ง Samsung Group ซึ่งรายได้ของกลุ่มในปี 2014 คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 22% ของ GDP ประเทศเกาหลีใต้ Forbes ได้ทำการจัดอันดับ 50 ตระกูลที่ร่ำรวยที่สุดในเอเชีย โดยกำหนดเกณฑ์ว่าตระกูลที่จะเข้าข่ายในการจัดอันดับของเราต้องมีการสืบทอดทรัพย์สินกันต่อเนื่องอย่างน้อย 3 รุ่นขึ้นไป ดังนั้นชื่อของมหาเศรษฐีชั้นนำของภูมิภาคบางคนอย่างเช่น Li Ka-shing แห่งฮ่องกง จึงไม่ติดอันดับอยู่ในทำเนียบของเรา เพราะถึงแม้ว่าลูกชายของเขาจะอยู่ในแวดวงธุรกิจ แต่เขายังไม่มีทายาทรุ่นหลานที่ออกมารับบทผู้บริหารธุรกิจอย่างจริงจังเลย ถึงแม้ตระกูลส่วนใหญ่ในทำเนียบของเราจะสั่งสมความมั่งคั่งจากธุรกิจของตระกูลจากรุ่นสู่รุ่น แต่ในการจัดอันดับของเราในครั้งนี้ก็รวมไปถึงทายาทที่แยกทางออกไปทำธุรกิจอื่นที่อยู่นอกเส้นทางของครอบครัวด้วย ยกตัวอย่างเช่น ในการคำนวณมูลค่าทรัพย์สินของตระกูล Ambini แห่งอินเดีย เราได้รวมทรัพย์สินของ 2 พี่น้อง Mukesh และ Anil ซึ่งได้รับมรดกทรัพย์สินส่วนใหญ่มาจากพ่อของพวกเขาซึ่งเสียชีวิตไปเมื่อปี 2002 แต่พวกเขาเลือกที่จะแยกไปทำธุรกิจอื่นๆ ตามทางของตัวเอง ทั้งนี้มีตระกูลเศรษฐีอินเดียติดอันดับถึง 14 ตระกูลจากทั้งหมด 50 ตระกูลซึ่งสูงกว่า ตระกูลเศรษฐีจากประเทศอื่นๆ ในการรวบรวมรายชื่อเพื่อจัดทำอันดับตระกูลเศรษฐีเอเชียครั้งนี้ เราได้ทำการตรวจสอบข้อมูลของตระกูลนักธุรกิจชั้นนำกว่า 500 ตระกูลและทำการประเมินมูลค่าทรัพย์สินของหลายๆ ตระกูลที่เข้าข่าย ซึ่งปรากฏว่าตระกูลที่จะติดอันดับในทำเนียบของเราได้ต้องมีทรัพย์สินไม่ต่ำกว่า 2.9 พันล้านเหรียญ โดยในการประเมินมูลค่าทรัพย์สินเราใช้ราคาหุ้นและอัตราแลกเปลี่ยนของวันที่ 25 กันยายน (2558) ธุรกิจของหลายๆ ตระกูลซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ และแม้ว่าตระกูลจะยังคุมอำนาจบริหารอยู่ แต่พวกเขาก็ยังต้องตอบคำถามของผู้ถือหุ้นภายนอกตระกูล บางตระกูลอย่างเช่น Burmans ของอินเดีย ได้จ้างผู้บริหารมืออาชีพจากภายนอกมาบริหารธุรกิจของพวกเขา แต่บางครั้งการที่ทายาทของตระกูลวางมือจากการบริหารธุรกิจของครอบครัวไปก็อาจเกิดเป็นประเด็นได้เหมือนกัน (ถ้าคุณคิดว่ามีตระกูลไหนที่เราอาจจะมองข้ามไป ก็อีเมลมาบอกเราได้ที่ readers@forbes.com)
ตระกูลมหาเศรษฐีของเอเชีย ลำดับที่ 41-50 41. ตระกูล FUNG 3.9 พันล้านเหรียญ ฮ่องกง ตระกูล FUNG เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง Li & Fung หนึ่งในสายการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นที่รู้จักกันในหมู่ผู้ผลิตแบรนด์ตะวันตกอย่าง Tommy Hilfiger, Abercrombie & Fitch และ Aeropostale บทบาทของบริษัทในการเป็นผู้ผลิตสินค้าย้อนไปในปี 1906 เมื่อ Pak Liu Fung อดีตครูสอนภาษาอังกฤษ ได้ร่วมก่อตั้ง Li & Fung ทำธุรกิจส่งออกเล็กๆ ใน Guangzhou เวลาต่อมา Hon-Chu ลูกชายของเขา เปิดสาขาของ Li & Fung แห่งแรกในฮ่องกงเมื่อปี 1937 และหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่นาน หุ้นส่วนดั้งเดิมของบริษัทก็ได้ขายหุ้นคืนให้กับตระกูล Fung ทุกวันนี้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และทำยอดขาย 1.97 หมื่นล้านเหรียญในปีที่ผ่านมา บริหารงานโดย William หลานชายของ Pak Liu  42. ตระกูล BANGUR 3.85 พันล้านเหรียญ อินเดีย หนึ่งในครอบครัวนักธุรกิจชั้นนำของ Kolkata มีต้นกำเนิดมาจาก Mungee Ram และ Ram Coowar Bangur พี่น้อง 2 คนที่เริ่มต้นจากการซื้อขายหุ้นและสินค้าโภคภัณฑ์ ทายาทรุ่น 2 และ 3 ของ Bangurทำให้ธุรกิจของตระกูลมีบทบาทในแวดวงอุตสาหกรรมของอินเดีย โดยผลิตสินค้ามากมายทั้งปอกระเจา กระดาษ ปูนซีเมนต์ และพลังงาน ในปี 1991 ครอบครัวจัดการแบ่งทรัพย์สิน โดยแยกกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ออกเป็นส่วนๆ จัดสรรกันระหว่างทายาท 5 คน ผู้ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคือ Benu Gopalซึ่ง Hari Mohan ลูกชายของเขาได้รับการยกย่องในฐานะผู้พลิกธุรกิจที่ไม่ทำกำไรให้กลายเป็นหนึ่งในผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่ที่สุดของอินเดียภายใต้ชื่อ Shree Cement 43. ตระกูล JINDAL 3.8 พันล้านเหรียญ อินเดีย ธุรกิจ Jindal Group ประกอบไปด้วยหลายอุตสาหกรรม ทั้งเหล็ก พลังงาน ปูนซีเมนต์ โครงสร้างสาธารณูปโภคและซอฟต์แวร์ ตำแหน่งประธานบริษัทเป็นของ Savitri Jindal ภรรยาของ Om Prakash Jindal ผู้ก่อตั้ง ซึ่งประสบอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกเมื่อ 10 ปีก่อน Om Prakash หรือ “OP”ซึ่งมีพ่อแม่เป็นชาวนา เริ่มสร้างเนื้อสร้างตัวในปี 1952 ก่อนจะเปิดบริษัทผลิตท่อชื่อ Jindal India ในเมือง Hisar ตามด้วยโรงงานขนาดใหญ่ชื่อ Jindal Strips ในอีก 5 ปีถัดมา เมื่อเขาเสียชีวิตลง บริษัทของ OP ได้รับการแบ่งสรรปันส่วนระหว่างลูกชาย 4 คนของเขา ซึ่งตอนนี้มีการบริหารงานเป็นเอกเทศ แต่ทั้งหมดยังเป็นส่วนหนึ่งของ Jindal Group  44. ตระกูล ABOITIZ 3.6 พันล้านเหรียญ ฟิลิปปินส์ ครอบครัว Aboitiz บริหารกลุ่มบริษัท Abpitiz Equity Ventures (AEV) จาก Cebu ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฟิลิปปินส์ ดำเนินธุรกิจครอบคลุมด้านพลังงาน คมนาคม ธนาคาร อาหาร และอสังหาริมทรัพย์ AEV ก่อตั้งในปลายยุค 1800 โดย Paulino Aboitiz ชาวสเปนอพยพที่เติบโตในครอบครัวชาวนา ณ ขณะนี้สมาชิกครอบครัว 19 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทายาทรุ่นที่ 4 และ 5 มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารงานของบริษัท ตระกูล Aboitiz มีลูกหลานกว่า 400 คน ทายาทในตระกูลที่ต้องการทำงานกับบริษัท และ/หรือดำรงตำแหน่งระดับผู้บริหารต้องมีคุณสมบัติผ่านตามกฎระเบียบขั้นตอนที่กำหนดไว้ 45. ตระกูลรัตนรักษ์ 3.5 พันล้านเหรียญ ไทย กฤตย์ รัตนรักษ์ ดำรงตำแหน่งผู้บริหารบริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด ซึ่งดำเนินงานสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 แม่ของเขา น้องสาว 5 คน และชัชชน ลูกชาย มีส่วนในทรัพย์สินของตระกูล ซึ่งนายชวน พ่อชาวจีนของเขา เป็นผู้บุกเบิก ชวนอพยพมากรุงเทพฯ ตั้งแต่ 6 ชวบ และทำงานเป็นคนงานที่ท่าเรือ ก่อนจะสร้างเนื้อสร้างตัวเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นธนาคารกรุงศรีอยุธยาและบริษัทปูนซีเมนต์นครหลวง ตระกูลรัตนรักษ์ยังทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ภายใต้ชื่อ บริษัทต้นสน พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2006 ชัชชนดูแลหนึ่งในบริษัทด้านการลงทุนของครอบครัว 46. ตระกูล MUNJAL 3.2 พันล้านเหรียญ อินเดีย Brijmohan Lall Munjal ผู้ก่อตั้ง Hero Group ในวัย 92 ปี ยังคงทำหน้าที่ประธานกิตติมศักดิ์ของ Hero MotoCorp ผู้ผลิตจักรยานยนต์รายใหญ่ที่สุดของอินเดีย ในปี 1947 เขากับพี่และน้องชายอีก 3 คน เริ่มต้นธุรกิจผลิตชิ้นส่วนจักรยานในแคว้น Punjab ครอบครัว Munjal ขยายธุรกิจสู่จักรยานยนต์หลังจากร่วมหุ้นกับ Honda Motor ในปี 1984 และในปี 2010 ครอบครัวแยกเป็น 4 ฝ่าย เครดิตภาพ: Image Amit Verma 47. ตระกูล HIRANANDANI 3.1 พันล้านเหรียญ สิงคโปร์ Naraindas Hiranandani อพยพจากปากีสถานไปยังสิงคโปร์ในปี 1947 และก่อตั้งธุรกิจสิ่งทอ Royal Silk Store เมื่อล้มป่วยด้วยโรคเบาหวานจนต้องตัดขา Raj Kumar ลูกชายคนโตจึงสืบต่อธุรกิจ และ Asok Kumar ลูกชายคนเล็ก จึงเข้าไปช่วยงานพี่ชาย ทั้งคู่สร้างธุรกิจจนกลายเป็นเชนร้านค้าผ้าที่ประสบความสำเร็จ เมื่อค่าเช่าถีบตัว 2 พี่น้องจึงซื้ออาคารพาณิชย์แห่งแรกและตระหนักว่าพวกเขาสามารถทำเงินจากการให้เช่าพื้นที่อาคาร ซึ่งดีกว่าการค้าขายที่เหนื่อยยากเป็นไหนๆ ไม่นาน Raj และ Asok Kumar ได้รับการขนานนามว่า “เจ้าพ่อค้าปลีก” จากการที่บริษัท Royal Brother ของพวกเขาเป็นเจ้าของร้านค้าจำนวนมากในศูนย์การค้าขนาดใหญ่ลำดับต้นๆ ของอินเดีย ในการเตรียมการสืบทอดธุรกิจอย่างราบรื่น พวกเขาจัดการแบ่งทรัพย์สินในปี 2011 บริษัทเพิ่งซื้อโรงแรม DoubleTree by Hilton ขนาด 540 ห้องใน Kuala Lumpur เป็นเงิน 110 ล้านเหรียญ 48. ตระกูล Lo 3 พันล้านเหรียญ ฮ่องกง Lo Ying-shek เกิดในมณฑลกวางตุ้งในปี 1913 และย้ายไปอยู่ประเทศไทยในวัยเด็กเพื่อช่วยธุรกิจค้าผ้าของครอบครัว ในปี 1930 เขาเดินทางไปฮ่องกงและได้เข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปี 1950 ในช่วงปี 1980 เขาได้เรียกตัวชายของเขาที่ขณะนั้นทำงานเป็นหมอรักษาโรคหัวใจในรัฐมิชิแกนให้กลับทำธุรกิจที่บ้าน นับตั้งแต่นั้นมา Great Eagle ก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง และได้กลายมาเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในฮ่องกง เครดิตภาพ: blog.hyosung.com-1932 49. ตระกูล Cho 2.95 พันล้านเหรียญ เกาหลีใต้ ตระกูลที่อยู่เบื้องหลังบริษัท Hankook Tire ผู้ผลิตยางรถยนต์ใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก ยังมีผลประโยชน์ในธุรกิจด้านวัสดุอุตสาหกรรม ก่อสร้าง และเทคโนโลยี โดยดำเนินงานผ่านบริษัท Hyosung Group ซึ่งไม่ได้เป็นบริษัทในเครือ จุดเริ่มต้นของ Hankook Tire มีประวัติย้อนไปในสมัยปี 1950 เมื่อ Cho Hong-Jai เข้าซื้อกิจการร้านยางที่เสียหายหลังสงครามเกาหลียุติลงได้ไม่นาน ในปี 1966 เขาเปิดบริษัท Tongyang Nylon ซึ่งประกอบธุรกิจเส้นใยและสิ่งทอ ธุรกิจร่วมลงทุนแรกๆ ของเขาเป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้างเปิดดำเนินการในปี 1948 ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ Samsung C&T ทุกวันนี้ Hankook Tireได้ Yang-Rai ลูกชายคนรองของ Hong-Jai มาดำรงตำแหน่งประธาน 50. ตระกูล HAMIED 2.9 พันล้านเหรียญ อินเดีย ในปี 1935 Khwaja Abdul Hamied ศิษย์ของ Mahatma Gandhi ได้ก่อตั้งบริษัท Cipla ขึ้นในมุมไบ โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้อินเดียสามารถพึ่งพาตัวเองได้ในด้านยารักษาโรคที่จำเป็น เมื่อบิดาผู้ก่อตั้งจากไปในปี 1972 Yusuf และ Mustafa ลูกชายทั้ง 2 ได้สืบทอดธุรกิจต่อ ขณะดำรงตำแหน่งประธาน Yusuf แข่งขันกับบริษัทยายักษ์ใหญ่ทั้งหลาย โดยจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาสามัญราคาถูกสำหรับโรคต่างๆ เช่น เอดส์ เขาเกษียณอายุการทำงานในปี 2013 โดยยังทำหน้าที่ประธานของบริษัทแต่ไม่บริหารเอง ปีถัดมาMustafa วางมือจากตำแหน่งรองประธานกรรมการ Samina Vaziralli ลูกสาวของเขา เข้าเป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหารเมื่อเดือนกรกฎาคม และกำลังเพิ่มบทบาทในงานบริหารให้มากขึ้น

คลิ๊กอ่าน "สืบสายสืบทรัพย์" ฉบับเต็มได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ DECEMBER 2015 ในรูปแบบ E-Magazine