เก่าและแกร่งแบบช้างสามเศียร - Forbes Thailand

เก่าและแกร่งแบบช้างสามเศียร

ยืนหยัดผ่านร้อนฝนหนาวมาถึง 87 ปี วันนี้ “โรงเส้นหมี่ชอเฮง” นำทัพ “ช้างสามเศียร” ขยับตัวครั้งใหญ่ ทุ่มลงทุนหลักพันล้านบาท หมายมาดรักษาแชมป์ตลาดผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวในเมืองไทย พร้อมเล็งหาโอกาสต่อยอดในอาเซียนและทั่วโลก

แม้อากาศยามบ่ายจะร้อนอบอ้าวสักเพียงใด แต่ วราทัศน์ วงศ์สุรไกร ประธานบริหาร บริษัท โรงเส้นหมี่ ชอเฮง จำกัด กลับเดินขึ้นบันไดเล็กๆ อย่างคล่องแคล่วโดยไม่มีท่าทีเหน็ดเหนื่อย เพื่อนำ Forbes Thailand ไต่ขึ้นไปชมการทำงานของเครื่องจักรประเภทต่างๆ อาทิ เครื่องแยกสีซึ่งใช้แสงในการแยกเมล็ดข้าวที่ไม่ผ่านเกณฑ์ออกมา เครื่องอบแห้งที่มีความสูงกว่า 30 เมตร เป็นต้น พร้อมอธิบายการทำงานของเครื่องแต่ละชนิดเพื่อให้คนฟังเห็นภาพขั้นตอนการแปรทรัพย์ในดินอย่าง “ข้าว” ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์แป้งข้าวเจ้าและแป้งข้าวเหนียวยี่ห้อ “ช้างสามเศียร” (Erawan Brand) สร้างรายได้ ปี 2555-2558 ไม่ต่ำกว่า 2.6 พันล้านบาทต่อปี “ถึงชื่อเราจะเชย แต่เทคโนโลยีของเราถือว่าใช้ได้” วราทัศน์ วัย 69 ปี กล่าวด้วยความภาคภูมิใจเจ้าตลาดไทยจุดกำเนิดของโรงเส้นหมี่ชอเฮงเริ่มต้นในปี 2473 เมื่อ ชอไค แซ่จึง ผู้เป็นปู่ของวราทัศน์เดินทาง พร้อมครอบครัวจากเมืองจีนด้วยหวังจะมีชีวิตใหม่ในเมืองไทย ชอไคเห็นว่าข้าวเป็นพืชที่สำคัญ จึงก่อตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดชอเฮง นำข้าวมาแปรรูปเป็นเส้นหมี่มีโรงงานตั้งอยู่ในพื้นที่ปทุมวัน ต่อมาในปี 2502 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท โรงเส้นหมี่ชอเฮง จำกัด เมื่อพื้นที่โรงงานเริ่มคับแคบไม่เพียงพอต่อการขยายธุรกิจ จึงย้ายไปที่ อ. สามพราน จ.นครปฐม ชอไคส่งผ่านตำแหน่งหัวเรือใหญ่สู่ผู้เป็นอาของวราทัศน์จากนั้นเขาก็รับไม้ต่อเป็นรุ่นที่ 3 เข้ามาบริหารกิจการ กงสี วราทัศน์เป็นลูกคนที่ 3 ในจำนวนลูกๆ 9 คน (ชาย 6 หญิง 3) ของ อรัญ วงศ์สุรไกร หลังเรียนจบด้านการตลาดจาก San Jose State University สหรัฐอเมริกา วราทัศน์ก็กลับมาช่วยดูแลธุรกิจที่บ้านตามคำขอของครอบครัวเมื่อราว 40 ปีก่อน กรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุรายได้รวมของโรงเส้นหมี่ชอเฮง ปี 2556-2558 อยู่ที่ราว 2.77 พันล้านบาท 2.74 พันล้านบาท และ 2.66 พันล้านบาท มีกำไรสุทธิ 144.94 ล้านบาท 224.02 ล้านบาท และ 235.06 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์แป้งข้าวเจ้าและแป้งข้าวเหนียวมีส่วนแบ่งเท่ากันคือ 50:50 และมีสัดส่วนรายได้ในประเทศและต่างประเทศที่ 50:50 แผนต่อจากนี้ของโรงเส้นหมี่ชอเฮงคือการทุ่มงบลงทุน 1-1.5 พันล้านบาท สร้างโรงงานแห่งใหม่ซึ่งใช้เครื่องจักรทันสมัยกว่าเดิม โดยยังคงอยู่ในอาณาบริเวณ 75 ไร่ของบริษัทที่ อ. สามพราน คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2563 วางไว้ให้สามารถรองรับวัตถุดิบได้เต็มที่ 8-9 หมื่นตันต่อปี “เราสร้างโรงงานใหม่เพื่อลดต้นทุน อีกส่วนก็เพราะแรงงานเริ่มหายาก ถ้าประหยัดค่าแรงและสามารถคืนทุนภายใน 5-10 ปี ก็มีความสุขแล้ว ในอนาคตเราจะพัฒนาเครื่องผลิตอัตโนมัติ ถ้าสร้างเสร็จเราก็จะกลับมารุกการผลิตเส้นหมี่อย่างเต็มที่” วราทัศน์อธิบายแล้วเพิ่มเติมว่า เทคโนโลยีที่ทันสมัยจะช่วยให้ผลิตสินค้าได้มากขึ้น และจะช่วยหนุนให้ช้างสามเศียรสร้างความแข็งแกร่งในตลาดและหาน่านน้ำใหม่ๆ ได้มากขึ้น วราทัศน์ไม่หยุดแสวงหาเทคโนโลยีใหม่ๆ จนนำสู่นวัตกรรมใหม่ๆ อาทิ แป้งข้าวเจ้าดัดแปรเพื่อใช้เป็นสารเพิ่มปริมาณยาเม็ด เป็นโครงการนวัตกรรมของ บริษัท เอราวัณ ฟามาซูติคอล รีเซิช แอนด์ ลาบอราตอรี่ จำกัด ได้รับรางวัลชนะเลิศ ด้านเศรษฐกิจ ในการประกวดรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ปี 2548 จัดโดย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. ถัดมาอีก 1 ปี แป้งเด็กจากแป้งข้าวเจ้าภายใต้ บริษัท เนอเชอร์แคร์ จำกัด ก็ได้รับการประกาศให้เป็น 1 ใน 10 สุดยอดนวัตกรรมแห่งปี 2549 ของ สนช. ทั้งนี้ โรงเส้นหมี่ชอเฮงยังต่อยอดแป้ง ReisCare เป็นแป้งไฮโดรโฟบิคช่วยดูดซับความมันและกลิ่น สร้างมูลค่าเพิ่มจากแป้งข้าวเจ้าราคา 30 บาทต่อกิโลกรัมสู่แป้งไฮโดรโฟบิคราคา 1,200 บาทต่อกิโลกรัม โดยได้รับรางวัลนวัตกรรมข้าวไทย ปี 2558 จากมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ สนช. ยึดมั่นธุรกิจครอบครัว “ลูกหลานแต่ละคนน่ารัก ทุกคนเข้ากับพนักงานที่นี่ได้หมด ทำให้การทำงานง่ายขึ้นบ้านเราเป็นครอบครัวใหญ่ หุ้นส่วนเยอะแต่ทุกคนก็ช่วยกันบริหารงานเต็มที่” วราทัศน์ หมายถึง “รุ่น 4” ของครอบครัว อาทิ ไกรสินธุ์ หลานชายคนโตซึ่งรับผิดชอบ ด้านต่างประเทศ รวมทั้งช่วยงานราชการและหอการค้าต่างๆ วาทิตและวาทินลูกชาย 2 คนของวราทัศน์ที่เข้ามาช่วยดูแลธุรกิจครอบครัวได้หลายปีแล้ว วาทิตช่วยดูแลในภาพรวม และวาทินรับผิดชอบธุรกิจแป้ง ReisCare ส่วน“รุ่นที่ 5” คือลูกสาวของไกรสินธุ์ ขอไปทำงานหาประสบการณ์ในบริษัทข้างนอก ความมั่นคงของธุรกิจและตัวเลขรายได้หลักพันล้านบาท ทำให้หลายคนชักชวนให้วราทัศน์นำโรงเส้นหมี่ชอเฮงจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนเพื่อโลดแล่นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เขามองเห็นข้อดีการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งเปิดโอกาสให้สามารถระดมทุนสร้างการเติบโตให้ธุรกิจ แต่ขณะเดียวกันก็มาพร้อมกับคณะกรรมการบริหารที่ต้องมาร่วมกันตัดสินใจทิศทางของบริษัท “ถ้าเป็นบริษัทมหาชนหุ้นเราอาจเพิ่มขึ้นหลายเท่าแต่เราบริหารแบบครอบครัวก็สบายใจดี กำไรจะกี่มากน้อยก็ช่างแต่ถือว่าสบายใจ อย่างเราคุยกันไม่กี่คำก็ได้ข้อสรุปแล้ว ไม่ต้องประชุมมากผมสบายใจกับการทำธุรกิจครอบครัวส่วนรุ่นต่อไปจะเอาอย่างไรก็เป็นเรื่องของเขา เราก็ไม่เห็นแล้ว” วราทัศน์ปิดท้ายถึงทิศทางของธุรกิจครอบครัวที่พร้อมจะก้าวสู่ 1 ศตวรรษ ในอีก 13 ปีข้างหน้า
คลิกอ่าน "เก่าและแกร่งแบบช้างสามเศียร" ฉบับเต็ม ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ พฤษภาคม 2560 ในรูปแบบ e-Magazine