ชู้ตให้ไกลถึง NBA - Forbes Thailand

ชู้ตให้ไกลถึง NBA

FORBES THAILAND / ADMIN
11 Oct 2017 | 02:48 PM
READ 1029

เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่ากีฬาบาสเกตบอลอาชีพได้รับความนิยมอย่างมากในเอเชีย แต่การปั้นดาวเด่น NBA จากทวีปนี้ยังเป็นเรื่องยาก

แม้ว่าจะเป็น “ลีกบาสเกตบอลในประเทศสหรัฐอเมริกา” แต่ NBA ก็ทำการสำรวจธุรกิจกีฬาบาสเกตบอลในต่างแดนของตน ผลสำรวจพบว่าแบรนด์ NBA ได้รับความนิยมอย่างมากในเอเชีย โดยเป็นทวีปซึ่งมีตลาดที่ทำรายได้ให้กับ NBA มากเป็นอันดับสองและสาม ซึ่งก็คือ จีน และฟิลิปปินส์ ตามลำดับ ถึงแม้ว่าเอเชียจะมีจำนวนประชากรคิดเป็นประมาณ 60% ของประชากรโลก แต่ในจำนวนนักกีฬาต่างชาติ 113 คนที่สามารถฝ่าฟันจนได้เข้าร่วมทีมใน NBA ไม่มีนักกีฬาสักคนเลยที่มาจากเอเชีย (หากไม่นับรวมออสเตรเลีย) เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานสาขาของ NBA ในจีน อินเดีย และอีกหกประเทศในเอเชียได้ริเริ่มทำสิ่งใหม่หลายต่อหลายอย่าง เช่น การเปิดสถาบันสอนบาสเกตบอลเพื่อส่งเสริมการเล่นกีฬาชนิดนี้ในทุกระดับ เพื่อให้ NBA เดินหน้าได้เต็มศักยภาพในเอเชีย การมีนักกีฬาดาวเด่นซึ่งมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับบรรดาแฟนๆ ในทวีปนี้เป็นสิ่งจำเป็น ผู้เล่นที่เป็นคนเอเชียหรือมีเชื้อสายเอเชีย (เช่น Jeremy Lin) ช่วยได้มาก แต่การมีผู้เล่นชั้นแนวหน้าที่เกิดและเติบโตขึ้นในเอเชียต่างหากที่เป็นกุญแจสำคัญ
Yao Ming ซูเปอร์สตาร์บาสเกตบอลชาวจีนที่อำลาวงการไปเมื่อปี 2011 และจนบัดนี้ก็ยังไม่มีนักบาสฯ ชาวจีนคนไหนแทนที่เขาได้
Yao Ming ผู้เล่นสังกัดทีม Houston Rockets ซึ่งได้รับเลือกให้ร่วมทีม All-Star 8 ปีซ้อนตั้งแต่ปี 2003-2011 และได้รับเลือกเข้าสู่ทำเนียบหอเกียรติยศกีฬาบาสเกตบอล ได้สร้างสิ่งมหัศจรรย์มากมายในวงการบาสเกตบอลในประเทศจีน แต่หลังจากที่ Yao Ming เจ้าของส่วนสูง 7 ฟุตอำลาวงการไปในปี 2011 จีนซึ่งมีประชากรเกือบ 1.4 พันล้านคนก็ยังไม่สามารถสร้างดาวดังขึ้นมาทดแทนได้ Zhou Qi ซึ่งเป็นตัวเลือกในการดราฟท์รอบสองของ Houston Rockets ในปี 2016 เป็นนักกีฬาบาสเกตบอลที่เป็นความหวังสูงสุดของจีนในช่วงหลายปีมานี้ แต่ดูเหมือนว่าขีดจำกัดความสามารถของเขาจะใกล้เคียงกับ Yi Jianlian ซึ่งอาชีพนักกีฬาบาสเกตบอลใน NBA ของเขาสิ้นสุดลงหลังจากผ่านไปเพียงห้าฤดูกาล Satnam Singh เป็นนักกีฬาบาสเกตบอลชาวอินเดียเพียงคนเดียวที่มีโอกาสใกล้เคียงที่สุดที่สามารถผ่านด่านอรหันต์เข้ามาเล่นใน NBA ได้ แต่ Singh ซึ่งเป็นตัวเลือกที่ได้รับการดราฟท์รอบสองในปี 2015 นั้นก็ยังต้องพยายามเค้นฟอร์มเก่งกับทีมใน D-League ของ Dallas Mavericks ส่วนฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นประเทศที่คลั่งไคล้กีฬาบาสเกตบอลก็ยังไม่สามารถสร้างนักกีฬาที่สามารถโชว์ฟอร์มในระดับ NBA ได้
โชว์ความแม่นในอเมริกา: Zhou Qi ตัวเลือกรอบสองของ Houston Rockets ในปี 2016
แล้ว NBA ควรทำอย่างไร คำตอบก็คือต้องฟูมฟักกีฬาบาสเกตบอลและนักกีฬาจนกว่าพวกเขาจะมีความสามารถมากพอ “ไม่มีสิ่งใดสำคัญมากไปกว่าการมีนักกีฬาจากเอเชียเข้ามาร่วมเล่นในลีกของเรา สิ่งที่เราตั้งใจจะทำก็คือจัดการฝึกสอน การฝึกอบรม และจัดการแข่งขัน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการสร้างและพัฒนานักกีฬาจนมีความสามารถมากพอจะลงแข่งขันในทีมรวมดาราของ NBA ได้” Mark Tatum รองกรรมาธิการ ซีอีโอ และแกนนำด้านกิจการต่างประเทศของ NBA กล่าว เป็นเวลาสี่ปีมาแล้วนับตั้งแต่ที่ NBA เริ่มนำ “Jr. NBA” มาสู่ทวีปเอเชีย โดยเป็นการนำโปรแกรมที่ใช้สอนทักษะพื้นฐานและค่านิยมของกีฬาบาสเกตบอลให้กับเยาวชนอเมริกันมาปรับใช้ในจีน อินเดีย และประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เยาวชนผู้ปกครอง และผู้ฝึกสอนกว่า 5.5 ล้านคนในเอเชียได้เคยเข้าร่วมในโปรแกรมนี้ สำหรับการพัฒนาไปอีกขั้นหนึ่ง ปัจจุบันนักกีฬาที่มีแววซึ่งมีความมุ่งมั่นจะเป็นนักบาสเกตบอลอาชีพมีโอกาสสมัครเข้าอคาเดมีของ NBA ซึ่งเพิ่งก่อตั้งขึ้น ได้แก่ อคาเดมีสามแห่งในจีน หนึ่งแห่งในอินเดีย และอีกหนึ่งแห่งในออสเตรเลีย ซึ่งทุกแห่งเปิดดำเนินงานในปีนี้ จะสามารถเปลี่ยนนักกีฬาบาสเกตบอลทีมชาติในเอเชียให้เป็นนักกีฬาตัวความหวังของ NBA ได้อย่างสมบูรณ์แบบ
NBA อคาเดมีในอินเดียที่เมือง Mumbai ซึ่งเพิ่งเปิดตัวเมื่อเดือนเมษายน 2017 (Photo Credit: sportstarlive.com)
การสนับสนุนลีกกีฬาบาสเกตบอลในท้องถิ่นเป็นสิ่งจำเป็นในการทำให้กีฬาบาสเกตบอลประสบความสำเร็จ แต่ NBA ซึ่งไม่มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลธุรกิจและบริหารจัดการนักกีฬาผู้มีความสามารถโดยตรงต้องพบกับความท้าทายอย่างแท้จริง ตัวอย่างเช่น นักกีฬาแถวหน้าในจีนได้รับการประคบประหงมจนเกินไปและถูกห้ามไม่ให้เดินทางออกนอกประเทศไปเล่นในลีกในยุโรป ซึ่งเป็นเหมือนเส้นทางผ่านสายหลักในการมุ่งหน้าสู่ NBA การเล่นให้ทีมชาติเป็นข้อบังคับที่นักกีฬาต้องปฏิบัติตาม โครงสร้างพื้นฐานของลีกบาสเกตบอลในจีน นับตั้งแต่สนามแข่งขันที่ล้าสมัย ตารางแข่งขันที่กินเวลานานสามเดือน ไปจนถึงการพึ่งพาการซื้อตัวนักกีฬาอเมริกันมากเกินไป ทำให้ทีมบาสเกตบอลส่วนใหญ่ประสบกับภาวะขาดทุน อย่างไรก็ตามสถานการณ์ในอินเดียมีความซับซ้อนมากกว่า เนื่องจากในขณะนี้อินเดียยังไม่มีลีกกีฬาบาสเกตบอลอาชีพที่ชัดเจนเพราะเกิดความขัดแย้งภายใน Basketball Federation of India (BFI) แต่อย่างไรก็ดี มีความพยายามที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นในขณะนี้ Tatum พูดเป็นนัยถึงความสัมพันธ์ครั้งใหม่กับ NBA ว่าญี่ปุ่นซึ่งเคยมีสำนักงาน NBA อยู่ใน Tokyo ตั้งแต่ปี 1994-2011 ก็กำลังหันกลับมาสู่เส้นทางสายบาสเกตบอลอาชีพอีกครั้งหลังจากเริ่มก่อตั้งลีกอาชีพขึ้นใหม่โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลด้านกีฬาในประเทศ เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นกำลังจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนในปี 2020
ญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 ทำให้หน่วยงานด้านกีฬาในแดนปลาดิบตื่นตัว เป็นความหวังให้ NBA เข้าไปรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับญี่ปุ่น (Photo Credit: blog.wsj.com)
บางคนอาจตั้งคำถามถึงจิตวิญญาณของกีฬาบาสเกตบอลในภูมิภาคนี้ แฟนบาสเกตบอลชาวเอเชียไม่เหมือนกับผู้ชมการแข่งขัน NBA ส่วนใหญ่ พวกเขาต้องติดตามเกมการแข่งขันในช่วงเช้า ในระหว่างเดินทางไปทำงานหรือบางคนอาจจะถึงที่ทำงานแล้ว ถึงแม้ว่าจะต้องรับชมการแข่งขันในช่วงเวลาที่ไม่สะดวกนัก แต่จำนวนผู้ชมในตลาดหลักก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนใหญ่เป็นเพราะความก้าวหน้าของการถ่ายทอดสดผ่านสตรีมมิ่ง นอกจากนี้ ความนิยมของกีฬาบาสเกตบอลในทวีปเอเชียยังได้รับการพิสูจน์แล้วจากการจัดแข่งนัดพิเศษ Global Games ของ NBA ที่บัตรขายหมดเกลี้ยงภายในไม่กี่ชั่วโมง รวมถึงดาราบาสเกตบอลผู้โด่งดังหลายคนก็เลือกมาเยือนประเทศในแถบเอเชีย Colaco ตัวแทนของ NBA ในอินเดียกล่าวว่า “เรารู้ว่าคุณภาพของเกมกีฬาบาสเกตบอลมาจากเยาวชนอินเดีย และเราเชื่อว่าบาสเกตบอลจะสามารถขึ้นแท่นเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับสองในอินเดียได้...อาจจะภายในอีกห้าหรือหกปีข้างหน้า”   เรื่อง: Matt Connolly เรียบเรียง: ริศา
คลิกเพื่ออ่าน "ชู้ตให้ไกลถึง NBA" ฉบับเต็มได้ในรูปแบบ e-Magazine