ชีวิตนี้ลิขิตเอง - Forbes Thailand

ชีวิตนี้ลิขิตเอง

FORBES THAILAND / ADMIN
03 Jun 2017 | 03:45 PM
READ 815

หลังจากสั่งสมประสบการณ์เป็นเวลาหลายสิบปีในธุรกิจชิปปิ้งและธุรกิจเทรดดิ้งสินค้าโภคภัณฑ์ Harry Banga ตัดสินใจออกมาเปิดบริษัทของตัวเอง เพียงไม่นานบริษัทของเขาก็สามารถไต่อันดับขึ้นมายืนผงาดอยู่ในระดับแถวหน้าของวงการ ส่งให้ชื่อของเขาติดทำเนียบอภิมหาเศรษฐีพันล้านอีกครั้ง

จากประสบการณ์อันยาวนานในอาชีพ “เทรดเดอร์สินค้าโภคภัณฑ์” ทำให้ Harindarpal S. Banga ซึ่งมีชื่อเรียกขานติดปากในหมู่เพื่อนฝูงว่า “Harry” ต้องพบเจอกับเรื่องราวสารพัดรูปแบบที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เขายังได้เห็นเจ้านายเก่าที่ชื่อ Abbas Gokal ซึ่งเป็นเทรดเดอร์สินค้าโภคภัณฑ์ผู้ทรงอิทธิพลในวงการชิปปิ้งระดับโลกสมัยทศวรรษ 1960-1979 ต้องล้มละลายและถูกศาลตัดสินจำคุกนานถึง 14 ปี ยังได้เห็นการล่มสลายของอาณาจักร Noble Group ซึ่งเคยสร้างความมั่งคั่งร่ำรวยถึงระดับพันล้านเหรียญให้กับเขา โดยมูลค่าตามราคาตลาดของบริษัทดังกล่าวเคยพุ่งสูงถึง 1.4 หมื่นล้านเหรียญก่อนจะหล่นฮวบเหลือเพียงแค่ 1.6 พันล้านเหรียญในปัจจุบัน หลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตทำให้ Banga ตัดสินใจออกมาเปิดบริษัทเทรดดิ้งสินค้าโภคภัณฑ์ของตัวเองที่ชื่อว่า Caravel Group เมื่อประมาณ 4 ปีก่อน โดยบริษัทแห่งนี้มีเงินทุนหนุนหลังที่แข็งแกร่งสูงถึง 800 ล้านเหรียญ ซึ่ง Banga ได้มาจากการขายหุ้นส่วนของเขาในบริษัท Noble ก่อนที่ราคาหุ้นจะร่วงดิ่งเหว Caravel สามารถเจาะตลาดธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว โดยในปี 2013 ซึ่งเป็นปีแรกของการก่อตั้งธุรกิจ บริษัทมีรายได้ตามมูลค่าที่บันทึกบัญชีไว้สูงถึง 80 ล้านเหรียญโดยบริษัทคาดการณ์ว่าผลประกอบการในปีที่ผ่านมาน่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.8 พันล้านเหรียญ ความสำเร็จทางธุรกิจส่งผลให้ Banga วัย 66 ปี ผู้เป็นเจ้าของกิจการดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียวมีชื่อติดอันดับบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในฮ่องกงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2011 ด้วยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิจำนวน 1.02 พันล้านเหรียญ Caravel ถอดแบบมาจากบริษัท Noble แทบจะทุกกระเบียด เริ่มจากการแบ่งส่วนปฏิบัติการของบริษัทออกเป็น 3 ฝ่าย ได้แก่ฝ่ายกิจการเรือเดินสมุทร ฝ่ายเทรดดิ้งสินค้าโภคภัณฑ์ และฝ่ายบริหารสินทรัพย์ โดยผู้บริหารระดับสูงของบริษัทกว่าครึ่งเป็นอดีตพนักงานของบริษัท Noble แม้ภายหลังก่อตั้งบริษัทหลายปีที่ผ่านมามีเงินสกุลหยวนจำนวนหลายพันล้านเหรียญไหลเข้าไปลงทุนในตลาดอนุพันธ์ของประเทศจีนเมื่อไม่นานนี้ ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์แทบจะทุกรายการไล่ตั้งแต่สังกะสีไปจนถึงถ่านหินทะยานขึ้นสูงเป็นครั้งแรก แต่เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่อย่าง Caravel ต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นเป็นพิเศษเพราะต้องควบคุมสถานการณ์ต่างๆ เอาไว้ให้อยู่หมัด ทั้งตลาดค่าระวางเรือ ตลาดแลกเปลี่ยนเงินตรา วงจรการผลิต กลไกป้องกันความเสี่ยงล่าสุด และการวิเคราะห์ความเสี่ยงแบบเรียลไทม์ ซึ่งสถานการณ์และสภาพแวดล้อมการทำงานแบบที่ Banga คุ้นเคยตั้งแต่สมัยที่สวมหมวกเป็นรองประธานบริษัท Noble โดยมี Elman นั่งเป็นประธานกรรมการบริษัทอยู่ในเวลานั้น Banga ออกจากบ้านตอนที่อายุได้เพียง 16 ปี เพื่อจะไปทำงานกับกองเรือบรรทุกสินค้า ในขณะที่ Elman ออกจากบ้านตอนที่อายุ 15 ปี เพื่อจะไปประกอบอาชีพค้าเศษเหล็ก วิถีชีวิตในครั้งนั้นพาคนทั้งคู่รอนแรมไปไกลถึงทวีปอเมริกา ทวีปแอฟริกา ทวีปออสเตรเลียและทวีปเอเชีย ก่อนที่พวกเขาจะลงหลักปักฐานทำงานในตำแหน่งผู้บริหารบริษัทเทรดดิ้งสินค้าโภคภัณฑ์ในฮ่องกง ซึ่งเป็นถิ่นแดนที่พวกเขาได้มีโอกาสโคจรมาเจอกัน ในปี 1979 Banga ได้ตอบรับเข้าทำงานกับ Gulf Group ในฮ่องกงในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ แม้ว่าทศวรรษ 1970-1979 จะเป็นช่วงเวลาแห่งความยากลำบากทางเศรษฐกิจ แต่ในทางตรงข้ามมันเป็นยุคเฟื่องฟูของเทรดเดอร์สินค้าโภคภัณฑ์ในขณะที่เศรษฐกิจโลกสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ในปี 1989 เขาลาออกจากบริษัท ในขณะที่ Elman ตัดสินใจทิ้งอาชีพการเป็นเทรดเดอร์สินค้าโภคภัณฑ์ที่บริษัท Phibro และออกมาเปิดบริษัทของตัวเองที่ชื่อ Noble ในปี 1986 Noble เปิดตัวในเวลาที่เหมาะเจาะเพราะการที่ประเทศจีนซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ที่หลับใหลมานานถูกปลุกให้ตื่นย่อมหมายถึงความต้องการวัตถุดิบจำนวนมหาศาลเพื่อนำไปใช้ในการสร้างถนน ท่าเรือ และโรงงานต่างๆ ในขณะที่ประเทศออสเตรเลียฟิลิปปินส์ และเวียดนามอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการส่งออกสินค้าข้าวและสินค้าเกษตรจำนวนมากไปขายในตลาดต่างประเทศ เขาเข้ามาร่วมงานกับบริษัทในฐานะหัวหน้าฝ่ายธุรกิจเรือเช่าเหมาลำได้สักพัก ประเทศจีนเกิดเหตุการณ์นองเลือดครั้งใหญ่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ส่งผลให้เรือสินค้าจำนวนมากติดค้างอยู่ที่ท่าเรือ และการที่บริษัท Noble มีปริมาณการขนส่งสินค้าไปยังประเทศจีน สูงถึงร้อยละ 90 ทำให้บริษัทอยู่ในสภาพย่ำแย่จนถึงขั้นอาจต้องปิดกิจการ โชคดีที่เพียงแค่ไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้นวิกฤตการณ์ต่างๆ เริ่มคลี่คลาย เหตุการณ์ในครั้งนั้นได้สอนบทเรียนอันมีค่าให้กับ Banga ว่า “จงอย่าได้ประมาทความเสี่ยงทางการเมือง”ระหว่างการทำงานที่ Noble เขามักจะเดินทางไปตามจังหวัดต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในถิ่นทุรกันดาร เขาได้รับฉายาว่า “Zhong Guo Tong” ซึ่งหมายถึง ชาวต่างประเทศผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องภาษาและวัฒนธรรมจีน ในปี 1997 ที่มีการเสนอขายหุ้นของบริษัท Noble ในตลาดหลักทรัพย์ประเทศสิงคโปร์รายได้ประจำปีของบริษัทอยู่ที่ประมาณ 580 ล้านเหรียญ โดยมีกำไรสุทธิประมาณ 20 ล้านเหรียญ ในตอนนั้น Elman ถือหุ้นบริษัทอยู่ในสัดส่วนร้อยละ 45.7 ส่วน Banga ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 10.7 ทั้งคู่มีส่วนช่วยปลุกปั้น Noble ให้ก้าวสู่จุดสูงสุดทางธุรกิจและผ่านพ้นวิกฤตการณ์ต่างๆ มาได้ด้วยดี ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตการณ์การเงินเอเชียในช่วงระหว่างปี 1997 – 1998 และวิกฤตการณ์การเงินโลกในปี 2008 แต่ในปี 2006 บริษัทได้ผู้บริหารใหม่เข้ามาช่วยบริหารจัดการธุรกิจสินค้าโภคภัณฑ์ด้านการเกษตรและพลังงาน Noble จึงเดินหน้าตะลุยซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้า ไล่ตั้งแต่โรงงานน้ำตาลในประเทศบราซิล โรงเก็บเมล็ดพืชในประเทศยูเครน และโรงงานสกัดน้ำมันในประเทศจีนยูเครน แอฟริกาใต้ และอเมริกาใต้ บริษัทผันตัวเองจากการเป็นบริษัทเทรดดิ้งที่ขนส่งสินค้าโภคภัณฑ์ระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภคซึ่งมีความเสี่ยงต่างๆ ที่ต้องจัดการมากมาย ด้วยเหตุนี้ เขาจึงยื่นใบลาออกในปี 2010 ก่อนที่บริษัทจะมีปัญหาด้านบัญชี ก่อนที่ราคาหุ้นของบริษัทจะหล่นฮวบฮาบ โดยในปีเดียวกันนั้นเขาได้ตัดสินใจขายหุ้นในบริษัทออกไปส่วนหนึ่ง และนำเงินที่ได้จากการขายหุ้นจำนวน 285 ล้านเหรียญไปซื้อบริษัท Fleet Management จาก Noble เป็นเงิน 75 ล้านเหรียญ ซึ่งบริษัทดังกล่าวเป็นธุรกิจที่ทำกำไรให้กับ Caravel สูงสุดในปัจจุบัน ในปี 2013 เขาได้ตัดสินใจขายหุ้นจำนวนที่เหลือและก่อตั้งบริษัท Caravel ขึ้น “ธุรกิจของเราเติบโตอย่างยั่งยืนจนเป็นบริษัทเดินเรือที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก (รองจากบริษัท Anglo-Eastern Univan ของฮ่องกงและ V Group ของ London) ด้วยวิธีการเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป เราไม่เคยต้องเพิ่มทุน ธุรกิจของเราเติบโตโดยอาศัยการแนะนำแบบปากต่อปากและความน่าเชื่อถือดังกล่าวช่วยให้เราได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับบริษัทใหญ่ๆ ในวงการ” รูปแบบการทำธุรกิจของ Caravel เป็นเกราะกำบังบริษัทให้รอดพ้นจากความเสี่ยงต่างๆ ได้เป็นอย่างดี โดยธุรกิจเรือช่วยสร้างรายรับค่าธรรมเนียมที่สม่ำเสมอ ธุรกิจเทรดดิ้งสินค้าโภคภัณฑ์ช่วยเพิ่มผลตอบแทนที่สูงขึ้นในระยะสั้น และธุรกิจบริหารสินทรัพย์ช่วยสร้างผลตอบแทนที่สม่ำเสมอในระยะยาว “บริษัทของเราจะเดินเรือผ่านท้องนทีแห่งความผันแปรด้วยความยืดหยุ่นและความแคล่วคล่องว่องไวเฉกเช่นเรือ Caravel” ฺBangaทิ้งท้าย
คลิกอ่านฉบับเต็ม "ชีวิตนี้ลิขิตเอง" ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ เมษายน 2560 ในรูปแบบ e-Magazine