ขวากหนามที่บั่นทอนการลงทุน - Forbes Thailand

ขวากหนามที่บั่นทอนการลงทุน

FORBES THAILAND / ADMIN
27 Oct 2016 | 12:06 PM
READ 818

บริษัทผู้ผลิตเสื้อผ้ายักษ์ใหญ่สัญชาติเกาหลีฝ่าฟันอุปสรรคในบังกลาเทศมาอย่างโชกโชน และตอนนี้กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาครั้งใหม่

เรื่อง: Megha Bahree เรียบเรียง: นวตา สันติวัฒนา จากประสบการณ์ที่คร่ำหวอดในวงการผลิตเสื้อผ้าในบังกลาเทศมายาวนานกว่า 36 ปี Ki-hak Sung ได้ก้าวขึ้นเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของประเทศ เขาผ่านร้อนผ่านหนาวสถานการณ์วิกฤตของบังกลาเทศมาหลายครั้งหลายครา ทั้งภัยน้ำท่วมฉับพลันอันรุนแรงและการนัดหยุดงานประท้วงที่โรงงานของเขาเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งใหญ่ที่โรงงานของบริษัทอื่นๆ ไปจนถึงการปฏิวัติและลอบสังหารทางการเมือง จากการนั่งตำแหน่งประธานกรรมการ Youngone บริษัทสัญชาติเกาหลี แม้ว่าจะมีวิกฤตเกิดขึ้นมากมาย รวมถึงข้อขัดแย้งกับรัฐบาลบังกลาเทศในการพัฒนาโรงงานสีเขียวที่ดำเนินต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน แต่เขายังเปี่ยมไปด้วยความกระตือรือร้น “ผมเติบโตขึ้นมาพร้อมกับบังกลาเทศ ที่นี่คือสังคมที่หล่อหลอมการดำเนินชีวิตของผม” เขากล่าวจากห้องทำงานที่ชั้นบนของโรงงานใน Chittagong เมืองท่าที่สำคัญของบังกลาเทศ ตัวเลขรายได้ของ Youngone สำหรับปีงบประมาณที่เพิ่งผ่านมาเมื่อเดือนธันวาคมอยู่ที่ 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (กำไรสุทธิ 129 ล้านเหรียญ) โดย 800 ล้านเหรียญ จากรายได้รวมมาจากสินค้าที่ผลิตขึ้นโดยแรงงาน 65,000 คน จากโรงงาน 3 แห่งในบังกลาเทศ และรายได้ส่วนที่เหลือมาจากสินค้าที่ผลิตขึ้นที่โรงงานในเอลซัลวาดอร์ เวียดนามและ Qingdao ของจีน (บริษัทกำลังจะเปิดโรงงานแห่งใหม่ในเอธิโอเปีย) รายได้รวมอุตสาหกรรมเสื้อผ้าของบังกลาเทศในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 2.8 หมื่นล้านเหรียญ คิดเป็นสัดส่วนราว 82% ของมูลค่าการส่งออกของประเทศและมีการจ้างงานราว 4 ล้านอัตราซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแรงงานผู้หญิง Youngone นับเป็นบริษัทผู้บุกเบิกธุรกิจเมื่อเข้าไปเปิดโรงงานแห่งแรกช่วงปี 1980 Farooq Sobhan ประธานบริหารของ Bangladesh Enterprise Institute องค์กรไม่หวังผลกำไรที่มุ่งพัฒนาธุรกิจภาคเอกชนในบังกลาเทศยกความดีความชอบให้กับ Youngone ในฐานะผู้ที่ช่วยให้ภาคธุรกิจนี้เติบโต “พวกเขากระตุ้นให้อุตสาหกรรมขยายตัวแบบทวีคูณ เนื่องจากมีบริษัทเกาหลีตามเข้าเปิดกิจการอีกมากมาย และคนจำนวนมากได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากพวกเขา” Sobhan กล่าว Youngone และ Sung “ได้สร้างมาตรฐานไว้สูง ทั้งในด้านเงื่อนไขการจ้างงานสภาพแวดล้อมการทำงาน ทักษะและประสิทธิภาพการปฏิบัติงานซึ่งพนักงานจำนวนมาก ได้บ่มเพาะทักษะความสามารถ และหลังจากนั้นมักย้ายไปทำงานที่อื่นหรือไม่ก็เปิดบริษัทของตัวเอง” ทั้งนี้ Youngone เดินหน้าเข้าไปเปิดธุรกิจในบังกลาเทศโดยไม่ได้ตั้งใจ “หลายคนยกย่องว่าผมมีสายตาแหลมคมที่กล้าตัดสินใจเข้าไปบุกเบิกธุรกิจในบังกลาเทศ แต่ที่จริงแล้วผมไม่ได้มองเห็นการณ์ไกลขนาดนั้น” Sung วัย 69 ปี กล่าวถึงอดีตขณะส่งเสียงหัวเราะเบาๆ “เราเพียงแค่ถูกชักจูงไปตามสถานการณ์ที่น่าดึงดูด” ครอบครัวของเขาไม่ได้มีฐานะร่ำรวย ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1970 เขาสมัครเข้าเป็นพนักงานขายที่บริษัทส่งออกวิกผมและเสื้อผ้าแห่งหนึ่งของเกาหลี โดยรับผิดชอบดูแลลูกค้าจากฝั่งยุโรป การทำงานในวงการธุรกิจทำให้เขาได้รู้จัก 2 เพื่อนร่วมชาติที่มีอายุมากกว่าเขาและได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัทผู้ผลิตเสื้อผ้า Youngone ในตอนนั้น Sung อายุเพียง 27 ปี เขาถือหุ้นในสัดส่วนที่น้อยกว่าอีก 2 ผู้ร่วมหุ้นและกลายเป็นคนเดียวที่ทุ่มเททำงานหนักและเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลัก หลังจากนั้นเพื่อนของหุ้นส่วนคนหนึ่งซึ่งเป็นชาวบังกลาเทศได้ชักชวนให้บริษัทไปเปิดโรงงานที่นั่น ดำเนินการเช่าตึกหลังหนึ่งพร้อมเริ่มจ้างคนงาน 300 คน หลังจากนั้นไม่นาน Zia ur Rahman ประธานาธิบดีของบังกลาเทศถูกสังหารจากการปฏิวัติ หุ้นส่วนของ Sung ปฏิเสธไม่ยอมเดินทางไปยังบังกลาเทศอีก ทำให้หน้าที่รับผิดชอบทั้งหมดตกอยู่ที่ Sung ในปี 1984 ความสัมพันธ์ระหว่างเขาและหุ้นส่วนเริ่มมีปัญหา เขาจึงรวบรวมเงินก้อนหนึ่งและกู้ยืมอีกส่วนหนึ่ง เพื่อเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดที่บังกลาเทศไม่มีคำว่าหันหลังกลับ จากเหตุการณ์วิกฤตทั้งหลายมาจนถึงวันนี้ Youngone ฟันฝ่ามาได้ด้วยการมุ่งเป้าผลิตสินค้าเสื้อผ้ากีฬา บริษัทเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ผลิตเสื้อผ้าแบรนด์ North Face ในเกาหลีและมีลูกค้าเป็นบริษัทชั้นนำระดับโลกในวงการกีฬาตั้งแต่ Nike, Adidas, Patagonia, L.L. Bean ไปจนถึง Lululemon ในช่วงแรกอุตสาหกรรมเสื้อผ้าออกกำลังกายเป็นตลาดเฉพาะกลุ่มที่อยู่ภายใต้ข้อกำหนดโควต้าการผลิตและส่งออกระหว่างประเทศ Youngone เป็นผู้เข้าสู่ตลาดรายแรกๆ และประสบความสำเร็จจากการเกาะกระแสความต้องการของผู้บริโภคเมื่อสามารถวางรากฐานที่มั่นคงในบังกลาเทศได้ Sung จึงเริ่มวางแผนจัดตั้งเขตส่งเสริมการส่งออกสำหรับบริษัทเกาหลี (Korean Export Processing Zone หรือ EPZ) ในบังกลาเทศ โดยหวังที่จะดึงกลุ่มบริษัทผู้ผลิตรายอื่นๆ มาเข้าร่วม เพื่อเป้าหมายดังกล่าวบริษัทตัดสินใจซื้อที่ดินขนาด 2,492 เอเคอร์ (ประมาณ 6,300 ไร่) ในปี 1999 โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่าของ Chittagong และอยู่ไม่ไกลจากเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมด้วยการเดินทางโดยเรือเฟอร์รี่ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานใหม่ที่สร้างขึ้น ในขณะเดียวกัน ระหว่างรอใบอนุญาตซึ่งเป็นไปอย่างล่าช้า Sung ได้จัดการปรับปรุงพื้นที่ให้สวยงามและก่อประโยชน์ Youngone ปลูกต้นไม้กว่า 1.8 ล้านต้น สร้างทะเลสาบหลายแห่งและบ่อกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งถือว่าเป็นบ่อน้ำภาคเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ปัจจุบันพื้นที่แห่งนี้สวยงามจนให้ความรู้สึกเหมือนเป็นรีสอร์ท มีทั้งเนินเขาเขียวชอุ่ม อากาศบริสุทธิ์ ฝูงนกหลากหลายพันธุ์และมีสุนัขจิ้งจอกโผล่มาเป็นบางครั้ง นอกจากนี้ยังมีสนามกอล์ฟที่เปิดให้ทุกคนโดยเฉพาะพนักงานสามารถเข้าไปใช้บริการในราคาประมาณ 6 เหรียญ สุดท้าย Youngone ก็ได้รับใบอนุญาตที่ต้องการในปี 2009 และลงมือสร้างโรงงาน 4 แห่งพร้อมเปิดดำเนินการภายในเวลา 2 ปี ปัจจุบันบริษัทมีพนักงาน 15,000 คนจากโรงงานทั้งหมด 18 แห่งใน KEPZ และวางแผนที่จะขยายพื้นที่สำหรับแผนกประกอบการตัดเย็บเพิ่มเติมอีก 100 โซน ซึ่งแต่ละโซนประกอบด้วยแรงงานประมาณ 1,000 คน ภายใน 5 ปีข้างหน้า ขณะที่เรื่องน่าปวดหัวเกี่ยวกับใบอนุญาตในบังกลาเทศของ Sung ยังไม่จบลงง่ายๆ แต่เขากล่าวว่า เหตุการณ์ที่กลุ่มก่อการร้ายจับตัวประกันชาวต่างชาติที่ร้านอาหารระดับหรูแห่งหนึ่งใน Dhaka เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา คือเรื่องที่น่าเป็นห่วงที่สุดจากปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ลูกค้าส่วนใหญ่หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังบังกลาเทศ และบริษัทข้ามชาติซึ่งรวมถึง Youngone ได้ดำเนินการเรียกตัวพนักงานที่เป็นชาวต่างชาติออกจากประเทศ ลูกค้าบางรายซึ่งรับรู้ดีถึงความผูกพันที่เขามีต่อบังกลาเทศเอ่ยถามอย่างสุภาพถึงความเป็นไปได้ในการผลิตสินค้าที่โรงงานในประเทศตลาดเกิดใหม่อื่นๆ ของ Youngone อย่างไรก็ตาม Sung ยังคงไม่ถอดใจกับบังกลาเทศ “ผมหายใจอากาศเดียวกันกับชาวบังกลาเทศคนอื่นๆ ดังนั้นผมยังไม่คิดที่จะตัดใจไปมุ่งขยายโรงงานที่อื่นสำหรับตอนนี้” เขากล่าว “เราขอประเมินสถานการณ์อีกสัก 2-3 เดือนว่าเหตุการณ์จะออกมาอย่างไร สำหรับการลงทุนที่ผมได้หว่านเมล็ดเอาไว้ ผมต้องการบรรลุเป้าหมายให้เร็วที่สุดมันเป็นภาระหน้าที่ของผมในการพัฒนาบังกลาเทศ ประเทศนี้ต้องการเรา”
คลิ๊กอ่าน ฉบับเต็ม "ขวากหนามที่บั่นทอนการลงทุน" ได้ที่ Fobes Thailand Magazine ฉบับ SEPTEMBER 2016