Forbes เผยรายชื่อ 50 มหาเศรษฐีอินโดนีเซีย ประจำปี 2020 ซึ่งกว่าครึ่งหนึ่งมีมูลค่าทรัพย์สินลดลง จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ขวางการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ แม้ว่ามูลค่าทรัพย์สินรวมของพวกเขาทั้ง 50 อันดับจะลดลงเพียงร้อยละ 1.2 อยู่ที่ 1.33 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ
ปัจจุบัน อินโดนีเซียมีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายวันพุ่งสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ โดยมีตัวเลขผู้ติดเชื้อรวมทั้งหมดมากกว่า 5 แสนราย ซึ่งสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน
ล่าสุด พบว่าอัตราการหดตัวทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียในไตรมาสที่ 2 และ 3 หดตัวอยู่ที่ร้อยละ 5.3 และ 3.5 (เมื่อเทียบกับปี 2019) ตามลำดับ ขณะที่ดัชนีอ้างอิงในตลาดหุ้นปรับตัวลงกว่าร้อยละ 10 เท่าในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา นับเป็นการเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวครั้งแรกของประเทศหลังประสบวิกฤตการเงินในเอเชียเมื่อปี 1997
สำหรับในปีนี้ พี่น้องมหาเศรษฐี R.Budi และ Michael Hartono ยังคงครองตำแหน่งมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของประเทศเป็นปีที่ 12 อย่างต่อเนื่อง ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 3.88 หมื่นล้านเหรียญ ตามมาด้วยตระกูล Widjaja ผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัท Sinar Mar Group ที่รั้งตำแหน่งมหาเศรษฐีอันดับ 2 ของประเทศ ด้วยมูลค่าทรัพย์สินที่เพิ่มมากขึ้นถึง 2.3 พันล้านเหรียญ รวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 1.19 หมื่นล้านเหรียญ
ด้าน Prajogo Pangestu ยังคงครองตำแหน่งมหาเศรษฐีอันดับ 3 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 แม้ว่ามูลค่าทรัพย์สินจะลดลงร้อยละ 21 มาอยู่ที่ 6 พันล้านเหรียญ จากการปรับตัวลงของราคาหุ้นในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ขณะที่หุ้นของ Emtek ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำให้ Eddy Kusnadi Sariaatmadja มีมูลค่าทรัพย์สินที่ครอบคลุมทั้งในส่วนของเขาและครอบครัวเพิ่มมากขึ้นราวร้อยละ 80 รวมเป็นมูลค่า 1.4 พันล้านเหรียญ จนกล่าวได้ว่า Elang Mahkota Teknologi (Emtek) เป็นธุรกิจที่เติบโตมากที่สุดแห่งปี จากการที่มีจำนวนผู้เข้าใช้บริการอี-คอมเมิร์ซและสตรีมมิงเพิ่มสูงขึ้นในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
นอกจากนี้ ทำเนียบมหาเศรษฐีอินโดนีเซียประจำปี 2020 ยังปรากฎ 3 รายชื่อมหาเศรษฐีหน้าใหม่ ได้แก่ Susanto Suwarto วิศวกรอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม ผู้ร่วมก่อตั้ง Emtek ที่เข้ามาครองอันดับ 50 ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 475 ล้านเหรียญ ขณะที่พี่น้อง Wijono และ Hermanto Tanako ผู้ก่อตั้ง Avia Avian บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สี มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 700 ล้านเหรียญ และคนสุดท้าย Jerry Ng คืออดีตนายธนาคาร ที่เข้าซื้อกิจการธนาคาร Bank Jago ในปี 2019 ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น Bank Artos เพื่อพร้อมสำหรับการต่อยอดสู่ธนาคารดิจิทัลในอนาคตขณะที่ Irwan Hidayat จากธุรกิจ Sido Muncul ผู้ผลิตยาสมุนไพรรายใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย ที่มียอดขายเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 41 ส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินปรับขึ้นมาอยู่ที่ 1.55 พันล้านเหรียญ โดยยาที่ขายดีที่สุดในช่วงที่ผ่านมา คือ ยาแก้หวัด Tolak Angin
ทั้งนี้ 4 มหาเศรษฐีอินโดนีเซียที่มีรายชื่อปรากฎอยู่ในการจัดอันดับประจำปี 2019 แต่ไม่ได้เข้าสู่ทำเนียบของปีนี้ อาทิเช่น พี่น้อง Kusnan และ Rusdi Kirana เจ้าของธุรกิจสายการบิน Lion Air เป็นต้น
โดย 10 อันดับมหาเศรษฐีอินโดนีเซีย ประจำปี 2020 จากการจัดอันดับโดย Forbes มีรายชื่อดังต่อไปนี้ อันดับ 1 R. Budi & Michael Hartono ประเภทธุรกิจ: กลุ่มธุรกิจ มูลค่าทรัพย์สิน 3.88 หมื่นล้านเหรียญ อันดับ 2 Widjaja Family ประเภทธุรกิจ: หลากหลาย มูลค่าทรัพย์สิน 1.19 หมื่นล้านเหรียญ อันดับ 3 Prajogo Pangestu อายุ 76 ปี ประเภทธุรกิจ: ปิโตรเคมี มูลค่าทรัพย์สิน 6 พันล้านเหรียญ อันดับ 4 Anthoni Salim อายุ 71 ปี ประเภทธุรกิจ: หลากหลาย มูลค่าทรัพย์สิน 5.9 พันล้านเหรียญ อันดับ 5 Sri Prakesh Lohia อายุ 68 ปี ประเภทธุรกิจ: ปิโตรเคมี มูลค่าทรัพย์สิน 5.6 พันล้านเหรียญ อันดับ 6 Susilo Wonowidjojo อายุ 64 ปี ประเภทธุรกิจ: ยาสูบ มูลค่าทรัพย์สิน 5.3 พันล้านเหรียญ อันดับ 7 Jogi Hendra Atmadja อายุ 74 ปี ประเภทธุรกิจ: สินค้าอุปโภคบริโภค มูลค่าทรัพย์สิน 4.3 พันล้านเหรียญ อันดับ 8 Boenjamin Setiawan อายุ 87 ปี ประเภทธุรกิจ: เวชภัณฑ์ มูลค่าทรัพย์สิน 4.1 พันล้านเหรียญ อันดับ 9 Chairul Tanjung อายุ 58 ปี ประเภทธุรกิจ: หลากหลาย มูลค่าทรัพย์สิน 3.9 พันล้านเหรียญ อันดับ 10 Tahir อายุ 68 ปี ประเภทธุรกิจ: หลากหลาย มูลค่าทรัพย์สิน 3.3 พันล้านเหรียญ แปลและเรียบเรียงโดย ชญาน์นัทช์ ธนินท์พงศ์ภัค จากบทความ Indonesia’s 50 Richest 2020: In A Pandemic Year, More Than Half Saw Fortunes Decline เผยแพร่บน Forbes.com อ่านเพิ่มเติม: สตรีทรงอิทธิพลที่สุดในโลก ประจำปี 2020