พวกเราได้จัดทำทำเนียบนี้เป็นปีที่ 16 เพื่อยกย่องเศรษฐีใจบุญระดับแนวหน้าของภูมิภาคผู้มีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าในอุดมการณ์ส่วนตัวในด้านต่างๆเช่น การศึกษาและสิ่งแวดล้อม
เราคัดเลือกเหล่า 15 ผู้ใจบุญ (มีทั้งแบบคู่และเดี่ยว) เข้าติดทำเทียบ โดยในปี 2022 มีผู้เข้ามาใหม่ 9 อันดับ และเรายังพิจารณาผู้ที่เคยได้รับเกียรติในปีก่อนๆ ด้วยเช่นกัน
หากในระยะหลังนี้พวกเขามีส่วนร่วมช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์จนเหมาะสมจะได้กลับเข้าทำเนียบมาอีกครั้งทำเนียบนี้ไม่มีการจัดอันดับ แต่เรามองหาเศรษฐีผู้ใจบุญในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกซึ่งบริจาคเงินเป็นจำนวนมากจากกองทรัพย์สินของตนเอง รวมทั้งอุทิศเวลาและความใส่ใจเพื่ออุดมการณ์ที่ตนเลือกด้วย
ทำเนียบนี้ไม่นำการช่วยเหลือสังคมในนามบริษัทมาพิจารณา เว้นแต่บริษัทเหล่านั้นจะเป็นบริษัทเอกชนที่มีบุคคลเดียวเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
7 เศรษฐีใจบุญแห่งเอเชีย ตอนที่1
Gautam Adani
ประธานกรรมการ Adani Group
อายุ: 60 ปี • อินเดีย
Gautam Adani เศรษฐีอันดับ 1 ของอินเดียประกาศบริจาคเงิน 6 แสนล้านรูปี (7.7 พันล้านเหรียญ) ในวันเกิดครบรอบ 60 ปีของเขาเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทำให้เขาติดหนึ่งในกลุ่มผู้ใจบุญที่บริจาคเงินมากที่สุดของประเทศ ซึ่งเงินนี้จะนำไปใช้ในเรื่องการสาธารณสุข การศึกษาและการพัฒนาทักษะ
“เมื่อดูลึกลงไปในระดับพื้นฐานแล้วเห็นได้ว่าโครงการทั้งสามด้านนี้เป็นองค์รวมที่จะร่วมกันขับเคลื่อนการสร้างอินเดียที่เสมอภาคและพร้อมก้าวสู่อนาคต” Adani กล่าวเมื่อเขาประกาศเรื่องการบริจาค โดยเงินจำนวนนี้จะจ่ายผ่าน Adani Foundation มูลนิธิของตระกูลที่มีกิจกรรมการช่วยเหลือสังคมแบ่งเป็น 9 ประเภท ซึ่งรวมถึงงาน 3 ประเภทที่จะได้รับเงินบริจาคในเดือนมิถุนายน 2022 ก้อนนี้ด้วย
Adani Foundation ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 1996 มีภรรยาของเขา Priti Adani เป็นประธานกรรมการและเป็นตัวหลักมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง มูลนิธินี้ช่วยเหลือผู้คนทั่วอินเดียได้ปีละเกือบ 3.7 ล้านคน รายงานโดย - Ramakrishnan Narayanan
Cliff Obrecht
ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ Canva
อายุ: 36 ปี • ออสเตรเลีย
Melanie Perkins
ซีอีโอ Canva
อายุ: 35 ปี • ออสเตรเลีย
ภายในช่วงเวลาไม่กี่เดือนหลังจากที่บริษัทกราฟิกดีไซน์ของพวกเขาระดมทุนมาได้ 200 ล้านเหรียญจากรอบการระดมทุนที่บริษัทนี้มีมูลค่าประเมิน 4 หมื่นล้านเหรียญเมื่อปี 2021 สองผู้ร่วมก่อตั้ง Canva คือ Melanie Perkins และ Cliff Obrecht ก็เจริญรอยตามเศรษฐีพันล้านผู้ใจบุญคนอื่นๆ ด้วยการลงนามกับโครงการ The Giving Pledge เพื่อสัญญาว่าจะบริจาคทรัพย์สินจำนวนมหาศาลของตนในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่
สามีภรรยาคู่นี้ยกหุ้นเกือบทั้งหมดของพวกเขาใน Canva (30% จากที่ถืออยู่ทั้งหมด 31%) เพื่อโครงการทำความดี โดยผ่านมูลนิธิ Canva Foundation ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการกุศลของบริษัท และพวกเขากล่าวว่า การตัดสินใจครั้งนี้ “ไม่เพียงเป็นโอกาสครั้งมหึมา แต่ยังเป็นความรับผิดชอบที่สำคัญด้วย”
ที่ผ่านมา Canva ช่วยสนับสนุนการต่อสู้กับโควิด-19 ในอินเดียและกองทุนที่ปฏิบัติงานเพื่อมนุษยธรรมในยูเครน และบริจาคเงิน 10 ล้านเหรียญเพื่อทำาโครงการในประเทศมาลาวี โดยมอบเงินให้แก่ผู้ประสบภาวะยากจนสุดขีดโดยตรง
นอกจากนี้ บริษัทยังมอบสิทธิ์การใช้งานแพลตฟอร์มระดับพรีเมียมให้แก่องค์กรไม่แสวงกำาไรกว่า 250,000 ราย และเปิดตัวโครงการ Canva for Education ซึ่งเป็นบริการที่ออกแบบมาให้นักเรียนและครูระดับอนุบาลจนถึงมัธยมปลายได้ใช้ฟรี
แพลตฟอร์มกราฟิกดีไซน์อายุ 10 ปีรายนี้เผื่อว่าเมื่อเดือนตุลาคม 2022 ที่ผ่านมาว่า เครื่องมือซอฟต์แวร์ของบริษัทมีผู้ใช้งานกว่า 100 ล้านคนทุกเดือน แต่เมื่อไม่นานมานี้นักลงทุนปรับลดมูลค่าประเมินของบริษัทเหลือ 2.6 หมื่นล้านเหรียญเนื่องจากตลาดหุ้นกลุ่มเทคโดยรวมทรุด
รายงานโดย - Danielle Keeton-Olsen
Jean Salata
ประธานกรรมการ EQT Asia
อายุ: 56 ปี • ฮ่องกง
Melanie Salata
ผู้จัดการทรัพย์สิน Salata Family Foundation
อายุ: 56 ปี • ฮ่องกง
Jean Salata ประธานกรรมการของบริษัทไพรเวทอิควิตี้ EQT Asia ในฮ่องกงกับภรรยาชื่อ Melanie บริจาคเงิน 200 ล้านเหรียญเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาเพื่อก่อตั้ง Salata Institute for Climate and Sustainability ที่ Harvard University
“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาที่จะกำหนดชะตากรรมของคนรุ่นเรา และเป็นความท้าทายที่จะชี้ชะตาของลูกหลานเราด้วย” Salata กล่าวให้สัมภาษณ์ผ่านทางอีเมล
ที่ผ่านมาทั้งคู่เคยบริจาคเงินให้สถาบันการศึกษาอื่นเช่นกันซึ่งรวมถึงเงินบริจาค 5 ล้านเหรียญในปี 2021 เพื่อช่วยสร้าง Salata Technology and Innovation Center ให้โรงเรียน Cathedral Prep-Villa Maria ในสหรัฐฯ ที่ Jean เคยเรียนมัธยมปลาย
แต่นี่เป็นครั้งแรกที่พวกเขาช่วยสนับสนุนโครงการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ โดยสถาบันนี้จะช่วยประสานงานด้านการวิจัยให้มหาวิทยาลัย ให้ทุนวิจัย ช่วยพัฒนาหลักสูตร และเชื่อมโยงนักศึกษากับศิษย์เก่าในสายงานดังกล่าว
“ผมมองโลกในแง่ดีว่า หากมนุษยชาติร่วมมือกันก็จะสร้างความแตกต่างได้ เพราะมันไม่ง่าย เราไม่มีทางทำคนเดียวได้ประเทศเดียวก็ไม่มีทางทำได้ งานนี้เป็นความท้าทายระดับโลก” Salata กล่าว
Salata ซึ่งเป็นชาวชิลีย้ายมาอยู่ฮ่องกงเมื่อปี 1989 และเข้าทำงานกับ Baring Private Equity Asia (BPEA) เมื่อปี 1997 ก่อนจะนำกลุ่มผู้บริหารเข้าซื้อกิจการของ Baring และเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา EQT ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ Stockholm ก็ซื้อกิจการมูลค่า 7.5 พันล้านเหรียญของ BPEA เสร็จสิ้น และก่อตั้ง BPEA EQT
รายงานโดย - Jonathan Burgos
Geoffrey Cumming
ผู้ก่อตั้ง Karori Capital
ออสเตรเลีย
Geoffrey Cumming ทำการกุศลครั้งประวัติศาสตร์ในปี 2022 ด้วยการบริจาคเงิน 250 ล้าน เหรียญออสเตรเลีย (168 ล้าน เหรียญ) ให้ University of Melbourne ซึ่งเป็นเงินบริจาคแบบให้ครั้งเดียวจำนวนมากที่สุดครั้งหนึ่งของออสเตรเลีย
เงินก้อนนี้จะเป็นทุนสำหรับศูนย์วิจัยด้านการบำบัดรักษาโรคระบาดที่จะใช้ชื่อของ Cumming เป็นชื่อศูนย์ และศูนย์นี้จะตั้งอยู่ใน Peter Doherty Institute for Infectionand Immunity (สถาบัน Peter Doherty เพื่อวิจัยการติดเชื้อและภูมิคุ้มกัน) ของมหาวิทยาลัย โดยเขากล่าวไว้ในข่าวประชาสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัยไว้ว่า
“ศูนย์วิจัยด้านการแพทย์ระดับโลกแห่งใหม่นี้เป็นโครงการระยะยาวที่จะช่วยปกป้องสังคมโลกจากโรคระบาดต่างๆ ได้ดีขึ้นในอนาคต ศูนย์นี้จะดึงดูดนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ชั้นยอดจากออสเตรเลียและทั่วโลก โดยทำสัญญาจ้างระยะยาวให้มาร่วมกันทำโครงการวิจัยด้านการแพทย์ที่ออกแบบมาเพื่อให้โลกมีความสามารถในการฟื้นตัวเพิ่มขึ้น”
ความมั่งคั่งของ Cumming มาจากอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ
เขาเป็นผู้กุมบังเหียนของ Asamera Oil, Gardiner Oil & Gas และ Western Oil Sands ซึ่งทั้งหมดตั้งอยู่ในแคนาดา และเขายังก่อตั้งบริษัทลงทุน Emerald Capital และ Karori Capital ด้วย
ชายผู้มีสัญชาติทั้งแคนาดาและนิวซีแลนด์คนนี้เคยบริจาคเงิน 100 ล้านเหรียญให้ศูนย์วิจัยด้านการแพทย์ของ University of Calgary อีกทั้ง เป็นผู้ริเริ่มและให้ทุนการแจกรางวัล Ryman Prize ซึ่งมอบให้แก่ผู้มีผลงานช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ
รายงานโดย - D. K-O.
Li Ka-shing
ที่ปรึกษาอาวุโส CK Hutchison Holdings
อายุ: 94 ปี • ฮ่องกง
ช่วงปีที่ผ่านมาเศรษฐีพันล้านชาวฮ่องกง Li Ka-shing บริจาคเงินไปแล้วกว่า 1 พันล้านเหรียญฮ่องกง (128 ล้านเหรียญ) ให้กับโครงการหลากหลายทั้งในจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง และประเทศอื่นๆ ผ่านมูลนิธิ Li Ka Shing Foundation ของเขา ซึ่งรวมถึงเงินทุน 150 ล้าน เหรียญฮ่องกงสำหรับงานวิจัยในคณะแพทยศาสตร์ของ Chinese University of Hong Kong และเงินสนับสนุนการต่อสู้กับโควิด-19 อีกกว่า 70 ล้านเหรียญฮ่องกง
มูลนิธินี้มีเป้าหมายช่วยลดแรงกดดันที่เกิดขึ้นกับระบบสาธารณสุขของฮ่องกงด้วยการสนับสนุนให้โรงพยาบาลเอกชนช่วยรักษาผู้ป่วยโรคอื่นๆ นอกเหนือจากโควิดและช่วยซื้ออุปกรณ์ป้องกันโรคให้บ้านพักคนชรา รวมทั้งอาหารสำหรับผู้ด้อยโอกาส
ในระยะหลายปีมานี้มูลนิธิยังบริจาคเงินช่วยเหลือธุรกิจในท้องถิ่นที่ถูกผลกระทบจากการประท้วงทางการเมืองในฮ่องกงเมื่อปี 2019 และผลกระทบในช่วงโควิดระบาดหลังจากนั้นด้วย
ตามข้อมูลของมูลนิธิระบุว่า นับตั้งแต่ปี 1980 มูลนิธิได้มอบทุนสนับสนุนกับโครงการริเริ่มต่างๆ ไปแล้วกว่า 3 หมื่นล้านเหรียญฮ่องกง ซึ่งมีทั้งด้านการศึกษาบริการด้านการแพทย์ และโครงการต่อสู้ความยากจน โดยโครงการประมาณ 80% มุ่งเน้นงานในจีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกง รายงานโดย - Jessica Tan
Shiv Nadar
ผู้ร่วมก่อตั้ง HCL
อายุ: 77 ปี • อินเดีย
เศรษฐีพันล้านใจบุญผู้สร้างฐานะด้วยตัวเอง Shiv Nadar เป็นหนึ่งในผู้ที่บริจาคเงินมากที่สุดในอินเดีย เขาบริจาคทรัพย์สินไปแล้วเกือบ 1.1 พันล้านเหรียญในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมาเพื่องานการกุศลด้านต่างๆ ผ่านมูลนิธิ Shiv Nadar Foundation ของเขาเอง และในปี 2022 เขาได้บริจาคเงิน 1.16 หมื่นล้านรูปี (142 ล้านเหรียญ) ให้มูลนิธิดังกล่าวซึ่งเขาเป็นผู้ก่อตั้งเมื่อปี 1994 โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างสังคมแห่งความเท่าเทียมด้วยฐานรากแห่งความดีโดยการมอบอำนาจให้ผู้คนผ่านการศึกษา
มูลนิธิให้ข้อมูลว่า แนวทางของที่นี่คือการทำ “การกุศลอย่างสร้างสรรค์” โดยมุ่งเน้นการสร้างผลกระทบระยะยาวไปอีกหลายชั่วอายุคน
Nadar ผู้ร่วมก่อตั้ง HCL Technologies (เขาสละตำแหน่งบริหารในบริษัทให้บริการด้านไอทีแห่งนี้เมื่อปี 2021) ช่วยก่อตั้งสถาบันการศึกษา เช่น โรงเรียนและมหาวิทยาลัยผ่านมูลนิธิของเขาซึ่งก็สนับสนุนศิลปะและวัฒนธรรมด้วย ผู้จัดการทรัพย์สินของมูลนิธินี้คือ ภรรยาของเขา Kiran Nadar ลูกสาว Roshni Nadar Malhotra และลูกเขย Shikhar Malhotra รายงานโดย - R. N.
Ronnie Chan
ประธานกรรมการ Hang Lung Group
อายุ: 73 ปี • ฮ่องกง
Gerald Chan
ผู้ร่วมก่อตั้ง Morningside Group
อายุ: 71 ปี • ฮ่องกง
ตระกูล Chan ยังเต็มใจให้การสนับสนุนมหาวิทยาลัยของสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2022 มูลนิธิ Morningside Foundation ของตระกูลนี้บริจาคเงิน 100 ล้านเหรียญให้ Massachusetts Institute of Technology เพื่อก่อตั้งวิทยาลัยการออกแบบ MIT Morningside Academy for Design
วิทยาลัยนี้เปิดตัวในเดือนกันยายนที่ผ่านมา และจะดูแลโครงการวิชาการและงานวิจัยด้านการออกแบบทั่ว MIT โดยเน้นความร่วมมือระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการวางแผน MIT กล่าวว่า จะนำเงินทุนดังกล่าวมาใช้สำหรับนักวิจัย อาจารย์ และโครงการอื่นๆ
“การออกแบบคือการใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างเป็นระบบ และการเรียนออกแบบก็จะช่วยเสริมกันกับวิชากลุ่ม STEM (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์) แบบดั้งเดิมได้” Gerald Chan
ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทจัดการเงินลงทุน Morningside Group และกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหารของกลุ่มธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ Hang Lung ของฮ่องกงกล่าวไว้ในข่าวประชาสัมพันธ์ของ MIT โดยเขาบอกว่า การเรียนออกแบบจะช่วยให้นักศึกษาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์มีเครื่องมือใช้สร้างนวัตกรรมและเสริมว่า “MIT เป็นบ้านที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการหลอมรวมวิชาออกแบบเข้ากับวิชากลุ่ม STEM”
MIT เป็นผู้ได้ประโยชน์รายล่าสุดจากการบริจาคให้กับบรรดามหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ ของตระกูล Chan ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกันยายน ปี 2021 มูลนิธิของตระกูลบริจาคเงิน 175 ล้าน เหรียญให้คณะแพทยศาสตร์ของ University of Massachusetts ซึ่งเป็นเงินบริจาคก้อนใหญ่ที่สุดเท่าที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้เคยได้รับมา
เมื่อปี 2014 มูลนิธิก็บริจาคเงิน 350 ล้านเหรียญให้ Harvard University ที่ Gerald เรียนจบมา ซึ่ง ณ ตอนนั้นถือเป็นเงินบริจาคก้อนใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ 386 ปีของมหาวิทยาลัย
รายงานโดย - Catherine Wang
อ่านเพิ่มเติม: การจัดอันดับ 50 มหาเศรษฐีไต้หวัน ประจำปี 2023