เมื่อโอกาสไม่ได้วางตรงหน้า เกรียงไกร จึงพา SCI หาน่านน้ำใหม่ใน สปป. ลาว และเมียนมา ผ่านธุรกิจพลังงานและโทรคมนาคมที่เชี่ยวชาญ หมายมาดการเติบโตในระยะยาว
คติประจำใจที่ เกรียงไกร เพียรวิทยาสกุล วัย 38 ปี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีไอ อีเลคตริค จำกัด (มหาชน) หรือ SCI ยึดถือในการดำเนินธุรกิจมาตลอดก็คือ “high risk, high return.” จึงไม่น่าแปลกใจที่จะเห็นความมุ่งมั่นฉายชัดและการพูดคุยอย่างฉะฉานถึงธุรกิจของ SCI ในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งสะท้อนความกล้าเสี่ยงของเขาได้เป็นอย่างดี ทุกวันนี้ SCI มีธุรกิจทั้งในไทยและต่างประเทศรวม 4 กลุ่ม คือ ธุรกิจผลิตและจำหน่ายตู้สวิทช์บอร์ด รางเดินสายไฟและอุปกรณ์รองรับ ธุรกิจผลิตและจำหน่ายเสาไฟฟ้าแรงสูง เสาสื่อสารโทรคมนาคม โครงสร้างเหล็กชุบกัลวาไนซ์และบริการชุบสังกะสี ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน และธุรกิจบริการรับเหมาติดตั้งระบบส่งไฟฟ้าแรงสูงและระบบไฟฟ้าจำหน่าย ผู้เล่นหลัก “เสาไฟฟ้าแรงสูง-เสาสื่อสารโทรคมนาคม” ในยุคอุตสาหกรรมรุ่งโรจน์ มีการเปิดนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง รุ่นลูกในครอบครัว “พฤฒินารากร”เห็นว่าสวิทช์บอร์ดและรางเดินสายไฟคืออุปกรณ์สำคัญสำหรับผู้ใช้ไฟ ปี 2530 จึงหันมาทำธุรกิจดังกล่าวในชื่อ บริษัท เอส.ซี.ไอ. อีเลคตริค แม็นนิวแฟ็คเชอเรอ จำกัด (แปรสภาพเป็น SCI และเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในเดือนตุลาคม ปี 2558) ป้อนสินค้าให้โครงการทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น โรงงานหลายแห่งในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดจ. ระยอง ต่อมาความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศมีมาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) จึงได้ชักชวนให้ เอส.ซี.ไอ. อีเลคตริค แม็นนิวแฟ็คเชอเรอ ผลิตเสาไฟฟ้าแรงสูง บริษัทจึงซื้อโนว์ฮาวจากญี่ปุ่นและตั้งเป็น บริษัท อาจีกาว่า แอนด์ เอสซีไอ เมทัล เทค จำกัด ในปี 2531 รับงานผลิตโครงเหล็กเสาไฟฟ้าแรงสูง เสาสื่อสารโทรคมนาคมและโครงสร้างเหล็กสถานีไฟฟ้า ปัจจุบันผลิตได้ราว 85% ของกำลังการผลิตสูงสุด 24,000 ตัน/ปี ปี 2544 ครอบครัวเรียกตัว เกรียงไกร กลับเพื่อบริหารธุรกิจของตระกูล โดยมี “อาอี๊” เช่น อุนนดา พฤฒินารากร ซึ่งเป็นประธานกรรมการบริหาร และญาติคนอื่นๆ ให้คำแนะนำชั้นเชิงธุรกิจ โดยเขาคิดถึงการหาสินค้าใหม่ๆ ที่โรงงานสามารถผลิตได้ นำสู่ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานอย่างการร่วมทุนกับพันธมิตรก่อตั้ง บริษัท สตาร์ เรลล์ จำกัด เปิดโรงงานทำหมอนคอนกรีตรองรางรถไฟ “ถ้าเป็นโรงงานผลิตเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงและเสาสื่อสารฯ เรามองว่าเราเป็นอันดับต้นๆ ซึ่งจุดเด่นที่ทำให้ลูกค้าไว้ใจเพราะเรารักษาคุณภาพและมีกำหนดส่งมอบสินค้าชัดเจน” ซีอีโอหนุ่มกล่าวถึงธุรกิจที่สร้างรายได้เกือบ 50% ให้ SCI ซึ่งนอกจากจะจำหน่ายในไทยบริษัทยังส่งออกไปต่างประเทศด้วย เช่น อินโดนีเซีย บรูไน ฮ่องกง ฯลฯ การแข่งขันในธุรกิจผลิตเสาไฟฟ้าแรงสูงและโครงเหล็กค่อนข้างสูง โดยเป็นการขับเคี่ยวด้านราคาทั้งช่วงเสนอราคากับรัฐวิสาหกิจและช่วงที่ผู้รับเหมาซื้อเสาไฟฟ้าแรงสูงจากโรงงาน โดยมีความผันผวนของราคาเหล็กเป็นอีกปัจจัยสำคัญในการกำหนดราคา ส่วนธุรกิจตู้สวิทช์บอร์ดนั้น ผลประกอบการของบริษัทในปี 2559 หดตัวลง การแข่งขันสูงขึ้นทั้งจำนวนผู้เล่นขนาดเล็ก การแข่งขันด้านราคา และการกดราคา ขณะที่ธุรกิจเสาสื่อสารโทรคมนาคมเติบโตสอดรับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า จากการเติบโตของเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ถือครอง 188 ล้านเลขหมาย ล้วนแล้วกระตุ้นให้ SCI โตไปด้วยตามแผนขยายโครงสร้างพื้นฐาน เสียบปลั๊กพลังงานในลาว เมื่อลูกค้าหลักคือหน่วยงานรัฐวิสาหกิจไม่ได้มีแผนติดตั้งเสาไฟฟ้าใหม่เพิ่มในปริมาณมาก อีกทั้งธุรกิจโทรคมนาคมก็ยังไม่โตเท่าทุกวันนี้ ปี 2549 เกรียงไกรจึงตัดสินใจออกหาโอกาสในตลาดต่างประเทศ โดยมุ่งสู่ลาวที่มียุทธศาสตร์ “Battery of Asia” เนื่องจากมีทรัพยากรน้ำอุดมสมบูรณ์ สภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาเหมาะกับการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำ และลาวก็ตั้งเป้าจำหน่ายไฟฟ้าให้ประเทศเพื่อนบ้านด้วย SCI ศึกษาโครงการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำขนาดเล็ก กำลังการผลิตราว 3.2 เมกะวัตต์ มูลค่าการลงทุน 8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในพื้นที่ Savannakhet ภายใต้ บริษัท ตาดสเลน พาวเวอร์ จำกัด (TAD) ซึ่ง SCI ถือหุ้น 100% เมื่อเข้าไปสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำแล้วธุรกิจอื่นก็ตามมาและสร้างรายได้ให้ SCI มากกว่า 30% “ทางการลาวเห็นว่าเรามุ่งมั่นทำธุรกิจกับเขาจริงๆ ประกอบกับที่นั่นมีโรงไฟฟ้าค่อนข้างเยอะ เขาก็เลยให้งานรับเหมาติดตั้งเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงกับเราต่อจากงานเขื่อน” ปี 2553 เกรียงไกรเข้าไปรับเหมาก่อสร้างแบบให้บริการครบวงจร (Engineering, Procurement, Construction-EPC) นำเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงจากไทยไปติดตั้งในบริเวณลาวใต้แถบ Sekong และ Pakse จากนั้นในปี 2556 บริษัทก็ได้งานเพิ่มอีกหนึ่งโครงการและแล้วเสร็จในปี 2558 “ตอนนั้นก็เหนื่อยคิดว่าจะสำเร็จไหม แต่พอผ่านปัญหาต่างๆ ไปได้ งานก็ทยอยมาเรื่อยๆ” เขาเล่าพลางยิ้ม รุกสร้างโรงงานในเมียนมา SCI เคยบุกเมียนมามาแล้วในปี 2540 เพราะเห็นว่าตลาดค่อนข้างใหญ่และมีประชากรมากจึงตั้งสำนักงานและเปิดรับยอดสั่งผลิตตู้สวิทช์บอร์ดผ่านตัวแทนที่เป็นพันธมิตรท้องถิ่น แต่ทุกอย่างกลับตาลปัตรเพราะลูกค้าเกือบทั้งหมดใช้การผ่อนจ่าย ทำให้เปิดได้เพียงปีเดียวก็ต้องม้วนเสื่อกลับไทย กระทั่งปี 2557-2558 บริษัทจึงมองเมียนมาอีกครั้งเพราะรัฐบาลเปิดประเทศ ออกกฎหมายรองรับนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น และมีแผนพัฒนาประเทศด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้งระบบไฟฟ้าและโทรคมนาคม กลายเป็นเหตุผลหนึ่งที่ SCI เขาตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อปี 2558 เพื่อนำเงินมาลงทุนกับโครงการในเมียนมา SCI ก่อตั้ง บริษัท เอสซีไอ เมทัล เทค (เมียนมาร์) จำกัด (SCIMTMM) สร้างโรงงานผลิตและจำหน่ายเสาไฟฟ้าแรงสูง เสาสื่อสารโทรคมนาคม และโครงเหล็กชุบกัลวาไนซ์ด้วยงบประมาณ 16 ล้านเหรียญ บนเนื้อที่ 25 ไร่ ภายใน Thilawa Special Economic Zone ห่างจากกรุง Yangon ไปทางใต้ราว 40 นาที “เราเป็นนักลงทุนต่างชาติรายแรกที่เข้าไปตั้งโรงงานผลิตเสาส่งฯ และเสาสื่อสารฯ เพราะเขามีโรงงานแค่แห่งเดียวซึ่งเป็นของรัฐบาลทหารเก่า เราจะเป็นทั้งผู้ผลิตและจะต่อยอดเป็นผู้รับเหมาด้วย ตอนนี้ผู้รับเหมาจะมาจากจีนเป็นหลัก ส่วนคนไทยยังไม่มีใครเข้าไปรับเหมาด้านนี้” SCIMTMM ตั้งกำลังการผลิตไว้ที่ 7,500 ตัน/ปี ส่วนงานชุบกัลวาไนซ์ตั้งไว้ที่ 24,000 ตัน/ปี วางกลุ่มลูกค้าหลักเป็นผู้รับเหมา ชูจุดเด่นที่การผลิตสินค้าอย่างรวดเร็ว ประหยัดเวลาและต้นทุนการขนส่ง เขายังมีแผนจะนำตู้สวิทช์บอร์ดเข้าไปจำหน่ายอีกครั้ง เพราะมี อาคารสำนักงานและโรงงานผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ร่วมทุนพลังงานทดแทน ส่วนหนึ่งที่จะช่วยดันรายได้คือ บริษัท ที ยูทิลิตี้ส์ จำกัด (TU) ซึ่งก่อตั้งในปลายปี 2558 เป็นการร่วมทุนระหว่าง SCI กับ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) (PF) ในสัดส่วน 45:45 และอีก 10% เป็นนักลงทุนบุคคล เน้นลงทุนด้านไฟฟ้าและน้ำประปาในไทย ล่าสุดคือการทยอยติดตั้งและผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาโรงงานอุตสาหกรรม 12 แห่ง ซึ่ง TU เป็นผู้ลงทุนทั้งหมด เฉลี่ย 30-35 ล้านบาท/เมกะวัตต์ และขายไฟฟ้าให้โรงงานโดยตรง และตั้งเป้าให้ TU สร้างรายได้ สม่ำเสมอให้ SCI ทั้งนี้ TU ยังมองเรื่องโรงไฟฟ้าพลังงานลม ขณะนี้ติดตั้งเสาวัดลมในจุดที่มีศักยภาพแล้ว 4 แห่งในภาคอีสานและภาคใต้ ผลงานที่โดดเด่น ทำให้เกรียงไกรขึ้นสู่ตำแหน่งซีอีโอในปี 2558 เขายอมรับว่ามีความท้าทายและกดดันอยู่บ้างเพราะผู้ถือหุ้นทุกคนย่อมอยากเห็นการเติบโตเชิงผลกำไร อีกทั้งยังมีความเห็นต่างในการบริหารงานระหว่างรุ่น แต่เมื่อพูดคุยและปรับทิศทางให้ตรงกันก็ผ่านไปได้อย่างราบรื่น เกรียงไกรบอกว่าทุกวันนี้บริษัทมีทีมงานที่ดี ประกอบกับพี่สาวคือ อรจิตและอรนุช เข้ามาช่วยด้านการตลาด ส่วนธนวัฒน์ และ ณัฐชา ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องเป็นประธานเจ้าหน้าที่การเงินและรับผิดชอบด้านนักลงทุนสัมพันธ์ตามลำาดับ พร้อมมีเครือญาติที่ยังให้คำแนะนำอันเป็นประโยชน์อยู่เสมอ ฉะนั้นแม้ต้องเผชิญปัญหาอะไรแต่ทั้งหมดก็จะร่วมกันสร้าง SCI ให้กล้าแกร่งต่อไปในอนาคตคลิกเพื่ออ่าน "SCI เปิดเกมรุกธุรกิจพลังงานเพื่อนบ้าน" จาก Forbes Thailand ฉบับเดือนตุลาคม 2560 ในรูปแบบ e-Magazine