แม้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในจีนแผ่นดินใหญ่จะถูกปัญหารุมเร้า แต่เศรษฐีพันล้านชาวฮ่องกง Vincent Lo กำลังเล่นเกมยาวกับ Shui On Group ของเขาด้วยการวางเดิมพันครั้งใหญ่กับอสังหาฯ ใน Shanghai และเตรียมการให้ Stephanie ลูกสาวมาเป็นผู้สืบทอด
แม้ตลาดอสังหาฯ ในจีนแผ่นดินใหญ่จะยังเดือดร้อน แต่ Vincent Lo เศรษฐีพันล้านนักพัฒนาอสังหาฯ จากฮ่องกงยังเห็นแสงสว่างส่องผ่านเมฆทะมึนลงมาได้ “ตลาดตอนนี้เป็นขาลงอย่างไม่ต้องสงสัย และมีนักพัฒนาที่ดินทำอะไรเกินตัวกันเยอะ” ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการของ Shui On Group กล่าวในการให้สัมภาษณ์พิเศษกับเราในฮ่องกงเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
“แต่ท่ามกลางปัญหาสารพัดก็มีโอกาสครั้งใหญ่ให้เราซื้อที่ดินได้ราคาถูกเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี” เขาออกความเห็นนี้หลังจากที่ Shui On Land บริษัทเรือธงของกลุ่มเพิ่งจะทำอย่างที่เขาพูด โดย 1 วันก่อนหน้านั้นบริษัทประกาศว่าได้ซื้อที่ดินผืนใหญ่ 17,000 ตารางเมตรในเมือง Shanghai มาด้วยราคาประมาณ 2.4 พันล้านหยวน (350 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เป็นการซื้อผ่านบริษัทร่วมทุนกับบริษัทพัฒนาอสังหาฯ ของรัฐบาลที่ชื่อ Shanghai Yangshupu โดย Shui On Land ถือหุ้นอยู่ 60%
นี่คือการเดินหมากตามแบบของ Lo ผู้ขึ้นชื่อเรื่องมองการณ์ไกล เขาจะศึกษาข้อมูลเชิงลึกแล้ววางแผนงานหลักอย่างละเอียดรอบคอบสำหรับโครงการของเขา และถ้าใครกังขากับแนวทางดังกล่าว Lo ก็มีเครื่องยืนยันความสำเร็จจากการวางเดิมพันแบบกล้าได้กล้าเสียคล้ายกันนี้ซึ่งเขาเคยทำใน Shanghai เมื่อเกือบ 25 ปีก่อน นั่นคือโครงการ Xintiandi ตอนนั้นเขาซื้อกลุ่มอาคารเก่าแก่ที่สภาพโทรมเต็มทีซึ่งไม่เคยมีใครเข้าไปพัฒนาใหม่ เพราะเป็นอาคารที่ตั้งอยู่ในเขตซึ่งเป็นสถานที่ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อปี 1921
“คุณต้องลองนึกดูว่านั้นเป็นยุคแรกที่ Shanghai และจีนเริ่มพัฒนา ทุกวันนี้ใครๆ ก็อยากเข้ามาในจีน แต่ช่วงนั้นเป็นยุคที่เพิ่งผ่านพ้นวิกฤตการณ์การเงินของเอเชียปี 1997 มาหมาดๆ” Hei-Ming Cheng ประธานกรรมการบริษัทอสังหาฯ KaiLong กล่าว
บริษัทนี้ลงทุนกว่า 4 พันล้านเหรียญกับโครงการในจีนกว่า 50 โครงการช่วงปี 1998-2004 Cheng เคยเป็นผู้จัดการทั่วไปของ Shui On Land ใน Shanghai “Vincent เสี่ยงครั้งใหญ่จริงๆ เขาเป็นคนมีวิสัยทัศน์มาก เขาอยากทำอะไรที่แตกต่าง และงานนั้นเป็นโครงการซับซ้อนที่วางแผนมาอย่างดี ซึ่งตอนนั้นในจีนไม่มีใครทำแบบเขา” Cheng กล่าว
“มันคือการปฏิวัติวงการและพลิกโฉมการพัฒนาอสังหาฯ ใน Shanghai และในจีน” Shanghai ยุคนั้นยังซบเซา “เมืองยังมืดอยู่เลยแม้กระทั่งในย่านใจกลางเมืองกับแถบริมแม่น้ำ”
Shui On ยังเป็นบริษัทไม่ใหญ่จากฮ่องกงในช่วงที่ Lo เริ่มติดต่อเจ้าหน้าที่รัฐใน Shanghai เพื่อแนะนำว่าจะปกป้องย่านประวัติศาสตร์นี้ได้อย่างไร Lo ดึงสถาปนิกชาวอเมริกัน Ben Wood มาร่วมงานด้วย เขามีชื่อเสียงมาจากการปลุกชีพตลาด Faneuil Hall ซึ่งเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ของเมือง Boston โดย Wood วางแผนอนุรักษ์อาคารเก่าด้วยการเปลี่ยนให้เป็นร้านอาหาร ร้านค้าและสถานบันเทิงหรูหรา
พลันที่โครงการ Xintiandi เปิดตัวในปี 2002 ก็ได้รับความทันที่และยังเป็นที่นิยมมาจนถึงทุกวันนี้ ที่นี่เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาอสังหาฯ ซึ่งทำกำไรมากที่สุดในจีน และเป็นโครงการที่สร้างกำไรให้ Shui On ได้อย่างสม่ำเสมอที่สุดเท่าที่บริษัทเคยมีมา
พอร์ตอสังหาฯ ของ Shui On Land ใน Shanghai ทำเงินประมาณ 3 ใน 4 ของรายได้จากค่าเช่าและรายได้ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งหมด ซึ่งเกือบทั้งหมดในจำนวนนั้นมาจากโครงการระดับแลนด์มาร์กที่ได้รับรางวัลโครงการนี้ สรุปสั้นๆ ได้ว่า Xintiandi คือเพชรยอดมงกุฎของ Lo บนเส้นทางอันยาวไกลในวงการอสังหาฯ ของเขา
ปัจจุบันเขากำลังใช้ความคิดอย่างหนักเพื่อสร้างบริษัทให้แข็งแกร่งขึ้นไปอีก โดยเขากำลังเตรียมแผนงานครั้งใหญ่ที่สำคัญที่สุดอยู่ นั่นคือการส่งมอบงานให้ทายาทรุ่นต่อไป ซึ่งเขาก็ค้นคว้าและวางแผนมาอย่างรอบคอบเช่นเคย
Lo ผู้ที่มีอายุ 75 ปีเมื่อเดือนเมษายนปีนี้เริ่มพูดถึงการหาผู้สืบทอดมาตั้งแต่ปี 2011 และเขาส่งสัญญาณว่าจะให้ Stephanie Lo ลูกสาววัย 40 ปี เป็นผู้สืบทอดตัวจริงที่จะรับช่วงดูแลกลุ่มบริษัทต่อไปมาตั้งแต่ตอนที่แต่งตั้งเธอเป็นกรรมการบริหารของ Shui On Land ในปี 2018 (เธอเริ่มทำงานที่ Shui On ตั้งแต่ปี 2012)
ปัจจุบันเธอเป็นกรรมการบริหารของ Shui On Land และเป็นรองประธานกรรมการและกรรมการบริหารของ Shui On Xintiandi ซึ่งเป็นสายธุรกิจของ Shui On ที่ดูแลโครงการ Xintiandi
Adrian Lo น้องชายวัย 34 ปี ของ Stephanie ก็มาทำงานที่ Shui On ด้วย โดยเป็นผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาองค์กรของ Socam บริษัทสายธุรกิจก่อสร้างของ Shui On ในฮ่องกง เขาเข้ามาทำงานเมื่อปี 2018 หลังจากทำร้านอาหารและธุรกิจรับจัดอาหารนอกสถานที่ในฮ่องกงอยู่ 5 ปี
จากข้อมูลในช่วงกลางปี 2022 Lo และลูกๆ ถือหุ้นส่วนใหญ่ใน Shui On Land และ Socam และพี่น้อง 2 คนนี้ก็ดูจะทำงานเข้าขากันดี
“การหาผู้สืบทอดไม่เคยเป็นเรื่องอยากเลย” Lo กล่าว หัวใจสำคัญของกระบวนการนี้คือ เขาต้องปรึกษากับลูกๆ และทีมผู้บริหาร ซึ่ง Stephanie กล่าวว่า การหารือเรื่องนี้กินเวลามาเกือบ 1 ทศวรรษ “เราทุกคนมานั่งหารือกันในเรื่องหน้าที่รับผิดชอบ เราต้องรับความคาดหวังอะไรบ้าง และจะต่อยอดจากมรดกของคุณพ่อได้อย่างไร” เธอเล่า
ทุกคนช่วยกันร่างธรรมนูญครอบครัวซึ่ง Stephanie เรียกว่า เป็นแนวทางสำหรับบริษัทและเป็นวัฒนธรรมที่ตระกูลอยากสร้างไว้ให้ทายาทรุ่นต่อๆ ไป “เราคุยกันยาวเกี่ยวกับเรื่องอนาคต” Adrian กล่าว “การกำหนดค่านิยมของเราให้ตรงกันเป็นเรื่องสำคัญ”
Lo มีแรงดลใจที่อยากให้ Shui On เดินหน้าไปอย่างราบรื่น พ่อของเขา Lo Ying-Shek ก่อตั้งบริษัทอสังหาฯ และโรงแรมชื่อ Great Eagle เมื่อ 60 ปีก่อน แต่เมื่อเขาเสียชีวิตไปในปี 2006 ลูกๆ 9 คนก็ต้องมาติดอยู่ในศึกแย่งชิงมรดกอันน่ารังเกียจจนถึงบัดนี้
แม่ของ Lo ซึ่งอายุ 103 ปีแล้วและพี่ชาย 2 คนกับพี่สาวอีกคนยังต้องรบรากับพี่ชายอีกคนคือ Lo Ka Shui ซึ่งเป็นประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการของ Great Eagle อยู่ ส่วน Vincent ซึ่งเป็นกรรมการที่ไม่มีอำนาจบริหารของ Great Eagle กล่าวว่า พ่อของเขาตั้งใจยกให้ Ka Shui บริหารบริษัทนี้ชัดๆ อยู่แล้วและรำพึงว่าพี่น้องฟ้องร้องกันวุ่นวายจนเขาไม่ได้ไปเยี่ยมแม่มาหลายปีแล้ว “มันน่าเศร้า” เขากล่าว และเขาตั้งใจแน่วแน่ว่าจะไม่ให้เกิดเรื่องแบบนี้ที่ Shui On
Stephanie กล่าวว่า บริษัทจะยังเน้นธุรกิจในจีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกงต่อไป เพราะ “แบรนด์กับการบริหารและขีดความสามารถในการทำโครงการของเราที่นี่นั้นแข็งแกร่งกว่าที่อื่นมาก” เธอย้ำความสำคัญของ Shanghai ในฐานะเป็นการลงทุนโดยกล่าวว่าเมืองนี้ “ใกล้จะก้าวขึ้นมาเป็นเมืองระดับโลกแล้ว”
Stephanie กล่าวว่า ที่ดิน 17,000 ตารางเมตรผืนล่าสุดที่บริษัทซื้อไว้บนถนน Pingliang ในเขต Yangpu จะได้รับการพัฒนาเป็นอสังหาฯ แบบมิกซ์ยูสซึ่งจะมีการอนุรักษ์อาคารเก่าไว้เช่นกัน แต่จะไม่ทำเป็นร้านหรูระดับเดียวกับที่ Xintiandi และเธอก็กำลังเป็นหัวหอกดำเนินกลยุทธ์ในจีนโดยมีพ่อคอยแนะนำ
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ชื่นชม การตัดสินใจซื้อที่ดินในครั้งนี้ ซึ่งจะช่วยให้ Shui On สร้างธุรกิจได้อย่างมั่นคงใน Shanghai Wood ซึ่งอาศัยอยู่ใน Shanghai กล่าวว่า “โจทย์ใหญ่สำหรับ Shui On ไม่ได้อยู่ที่ใครจะมาเป็นผู้นำ แต่บริษัทจะอยู่รอดได้อย่างไรในจีนซึ่งวันนี้เปลี่ยนไปจากเดิมมาก”
เขาอธิบายว่าตอนนี้การแข่งขันสูงกว่าเดิม และโครงการคุณภาพสูงอย่าง Xintiandi ก็ลงทุนแพง แต่เขากล่าวว่า Stephanie ซึ่งจบปริญญาตรีด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์จาก Wellesley College รัฐ Massachusetts และมีประสบการณ์ทำงานกับบริษัทสถาปัตยกรรมและการออกแบบใน New York มาหลายแห่งนั้นถือว่ามีพื้นฐานดี “เธอรู้จักงานสถาปัตย์ เป็นผู้ฟังที่ดีเหมือนพ่อ ชอบถามคำาถาม และขอความเห็นจากทุกคนในห้องประชุม” เขากล่าว
Stephanie กล่าวว่า หลักการสำคัญในแนวทางการทำธุรกิจของเธอคือ การทำให้ Shui On Land ทำธุรกิจอย่างยั่งยืนมากขึ้นที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหลายรายตั้งข้อสังเกตว่าอุตสาหกรรมก่อสร้างนั้นปล่อยคาร์บอนเยอะมากและยังมีคำาตอบไม่กี่อย่างที่ช่วยให้การผลิตเหล็กและคอนกรีตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม Stephanie ประกาศว่า จะลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนของบริษัทลงให้ได้ 65% ภายในปี 2030 Eric Ricaurte ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Greenview บริษัทที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ในสิงคโปร์กล่าวว่า มีบริษัทเยอะแยะท่ที่พูเรื่องลดการปล่อยคาร์บอน แต่ “Shui On กำลังพยายามสร้างความแตกต่างอยู่จริงๆ โดยยึดมั่นต่อเป้าหมายที่ตั้งไว้สูงและประกาศต่อสาธารณชน” ซึ่งเขาเสริมว่า “นี่เป็นเรื่องที่หาได้ยาก โดยเฉพาะในจีน”
งานอีกอย่างหนึ่งที่ Shui On อาจต้องเหนื่อยเป็นพิเศษคือ บริษัทพยายามสร้างโครงการแบบเดียวกับ Xintiandi ในเมืองรองของจีนแผ่นดินใหญ่ เช่น Dalian, Hangzhou และ Wuhan ซึ่งโครงการเหล่านี้ทำผลงานได้แตกต่างกันไป “พวกเขาอยากท้าทายข้อจำกัดด้วยโครงการที่ซับซ้อนมากเหล่านี้” James Macdonald หัวหน้าของ Savills Research China กล่าว
แต่เขากล่าวว่า Shui On อาจจะรุกเข้าเมืองพวกนี้เร็วไปหน่อย และทุนพัฒนาโครงการก็แพงเกินไป แต่ในขณะเดียวกัน Lo ก็ต่อยอดความสำเร็จใน Shanghai เพิ่มจาก Xintiandi ได้อีกด้วยการสร้าง Taipingqiao ซึ่งเป็นชุมชนขนาดใหญ่มีพื้นที่ครอบคลุม 52 เฮกตาร์ (เท่ากับเมืองในสหรัฐฯ ซึ่งมีราว 80 บล็อก) โดนบางส่วนเป็นพื้นที่พักอาศัยและพื้นที่สำนักงานที่แพงที่สุดในเมือง รวมถึงมีสวนสาธารณะและทะเลสาบที่ขุดสร้างขึ้นมา
Shui On ต้องตั้งหลักใหม่อีกครั้งหลังจากพ้นช่วงปั่นป่วนเพราะโควิด-19 มูลค่าทรัพย์สินของ Shui On ตกวูบไปพร้อมกับเศรษฐกิจจีนในช่วงเกิดโรคระบาด จากทั้งผลกระทบของการล็อกดาวน์และการที่ตลาดอสังหาฯ ในจีนแผ่นดินใหญ่ตกต่ำหลังจากรัฐบาลเข้ามาปราบปรามเรื่องการกู้เงินของบรรดานักพัฒนาอสังหาฯ
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ (National Bureau of Statistics) ชี้ว่า มูลค่าโดยประมาณของภาคธุรกิจอสังหาฯ ลดลง 5.1% ในปี 2022 ขณะที่การลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ตกไป 10% ซึ่งเป็นภาวะตกต่ำครั้งแรกนับตั้งแต่เริ่มบันทึกข้อมูลในปี 1999 เป็นต้นมา
ทั้งหุ้นและรายได้ของ Shui On Land ลดฮวบไปพร้อมกัน ทำให้บริษัทต้องเลื่อนแผนการนำสินทรัพย์ Xintiandi เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยเสนอขายหุ้น IPO ในฮ่องกงในเดือนมีนาคมปี 2022 ออกไป ซึ่ง Lo กล่าวว่า น่าจะมีการนำเรื่องนี้กลับมาดูกันอีกครั้ง
ถ้าสภาวะตลาดดีขึ้นกำไรส่วนของผู้ถือหุ้นหายไปเกินกึ่งหนึ่งในครึ่งแรกของปี 2022 เหลือ 450 ล้านหยวน ส่วนรายได้ดิ่งลงไป 63% เหลือ 4.4 พันล้านหยวน แม้ยอดทำสัญญาซื้อขายจะพุ่งขึ้น 55% เป็น 1.87 หมื่นล้านหยวนในช่วงดังกล่าว แต่ยอดขายทั้งปีลดลง 10% เหลือ 2.72 หมื่นล้านหยวน (บริษัทยังไม่เปิดเผยผลประกอบการปี 2022 ทั้งปี)
หุ้นของบริษัทนี้ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงตกถึงพื้นในช่วงสิ้นเดือนตุลาคม และฟื้นตัวขึ้นมาหลังจากนั้น ทำให้ Lo ยังอยู่ในอันดับ 43 ในทำเนียบรายชื่อ Hong Kong’s 50 Richest ด้วยทรัพย์สินสุทธิประมาณ 1.7 พันล้านเหรียญ “เรายังอยู่ในจุดที่แข็งแรงเอามากๆ” Lo กล่าว
“ผมตื่นเต้นกับโอกาสที่เข้ามา” จีนออกมาตรการพยุงตลาดอสังหาฯ เมื่อเดือนพฤศจิกายน แต่ Lo และคนอื่นๆ ในภาคูรกิจจีนเชื่อว่าเมื่อบริษัทใหญ่ในจีนแผ่นดินใหญ่อย่าง China Evergrande Group และ Shimao Group ยังเผชิญปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ก็คงต้องเกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ “แล้วก็จะมีการขายสินทรัพย์ในราคาถูก” เขาเสริม และกล่าวว่า Shui On Land ซึ่งมีเงินสดอยู่ 1.5 หมื่นล้านหยวนพร้อมจะซื้อสินทรัพย์จากบริษัทที่มีปัญหา Cheng แห่ง KaiLong กล่าวว่า ราคาอสังหาฯ ในเมืองใหญ่ตอนนี้ร่วงลงมาประมาณ 30% แล้ว โดยอาคารบางแห่งขายกันในราคาเท่าเมื่อปี 2018
Shui On ยังยืนหยัดอย่างมั่นคง จากข้อมูล ณ กลางปี 2022 ระบุว่า Shui On Land มีที่ดินอยู่ในมืออยู่ 9.4 ล้านตารางเมตร โดย 6.9 ล้านตารางเมตรในจำนวนนี้สามารถขายและปล่อยให้เช่า ทั้งนี้ทางกลุ่มมี 13 โครงการที่กำลังก่อสร้างอยู่ในเมืองใหญ่ทั่วประเทศจีน และยังครอบครองโครงการอสังหาฯ ในฮ่องกง ซึ่งที่นี่ Lo ได้ก่อตั้งบริษัทเมื่อปี 1972 ด้วยเงิน 100,000 เหรียญที่กู้มาจากพ่อของเขา
นอกจากการขายและให้เช่าทรัพย์สินแล้ว บริษัทนี้ก็มีรายได้จากการดำเนินงานให้เช่าและค้าปลีกด้วย ซึ่งรวมถึงร้านอาหารและเครื่องดื่มกว่า 600 ร้าน
Lo ยังรู้สึกตื่นเต้นเมื่อสัมผัสได้ถึงโอกาสใหม่ในฮ่องกงอีกครั้งการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยที่ปะทุขึ้นในปี 2019 และการล็อกดาวน์เพราะโรคระบาดผลักให้เมืองศูนย์กลางการเงินแห่งนี้เข้าสู่ภาวะถดถอย 2 รอบนับตั้งแต่ปี 2020 แต่นักวิเคราะห์คาดว่าปีนี้ฮ่องกงจะฟื้นตัวได้
Lo กล่าวว่า เมืองนี้ “กลับมาทำให้รู้สึกถึงความมั่นคงได้อีกครั้ง” โครงการหนึ่งที่ดูมีอนาคตสดใสคือ แผนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจอ่าว (Greater Bay Area) ซึ่งมีเป้าหมายจะผนึกกำลัง 9 เมืองในภาคใต้ของจีนเข้ากับ 2 เขตเศรษฐกิจพิเศษคือ ฮ่องกงและมาเก๊า รัฐบาลฮ่องกงชี้ว่า พื้นที่นี้มีประชากร 86 ล้านนคน และมี GDP เกือบ 1.7 ล้านล้านเหรียญ ซึ่ง Lo กล่าวว่าถ้ามองพื้นที่นี้เป็นเขตเศรษฐกิจอิสระก็จะถือว่าใหญ่เป็นอันดับ 8 ของโลก
“รัฐบาลจีนอยากให้ฮ่องกงเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมและเทคโนโลยี” Lo กล่าว ซึ่งเมืองนี้จะเป็นศูนย์กลางการเงินนานาชาติให้ Greater Bay Area ได้ด้วยระบบธนาคารและกฎหมายที่มั่นคงมาช้านาน “มันจะเหมือน Silicon Valley บวกกับ New York” เขากล่าว “ผมว่าอนาคตของฮ่องกงจะสดใสมากๆ เลย” และกล่าวว่า Shui On Land อยู่ในตำแหน่งดีมากที่จะใช้ประโยชน์จากโอกาสนี้ นอกจากจะมีรากฐานมั่นคงในฮ่องกงแล้ว บริษัทยังมีโครงการมิกซ์ยูสใน Foshan ซึ่งเป็นเมืองหนึ่งในโครงการ Greater Bay Area ซึ่งจะช่วยให้บริษัทสร้างธุรกิจและชื่อเสียงได้เป็นอย่างดีในเขตนี้
ด้วยโอกาสกำลังจะเปิดขึ้นอีกครั้งเมื่อจีนกลับมาทำธุรกิจหลังจากไม่มีพัฒนาการใดๆ ระหว่างการล็อกดาวน์ช่วงโควิด-19 อันยาวนาน ดังนั้น Lo จึงพบว่ามันยากที่ตัวเองจะวางมือในตอนนี้ ทั้งที่เขาได้เตรียมการให้ Stephanie มาเป็นผู้สืบทอด และมอบหน้าที่รับผิดชอบให้ Adrian มากขึ้นก็ตาม
“คุณพ่อพูดเหรอคะว่าท่านอยากพัก” Stephanie ถามกลั้วหัวเราะ “ผมอยากจะกึ่งๆ เกษียณน่ะ” Lo กล่าว แต่ก็ยอมรับว่ากำลังครุ่นคิดเรื่องนี้อยู่ “ฉันว่าเราต้องเข้าใจว่าคุณพ่อรักงานนี้มากจริงๆ” ลูกสาวของเขากล่าว “ถ้าถามคุณพ่อว่า เลิกทำงานแล้วไปทำสิ่งที่ชอบดีไหม ท่านก็ชอบทำงานนั่นแหละ”
เรื่อง: Ron Gluckman เรียบเรียง: ธรรดร โสตถิอำรุง ภาพ: Lucus Schifres
อ่านเพิ่มเติม : "ยอด ชินสุภัคกุล" นำทัพ LINE MAN Wongnai ติดปีกยูนิคอร์นหมื่นล้าน