Bobby Hiranandani กำลังเตรียมตัวรับช่วงต่อการบริหาร Royal Group จากเศรษฐีพันล้าน Asok Kumar Hiranandani ผู้เป็นพ่อ เขากำลังปรับแต่งกลยุทธ์การพลิกฟื้นอสังหาริมทรัพย์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ทำกำไรได้อย่างรวดเร็วควบคู่ไปกับการเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการนำทีมบริหารโครงการที่คาดหวังกับความสำเร็จสูงสุดของกลุ่มบริษัท
Bobby Hiranandani แห่ง Royal Group กำลังเร่งเครื่องสุดตัวเพื่อเดินหน้าโครงการอันหรูหราที่สุดของบริษัทประจำตระกูลให้เสร็จสมบูรณ์ โครงการ Raffles Sentosa Resort & Spa ในสิงคโปร์ หลังจากต้องเสียเวลาล่าช้าไปนานนับปีจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานและการขาดแคลนแรงงานในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 รวมถึงสภาวะต้นทุนที่เพิ่มสูงเกินควร ซึ่งที่พักวิลล่าแบบครบวงจรแห่งนี้ตั้งเป้าว่าจะเริ่มต้อนรับแขกที่เข้าพักได้เป็นครั้งแรกในช่วงต้นปี 2024
รีสอร์ตหรูแห่งนี้เป็น 1 ใน 3 โครงการสำคัญที่นำทีมบริหารโดยลูกชายวัย 36 ปีของมหาเศรษฐี Asok Kumar Hiranandani ซึ่งจะเป็นบททดสอบความสามารถของเขาก่อนจะขึ้นกุมบังเหียนคุมอาณาจักรอสังหาริมทรัพย์ขนาดมหึมาของตระกูล เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา Royal Group เข้าซื้อกิจการห้างสรรพสินค้าเก่าแก่ในย่านหรูใกล้แหล่งช็อปปิ้งบนถนน Orchard ซึ่งทั้งพ่อและลูกชายวางแผนจะพัฒนามันขึ้นมาใหม่ควบคู่ไปกับสำนักงานใหญ่ของบริษัทใน Raffles Place ใจกลางย่านศูนย์กลางทางธุรกิจของสิงคโปร์
ด้วยทุนพัฒนาที่ประมาณการไว้สูงกว่า 900 ล้านเหรียญสิงคโปร์ (675 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) โครงการทั้งสามจะเข้ามาเสริมทัพสินทรัพย์ของบริษัทที่มีทั้งโรงแรม 6 แห่งในสิงคโปร์และมาเลเซีย อาคารสำนักงานใน Raffles Place ซึ่งประกอบด้วยอาคาร Royal Group Building สูง 19 ชั้น และยูนิตค้าปลีกหลายส่วน สำนักงาน และที่พักอาศัยต่างๆ ในย่านหรูอย่างศูนย์การค้าบนถนน Orchard และย่านใจกลางเมืองอย่าง Marina Bay แม้ว่าการพัฒนาโครงการขึ้นใหม่ดังกล่าวบางส่วนจะยังเป็นเพียงแผนการบนกระดาษ แต่ Bobby ก็ได้ขึ้นแท่นผู้บริหารอย่างเต็มตัว ในขณะที่ Asok วัย 68 ปีค่อยๆ ลดบทบาทของตัวเองลง
“ครอบครัวเราพูดคุยเรื่องธุรกิจของที่บ้านกันบนโต๊ะอาหารอยู่เสมอ” Bobby ประธานกรรมการร่วมแห่ง Royal Group กล่าว “ดังนั้น การที่ผมได้ขึ้นมารับตำแหน่งดูแลกิจการจึงไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร ผมเตรียมตัวมานานแล้วก่อนที่จะได้เข้ามารับหน้าที่นี้ พ่อสอนผมมาตั้งแต่ยังเล็ก”
Bobby ผ่านการบ่มเพาะให้เตรียมรับช่วงต่อจากพ่อมาตั้งแต่เกิด ขณะที่พี่สาวของเขา Dimple Hiranandani Aswani รับผิดชอบตำแหน่งกรรมการบริหารของบริษัท และมุ่งเน้นทำงานด้านการกุศล ในการเตรียมพร้อมสืบทอดกิจการของพ่อ Bobby หันหลังให้การศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยเพื่อมุ่งหน้าสู่การคว้าอนุปริญญาด้านการก่อสร้างอาคารและอสังหาริมทรัพย์จาก Ngee Ann Polytechnic เมื่อปี 2007 ในปีถัดมาขณะที่กำลังจะพ้นราชการทหารภาคบังคับของสิงคโปร์เขาได้ดูแลการก่อสร้างโรงแรม Park Regis Singapore ขนาด 202 ห้องใน Clarke Quay ใกล้ย่าน Raffles Place จนสำเร็จ แม้ว่าจะกำลังเกิดวิกฤตการเงินทั่วโลกก็ตาม
“สถานที่ก่อสร้างหลายแห่งปิดตัวลง แต่เรายังคงเดินหน้าและทำโครงการจนเสร็จสิ้นในปี 2009” Bobby ย้อนเล่า โครงการดังกล่าวขายได้เมื่อปี 2010 ในราคา 240 ล้านเหรียญสิงคโปร์ ทำกำไรให้ Royal Group มากถึง 70 ล้านเหรียญสิงคโปร์ ในปีถัดมา Bobby คุมโครงการพัฒนาอาคารขึ้นใหม่ TAS Building อาคารรูปแบบนีโอคลาสสิกที่สร้างขึ้นตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1920 และเป็นอาคารประวัติศาสตร์ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ตั้งของสถานีโทรเลข Eastern Extension Telegraph Company และองค์การโทรคมนาคมแห่งสิงคโปร์ ซึ่งตั้งอยู่ในย่านศูนย์กลางธุรกิจให้กลายเป็นโรงแรมหรูขนาด 134 ห้องในชื่อ So Sofitel Singapore อสังหาฯ แบบเช่าถือครองระยะยาวแห่งนี้ซึ่งทำกำไรได้ภายในเวลาไม่ถึงปีหลังจากเปิดตัวในเดือนพฤษภาคม ปี 2014 ถูกขายให้บริษัท Viva Land ของเวียดนามในราคา 240 ล้านเหรียญสิงคโปร์ สร้างสถิติราคาห้องพักสูงถึงห้องละ 1.8 ล้านเหรียญสิงคโปร์ และเปลี่ยนชื่อเป็น Hotel Telegraph
ข้อตกลงธุรกิจเหล่านี้ทำให้คู่พ่อ-ลูก Hiranandani หันมาสนใจกลยุทธ์กว้านซื้ออสังหาริมทรัพย์มาพัฒนาสร้างมูลค่าให้สูงและขายต่อเพื่อทำกำไร “พวกเขาเป็นนักลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ชาญฉลาดมากทีเดียว” Robert Hecker กรรมการผู้จัดการแห่ง Horwath HTL Asia Pacific บริษัทที่ปรึกษาด้านโรงแรมกล่าว “พวกเขาซื้อ นำมาปรับปรุง และขายต่อ ทำให้ได้ผลตอบแทนไวกว่าปกติมาก”
ในเดือนตุลาคม ปี 2019 พวกเขาขาย Darby Park Executive Suites ให้แก่บริษัท Invictus Developments ของ Bachtiar Karim เศรษฐีพันล้านชาวอินโดนีเซียในราคา 160 ล้านเหรียญสิงคโปร์ เพียงไม่กี่เดือนหลังจากซื้อต่อมาจาก Sime Darby ในราคาเพียง 93 ล้านเหรียญสิงคโปร์ หลังจากนั้น Invictus ได้ดำเนินการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แห่งนี้ซึ่งตั้งอยู่ถัดจากโรงแรม Shangri-La Singapore ขึ้นมาใหม่จนกลายเป็นโรงแรม The Standard ขนาด 143 ห้อง ซึ่งตั้งเป้าที่จะเปิดตัวในปีนี้
Royal Group สร้างรายได้กว่า 800 ล้านเหรียญสิงคโปร์จากการขายโครงการโรงแรมอย่างน้อย 5 โครงการในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยได้กำไรมากกว่า 300 ล้านเหรียญสิงคโปร์และนำเงินที่ได้ไปลงทุนในโครงการใหม่ๆ แนวทางธุรกิจดังกล่าวช่วยให้ Hiranandani ผู้พ่อมีทรัพย์สินสุทธิเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 1.7 พันล้านเหรียญ จากเดิม 910 ล้านเหรียญในปี 2012 ในตอนที่เขาติดอันดับบุคคลที่ร่ำรวยที่สุด 50 อันดับของสิงคโปร์เป็นครั้งแรกหลังจากแบ่งทรัพย์สินของตระกูลกับ Raj Kumar พี่ชายของเขา “เราไม่มีความรู้สึกยึดติดใดๆ กับโครงการต่างๆ ของเรา” Asok ประธานกรรมการ Royal Group อธิบาย “เราเป็นกิจการครอบครัวที่จำเป็นต้องหาเงินทุนใหม่ๆ อัดฉีดเข้ามาให้ธุรกิจ ซึ่งทุกๆ 5 ปีจะมีแผนการสร้างรายได้จากสินทรัพย์เพื่อนำเงินทุนก้อนใหม่ๆ เข้ามาเพิ่ม”
ตรงกันข้าม Raj และ Kishin ลูกชายของเขาซึ่งมีทรัพย์สินรวมกัน 3 พันล้านเหรียญและดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ชื่อคล้ายๆ กันอย่าง Royal Holdings และ RB Capital จากอาคารสำนักงานใน Raffles Place รวมทั้งในอีกตึกที่พวกเขาเป็นเจ้าของซึ่งตั้งอยู่อีกฟากหนึ่งของแม่น้ำสิงคโปร์ สะสมทรัพย์สินเพิ่มพูนขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น โรงแรม 5 ดาวอย่าง Intercontinental Singapore Robertson Quay ซึ่งพี่น้องตระกูล Hiranandani ไม่ได้ทำธุรกิจร่วมกันตั้งแต่หลังแบ่งทรัพย์สิน แต่ Asok กล่าวว่า พวกเขายังคงเจอกันบ่อยๆ เวลารับประทานมื้อกลางวันหรือมื้อค่ำร่วมกัน “เรายังคงเป็นครอบครัวเพียงแต่เราทำธุรกิจแยกกันก็เท่านั้น” เขากล่าว
Vijay Natarajan นักวิเคราะห์จาก RHB Capital ในสิงคโปร์นิยามกลยุทธ์ของ Royal Group ในการพัฒนาอสังหาฯ เพื่อสร้างผลตอบแทนที่รวดเร็วกว่าปกติว่าเป็นกลยุทธ์ที่แหวกแนวสำหรับในเอเชีย เนื่องจากบริษัทในวงการนี้มักจะมุ่งเน้นที่รายได้ระยะยาวมากกว่า “Royal Group เชี่ยวชาญในการพลิกฟื้นมูลค่าสินทรัพย์ ดังนั้น กลยุทธ์การเพิ่มมูลค่าของพวกเขาจึงจะยังสร้างรายได้เป็นอย่างดีต่อไปตราบเท่าที่พวกเขายังทำความเข้าใจและหาจังหวะในตลาดได้อย่างเหมาะสม และไม่ใช้การกู้เงินมาเพื่อเก็งกำไรมากจนเกินไป” Natarajan กล่าว
Asok กล่าวว่า Royal Group มีหนี้สินต่ำกว่าบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ส่วนใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากทางบริษัทลงทุนกับโครงการส่วนใหญ่ด้วยเงินสดที่ได้มาจากการขายสินทรัพย์และรายได้จากค่าเช่าอสังหาฯ ประเภทโรงแรม สำนักงาน และพื้นที่ค้าปลีก ทางบริษัทกล่าวว่า หนี้สินของบริษัทมีน้อยกว่า 25% ของสินทรัพย์ทั้งหมด ตามข้อมูล ณ เดือนธันวาคม ปี 2022 เทียบกับค่าเฉลี่ย 31% สำหรับบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ ที่จดทะเบียนในสิงคโปร์ ตามข้อมูลที่รวบรวมโดย Forbes Asia จากการยื่นเอกสารล่าสุด
ในอนาคตข้างหน้า Asok คาดว่าการบริหารเช่นนี้จะช่วยให้สินทรัพย์ของบริษัทเติบโตแบบไม่หวือหวาระหว่าง 5-7% ต่อปี “เรามาไกลและสร้างมูลค่ากลุ่มไว้ดีมาก” เขากล่าว “เราไม่จำเป็นต้องเสี่ยงอะไร ค่อยๆ เติบโตไปก็ได้” แม้เขาจะยังไม่ได้กำหนดกรอบเวลาว่าจะวางมือและส่งไม้ต่อให้ลูกชายเมื่อใด แต่ Asok ก็มอบหมายให้ Bobby เป็นผู้ดูแลโครงการต่างๆ ของ Royal Group โดยโครงการสำคัญที่สุดคือโครงการ Raffles Sentosa แม้ว่าการพัฒนาโครงการนี้จะเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2019 แต่การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ทำให้การดำเนินงานล่าช้าและเพิ่มต้นทุนก่อสร้างโครงการไปจนสูงกว่า 200 ล้านเหรียญสิงคโปร์ จากเดิมที่ 180 ล้านเหรียญ “Raffles Sentosa เปิดตัวเมื่อไร จะต้องโดดเด่นยิ่งกว่าใครๆ” เขากล่าว
ภาวะที่ความนิยมฟื้นตัวรอความต้องการเดินทางท่องเที่ยวหลังเกิดโรคระบาดนับเป็นโอกาสอันดีสำหรับโรงแรมต่างๆ จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าสิงคโปร์เพิ่มขึ้นกว่า 20 เท่าเป็น 6.3 ล้านรายในปี 2022 อัตราการเข้าพักโรงแรมเพิ่มสูงเป็น 79% รวมถึงอัตราค่าห้องพักที่พุ่งสูงขึ้น 28% จนถึงคืนละ 286 เหรียญสิงคโปร์ต่อห้องเมื่อเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นอัตราสูงที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินโลกเมื่อปี 2008 คาดว่าการฟื้นตัวจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีนี้ เนื่องจากคณะกรรมการการท่องเที่ยวสิงคโปร์คาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวขาเข้าเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว เป็นจำนวนสูงถึง 14 ล้านราย แต่ก็ยังคงต่ำกว่าสถิติสูงสุดในช่วงก่อนโควิด-19 ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเยือนถึง 19 ล้านรายในปี 2019
เครือโรงแรม Accor จากฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้บริหาร Sofitel Singapore Sentosa ของ Royal Group และจะรับหน้าที่บริหาร Raffles Sentosa ด้วย กล่าวว่า Raffles Sentosa จะมีอัตราค่าเข้าพักเริ่มต้นสูงกว่าคืนละ 1 พันเหรียญสิงคโปร์สำหรับวิลล่าขนาดเล็กที่สุด ซึ่งเทียบได้กับกับวิลล่าของ Capella Hotel Group ของ Pontiac Land ซึ่งตระกูลเศรษฐีพันล้าน Kwee เป็นเจ้าของ “ที่นั่นน่าจะไปได้ดีเพราะทาง Capella เองพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าพวกเขาสามารถตั้งราคาที่พักได้สูงลิ่วในย่านนั้น” Hecker จาก Horwath HTL กล่าว ทั้งนี้ Royal Group คาดว่า Raffles Sentosa และทรัพย์สินที่มีอยู่ในสิงคโปร์กับมาเลเซียจะช่วยส่งให้บริษัทมีรายได้เกิน 300 ล้านเหรียญสิงคโปร์ภายในปี 2025 จากที่คาดการณ์ไว้ 200 ล้านเหรียญสิงคโปร์ในปีนี้
ระหว่างการเก็บรายละเอียดขั้นสุดท้ายของ Raffles Sentosa ตัว Bobby เองก็กำลังวางรากฐานสำหรับการพัฒนาอสังหาฯ ขึ้นใหม่ที่ทางกลุ่มซื้อมาล่าสุดคือ Ming Arcade บนถนน Cuscaden ซึ่งตั้งอยู่ในทำเลที่ดีที่สุด ไม่ไกลจากถนน Orchard เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา Royal Group เข้าซื้ออสังหาฯ เก่าแก่ใกล้ถนน Orchard แห่งนี้ด้วยราคา 172 ล้านเหรียญสิงคโปร์หลังจากประมูลชนะคู่แข่งรายใหญ่เจ้าอื่นๆ ด้วยราคาสูงสุดเป็นประวัติการณ์สำหรับพื้นที่อาคารเชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ที่ตารางฟุตละ 3,125 เหรียญสิงคโปร์
“เมื่อคุณพบอสังหาฯ ที่ต้องการ ต่อให้ต้องทุ่มเงินซื้อด้วยราคาที่แพงที่สุดในตลาด แต่ตราบใดที่ยังรับไหวก็ควรจะซื้อเอาไว้ ยอมล่องไปกับคลื่นขาลงและรอการกลับมาของคลื่นขาขึ้น” Bobby กล่าว “คุณจะไม่มีวันกะเวลาตลาดได้”
Hecker กล่าวว่า การจ่ายเงินก้อนโตเพื่อซื้ออสังหาฯ ชั้นนำในสิงคโปร์เป็นเรื่องสมเหตุสมผล เนื่องจากประเทศเกาะแห่งนี้เป็นเสมือนแหล่งลงทุนที่วางใจได้สำหรับนักลงทุนต่างชาติ และยังคงมีโอกาสในการเติบโตให้แสวงหา ขณะที่รายงานที่เผยแพร่โดยที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ JLL เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาระบุว่า สิงคโปร์เป็นตลาดอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่แห่งเดียวในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่ยังคงดึงดูดเงินลงทุนมากขึ้นในปี 2022 โดยมีมูลค่าการทำธุรกรรมเพิ่มขึ้นถึง 53% เป็นตัวเงิน 1.4 หมื่นล้านเหรียญ
Ming Arcade เป็น 1 ใน 2 ศูนย์การค้าแบบขายขาดที่หาได้ยากในย่านถนน Orchard บริษัท Eagle Real Estate ของ Sukanto Tanoto เศรษฐีพันล้านชาวอินโดนีเซียทุ่มเงินซื้อศูนย์การค้า Tanglin Shopping Centre ที่อยู่ใกล้เคียงไปในราคา 868 ล้านเหรียญสิงคโปร์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว เนื่องจากสร้างขึ้นเมื่อกว่า 40 ปีที่แล้วอาคารทั้งสองจึงมีกำหนดต้องถูกรื้อถอนและพัฒนาขึ้นใหม่ตามนโยบายของรัฐที่ต้องการพลิกโฉมแหล่งช็อปปิ้งระดับพรีเมียมของเมืองแห่งนี้ให้กลายเป็นจุดหมายปลายทางของแหล่งท่องเที่ยวสีเขียวใจกลางเมืองที่เป็นมิตรกับคนเดินเท้า หลังจากไม่มีการสร้างอาคารเชิงพาณิชย์ขึ้นใหม่เลยในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา
Bobby รู้สึกตื่นเต้นกับสิ่งที่จะมากับโครงการพัฒนาของมาใหม่ของ Ming Arcade ไม่ว่าจะต่อยอดเป็นโรงแรมบูทีคหรืออาคารสำนักงานชั้นเลิศและคอมเพล็กด้านค้าปลีก แม้ว่าแผนการจะยังไม่ได้ข้อสรุป แต่เขาก็ประมาณการว่า โครงการดังกล่าวจะใช้ต้นทุนสูงถึง 55 ล้านเหรียญสิงคโปร์สำหรับการพัฒนา “ถนน Cuscaden มีกลุ่มเจ้าของที่พิเศษมากๆ” Bobby กล่าว “ถนนสายนี้น่าจะต้องมีดีอะไรบางอย่างแน่นอน” เขาเสริมและชี้ให้เห็นว่า พื้นที่ดังกล่าวอยู่ติดกับโรงแรม Orchard Rendezvous Hotel ของ Far East Organization ภายใต้การนำเศรษฐีพันล้านพี่น้อง Robert และ Philip Ng และยังมี HPL House ของเจ้าพ่อธุรกิจโรงแรมอย่าง Ong Beng Seng ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามถนนอีกด้วย (ดูแผนที่ประกอบ)
นอกเหนือจาก Raffles Sentosa และ Ming Arcade แล้ว Bobby ยังหมายตาโครงการอาจเป็นผลงานชิ้นใหญ่ที่สุดของเขาคือ การพัฒนาโครงการขึ้นมาใหม่ของสำนักงานใหญ่ของ Royal Group ที่ Three Phillip Street และ One Phillip Street ซึ่งเชื่อมต่อกันภายใต้การครอบครองของบริษัท โดยคาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายมากกว่า 500 ล้านเหรียญสิงคโปร์ อาคารสำนักงานใหญ่ที่โอ่อ่าแห่งนี้ลงมือออกแบบโดยพ่อของเขาเองจึงเปี่ยมไปด้วยขนบการออกแบบดั้งเดิมและดูไม่ได้เปลี่ยนไปเลยจากครั้งที่ Forbes Asia นำเสนอเรื่องราวของตระกูล Hiranandani ครั้งล่าสุดเมื่อปี 2014
สำนักงานสีดำขลิบทองประดับด้วยโคมไฟระย้าสไตล์อิตาเลียน ภาพวาดสไตล์ดัตช์ และประติมากรรมม้าหนุ่มขนาดเท่าม้าจริง 2 ตัว ตามปีนักษัตรของ Asok ในคติจีน “เราหัวอนุรักษ์มาก” Asok พูดขณะเดินผ่านบริเวณโถงต้อนรับซึ่งบนผนังประดับด้วยรูปถ่ายพ่อแม่ของเขาที่อพยพมาจากอินเดียเมื่อปี 1947 พ่อของเขา Naraindas ในขณะนั้นก่อตั้งบริษัทค้าเสื้อผ้าไหมเล็กๆ ที่ Asok และ Raj ต่อยอดจนกลายเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในช่วงทศวรรษที่ 1980
Tricia Song หัวหน้าฝ่ายวิจัยประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ CBRE บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ให้ข้อมูลผ่านทางอีเมลว่า โครงการยกเครื่องอาคารนี้นับว่าเกิดขึ้นถูกเวลาสำหรับ Royal Group เพราะประจวบเหมาะกับจังหวะที่สิงคโปร์กำลังขาดแคลนอาคารสำนักงานแห่งใหม่ๆ ท่ามกลางความต้องการพื้นที่สำนักงานที่กำลังฟื้นตัวขึ้น แม้ว่าบริษัทต่างๆ จะเริ่มประยุกต์ใช้การทำงานแบบผสมผสานมากขึ้นก็ตาม ขณะที่ข้อมูลจาก CBRE ระบุว่า จำนวนการเช่าพื้นที่สำนักงานเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่าเป็นมากกว่า 1 ล้านตารางฟุตในปี 2022 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
แม้ว่าแผนการต่างๆ จะยังอยู่ระหว่างดำเนินการ แต่ Bobby กล่าวว่า การผนวกสำนักงานใหญ่ของบริษัทกับอาคาร One Phillip Street จะเปิดทางให้บริษัทสร้างตึกระฟ้าเกรด A ที่มีพื้นที่สำหรับสำนักงานรวมกว่า 300,000 ตารางฟุต มากกว่าพื้นที่ปัจจุบันของทั้งสองอาคารรวมกันถึงประมาณ 66% “เรามีที่ดินผืนงามอยู่ในมือ” Asok กล่าว “มูลค่ายิ่งมากขึ้นไปอีก”
อ่านเพิ่มเติม : ซื้อ ถือ ขาย จาก 3 กูรูนักสะสม