Wikipedia ปล่อยงาน NFT พาทุกคนย้อนเวลากลับไป 20 ปีก่อน - Forbes Thailand

Wikipedia ปล่อยงาน NFT พาทุกคนย้อนเวลากลับไป 20 ปีก่อน

FORBES THAILAND / ADMIN
07 Dec 2021 | 04:42 PM
READ 2041

‘Hello World!’ คำทักทายสั้นๆที่ส่งหาชาวโลก (อินเทอร์เน็ต) เมื่อ 20 ปีก่อนจะกลายมาเป็นเว็บไซต์คลังความรู้ชื่อดังอย่าง Wikipedia ในปัจจุบัน พร้อมพาคุณย้อนกลับไปเมื่อวันที่เว็บไซต์นี้เปิดตัวเป็นครั้งแรก และให้คุณสวมบทบาทเป็นผู้แก้ไขคนแรกในรูปแบบของ NFT แล้ว

Jimmy Wales ผู้ร่วมก่อตั้ง Wikipedia ได้นำวัตถุโบราณทางประวัติศาสตร์โลกอินเทอร์เน็ต 2 ชิ้นขึ้นประมูล วัตถุ 2 ชิ้นนั้นคือเครื่อง Strawberry iMac ที่เขาใช้ในการพัฒนาเว็บไซต์คลังความรู้อย่าง Wikipedia และการแก้ไขครั้งแรกบนหน้าวิกิในรูปแบบของ NFT ที่พึ่งนำขึ้นสู่ระบบล็อกเชนแบบสดๆ ร้อนๆ  การประมูลครั้งนี้มี Christie’s เป็นผู้ดำเนินการ โดยเปิดให้ประมูลตั้งแต่วันที่ 3 ถึง 15 ธันวาคม และ Wales กล่าวว่าจะนำรายได้จากการประมูลไปพัฒนาโซเชียลเร็ตเวิร์คน้องใหม่ที่ไร้โฆษณา เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2001 Wales ได้เปิดตัว Wikipedia และเมื่อโปรเจ็กต์แบบเปิดที่ใครๆ ก็สามารถเข้ามาแก้ไขเข้าใช้งานได้ สิ่งแรกที่ Wales พิมพ์ลงไปบนหน้าเว็บไซต์นั้นคือ ‘Hello World!’ และประโยคทักทายนั้นก็ได้กลายเป็นผลงาน NFT ที่ทาง Wales จับมือกับ Christie’s ในการเปิดประมูล
Wikipedia_Hello_World
(Photo Credits: The Verge)
งานที่พวกเขาจะขายไม่ใช่แค่รูปเว็บไซต์ ณ ตอนนั้นแบบ JPEG นะ แต่เป็นชิ้นงานเกี่ยวกับหน้าเว็บประวัติศาสตร์นี้แบบ Interactive โดยใครก็ตามที่ชนะการประมูล NFT ชิ้นนี้ไปจะสามารถเข้าไปแก้ไขหน้าเว็บนั้นได้ตามใจต้องการ และเพียงแค่กดเม้าส์ครั้งเดียว หน้าเว็บนั้นก็จะกลับสู่สภาพที่มันเคยเป็นเมื่อวันที่ 15 มกราคม ที่มีเพียงแค่ประโยคสั้นๆ ว่า ‘Hello World!’ สำหรับตอนนี้ สามารถเข้าชมเว็บไซต์นั้นได้ที่  https://www.editthisnft.com/cgi-bin/wiki.cgi “คุณไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ตอนนี้ เพราะเรายังไม่อยากจะไม่อยากปล่อยงานนี้แบบเต็มๆ” Wales บอกกับ Motherboard ทางโทรศัพท์  ในส่วนของ Strawberry iMac นั้น Wales บอกว่าเขายังคงเก็บเครื่อง Strawberry iMac ไว้เพราะเขาคิดว่าสักวันหนึ่ง มันอาจจะมีค่าขึ้นมาก็ได้ “ไม่ใช่เพราะผมเป็นเจ้าของนะ” เขากล่าว “เพราะ Strawberry iMac แสนสวยเครื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเกิดใหม่ของ Apple…ที่น่าตลกคือ จนถึงไม่กี่เดือนมานี้ มันเป็นที่ตั้งเครื่องพิมพ์ของผมอยู่” Wales มีความคิดที่จะเปิดประมูลเมื่อเขาเห็นว่า Jack Dorsey ผู้ก่อตั้ง Twitter ได้แปลงทวีตแรกของเขาให้กลายเป็นงาน NFT นำขึ้นระบบบล็อกเชน และขายมันไปในราคา 2.9 เหรียญสหรัฐในอัตราเงินคริปโต “แล้วเครื่อง Strawberry iMac ที่ผมใช้ตอนผมเปิดตัว Wikipedia ล่ะ” เขาทวีต “มันไม่ใช่ ‘NFT’ แต่มันเป็นของจริง ผมสามารถเอามันไปให้คุณแล้วก็ร้องเพลง Sweet Home Alabama ให้ฟังได้นะ”
Wikipedia_Strawberry_iMac
(Photo Credits: CNN)
Wales ติดต่อ Christie’s เพื่อที่จะจัดการประมูลและพวกเขาก็เริ่มคุยกันเรื่อง NFT หลังจากนั้น Wales ก็สังเกตเห็นว่า Tim Berners-Lee ได้ขายวัตถุโบราณทางประวัติศาสตร์โลกอินเทอร์เน็ตในรูปแบบของ NFT ตัว Wales เองจึงเริ่มศึกษาเทคโนโลยีใหม่นี้มากขึ้น เขากล่าวว่า “ผมคิดตอนนั้นว่าผมอยากจะทำอะไรสักอย่างที่มากกว่าแค่รูป หรือแค่ไฟล์ JPEG ของหน้าเว็บ Wikipedia ที่ผมเห็นในวันนั้นที่ผมลงซอฟต์แวร์ไป”  นอกเหนือจากที่ใครก็ตามที่ชนะการประมูลไปจะสามารถย้อนเวลากลับไป และสวมบทบาทเป็นคนแรกที่แก้ไขหน้าเว็บ Wikipedia เพื่อความสนุกได้ซ้ำแล้วซ้ำเหล่าแล้วนั้น ผู้ชนะยังสามารถเข้าถึงโค้ดและฐานข้อมูลที่อยู่ภายใต้ URL ปัจจุบันได้อีกด้วย ผู้ชนะจะสามารถโยกย้ายมันไปมา ไปแปะไว้ตามที่ต่างๆ ได้ตามใจต้องการ  Wales รู้ว่านี้มันเป็นประสบการณ์ปลอมเปลือก เป็นเพียงภาพลวงตาของหน้าเว็บนั้น “มันก็เป็นงาน Recreation แหละ” เขากล่าว “สิ่งแรกที่คุณทำคือคุณกลับไปหาหน้านั้น และมันก็ไม่อยู่แล้ว ก็แน่ล่ะ อินเตอร์เฟสของเว็บมันเปลี่ยนไปหมดแล้ว ในการที่จะสร้างมันขึ้นมาอีกครั้ง ผมต้องกลับไปหาซอฟต์แวร์ชุดที่เราใช้ตอนนั้นที่เก่าที่สุดที่มีอยู่” แต่แม้ว่าจะหาซอฟต์แวร์ได้ก็ตาม การที่จะออกแบบเว็บไซต์ใหม่ให้เหมือนกับตอนนั้นอีกครั้งด้วยเครื่องมือสมัยใหม่ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง “ผมไม่สามารถหาวิธีตั้งรหัสในการเข้าสู่ระบบเพื่อที่จะแก้ไขได้” เขากล่าว “มันใช้ไม่ได้แล้วผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไมกันนะ จนกระทั่งผมไปเจอโค้ดที่มันส่งมาในคุกกี้ว่าผมตั้งวันหมดอายุไว้ตอนปี 2010 ซึ่งในตอนปี 2001 นั่นมันคงดูเป็นอนาคตที่อีกนานกว่าจะมาถึงเลยล่ะ” Wales ได้ปรับโค้ดเว็บไซต์ใหม่เพื่อให้สามารถใช้งานได้ในเวลาปัจจุบัน “ในการที่จะสร้างประสบการณ์นั้นขึ้นมาอีกครั้ง มันจำเป็นที่จะต้องมีอะไรที่ร่วมสมัยอยู่บ้าง” เขากล่าว “คุณไม่สามารถเดินทางข้ามกาลเวลาได้”

NFT ดี ไม่ดี ยังไงกัน

มีหลายคนที่เกลียด NFT ด้วยเหตุผลมากมายหลายประการ Wales กล่าวว่าเขาเข้าใจและรู้ว่ามันมีสายตาที่เต็มไปด้วยความไม่มั่นใจคอยมองดูการเทรดไฟล์ JPEG อยู่ตอนนี้  แต่ตัวเขาเองก็ไว้วางใจเทคโนโลยีอยู่ระดับหนึ่งเลย “มันจะมีทั้งของโง่ๆ และแย่ๆ อยู่เต็มไปหมดอยู่แล้ว” เขากล่าว “แต่มันก็มีสิ่งที่น่าสนใจท่ามกลางทุกอย่างนี้อยู่เหมือนกัน” ในส่วนของประเด็นสงครามระหว่างเหล่า NFT bros และ Right-clickers (พวกที่ชอบบันทึกผลงาน NFT แบบฟรีๆ) Wales กล่าวว่างานประมูล JPEG ทั้งหลายมันไม่เท่ากัน “ลองเอามีม Disaster Girl เป็นตัวอย่างนะ” เขากล่าวถึงมีมอันโด่งดังที่เป็นรูปเด็กผู้หญิงยืนอยู่หน้าบ้านที่กำลังลุกเป็นไฟ และหันมามองกล้องด้วยสีหน้าแบบพึงพอใจสุดๆ
(Photo Credits: The New York Times)
“อ่ะ นี่รูป มันดึงดูดสายตามาก มันเพอร์เฟ็คสุดๆ สำหรับการเอาไปทำมีม ทุกคนเคยเห็นมันเป็นล้านๆ ครั้งแล้ว ไม่เสียเงินสักนิด คุณสามารถพิมพ์มันออกมาและแปะไว้ข้างผนังได้” เขากล่าว “แต่มันไม่มีวิธีที่เราจะไปใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญากับบางอย่างที่มันเป็นกระแสเลย คุณไม่สามารถไปฟ้องคุณในอินเตอร์เน็ตได้หรอก” เมื่อเดือนเมษายน Zoe Roth ตัว Disaster Girl เอง ได้ขายงาน NFT  ของรูปนั้นไปในราาคา 500,000 เหรียญฯ เธอบอกกับ The New York Times ว่าเธอวางแผนที่จะใช้เงินตรงนั้นจ่ายหนี้เงินที่เธอกู้มาเป็นค่าเรียน “ครีเอเตอร์ก็ได้เงินไปบ้าง” Wales กล่าวว่า “พวกเขาสร้างชิ้นส่วนจิ๊กซอว์ของวัฒนธรรมขึ้นมา แล้วชิ้นส่วนนั้นมันก็มาเติมเต็มภาพใหญ่อย่างอินเทอร์เน็ตนี้…และนั่นมันก็มีค่าเพราะพวกเขาให้เรามาเอง พวกเขาเผยแพร่มัน แล้วมันก็กลายเป็นกระแส” Wales มีแผนที่จะใช้เงินที่ได้จากการประมูลมาเป็นทุนในการสร้าง wt.social โซเชียลเน็ตเวิร์คที่เขาออกแบบขึ้นมาให้มีพิษมีภัยน้อยกว่า Twitter และ Facebook. โดยเขากล่าวว่า “ไอเดียก็คือแทนที่เราจะเพิ่มประสิทธิภาพของเว็บไซต์โดยมียอด Engagement และจำนวนโฆษณาที่จะยิงเป็นหลัก เราจะเพิ่มประสิทธิภาพโดยมีคนที่เยี่ยมสุดๆ จากคอมมิวนิตี้ต่างๆ ที่คอยรังสรรค์ลิ้งค์และผลงานที่น่าสนใจเป็นหลัก และให้คอมมิวนิตี้ต่างๆ เป็นผู้ดูแลกันเอง”  แปลและเรียบเรียงโดย ทัตชญา บุษยากิตติกร จากบทความ Jimmy Wales Is Auctioning His First Wikipedia Edit As an NFT เผยแพร่บน ​Vice.com อ่านเพิ่มเติม: “30 Under 30” สายอาร์ต จากนางงามนักธุรกิจ ถึงศิลปินใจบุญ
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine