ในยามที่อุตสาหกรรมที่พักล้มครืนท่ามกลางโรคระบาด ผู้ประกอบการชื่อ Warren Meyer ได้พบสัจธรรมเพียงหนึ่งเดียวว่า อุปสรรคใหญ่ที่สุดของเขาคือ บรรดาทนายของภาครัฐ
Warren Meyer ผู้ประกอบการในธุรกิจโรงแรมและการบริการมองอุตสาหกรรมของเขาอย่างเวทนา “ร้านอาหารหลายร้านต้องเลิกกิจการอย่างถาวร” เขากล่าว “สายการบินต้องลดจำนวนที่นั่งลงครึ่งหนึ่ง” แต่เมื่อเทียบกับรายอื่นแล้วกิจการของเขาถือว่าเฟื่องฟูที่พักของเขา 1 ใน 3 จากทั้งหมด 150 แห่ง กำลังเตรียมเปิดให้บริการในช่วงใกล้วันรำลึกถึงทหารของสหรัฐฯ (Memorial Day) และเขาคาดว่าปีนี้จะทำรายได้ถึงจุดคุ้มทุน ซึ่งถือเป็นความสำเร็จใหญ่สำหรับสายธุรกิจที่พังยับเยินในปี 2020 เคล็ดลับก็เป็นดังที่สัจพจน์เก่าแก่ในวงการอสังหาริมทรัพย์กล่าวไว้นั่นคือ ทำเล ทำเล และทำเล โรงแรมอาจต้องรออีกหลายปีกว่าจะมีแขกเต็มล็อบบี้ แต่นักท่องเที่ยวกำลังแห่กันเข้ามาในที่พักของ Meyer บริษัท Recreation Resource Management (RRM) ของเขาบริหารจุดตั้งแคมป์และพื้นที่ปากทางของเส้นทางท่องเที่ยวหลายแห่งในพื้นที่อุทยานของรัฐบาลใน 8 รัฐ ลูกค้าของเขาคือ กรมป่าไม้ของสหรัฐฯ สำนักงานอุทยานประจำรัฐและเขต และเจ้าของเขื่อนอย่างองค์กรพัฒนาหุบเขาเทนเนสซี (Tennessee Valley Authority) บางครั้งพวกเขาก็เป็นหุ้นส่วนที่กัดกันเองซึ่งสะท้อนถึงความเชื่อในหมู่นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและผู้ออกนโยบายที่มองว่า การให้พวกทุนนิยมเข้ามาหากำไรจากพื้นที่สาธารณะถือเป็นเรื่องชั่วร้าย แต่สิ่งหนึ่งที่เราคาดเดาได้เหมือนที่รู้ว่าใบไม้จะต้องร่วงในฤดูใบไม้ร่วงก็คือ หน่วยงานรัฐที่เงินขาดมือย่อมอยากคุยเรื่องค่าเช่าพื้นที่ Meyer กล่าวว่า เขาจ่ายค่าเช่าสถานที่แต่ละแห่งให้รัฐมากกว่ากำไรของเขาเอง เพราะหน่วยงานรัฐเหล่านี้ส่วนใหญ่บริหารจุดพักแรมจนขาดทุนก่อนจะยกให้ RRM เข้ามาทำ โรคระบาดครั้งนี้อันตรายถึงตายสำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแต่ไม่ใช่สำหรับ RRM ผู้เข้าพักส่วนใหญ่ของบริษัท (2.4 ล้านคนในปีที่แล้ว) อาศัยอยู่ในระยะทางที่ขับรถมาเที่ยวได้ด้วยน้ำมันถังเดียวและสำหรับอเมริกาในช่วงปิดเมือง ธรรมชาติอันกว้างใหญ่ไม่เคยยั่วยวนใจเท่านี้มาก่อน Meyer เล่าว่า ที่แคมป์แห่งหนึ่งของเขาในรัฐ Arizona มีลูกค้าร้อยคนโดดข้ามประตูรั้วที่ปิดอยู่ด้วยความไม่พอใจเพื่อบุกเข้าไปเที่ยวอุทยานอย่างผิดกฎหมาย “จุดพักแรมของรัฐจำนวนมากสร้างขึ้นโดยคำนึงถึงการเว้นระยะห่างทางสังคมอยู่แล้ว” เขากล่าว และราคาก็เหมาะสม โดยค่าที่พักปกติคือ คืนละ 22-26 เหรียญสหรัฐฯ และอุทยานของกรมป่าไม้ยังให้ส่วนลด 50% สำหรับนักท่องเที่ยวที่ถือบัตรผู้สูงอายุ จุดพักแรมที่มีไฟฟ้า น้ำประปา และท่อระบายน้ำก็เพิ่มอีกแค่ไม่กี่เหรียญ ธุรกิจของ Meyer สวนทางกับรายอื่นตรงที่ความโกลาหลด้านเศรษฐกิจอาจยิ่งช่วยให้กิจการขยายขึ้น ในช่วงเศรษฐกิจถดถอยเมื่อทศวรรษก่อน เมื่อเงินที่จัดสรรไว้เพื่อบำรุงรักษาและปรับปรุงสถานที่เหือดแห้งลง สำนักงานอุทยานประจำรัฐหลายแห่งจึงมาอ้อนวอนให้เขาช่วยเซ็นสัญญาและช่วยลงทุนทำสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อย่างบ้านพักและห้องน้ำใหม่ และเขาก็เต็มใจจะจ่ายหากได้สัญญาเช่าระยะยาวพอ ซึ่งสัญญาของเขามีตั้งแต่ 5 ปี จนถึง 50 ปี ถ้าถาม Meyer ว่า เขาใช้เวทมนตร์อะไรเสกให้กิจการสูญเงินของภาครัฐกลายเป็นกิจการทำเงินสำหรับภาคเอกชนได้ นักเสรีนิยมวัย 58 ปีคนนี้จะบ่นให้คุณฟังจนหูชา แต่โดยสรุปก็คือ บริษัทที่ได้สัมปทานเพื่อหากำไรจะมีแรงจูงใจอยากทำให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ส่วนหน่วยงานรัฐอยากทำให้มันด้อยประสิทธิภาพลง เขากล่าวว่า องค์กรในภาครัฐนั้น “ตัดสินเรื่องเงินและความสำคัญจากขนาดและการจ้างคน” สำนักงานอุทยานของรัฐจ้างคนจบปริญญาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ซึ่งรับเงินเดือนประจำและมีสวัสดิการแพงๆ ส่วน RRM จ้างคนวัยเกษียณซึ่งอาศัยอยู่ในรถบ้านของตัวเองที่จอดอยู่ในจุดพักแรม ยกเว้นบางตำแหน่งเท่านั้น พนักงานวัยเกษียณจำนวนมากเป็นสามีภรรยาซึ่งแบ่งหน้าที่กัน และส่วนใหญ่ก็ใช้สวัสดิการประกันสุขภาพของรัฐ พวกเขาทำงานแบบพาร์ตไทม์และได้ค่าจ้างเริ่มต้นเท่าค่าแรงขั้นต่ำ คำถามตามมา แล้วแบบนี้เอาเปรียบลูกจ้างหรือเปล่า ก็อาจจะไม่ใช่ เพราะพนักงานส่วนใหญ่จากทั้งหมด 400 คน ขอกลับมาทำงานอีกในฤดูหน้า และมีคนส่งใบสมัครถึง Meyer 5,000 คน สำหรับตำแหน่งว่าง 50-100 ตำแหน่ง การที่คนนั้นคนนี้พูดกันเรื่องเศรษฐศาสตร์แบบเสรีนิยมกลายเป็นสิ่งที่ล่อ Meyer เข้ามาสู่ธุรกิจบริหารอุทยาน เมื่อสิบกว่าปีก่อนเขาโพสต์เรื่องการแปรรูปการบริการต่างๆ ของรัฐลงในบล็อก แล้วมีผู้อ่านคนหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทที่ได้สัมปทานจากอุทยานอยากรู้ว่า Meyer แน่พอจะทำได้เหมือนที่พูดไหม เขาท้าว่า มาซื้อสัมปทานต่อจากฉันสิ! แล้ว Meyer ก็ทำจริง ด้วยเหตุนี้ Meyer จึงทิ้งงานที่ปรึกษาอิสระตอนอายุ 40 ปี แล้วนำปริญญาวิศวกรรมศาสตร์จาก Princeton และปริญญาบริหารธุรกิจจาก Harvard มาใช้สร้างความสะดวกสบายให้ผู้มาเยือนอุทยานสายงานนี้เป็นสายงานอันตราย อย่างหมีที่ตะปบชาวแคมป์ (Meyer ยอมจ่ายค่าเสียหาย) แต่สำหรับ Meyer สัตว์ที่น่ากลัวที่สุดนั้นเดิน 2 ขา RRM เข้ามารับช่วงอุทยานแห่งหนึ่งในรัฐ California ซึ่งประสบปัญหาเรื่องการบำรุงรักษาล่าช้าอย่างหนัก เมื่อผู้ตรวจสอบจากรัฐบาลเข้ามาดูก็ตำหนิว่า พื้นไม้จุดหนึ่งมีไม้ผุ Meyer จึงทำตัวว่าง่ายและรื้อพื้นไม้ตรงนั้นออก แต่ต่อมาเขาถูกหมายเรียกเนื่องจากรื้อพื้นโดยไม่มีใบอนุญาตรื้อถอน เขาเล่าว่า “ผมนึกว่าจะติดคุกซะแล้ว” พอหลุดจากเรื่องไร้สาระเรื่องหนึ่ง เขาก็มีปัญหาใหม่กับเจ้าหน้าที่รัฐ California จากการตั้งบูธขายของในลานจอดรถ โดยความผิดของเขาคือ ไม่ตรวจวิเคราะห์สภาพดิน RRM จึงตามใจพวกเจ้าหน้าที่จอมเยอะด้วยการเจาะยางมะตอย เก็บตัวอย่างดิน แล้วราดยางใหม่ ฝูงทนายที่ดุร้ายดักซุ่มอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะในรัฐ California กฎหมายของรัฐนี้กำหนดให้พนักงานต้องมีวลาพักกลางวันโดยไม่ได้รับค่าจ้างครึ่งชั่วโมง แต่พนักงานบางคนขออนุญาตจาก Meyer เป็นลายลักษณ์อักษรว่า จะขอทำงานในช่วงพักกลางวันเพื่อให้ได้ค่าจ้างเพิ่มอีกครึ่งชั่วโมง ซึ่ง Meyer ก็ตกลง และแล้วทนายคนหนึ่งก็โผล่มาเรียกค่าเสียหาย โดยบอกว่าข้อตกลงดังกล่าวไม่มีผล เนื่องจากเขาต้องมีเอกสารยืนยันการขอทำงานในช่วงพักกลางวันของแต่ละวัน และใช้เอกสารฉบับเดียวทำข้อตกลงสำหรับทุกวันไม่ได้ แบบนี้ก็เสร็จน่ะสิ! Meyer จึงต้องยอมทำข้อตกลงเพื่อระงับคดีกันไป การทะเลาะกับรัฐบาลผู้เป็นทั้งเจ้าของบ้าน ผู้กำกับดูแล และผู้ตัดสินชี้ขาด น่าจะทำให้เจ้าของกิจการส่วนใหญ่หมดความอดทน แต่ถ้าทนรับการทารุณกรรมแบบนี้ไหวรางวัลที่ได้รับก็เยอะพอ ในปีที่กิจการดี RRM มีอัตรากำไรเป็นเลขหลักเดียวแบบสูงๆ จากรายได้ 14 ล้านเหรียญ อาณาจักรของ Meyer มีจุดพักแรม 6,000 แห่ง และยังมีจุดพักแรมในที่ดินของภาครัฐอีก 380,000 แห่งให้เขาตามเก็บเพิ่มได้ ซึ่งเขาตั้งเป้าว่าจะขยายกิจการอีกเท่าตัวภายในไม่กี่ปี “ถ้าผมจะวางมือไปนั่งเล่นริมหาด ผมก็ขายกิจการได้ในราคา 3 เท่าของ EBITDA” เขากล่าว “แต่ถ้าเอาเงินไปซื้อพันธบัตรรัฐบาล ผมคงไม่ได้กระแสเงินสดแบบนี้เขาจึงวางแผนจะทำกิจการต่อไปแม้ปัญหาจะเยอะก็ตามคลิกอ่านฉบับเต็ม “ชายผู้งัดข้อกับเจ้าหน้าที่รัฐ” ได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนตุลาคม 2563 ในรูปแบบ e-magazine