Trident Seafoods จากเรือหนึ่งลำสู่อาณาจักรประมงที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ - Forbes Thailand

Trident Seafoods จากเรือหนึ่งลำสู่อาณาจักรประมงที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ

FORBES THAILAND / ADMIN
04 May 2023 | 08:00 AM
READ 2894

Joe Bundrant ทายาทรุ่น 2 ของ Trident Seafoods บริษัทซึ่งถือเป็นผู้นำตลาดของธุรกิจการประมงที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ พร้อมตั้งเป้าลงทุนหลายพันล้านเหรียญใน Alaska เพื่อปูทางให้ลูกหลานรุ่นต่อไปได้สานต่อ


Chuck Bundrant ผู้ก่อตั้ง Trident Seafoods


    บริษัทประมงที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ ต้องทำงานโดยยึดเอาพื้นที่บนเกาะ Akutan อันห่างไกลใน Alaska เป็นเสมือนบ้านหลังที่สองมาตลอดระยะเวลากว่า 50 ปี ผู้ก่อตั้งบริษัทได้ก่อสร้างโบสถ์แห่งหนึ่งบนเกาะ โดยพื้นที่ใกล้ๆ กันยังมีสนามบินซึ่งทางผู้ก่อตั้งบริษัทได้โน้มน้าวให้รัฐสภาช่วยลงทุนค่าใช้จ่ายสำหรับการก่อสร้างให้เกิดขึ้น

    พื้นที่เกาะแห่งนี้ยังถือเป็นที่ตั้งของโรงงานแปรรูปเนื้อปลาขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศที่มีกำลังผลิตสูงมีน้ำหนักรวมถึง 3 ล้านปอนด์ต่อวัน อีกทั้งโรงงานดังกล่าวยังมีขนาดใหญ่เพียงพอให้คนงานไม่ต่ำกว่า 1,400 คน ได้พักอาศัยในช่วงฤดูกาลที่พีคที่สุดสำหรับการออกหาปลา

    นอกเหนือจากโรงงานขนาดใหญ่ บริษัทยังมีโรงงานอีก 10 กว่าแห่งที่รองรับคนงานและยังให้ที่พักพิงอาศัยได้ไม่แตกต่างกันเพียงแต่มีขนาดเล็กกว่า สภาพของโรงงานอาจจะดูเสื่อมโทรมไปบ้างตามกาลเวลา ทางบริษัทเอกชนอย่าง Trident Seafoods ผู้เป็นเจ้าของย่อมมีหน้าที่ปรับปรุงซ่อมแซมทุกอย่างให้มีสภาพเหมือนใหม่ได้อีกครั้ง แต่ราคาค่าวัสดุและการซ่อมแซมสิ่งต่างๆ คงมีมูลค่าไม่ต่ำกว่าหลายพันล้านเหรียญด้วยเช่นกัน

    ณ เวลานี้ถือเป็นช่วงเวลาที่ค่อนข้างสุ่มเสี่ยงสำหรับแผนการใช้จ่ายเงินในจำนวนมหาศาลท่ามกลางอุปสรรคและความท้าทายต่างๆ อาทิ ปัญหาเรื่องห่วงโซ่อุปทานหรือ supply chain ที่มีความล่าช้า, ภาวะค่าเงินเฟ้อ ต่อเนื่องไปจนถึงเรื่องการก่อสร้างที่ต้องใช้เวลานาน รวมถึงปัญหาเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ถูกหยิบยกให้กลายเป็นประเด็นขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ภาระต่างๆ ที่เกิดขึ้น หากเป็นบริษัทอื่นคงเลือกที่จะขายสินทรัพย์ที่มีอยู่ทิ้งไปหรือบางบริษัทอาจจะมองหาแหล่งเงินทุนใหม่อื่นๆ จากภายนอกมาช่วยดูแลสถานการณ์ให้ดีขึ้น

Joe Bundrant ทายาทรุ่น 2 (Photo Credit: Tom Seaman)


    แต่สำหรับซีอีโอ อย่าง Joe Bundrant ทายาทรุ่น 2 ที่กลายมาเป็นผู้กุมบังเหียนรับช่วงต่อในการดำเนินธุรกิจ ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับทาง Forbes ระหว่างที่นั่งอยู่ในสำนักงานขายซึ่งตั้งอยู่ในท่าเรือ Seattle ที่อยู่ห่างจากเกาะ Akutan เป็นระยะทางไกลกว่า 1,900 ไมล์ โดยมีสินค้าต่างๆ ของบริษัท Trident วางเรียงรายให้เห็นกว่าร้อยรายการว่า เขาและครอบครัวยังคงยึดมั่นที่จะใช้เงินตนเองบริหารจัดการภายในเพื่อให้บริษัท Trident ยังคงก้าวต่อไปและส่งต่อธุรกิจไปยังลูกหลานรุ่นที่ 3 และ 4 ได้ตามลำดับ

    “เราไม่มีแผนหรือกลยุทธ์ใดๆ ที่จะถอนตัวออกจากธุรกิจนี้” Joe Bundrant ในวัย 56 ปี กล่าว ก่อนที่เขาจะรื่นรมย์ไปกับการขบเคี้ยวอาหารต่างๆ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปจากบริษัทของเขาเองทั้งเมนูปลาพอลล็อคโรยเกล็ดขนมปังอบสมุนไพร, ปลาแซลมอนช็อกอายราดซอสมะเขือเทศ, เบอร์เกอร์แซลมอนขนาดเล็ก รวมทั้งเนื้อปลาหมึกยักษ์และปลาพอลล็อคที่ทอดมาแบบลูกบอลกลมๆ ตามสไตล์ทาโกะยากิของญี่ปุ่น “พูดง่ายๆ ว่า ผมไม่สนใจที่จะขายธุรกิจเลยแม้แต่นิดเดียว” เขากล่าว


- เริ่มต้นจากเรือหนึ่งลำ -


    ครอบครัวของ Joe Bundrant กำลังเผชิญอยู่ในจุดพลิกผัน ถึงแม้ว่าตัวของเขาเองจะดำรงตำแหน่งซีอีโอของบริษัทมาตั้งแต่ปี 2013 แต่ก็ยังถือเป็นบทบาทใหม่เมื่อเขาต้องกลายมาเป็นประมุขของครอบครัวและต้องดำเนินธุรกิจต่างๆ ด้วยตนเองอย่างเต็มตัว หลังจาก Chuck Bundrant บิดาของเขาซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท Trident ได้เสียชีวิตลงในวัย 79 ปี เมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา


    ย้อนกลับไปในอดีตสมัยแรกเริ่ม Joe ตัดสินใจออกจากมหาวิทยาลัยมาทำงานกับพ่อของเขาแทน ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นว่า เขาทำงานใช้เวลาอยู่กับบริษัทมาอย่างยาวนาน แต่ถึงกระนั้นเขาก็ยังไม่สามารถเทียบเคียงกับสิ่งต่างๆ ที่ผู้เป็นพ่อสร้างมากับมือได้เป็นอย่างดี เพราะเหล่าคนงานซึ่งเป็นชาวประมงราว 1,400 คน ต่างให้ความจงรักภักดีต่อ Chuck เป็นอย่างมาก

    นอกเหนือจากเรื่องของคนงานภายในองค์กรแล้ว Joe ยังต้องเผชิญกับแรงกดดันจากภายนอกของหน่วยงานต่างๆ ที่คอยกำกับดูแลธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการประมง, ผู้เชี่ยวชาญด้านพลาสติกที่คอยกำกับดูแลสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเหล่านักวิทยาศาสตร์ที่คอยดูแลจำกัดปริมาณการจับสัตว์น้ำและบริษัทสตาร์ทอัพที่ทำฟาร์มเพาะเลี้ยงปลา

    ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นเหตุผลที่แสดงให้เห็นว่าทำไมบริษัท Trident ถึงต้องจริงจังกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งหมดใน Alaska

    “เรือประมงทั้งหมดที่เรามีอยู่คงถึงเวลาที่จะต้องเปลี่ยนใหม่หลังจากใช้งานมานาน และโรงงานแปรรูปก็ต้องซ่อมแซมด้วยเช่นกัน” Bundrant เล่า “แต่ด้วยอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นลดลง ความเร็วลม 100 ไมล์ต่อชั่วโมง และลมทะเลที่พัดไปมาอย่างต่อเนื่อง ต่างก็เพิ่มค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง ไม่ว่าจะเหล็กหรือคอนกรีต รวมถึงค่าใช้จ่ายในการจัดส่งวัสดุเหล่านี้ไปยังไซต์งานอันห่างไกล ผมไม่รู้ว่าจะมีนักลงทุนหรือบริษัทในสหรัฐฯ รายใดยินดีที่จะมีส่วนร่วมกับการลงทุนในรูปแบบนี้หรือเปล่า”

    Bundrant นิ่งเงียบไปชั่วขณะระหว่างที่สายตาเหม่อมองออกไปยังกลุ่มก้อนเมฆสีเทาด้านนอกหน้าต่างสำนักงาน “เราไม่ต้องการบริหารงานแค่เพียงระยะสั้นๆ ในไตรมาสต่อไป” เขาพูดต่อ “และเราก็ไม่ต้องการบริหารงานแค่สำหรับปีหน้า แต่เราต้องการบริหารงานเพื่อกลุ่มคนรุ่นหลังถัดไป นี่จึงเป็นเหตุผลที่เราพยายามไต่ตรองทุกสิ่ง”

    หากมีใครถามว่าจะมีบริษัทหรือครอบครัวไหนสามารถทำได้อย่างที่กล่าวมาบ้าง ก็คงต้องบอกเลยว่าครอบครัวของตระกูล Bundrants นี่แหละ เพราะ Chuck Bundrant ถือเป็นมหาเศรษฐีผู้ที่มั่งคั่งร่ำรวยขึ้นมาได้ด้วยตัวของเขาเองและมีสินทรัพย์รวมมูลค่าราว 1.3 พันล้านเหรียญ กรรมสิทธิ์ในบริษัท Trident ถูกแยกออกเป็นหลายส่วน โดยแบ่งให้กับภรรยาคนที่สองของเขา Diane ซึ่งนั่งอยู่ในตำแหน่งคณะกรรมการบริหารของ Trident รวมถึงลูกของเขาทั้งสามคน คือ Joe Bundrant, Jill Dulcich และ Julie Bundrant Rhodes


    บริษัท Trident มีเรือประมงในครอบครองจำนวน 40 ลำ และยังมีโรงงานแปรรูปอีก 15 แห่ง ในพื้นที่ Ketchikan รัฐ Alaska ไปจนถึง St. Paul รัฐ Minnesota ทั้งนี้ หากดูจากปริมาณโควต้าที่บริษัทของเขาสามารถหาปลาที่มีน้ำหนักรวมกันปีละไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านปอนด์ จึงทำให้ Forbes คาดการณ์ได้ว่าบริษัทจะมียอดขายรายปีไม่ต่ำกว่า 2 พันล้านเหรียญอย่างแน่นอน ซึ่งทาง Trident เองปฏิเสธที่จะพูดถึงเรื่องสถานะทางการเงิน อีกทั้งประโยคเด็ดของ Chuck ยังเคยกล่าวเอาไว้ว่า “วาฬจะถูกล่าก็ต่อเมื่อมันพ่นน้ำ” อย่างไรก็ตาม Trident ยังคงเป็นหนึ่งในบริษัทเอกชนยักษ์ ใหญ่ในด้านอุตสาหกรรมอาหาร

    “พวกเขาทำสิ่งที่น่าจดจำ” Matthew Wadiak ผู้ก่อตั้ง Blue Apron บริษัทสตาร์ทอัพผู้จำหน่ายชุดวัตถุดิบพร้อมประกอบอาหารซึ่งเคยเป็นลูกค้าของ Trident กล่าว “พวกเขาจับปลาในปริมาณมหาศาลแต่ก็ยังดำเนินธุรกิจที่เน้นเรื่องความยั่งยืน ผมเจอบริษัทประมงมาหลายเจ้าทั่วโลก ตั้งแต่ลัตเวียยันเดนมาร์กและแอฟริกาใต้ ซึ่ง Trident ทำได้ดีกว่าพวกเขาทั้งหมด เทียบไม่ติดเลยล่ะ”


- เริ่มสร้างตำนาน -


    เรื่องราวของ Trident เริ่มต้นจาก Chuck Bundrant ซึ่งเกิดที่ Tennessee ตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัยในปี 1961 หลังเรียนไปได้แค่เทอมเดียว แล้วขับรถ Ford รุ่น station wagon ปี 1953 ออกจาก Middle Tennessee State College มุ่งหน้าไปยังเมือง Seattle กับเพื่อนซี้อีกสามคนด้วยเงินติดกระเป๋าเพียง 80 เหรียญ


    เขาเติบโตมาด้วยความฝันที่จะเป็นสัตวแพทย์ แต่สุดท้ายเด็กหนุ่มในวัย 19 ปี กลับค้นพบตัวเองว่าเขาหลงรักในงานอุตสาหกรรมอาหารทะเล และเลือกทำงานแล่ปลาให้กับร้านจำหน่ายเนื้อปลาในท้องถิ่นแทนที่จะหาเวลากลับไปเรียน เขามุ่งหน้าต่อไปยัง Alaska ณ ที่แห่งนั้นเขาต้องนอนบนท่าเรือ และทำงานกับเรือหาปลาที่ยินดีจะให้เขาติดไปด้วย ขณะที่ช่วงฤดูหนาวเขาได้ทำงาน บนเรือจับปูพาณิชย์ และท้ายที่สุดเขาก็ได้เลื่อนขั้นเป็นกัปตัน

    “พ่อแทบจะไม่ได้นอนเลย” Joe Bundrant รำลึกความหลัง “ข้าวปลาก็แทบจะไม่ได้กิน ตอนสมัยผมยังเด็กสิ่งที่จำได้คือ เขามีแรงอยู่ได้ด้วยกาเฟอีนและบุหรี่

    ในปี 1973, Chuck Bundrant เริ่มก่อตั้ง Trident Seafoods ขึ้นใน Alaska ร่วมกับเพื่อนชาวประมงนักจับปูอีกสองคน พวกเขาได้สร้างเรือประมง Billikin ขนาด 135 ฟุต ที่มีอุปกรณ์ทำอาหารและแช่แข็งในตัว ซึ่งบริษัท Trident ยังคงใช้งานมาถึงปัจจุบัน

    ต่อมาในปี 1980 การจับปลาค็อดแปซิฟิกในตลาดเริ่มมีการแข่งขันสูง Chuck Bundrant จึงหันมาจับปลาพอลล็อคแทน ซึ่ง ณ ตอนนั้น เหล่าพ่อครัวต่างก็เรียกขนานนามให้ว่าเป็นปลาขยะ เพราะไม่มีใครนิยมนำปลาสายพันธุ์ดังกล่าวมาประกอบอาหารเท่าไรนัก Joe Bundrant เล่าเสริมด้วยว่า ณ ตอนนั้นบริษัทยังไม่มีแผนการขายใดๆ เลยด้วยซ้ำ

    ในวันที่พ่อของเขาถือกล่องใส่อาหารที่อัดแน่นเต็มไปด้วยเนื้อปลาพอลล็อคสิบกล่องมายังสำนักงานเป็นครั้งแรกและเดินตรงดิ่งไปยังคลังเก็บสินค้า ทุกคนต่างถามเขาเป็นเสียงเดียวกันว่ามันคืออะไร และเขาก็ตอบกลับมาว่า “ผมเองก็ยังไม่รู้เหมือนกัน แต่เดี๋ยวเราค่อยมาดูกันว่าจะขายปลานี้ได้อย่างไร”

    ถัดมาในปี 1981, Chuck Bundrant ได้เชิญเหล่าผู้บริหารจากธุรกิจเชนร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด Long John Silver s มาชิมอาหารที่บริษัท พวกเขาต่างก็อยากลองชิมปลาค็อดอลาสก้า เพราะแหล่งวัตถุดิบที่สำคัญต่อธุรกิจอย่างปลาค็อดแอตแลนติกของพวกเขาเริ่มลดน้อยลง Chuck เลือกนำปลาพอลล็อคอลาสก้ามาเสิร์ฟให้ผู้บริหารกลุ่มนี้รับประทานแทนโดยไม่ได้บอกพวกเขาว่ามันคือปลาอะไร

    “ทุกคนต่างเอร็ดอร่อยและชื่นชมว่าปลานี้รสชาติดีขนาดไหน ก่อนที่พ่อจะเฉลยให้พวกเขาได้รู้ในตอนท้าย” Joe Bundrant เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้น ก่อนที่เหตุการณ์นั้นจะจบลงด้วยการที่ Long John Silver s ได้ลงนามในสัญญามูลค่าหลายล้านเหรียญ นี่จึงเป็นจุดเปลี่ยนให้ปลาพอลล็อคกลายเป็นแหล่งขุมทรัพย์ของ Trident นั่นเอง “นั่นคือจุดเปลี่ยนของธุรกิจ และความใจสู้รวมถึงการเป็นนักบุกเบิกคือส่วนหนึ่งใน DNA ของเรา”

    ในปี 1981, Trident เริ่มสร้างโรงงานแปรรูปเนื้อปลาแห่งแรกของตนเองขึ้นมาที่ Akutan, Alaska โดยตั้งอยู่ห่างจากจุดทิ้งสมอในหมู่เกาะ Aleutian ออกไปทางตะวันตกเฉียงใต้ไกลถึง 750 ไมล์ และด้วยความที่ใกล้ชิดกับทะเล Bering นี่จึงหมายความว่าโรงงานยังสามารถผลิตอาหารแปรรูปที่ทำจากเนื้อปู, ปลาค็อดแปซิฟิก และปลาแฮลิบัตได้นานหลายปี แต่วัตถุดิบที่ถูกนำมาผลิตเป็นสินค้าแปรรูปมากที่สุดในทุกวันนี้ก็คือปลาพอลล็อคนั่นเอง

    Trident คือผู้บุกเบิกในการนำปลาชนิดนี้มาทำการค้าเชิงพาณิชย์และลงเอยด้วยการเป็นผู้จัดหาวัตถุดิบหลักให้กับเหล่าร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดเชนดังต่างๆ ระดับประเทศซึ่งรวมถึง Burger King และเนื่องด้วย Chuck Bundrant สามารถขายเนื้อปลาพอลล็อคได้ในราคาถูกกว่าปลาค็อดจากเดิมที่พวกเขาเคยซื้อใช้เป็นวัตถุดิบหลักประจำ


- จากพ่อสู่ลูกชาย -


    ตระกูล Bundrant ถือครองกรรมสิทธิ์ 80 เปอร์เซ็นต์ของบริษัทจากข้อตกลงทางธุรกิจต่างๆ ซึ่งในอดีตทางบริษัท ConAgra เองเคยถือหุ้น 50 เปอร์เซ็นต์ในปี 1989 ในสมัยที่ Trident ยังคงเป็นเพียงบริษัทเล็กๆ ที่ยังต้องการพลังงานเพื่อสร้างการเติบโต โดยทาง ConAgra เองยังมีฝ่ายการทำประมงทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือแต่ก็ไม่สามารถสร้างรายได้ให้บริษัทเท่าไรนัก แต่ Chuck Bundrant สามารถเปลี่ยนทุกอย่างให้กลายเป็นรายได้จากหน้ามือเป็นหลังมือ และเมื่อเวลาผ่านไปถึง 7 ปี ConAgra ก็ได้ตัดสินใจเสนอขายหุ้นในบริษัทที่มีอยู่ในมือทั้งหมดให้แก่เขา Chuck Bundrant จึงตัดสินใจทอยลูกเต๋าเสี่ยงดวงอีกสักครั้ง


    Chuck รีบโทรหา Joe ในทันที หลังจากที่ลูกชายของเขาเลือกลาออกจาก Trident ไปทำงานกับ Sysco ซึ่งเป็นบริษัทผู้จัดจำหน่ายขายส่งอาหารต่างๆ และยังขอให้เขากลับมามาทำงานด้วยกัน ซึ่งในขณะที่ Joe กำลังครุ่นคิดอยู่นั้น พ่อของเขาก็โน้มน้าวด้วยคำแนะนำที่ว่า “ลูกสามารถสร้างธุรกิจได้ด้วยความมุ่งมั่นของตัวลูกเอง” Chuck บอกเขา

    “เราสามารถบริหารจัดการเวลาการทำงานได้เอง ยิ่งเราตั้งใจลงแรงไปเท่าไร เราก็จะได้รับมากเท่านั้นแต่จะต้องรักษามันไว้ให้ดี แม้ว่าในขั้นที่สองหลังจากที่ได้เป็นเจ้าของธุรกิจแล้วหลายอย่างจะเต็มไปด้วยความหวาดกลัว พ่อสร้างข้อตกลงทั้งหมดทั้งหลายนี่ขึ้นมา พ่อก็ต้องแบกรับภาระเหล่านี้เอง ซึ่งถ้าหากพ่อทำไม่ได้ มันคงจะเป็นเรื่องที่น่าละอายมากๆ ส่วนขั้นที่สามคือ จุดที่พ่อยืนอยู่ตอนนี้ จำไว้นะลูกชาย มันคือความรับผิดชอบ”

    Joe Bundrant ยังเล่าต่อด้วยว่า พ่อของเขาร่ายรายชื่อของพนักงานที่ Joe รักและเคารพมายาวเหยียดและกล่าวว่า “ถ้าเราขายบริษัทนี้ทิ้งไป พวกเขาก็อาจจะเป็นคนกลุ่มหนึ่งที่ตกงานหรือต้องย้ายไปหางานทำที่อื่นในอเมริกา แต่พวกเขาไม่ใช่แค่คนกลุ่มหนึ่ง พวกเขาคือครอบครัวของพ่อ และเราก็ต้องดูแลรับผิดชอบพวกเขา”

    ในปี 1996 คือ ช่วงเวลาที่ Joe Bundrant ได้หวนคืนสู่ Trident ซึ่งถือเป็นก้าวแรกสู่การรักษาธุรกิจครอบครัวโดยสมบูรณ์อย่างเต็มตัว

    เมื่อกลับมาทำงานที่บริษัทแล้ว Joe Bundrant จึงเริ่มตั้งเป้าภารกิจให้ตนเองด้วยการเข้าหาลูกค้า ชั้นดีที่คอยหลบเลี่ยง Trident มาหลายปี นั่นก็คือ McDonald s นั่นเอง
    เมนูแซนด์วิช Filet-O-Fish หรือที่คนไทยส่วนใหญ่นิยมเรียกสั้นๆ ว่าเบอร์เกอร์ปลาของฟาสต์ฟู้ดเชนรายใหญ่นี้นั้นเลือกใช้วัตถุดิบอย่างปลาค็อดมานานหลายทศวรรษก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นปลาพอลล็อค

    แต่ทว่า McDonald s กลับไม่เคยเลือกซื้อปลาพอลล็อคจาก Trident เลย
หลายคนที่ Trident ต่างบอกกับ Joe เป็นเสียงเดียวกันว่าเขากำลังเสียเวลา แต่พ่อของเขากลับคอยผลักดันและกล่าวว่า “อย่ายอมแพ้ ลูกทำได้แน่นอน” หลายปีที่ต้องเผชิญทางตันซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในที่สุด Joe Bundrant ก็ได้เซ็นสัญญาเป็นผู้จัดหาวัตถุดิบในการทำ Filet-O-Fish ให้กับตลาดฝั่งเอเชียทั้งหมด


การเมืองช่วยหนุนธุรกิจ


    เป็นเวลาหลายทศวรรษที่ Chuck Bundrant ได้ใช้ประโยชน์ทางการเมืองต่อธุรกิจของตนเองด้วยเช่นกัน โดยในปี 1976, Trident และบริษัทประมงอื่นๆ ต่างก็ผลักดันให้ Magnuson-Stevens Act ซึ่งถือเป็นกฎหมายหลักที่คอยดูแลควบคุมการประมงทางทะเลในสหรัฐฯ ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา โดยมีเนื้อหาหลักคือจำกัดมิให้ต่างชาติรุกล้ำเข้ามาทำกิจกรรมทางประมงใดๆ ใกล้เกินกว่า 200 ไมล์จากชายฝั่งในเขตน่านน้ำสหรัฐ และจำเป็นต้องมีกรรมสิทธิ์ 75 เปอร์เซ็นต์ในบริษัทที่เป็นของคนอเมริกัน

    Bundrant เป็นหนึ่งในผู้มีส่วนในการร่างกฎหมายฉบับนี้ เขาให้สัญญากับวุฒิสมาชิก Ted Stevens แห่ง Alaska ว่าหากรัฐสภาอนุมัติข้อจำกัด 200 ไมล์ เขาจะนำกำไรทุกเหรียญกลับมาลงทุนในรัฐ Alaska เพื่อทำให้อาชีพการประมงเป็นของเหล่าอเมริกันชน “นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราจึงนั่งอยู่ที่นี่กันในวันนี้” Joe Bundrant กล่าว “พ่อของผมมีวิสัยทัศน์และมีความกล้ามุมานะ”

    Chuck Bundrant โน้มน้าวให้ Stevens จัดสรรเงินทุนไว้สำหรับการสร้างสนามบินบนเกาะ Akun เพื่อที่คนงานประจำฤดูกาลของ Trident จะสามารถบินมาลงใกล้ๆ กับโรงงานมากขึ้นแทนที่จะต้องเสียเวลา นั่งเรือเป็นชั่วโมง สนามบินแห่งนี้เปิดบริการในปี 2012 โดยใช้เงินจากรัฐบาลกลางสหรัฐ 54 ล้านเหรียญในการสร้าง


- ในวันที่คลื่นลมแรง -


    คลื่นลมแรงยังคงพัดโหมกระหน่ำมายังบริษัทอาหารทะเลครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกาเหนือแห่งนี้ โดย Alaska เป็นหนึ่งในไม่กี่รัฐที่มีการคุ้มครองผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรรวมถึงปลาพอลล็อค ซึ่ง Trident ได้รับผลประโยชน์จากการควบคุมนี้มากกว่าบริษัทอื่นๆ กล่าวคือทุกฉลากที่บ่งชี้ว่าปลามาจาก Alaska นั่นหมายถึงว่าปลาเหล่านั้นมาจากการจับตามธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม อาหารทะเลจาก Alaska กำลังประสบปัญหาการถูกตัดราคาจากเรือประมงต่างชาติโดยหลักๆ ได้แก่ รัสเซีย จีน และญี่ปุ่น

    การเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อมเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องคำนึง เมื่อไม่กี่ปีก่อนบริเวณอ่าว Bristol Bay ของ Alaska ซึ่งเป็นเส้นทางอพยพของปลาแซลมอนที่ชุกชุมที่สุดของโลกได้รับผลกระทบจากโครงการเหมืองที่รู้จักกันในนาม Pebble Mine เหตุการณ์ในครั้งนั้นเหล่าล็อบบี้ยิสต์ของ Trident ต้องวิ่งเต้นกันเพื่อหยุดยั้งการขุดเจาะ

    “เมื่อต้องเผชิญความเปลี่ยนแปลงจากการอพยพของปลา การสร้างความหลากหลายโดยการขยายชนิดของปลาที่จับกับแหล่งจับปลาต่างเป็นความคิดที่ดี” Ray Hillborn นักวิทยาศาสตร์การประมงชาว Alaska กล่าว “ย้อนกลับไปช่วงต้นทศวรรษที่ 2000 บริษัทปลาแซลมอนหลายรายต่างก็ล้มเหลว แต่บริษัทอย่าง Trident รอดพ้นมาได้เพราะธุรกิจของพวกเขามีความหลากหลาย”



    เมื่อไม่นานมานี้ จำนวนปูใน Alaska มีอัตราลดลงอย่างน่าใจหาย จำนวนดังกล่าวลดลงมากขนาดที่ว่าส่งผลกระทบให้การทำประมงจับปู King Crab หรือปูจักรพรรดิในอ่าว Bristol Bay ต้องถูกสั่งปิดและระงับไว้ก่อนซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปี

    ส่วนเหตุผลนั้นยังคงอยู่ระหว่างการถกเถียงกันว่าอาจเป็นเพราะการประมงที่จับปูมากเกินไป การวิทยาศาสตร์แบบผิดๆ การให้สัดส่วนโควต้าในการจับปูเกินความเหมาะสม อุณหภูมิน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงเหล่าเพชฌฆาตปลาแซลมอนซ็อกอายผู้หิวโหยเป็นจำนวนมากที่ทำให้ปูตัวเมียโตเต็มวัยเหลือน้อยลง และปัญหาอื่นๆ ที่ยากเกินจะคาดเดา

    อย่างไรก็ตาม หลังจากทำการประมงจับสัตว์น้ำเปลือกแข็งอย่างปู King Crab จากอ่าว Bristol Bay มานานหลายสิบปี ล่าสุดนี้ Trident ต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนสัตว์น้ำดังกล่าวอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และเป็นไปได้ว่าปัญหานี้จะยังคงดำเนินต่อไป



- ส่งต่อความยั่งยืน -


    การตลาดของ Trident ยังคงมุ่งเน้นความยั่งยืนในการประมงจับปลาตามธรรมชาติและวิธีลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการจับและผลิตตัดแต่งแปรรูปเนื้อปลาให้น้อยกว่าการผลิตเนื้อไก่ เนื้อวัว และเนื้อหมู แต่ทว่ามหาสมุทรที่ถูกปนเปื้อนด้วยพลาสติกกำลังมีอุณหภูมิสูงขึ้นและเกิดการเปลี่ยนแปลงมากยิ่งขึ้น ในขณะที่เรือลากอวนของ Trident ที่สามารถจับสัตว์ทะเลได้ด้วยน้ำหนักรวมราวหลายพันล้านปอนด์ในแต่ละปีเริ่มหลงเหลือทรัพยากรธรรมชาติไว้ให้กลุ่มคนรุ่นหลังน้อยลดลงเรื่อยๆ


    Trident ต้องเจอคำถามต่างๆ มากมายเกี่ยวกับจำนวนปลาและสัตว์ทะเลที่ลดลงมหาศาล กลุ่มผู้สนับสนุนฟาร์มปลาและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจึงพุ่งเป้าเข้าหาบริษัทยักษ์ใหญ่โดยคาดหวังให้ทางบริษัทหันมาลงทุนในทางเลือกอื่นๆ อย่างที่เหล่าธุรกิจผู้ผลิตเนื้อทำกัน แต่ทั้งนี้ Joe Bundrant กล่าวว่าเขาไม่สนใจเรื่องปริมาณอาหารที่ต้องใช้ในการเลี้ยงปลาและอีกประการหนึ่งก็คือทางรัฐ Alaska ไม่อนุญาตให้มีการทำฟาร์มเชิงพาณิชย์

    “หากคุณกำลังพิจารณาการลงทุนในสถานที่อันห่างไกลเหล่านี้โดยไม่มีความเชื่อมั่นในการบริหารจัดการด้านประมงของเรา คุณคงไม่ฉลาดเลยแน่ๆ ที่จะลงทุนในสถานที่ไกลๆ” Joe Bundrant กล่าว

     Joe Bundrant เผยว่าเขาจะย้ายไปนั่งตำแหน่งประธานคณะกรรมการผู้บริหารในอนาคต ผู้มาสานต่องานจากเขาจะเป็นหนึ่งใน Bundrant หรือเปล่าก็เป็นอีกเรื่อง มันไม่ได้อยู่ในข้อตกลงที่เสร็จสิ้นลงไปแล้ว หากสมาชิกในครอบครัว Bundrant สนใจงานตำแหน่งนี้ Joe บอกว่าพวกเขาก็จะต้องเข้าร่วมการสัมภาษณ์เช่นเดียวกับผู้สมัครคนอื่นๆ

    หลานๆ ทั้ง 13 คนกับเหลนอีกจำนวนมากของ Chuck Bundrant ต่างก็มีศักยภาพในการสืบทอดตำแหน่งต่างๆ บริษัท แต่ทั้งนี้ก็ยังมีกฎภายในของครอบครัวอยู่สองสามข้อซึ่งสมาชิกของตระกูล Bundrant ที่สนใจทำงานกับบริษัทจะต้องปฏิบัติตาม นั่นก็คือ เรียนจบปริญญาตรีและมีประสบการณ์สี่ปีจากการทำงานที่ไหนก็ได้ก่อนจะมาสมัครงานกับ Trident และสำหรับกฎข้อสุดท้าย พวกเขาต้องผ่านการทำงานในช่วงหน้าร้อนที่ Alaska ซึ่ง Joe ให้คำจำกัดความที่ว่า

    “เขาจะต้องผ่านการฝึกอบรมด้วยการสวมรองเท้าบู๊ทยางทำงานและอยู่กับปลาตายตลอด 16 ชั่วโมงต่อวัน”

    หลานของ Chuck สามคนจากทางฝั่งลูกชายคนโตอย่าง Joe ได้มีส่วนร่วมในการทำงานกับ Trident ณ ปัจจุบันนี้ โดยลูกชายของ Joe เป็นกัปตันเรือประมงของตนเองมาหลายปีแล้ว อีกทั้งเขายังใช้เวลาบางส่วนในการถ่ายรายการ The Deadliest Catch ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการออกเรือประมงเพื่อจับปูที่ออกอากาศผ่านทางช่อง Discovery Channel และแน่นอนว่าปูที่เรือประมงของเขาจับมาได้ถูกนำมาขายให้กับ Trident

    ในขณะที่ลูกสาวอีกสองคนของ Joe ได้ครองตำแหน่งสำคัญที่สำนักงานใหญ่ใน Seattle โดย Ali คือผู้ดูแลแผนกฝ่ายขายและดูแลลูกค้าหลักอย่าง US Foods ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้าอาหารรายใหญ่ ส่วน Analise Gonzales ดูแลด้านการตลาดรวมถึงการสร้างสรรค์แตกไลน์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จากชิ้นส่วนที่เหลือใช้ในซัพพลายเชน เช่น อาหารสำหรับสัตว์เลี้ยง และอาหารเสริมสำหรับผู้บริโภคอย่างน้ำมันปลา

    “เราจับปลาได้ในจำนวนจำกัด” Gonzales กล่าว “เราต้องนำแต่ละส่วนของปลาทุกตัวมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างสูงสุดและเราจะยังคงยึดมั่นในแนวทางนี้เพื่อกลุ่มคนในรุ่นถัดไป”



แปลและเรียบเรียงโดย พรรณราย ดวงดีเด่น จากบทความ Exclusive: Meet The Billionaire s Son Who Persuaded McDonald s To Serve Filet-O-Fish Supplied By His Firm ซึ่งเผยแพร่บน forbes.com

อ่านเพิ่มเติม: เบื้องหลัง “Lush” บอกลาโลกโซเชียล เดินหน้าสร้างแบรนด์ทรงคุณค่า


ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine