Subway ธุรกิจแฟรนไชส์พันล้าน กับเบื้องหลังความมั่งคั่งที่ซ่อนเร้น - Forbes Thailand

Subway ธุรกิจแฟรนไชส์พันล้าน กับเบื้องหลังความมั่งคั่งที่ซ่อนเร้น

เมื่อเชนร้านแซนวิชชื่อดังมองเห็นประสิทธิภาพในการทำยอดขาย 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ การตรวจสอบของ Forbes เผยว่าสองผู้ร่วมก่อตั้ง Peter Buck, Fred DeLuca และครอบครัวต่างเก็บเงินหลายพันล้านเหรียญเอาไว้เองและบางส่วนก็เข้ามูลนิธิของพวกเขา ในขณะเดียวกันผู้ถือสิทธิ์แฟรนไชส์จำนวนหนึ่งกล่าวว่าพวกเขาได้ทิ้งข้อผิดพลาดเอาไว้หลายประการ


    ช่วงต้นยุค 2000s ความคลั่งไคล้แซนด์วิชฟุตลองแพร่ไปทั่วสหรัฐอเมริกา เป็นเวลากว่าสามทศวรรษหลัง Subway สาขาแรกเปิดให้บริการที่เมืองบริดจ์พอร์ต รัฐคอนเนคทิคัต หลังจากนั้นร้านแซนด์วิชดังกล่าวก็เริ่มปรากฏขึ้นทุกที่ ตั้งแต่ห้างในท้องถิ่น โบสถ์ ไปจนถึงวอลมาร์ตซูเปอร์เซนเตอร์ทุกสารทิศทั่วประเทศ

    กระทั่งปี 2011 กันสาดหน้าร้านที่เป็นสีเหลืองและเขียวอันเป็นเอกลักษณ์ของ Subway ก็มีให้เห็นจนชินตามากกว่าโลโก้โค้งสีเหลืองทองของ McDonald s เสียอีก

    ทว่าเช่นเดียวกับตอนที่ได้รับกระแสนิยมอย่างรวดเร็ว ความต้องการแซนด์วิชทรงยาวราคาถูกอันล้นหลามเองก็เริ่มจะถดถอย ในปี 2015 หลังการเสียชีวิตของ Fred DeLuca ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้ครองตำแหน่งซีอีโอของ Subway มาอย่างยาวนานซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเดียวกับที่ทางบริษัทต้องประสบวิกฤตด้านประชาสัมพันธ์อย่างใหญ่หลวง

    วิกฤตดังกล่าวปะทุเมื่อโฆษกของบริษัท Jared Fogle ยอมรับผิดเกี่ยวกับการจำหน่ายสื่อลามกและล่วงละเมิดทางเพศผู้เยาว์ นั่นจึงเป็นผลให้ยอดขายของเชนร้านแซนด์วิชอย่าง Subway สะดุดลดลง จากเดิมที่เคยขยายสาขาได้อย่างว่องไว แต่ ณ ปัจจุบันเกือบหนึ่งในสี่ของสาขากว่า 27,100 แห่งทั่วสหรัฐฯ ที่เคยเปิดสาขาใหม่ในช่วงเวลาที่ DeLuca เสียชีวิตต่างก็ปิดตัวลง

    

    เมื่อการขยายสาขาของ Subway ถึงคราวถดถอย ภายหลังการขยายสาขาอย่างรวดเร็วต่อเนื่องหลายปี ปี 2016 กลับกลายมาเป็นปีแรกที่ Subway มีการปิดสาขามากกว่าเปิดสาขาใหม่ และจำนวนร้านค้าทั่วโลกก็ลดลงทุกปีนับแต่นั้น

    

    ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไรนักเมื่อในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเวลา 15 เดือนหลังการเสียชีวิตของ Peter Buck ผู้ร่วมก่อตั้งอีกคน ทางบริษัทก็มีการประกาศขายกิจการอย่างเป็นทางการ อ้างอิงจากรายงานต่างๆ ราคาน่าจะอยู่ที่ราวๆ 7 พันล้านเหรียญ หรืออาจจะมากกว่า 1 หมื่นล้านเหรียญ

    รายงานใหม่จาก Forbes ที่พิจารณาถึงการซื้อขายที่กำลังจะมีขึ้นเผยรายละเอียดใหม่เกี่ยวกับจำนวนเงินที่มหาเศรษฐีผู้ครอบครอง Subway สะสมไว้ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับการตัดสินใจของพวกเขาทั้งเพื่อปกป้องและลดขนาดความมั่งคั่งเพื่อเบิกทางสู่การขายบริษัท แม้จะมีขึ้นมีลง สิ่งหนึ่งที่แน่นอนก็คือ Subway สามารถสร้างรายได้ให้แก่เหล่าเจ้าของบริษัทและครอบครัวของพวกเขาเป็นจำนวนไม่น้อยมาตลอดระยะเวลาหลายปี

    รายงานฉบับนี้อ้างอิงเอกสารในชั้นศาลหลายร้อยหน้า เอกสารเกี่ยวกับการกุศลต่างๆ รายงานประวัติด้านการเงิน ตลอดจนการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญและบุคคลภายในทั้งหลาย นำมาสู่การเปิดเผยทรัพย์สินของภรรยาหม้ายของ Fred DeLuca เป็นครั้งแรก

    เธอคนนี้คือ Elisabeth DeLuca วัย 75 ปีซึ่งปรากฏตัวในรายชื่อการจัดอันดับมหาเศรษฐีโลกของ Forbes เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา เธอมีลูกชายหนึ่งคนและเธอก็รับสืบทอดหุ้นของร้านอาหารยักษ์ใหญ่มาจากสามีผู้ล่วงลับของเธอ 50% เธอและครอบครัวถูกประเมินว่ามีทรัพย์สินในครอบครองมากถึง 8 พันล้านเหรียญหลังหักเงินบริจาคเพื่อการกุศลที่มีการเปิดเผยและคำนวณผลตอบแทนการลงทุนจากค่าถือสิทธิ์แฟรนไชส์ Subway

    Peter Buck ผู้ร่วมก่อตั้ง Subway อีกคนได้ทิ้งแนวทางไว้ในพินัยกรรมของเขา ซึ่งฉบับสำเนาที่ Forbes ได้รับมามีการปกปิดเนื้อหาบางส่วน โดยพินัยกรรมบอกให้ส่งต่อกรรมสิทธิ์ในบริษัทครึ่งที่เขาถือครองให้กับมูลนิธิของครอบครัวของเขาหลังการเสียชีวิตในเดือนพฤศจิกายน 2021

    มรดกชิ้นนี้อาจมีมูลค่าถึง 5 พันล้านเหรียญขึ้นอยู่กับราคาขายสุดท้าย และนับว่าเป็นหนึ่งในการทำการกุศลกับมูลนิธิที่มีมูลค่ามหาศาลที่สุดในการบริจาคเพียงครั้งเดียว (ซึ่งยังจะช่วยให้ทางครอบครัวสามารถหลบเลี่ยงการจ่ายภาษีจำนวนมากได้อีกด้วย)

    นอกเหนือจากนี้ รายงานของ Forbes ยังเผยว่าครอบครัว Buck ซื้อพื้นที่ป่าใน Maine ด้วยมูลค่าสูงถึง 1 พันล้านเหรียญ ซึ่งอดีตผู้ร่วมก่อตั้ง Subway ส่งต่อให้ทายาทโดยใช้กลยุทธ์ลดหย่อนภาษีให้ได้มากที่สุดซึ่งเมื่อถึงจุดหนึ่งก็ต้องพบกับความเคลือบแคลงจากกรมสรรพากรสหรัฐฯ (Internal Revenue Service หรือ IRS)

    ก่อนหน้าการบริจาคครั้งประวัติศาสตร์ของ Buck เหล่าเจ้าของ Subway ต่างก็บริจาคทรัพย์สินบางส่วนของพวกเขาออกไป ทั้งสองครอบครัวได้รับการยกย่องเกี่ยวกับความใจบุญของพวกเขา

    แต่เรื่องราวกลับซับซ้อนขึ้นเมื่อมีปฏิกิริยาสะท้อนกลับจากผู้ถือสิทธิ์แฟรนไชส์บางส่วนที่ออกมาโจมตีว่าบรรดาเจ้าของบริษัทนั้นต่างก็ร่ำรวยขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับที่พวกเขาต้องดิ้นรนท่ามกลางภาวะที่ร้านหลายพันสาขาต้องปิดตัวลง ตัวแทนของครอบครัว DeLuca และ Buck ไม่ได้โต้ตอบข้อเรียกร้องหลายประการในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ ส่วนการตอบโต้ของ Subway รวมอยู่ในเนื้อหาด้านล่างนี้

    

กำเนิด Subway

    เรื่องราวของ Subway เริ่มต้นขึ้นในปี 1965 ณ เมืองเล็กๆ ริมชายฝั่งนามว่าบริดจ์พอร์ตในรัฐคอนเนคทิคัต เมื่อ Fred DeLuca วัย 17 ปีเข้าหา Peter Buck นักฟิสิกส์นิวเคลียร์ผู้ประสบความสำเร็จซึ่งเป็นเพื่อนกับพ่อแม่ของเขาเพื่อขอคำปรึกษาเกี่ยวกับค่าเล่าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย

    อ้างอิงจากเว็บไซต์ Subway เป็นความคิดของ Buck ที่จุดประกายให้ DeLuca ซึ่งในขณะนั้นเป็นนักเรียนแพทย์เปิดร้านแซนด์วิชสไตล์อิตาเลียนรูปทรงเรียวยาวคล้ายเรือดำน้ำเพื่อจ่ายค่าเล่าเรียน โดย Buck ได้ให้เงินลงทุนแก่ DeLuca จำนวน 1,000 เหรียญเพื่อตั้งต้นธุรกิจ

    “ผมแค่อยากเรียนจบมหาวิทยาลัย” DeLuca บุตรชายของลูกจ้างโรงงานเผยในหนังสือ Start Small, Finish Big ของเขาซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในปี 2000 

    “ผมไม่ได้ตั้งใจวางแผนจะสร้างงานสร้างอาชีพให้ตัวเองด้วยธุรกิจแซนด์วิชเลยแม้แต่น้อย”

    ท้ายที่สุดแล้วเขาก็ต้องเปลี่ยนความคิด

    DeLuca ซึ่งได้รับปริญญาด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลับแห่งบริดจ์พอร์ตใช้เวลากับธุรกิจร้านแซนด์วิชของตนมากขึ้นเรื่อยๆ ในทศวรรษถัดมาเขากับ Buck ก็เปิดร้านเพิ่มอีก 15 สาขาทั่วคอนเนคทิคัตโดยใช้ชื่อใหม่ว่า “Subway”

    

    Fred DeLuca

    

    จากนั้นในปี 1974 พวกเขาก็ปรับเปลี่ยนมาใช้โมเดลธุรกิจแฟรนไชส์ ก่อนที่กิจการของพวกเขาจะเฟื่องฟู ส่วนหนึ่งมาจากที่การเปิดแฟรนไชส์ Subway นั้นถูกกว่าร้านฟาสต์ฟู้ดอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ

    ปัจจุบันค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ (Franchise Fee) ของ Sub-way อยู่ที่ช่วง 10,000 ถึง 15,000 เหรียญ โดยมีค่าใช้จ่ายในการตั้งต้นธุรกิจ (Startup Costs) เพิ่มมาอีก 115,000 ถึง 260,000 เหรียญหรืออาจจะมากกว่านี้ เทียบกับแฟรนไชส์ McDonald’s ซึ่งมีค่าธรรมเนียม 45,000 เหรียญ และค่าใช้จ่ายในการตั้งต้นธุรกิจอยู่ที่ 1 ล้านถึง 2.2 ล้านเหรียญ

    ภายในปี 1988 Subway ก็เปิดสาขาถึง 2,000 แห่งทั่วประเทศ และในปี 2011 จึงได้แย่งชิงตำแหน่งเชนร้านอาหารที่ใหญ่ที่สุดของโลกมาจาก McDonald’s ด้วยจำนวนสาขา 33,749 แห่งทั่วโลก

    

    Peter Buck

    

    ธุรกิจแฟรนไชส์นี้ไม่เพียงแต่เติบโตดีเยี่ยมเท่านั้น มันยังทำให้ DeLuca และ Buck ร่ำรวยขึ้นอย่างชัดเจน ทั้งคู่แบ่งปันกรรมสิทธิ์ใน Doctor’s Associates บริษัทแม่ของ Sub-way ซึ่งก่อตั้งในคอนเนคทิคัตเมื่อปี 1967 โดยเท่าเทียมกัน มีการคิดค่าถือสิทธิ์แฟรนไชส์ (Royalty) ถึง 8% จากยอดขายรวมซึ่งนับเป็นอัตราที่สูงที่สุดในแวดวงอุตสาหกรรมนี้ อ้างอิงจากผู้เชี่ยวชาญด้านแฟรนไชส์ John Gordon จาก Pacific Management Consulting Group

    เขากล่าวว่าอัตราค่าถือสิทธิ์แฟรนไชส์มักจะตกอยู่ที่ใกล้ๆ 5% หรือ 6% นอกจากนี้ Subway ยังตัดเพิ่มอีก 4.5% ของรายได้ไปเป็นค่าธรรมเนียมการโฆษณา ในขณะที่ McDon-ald’s คิดค่าถือสิทธิ์แฟรนไชส์ 4% และค่าโฆษณาอีก 4% ส่วน Burger King คิดค่าถือสิทธิ์แฟรนไชส์ 4.5% และค่าโฆษณาอีก 4%

    Forbes เรียกทั้งสองว่าเป็นมหาเศรษฐีครั้งแรกในปี 2004 ณ เวลานั้นพวกเขามีทรัพย์สินอยู่ที่คนละประมาณ 1.5 พันล้านเหรียญอ้างอิงจากการประเมินมูลค่าบริษัทแม่ สิ่งที่ยากจะระบุให้ชัดเจนคือเงินสดที่ Buck และ DeLuca ได้รับจากค่าถือสิทธิ์แฟรนไชส์ในแต่ละปี

    เมื่อปี 2014 Fran Saavedra พนักงานธนาคารส่วนบุคคลที่ทำงานให้ DeLuca เป็นเวลานาน ทั้งยังอ้างว่ามีความสัมพันธ์เชิงโรแมนติกกับผู้ร่วมก่อตั้ง Subway ที่แต่งงานแล้ว ได้ให้การว่าผู้ก่อตั้ง Subway ทั้งสองคนต่างก็ได้รับค่าถือสิทธิ์แฟรนไชส์คนละ 1 ล้านเหรียญต่อวันในรูปแบบของเช็ครายสัปดาห์ในช่วงต้นยุค 2000s

    “นั่นเป็นเงินของหนุ่มๆ พวกเขาแบ่งค่าถือสิทธิ์แฟรนไชส์กัน” Saavedra เผยเกี่ยวกับ DeLuca และ Buck ในคำให้การ “สองคนนั้นเรียกมันว่าเป็นเงินโบนัสของพวกเขา”

    (Saavedra ถูกปลดจากตำแหน่งหลัง DeLuca ถูกฟ้องร้องเรื่องฉ้อโกงจากอดีตคู่ค้าทางธุรกิจของเขา Anthony Pugliese III ซึ่ง Pugliese แพ้คดีและถูกสั่งให้จ่ายเงินแก่ครอบครัว DeLuca เป็นจำนวน 23.1 ล้านเหรียญจากการตัดสินของศาลในปี 2018)

    จากคำให้การของ Saavedra นั้น DeLuca มีเงินหลายร้อยล้านเหรียญในธนาคารและบัญชีทรัสต์ช่วงต้นยุค 2000s

    แต่ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นก่อนที่ Subway จะทะยานถึงจุดสูงสุดของการเติบโต เชนร้านอาหารนี้ถูกบันทึกว่าทำรายได้ทั่วโลก 5 พันล้านเหรียญในปี 2002 ตัวเลขนั้นเพิ่มขึ้นเป็นสามเท่าในทศวรรษถัดมา เมื่อรายได้ในปี 2012 พุ่งแตะจุดสูงสุดที่ 1.81 หมื่นล้านเหรียญ อ้างอิงจากข้อมูลของ Technomic ซึ่งเป็นผู้ติดตามข้อมูลอุตสาหกรรมอาหาร

    

ปรับโครงสร้างกับการเผชิญภาษี

     สี่เดือนหลังการเสียชีวิตของ DeLuca ในเดือนกันยายน 2015 ทาง Subway ก็ต้องเผชิญกับการปรับโครงสร้างภายในซึ่งรวมถึงการย้ายทรัพย์สินทางปัญญาระดับโลกของทางบริษัทไปยังบริษัทที่เพิ่งก่อตั้งใหม่ในรัฐเดลาแวร์ตามข้อมูลในเอกสารที่มีเปิดเผยของทางบริษัทแฟรนไชส์แซนด์วิชรายใหญ่นี้

    รัฐเดลาแวร์เป็นเสมือนสถานที่หลบเลี่ยงภาษีชั้นดีเพราะทางรัฐจะไม่เก็บภาษีจากค่าถือสิทธิ์ ดังนั้นตั้งแต่ปี 2017 บริษัทแม่ของ Subway จึงเริ่มส่งรายได้ราวครึ่งหนึ่งของ Doctor’s Associates ไปยังบริษัทใหม่ในเดลาแวร์ซึ่งมีการปรับโครงสร้างอีกครั้งในปี 2018 เปลี่ยนเป็นบริษัทจำกัดแห่งเดลาแวร์

    โดยบริษัททรัพย์สินทางปัญญาในเดลาแวร์ของพวกเขารับเงินค่าถือสิทธิ์กว่า 2 พันล้านเหรียญระหว่างปี 2017 ถึงปี 2021 เงินนี้โดยพื้นฐานแล้วถือว่าเป็น “กำไรล้วนๆ” สำหรับเจ้าของ Subway ทั้งสอง Sean Dunlop นักวิเคราะห์จาก Morningstar อธิบาย (แม้ว่ามันจะยังคงเป็นประเด็นเรื่องภาษีเงินได้ระดับรัฐบาลกลางและภาษีรายได้จากการลงทุนสุทธิ)

    

    Fred DeLuca และ Jared Fogle

    

    Forbes ประมาณว่าเจ้าของ Subway ทั้งสองได้รับเงินเกือบ 5 พันล้านเหรียญจากค่าถือสิทธิ์ (หลังหักภาษีแล้ว) จากธุรกิจเชนร้านแซนด์วิชตลอด 13 ปีตั้งแต่ปี 2009 ถึง 2022 คิดเป็นราว 2.5 พันล้านเหรียญต่อครอบครัว ทำให้สันนิษฐานได้ว่าครอบครัว DeLuca และ Buck จ่ายภาษีเงินได้ระดับรัฐบาลกลาง (Federal Income Tax) ในอัตราสูงสุดเป็นประจำทุกปีรวมถึงภาษีรายได้จากการลงทุนสุทธิ (Net Investment Income Tax)

    การเก็บค่าถือสิทธิ์สร้างความรุ่งโรจน์ให้เหล่าผู้ก่อตั้ง Sub-way ถึงขีดสุดระหว่างปี 2011 และ 2013 โดยทั้งสองต่างก็ได้รับค่าถือสิทธิ์กันคนละไม่ต่ำกว่า 200 ล้านเหรียญต่อปีจากการประเมินของ Forbes ภายหลังเผชิญความถดถอยระหว่างโควิด-19 แพร่ระบาดหนัก มีการประมาณว่าค่าถือสิทธิ์นั้นเด้งลงไปอยู่ที่ราว 180 ล้านเหรียญในปี 2022

    เป็นเรื่องปกติที่บริษัทต่างๆ จะปรับโครงสร้างด้วยเหตุผลต่างๆ นานา รวมไปถึงการลดหย่อนภาษีให้ได้มากที่สุด แต่ก็อาจมีแรงจูงใจอื่นๆ ด้วยเช่นกัน อ้างอิงจาก Elizabeth Bawden หุ้นส่วนจากบริษัทด้านกฎหมาย Withers เธอบอกว่าการที่ Subway ได้ย้ายทรัพย์สินทางปัญญาไปยังบริษัทที่ตั้งอยู่ในเดลาแวร์อาจมีแรงจูงใจมาจากการวางแผนมรดก

    “บางครั้งคุณก็อาจพบเห็นบริษัทต่างๆ ปรับโครงสร้างเพราะทางครอบครัวรู้ดีว่าจะมีการบริจาคเพื่อการกุศลอย่างมีนัยสำคัญ และพวกเขาก็ต้องการจะมั่นใจว่าสินทรัพย์เหล่านั้นจะถูกส่งไปยังมูลนิธิที่จะไม่ส่งผลกระทบเชิงลบเกี่ยวกับภาษี” เธอกล่าว

    อีกเหตุผลหนึ่งที่บริษัทจะปรับโครงสร้างมายังทิศทางนี้ก็เพราะพวกเขาเตรียมที่จะขาย Bawden ว่า มันอาจจะเป็นประโยชน์มากกว่าหากเจ้าของต่างก็ต้องการ “ขายกิจการออกไปบางส่วนแต่ไม่ใช่ทั้งหมด หรือไม่ที่ปรึกษาด้านการขายก็แนะนำว่าหากแบ่งแยกสินทรัพย์ที่แตกต่างออกจากกันจะทำให้ขายได้ง่ายกว่า”

    และจากการแบ่งทรัพย์สินทางปัญญาออกไป ตามหลักแล้วเจ้าของ Subway จะสามารถใช้ประโยชน์จากส่วนนั้นของธุรกิจในการขายและดำเนินการเก็บค่าถือสิทธิ์อันแสนสำคัญต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม ผู้มีส่วนใกล้ชิดกับการซื้อขายเผยว่ากรณีนี้ไม่ใช่แบบนั้น และพวกเขาก็ตั้งใจจะขายทั้งหมดของบริษัท

    ในขณะที่มูลนิธิ Peter and Carmen Lucia Buck อธิบายการบริจาคหุ้น Subway ของ Peter Buck ว่า “ใช้เวลากว่าสิบปี” เพื่อสร้างขึ้นมา การกุศลครั้งนี้ช่วยลบล้างสิ่งที่อาจจะกลายเป็นค่าภาษีหนักหน่วงในมรดกหาก Subway ถูกขายได้ทันเวลาพอดี

    David Slenn ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายภาษีและมรดกจากบริษัทกฏหมาย Akerman อธิบายว่าหาก Peter Buck ไม่ส่งมอบกรรมสิทธิ์ Subway ให้กับการกุศล มรดกของเขาจะต้องรวมการจ่ายภาษีมรดก 40% ของสินทรัพย์ใน “ราคาตลาดยุติธรรม” เข้าไปด้วย ในการบริจาคหุ้นบริษัทแซนด์วิชของเขาให้กับมูลนิธิของครอบครัว ทายาทของ Buck ซึ่งก็คือลูกชายทั้งสอง Christopher และ William ไม่จำเป็นต้องเสียภาษีในการขาย

    แต่แน่นอนว่าเมื่อเลือกทางนี้พวกเขาก็จะได้รับมรดกน้อยกว่าอีกทางหนึ่งหลายพันล้านเหรียญเช่นกัน (Elisabeth DeLuca จะไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับภาษีมรดกนี้ เพราะมันไม่ได้ครอบคลุมสินทรัพย์ที่ตกทอดมายังคู่สมรส ส่วน Carmen Lucia Passagem ภรรยาของ Buck เสียชีวิตไปก่อนแล้วในปี 2003)

    สำเนาเอกสารพินัยกรรมของ Buck ที่ Forbes ได้รับมาเผยว่าเขาระบุชื่อลูกชายของเขาเป็นผู้จัดการมรดก ซึ่งทั้ง Christopher และ William ต่างก็อยู่ในคณะกรรมการบริหารมูลนิธิ

    มรดกชิ้นโตอีกส่วนหนึ่งของ Buck ผูกอยู่กับที่ดิน ผู้ร่วมก่อตั้ง Subway ผู้นี้เริ่มซื้อพื้นที่ป่า North Woods ในรัฐเมน ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าดั้งเดิมขนาดใหญ่ที่สุดที่ยังหลงเหลืออยู่ในสหรัฐฯ ฝั่งตะวันออกเมื่อปี 2007 นั่นเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เหล่าบริษัทกระดาษเริ่มเทขายที่ดินกัน “อย่างหนักหน่วง” ถือเป็นการเหวี่ยงอนาคตของ North Maine Woods ให้เข้าสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง Karin Tilberg ประธานและซีอีโอแห่งองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Forest Society of Maine กล่าว

    

    ​North Maine Woods

    

    ตั้งแต่นั้นครอบครัว Buck ก็เก็บสะสมพื้นที่ 1.3 ล้านเอเคอร์จากพื้นที่รวมของ North Maine Woods ราว 10 ล้านเอเคอร์ ทำให้พวกเขากลายเป็นผู้ครอบครองที่ดินที่ใหญ่ที่สุดในรัฐจนกรรมการบริหารของ Nature Conservacy องค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติในท้องที่อดตั้งฉายาในพวกเขาเสียมิได้ว่า “เหล่าเจ้าของที่ดินผู้ยิ่งใหญ่” โดยพวกเขายังครอบครองที่ดินในรัฐเวอร์มอนต์และรัฐไอโอวาอีกด้วย

    บุคคลที่มีความรู้เรื่องการทำธุรกรรมกล่าวว่าครอบครัว Buck ซื้อพื้นที่ราวครึ่งหนึ่งของ North Maine Woods ในช่วงหกปีที่ผ่านมา การซื้อครั้งล่าสุดเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว Peter Buck และญาติๆ จ่ายเงินเฉลี่ย 500 เหรียญต่อเอเคอร์สำหรับที่ดินส่วนมาก โดยมักเสนอราคาประมูลสูงกว่าราคาตลาด

    บุคคลผู้นี้กล่าวว่า “ทรัพย์สมบัติของพวกเขาที่ซื้อมาโดยส่วนใหญ่แล้ว พวกเขาเป็นผู้เสนอราคาประมูลสูงสุด หรือไม่พวกเขาก็เข้าหาคนแล้วเสนอราคาอันยากจะปฏิเสธแม้ว่าสิ่งนั้นจะไม่ได้มีไว้เพื่อขายก็ตาม”

    หลังจากซื้อที่ดินเป็นขั้นตอนแรกแล้ว Peter Buck ก็เริ่มส่งต่อมันให้กับลูกๆ ในปี 2018 Buck ได้ทำการฟ้องร้องกรมสรรพากรสหรัฐฯ ที่คิดภาษีการรับให้ (Gift Tax) เพิ่มเติมหลังจากที่เขาโอนทรัพย์สินดังกล่าวให้กับลูกๆ สำหรับส่วนลดที่มีนัยสำคัญต่อราคาซื้อ โดยใช้กลไกส่วนลดดอกเบี้ยแบบสัดส่วน

    อ้างอิงจากเอกสารที่ Buck ยื่นในการฟ้องร้อง เขาซื้อพื้นที่เจ็ดส่วนของป่าในรัฐเมนและอีกหนึ่งส่วนในเวอร์มอนต์ระหว่างปี 2009 ถึง 2013 คิดเป็นมูลค่ารวม 82.9 ล้านเหรียญ

    ต่อมาระหว่างปี 2010 ถึง 2013 จึงโอนหุ้น 48% ในที่ดินดังกล่าวให้กับลูกชายแต่ละคน โดยเก็บไว้เองเพียง 4% นั่นทำให้เขาประหยัดภาษีการรับให้ไปหลายล้านจากการประเมินมูลค่าที่ดินผืนเดียวกันที่ราคา 37 ล้านเหรียญ คิดเป็นส่วนลด 55% จากราคาซื้ออ้างอิงจากสมมติฐานว่ามันอาจจะมีมูลค่าน้อยกว่านี้สำหรับผู้ซื้อสมมติ (Hypothetical Buyer) เมื่อมีการแบ่งสรรแล้ว รัฐบาลตั้งข้อสงสัยการใช้ส่วนลดหย่อนนี้อันเนื่องมาจากว่ากรรมสิทธิ์ในที่ดินยังไม่ได้ถูกแบ่งส่วนในช่วงก่อนหน้า

    อีกทั้งในเดือนกันยายน 2021 ศาลยังได้ออกคำวินิจฉัยที่เป็นประโยชน์แก่ Peter Buck เกี่ยวกับคำพิพากษาคดีโดยวิธีรวบรัด น่าเสียดายที่เขาเสียชีวิตก่อนจะได้รับทราบบทสรุป

    David Slossberg ทนายตัวแทนของ Peter Buck ในคดีนี้กล่าวว่าท้ายที่สุดแล้วมรดกของเขาจะยุติคดีลงด้วยคำตัดสินของผู้พิพากษา มรดกนั้นมีการต่อรอง “ตัวเลขที่ยอมรับได้” ในการขอคืนภาษี Slossberg บอกกับ Forbes แม้ว่าเขาจะไม่สามารถบอกจำนวนที่แน่นอนได้ก็ตาม

    ในคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรซึ่งมีการเผยแพร่ในปี 2018 สำหรับคดีนี้ Peter Buck อธิบายว่าเขาต้องการรวม “พื้นที่ผืนใหญ่ของป่าในรัฐเมนโดยหลักเพื่อการลงทุนระยะยาวในกลุ่มสินทรัพย์ประเภทใหม่” เขากล่าวว่าเขาได้จัดตั้งทรัสต์ที่เรียกคืนได้ (Revocable Trust) เรียกว่า The Tall Timber Trust เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถือสิทธิ์ครอบครองที่ดิน ซึ่งต่อมาก็ถูกโอนให้บริษัทจำกัดของเขาและลูกชาย

    “ผมกับลูกชายไม่มีความจำเป็นในการหากระแสเงินสดจากพื้นที่ป่า กลับกันพวกเรามองพื้นที่ป่าเป็นความพยายามของคนหลายรุ่น และผลลัพธ์คือเราได้สอนให้ผู้จัดการพื้นที่ป่าขยับขยายความอุดมสมบูรณ์ของป่าให้มากที่สุด” Peter Buck เขียนในคำให้การ ชี้ว่าบริษัทของเขาตัดไม้ไปเพียงหนึ่งในสามจากปริมาณต้นไม้ที่มีการปลูกเพิ่มในแต่ละปี ณ เวลานั้น

    ทางรัฐบาลมีการขอเอกสารพินัยกรรมและแผนมรดกของ Peter Buck มาเพื่อประกอบในคดีความ ซึ่งเหล่าทนายของเขาต่างก็ปฏิเสธหัวชนฝาโดยอ้างเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัว

    อย่างไรก็ตามข้อตกลงในปี 2007 ว่าด้วย “Tall Timber Trust” ซึ่งผลิตโดย Peter Buck ในคดีความมีเนื้อหาสำคัญว่าหลังการเสียชีวิตของเขา ทรัพย์สินในทรัสต์จะถูกแบ่งสรรตามที่แนะไว้ในพินัยกรรมของ Buck (ส่วนที่มีการเปิดเผยในพินัยกรรมของ Peter Buck ไม่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับแผนการในอนาคตสำหรับ Tall Timber Trust)

    Jay Braunscheidel ประธานและหัวหน้าผู้พิทักษ์ป่าแห่ง Tall Pines Forest Management ซึ่งมีฐานที่ตั้งในรัฐเมนกล่าวว่าที่ดินของครอบครัว Buck อาจมีมูลค่าระหว่าง 325 ล้านเหรียญถึงเกือบ 1 พันล้านเหรียญในปัจจุบัน ราคาต่อเอเคอร์อาจแตกต่างกันอย่างมากขึ้นกับว่าที่ดินผืนนี้ถูกแบ่งอย่างไรในการขาย เพราะในอดีตที่ดินสัดส่วนเล็กๆ ถูกขายในมูลค่าสูงกว่าพื้นที่ขนาดใหญ่แบบของ Buck อ้างอิงจาก Brauscheidel

    Slossberg ทนายของ Peter Buck ยืนยันว่าแม้จะมี “มุมมองด้านการลงทุน” กับการที่ Buck มุ่งเน้นไปยังป่าในรัฐเมน มันก็ยังไม่ใช่แรงจูงใจหลักของเขา “จริงๆ แล้วเป้าหมายในการสะสมพื้นที่ป่ามูลค่าหลายร้อยหลายพันเหรียญก็เพื่อสร้างพื้นที่ป่าดั้งเดิม ก็คือเป็นไปเพื่อการอนุรักษ์อย่างแท้จริง”

    Slenn จากบริษัทกฎหมาย Akerman ซึ่งได้ตรวจทานคดีของ Peter Buck และสำเนาพินัยกรรมที่มีการแก้ไขเนื้อหาบางส่วนกล่าวว่า Peter Buck ได้ใช้วิธีการต่างๆ ซึ่งสอดคล้องกับใครก็ตามที่มีความมั่งคั่งต่างก็พยายามที่จะลดภาษีมรดกลง ซึ่งรวมถึง Grantor Retained Annuity Trusts (GRATs) และมูลนิธิการกุศลส่วนบุคคลของเขา

    แม้ว่ามูลนิธิส่วนบุคคลจะยังคง “เป็นประเด็นเรื่องกฎอันซับซ้อน เช่นกฎเกี่ยวกับการเป็นเจ้าของธุรกิจ” “เมื่อคุณมีทรัพย์สินมากขนาดนี้ มันจึงเป็นกระบวนการ ไม่ใช่แค่ครั้งเดียวแล้วก็จบ” Slenn อธิบาย “มันเป็นกระบวนการที่ต้องคอยทำให้ภาษีที่เกี่ยวกับทรัพย์สินเหล่านั้นลดลง”

    ​

    ความคลั่งไคล้แซนด์วิชฟุตลองหดตัว ยอดขายทั่วโลกของ Subway ถึงจุดพีคในปี 2012 ก่อนจะเริ่มลดลงต่อเนื่องมาเรื่อยๆ จนถึงจุดต่ำสุดในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19

    

มหาเศรษฐีใจบุญ

    Peter Buck มีชื่อเสียงเรื่องความใจบุญมาตลอดชีวิต นับตั้งแต่ก่อนการบริจาคหุ้นของตนเองหลังเสียชีวิต Buck ได้บริจาคมากกว่า 560 ล้านเหรียญให้กับมูลนิธิ Peter and Carmen Lucia Buck ตลอดระยะเวลา 24 ปีจากการคำนวณของ Forbes

    แม้กระทั่งตอนนี้มูลนิธิของครอบครัว Buck ก็ยังมอบเงินหลายสิบล้านเหรียญให้กับบรรดาองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรทั้งด้านการศึกษา ข่าวสาร การแพทย์ และอนุรักษ์ที่ดินเป็นประจำทุกปี เขายังบริจาคให้องค์กรไม่แสวงหากำไรนับไม่ถ้วนที่พยายามยกระดับคุณภาพชีวิตในเมืองแดนเบอรี รัฐคอนเนคทิคัตซึ่ง Peter Buck อาศัยอยู่จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต

    Isabel Almeida ประธานเครือข่ายระดมทุนเพื่อสังคม United Way แห่งคอนเนคทิคัตตะวันตกนิยาม Buck ว่าเป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่แดนเบอรี (ซึ่งมีประชากร 87,000 คน) “มีเพียงองค์กรไม่กี่แห่งในแดนเบอรีที่ไม่เคยได้สัมผัสกับการบริจาคการกุศลไม่ทางใดก็ทางหนึ่งจากเขาเลย” Almeida กล่าว

    ในกรณีของ Fred DeLuca การบริจาคต่างๆ ตามมาหลังเขาเสียชีวิตแล้ว แม้จะเตรียมการในปี 1999 มูลนิธิของครอบครัวของเขาก็ไม่ได้รับการบริจาคใดๆ จนกระทั่งปี 2007 ตั้งแต่นั้นจนถึงปี 2015 ที่เขาเสียชีวิต การบริจาครายปีให้กับทางมูลนิธินั้นไม่เคยเกิน 1 ล้านเหรียญ

    บุคคลใกล้ชิด Fred DeLuca ซึ่งให้ข้อมูลโดยไม่เปิดเผยตัวตนกล่าวว่า ในช่วงชีวิตของผู้ร่วมก่อตั้ง Subway ผู้นี้ เขาไม่แน่ใจว่าจะใช้เงินที่กองสูงในบัญชีได้อย่างไร เขาซื้อบ้านอย่างน้อยสามหลังในรัฐฟลอริด้าเพิ่มเติมจากบ้านของเขาในรัฐคอนเนคทิคัต รวมไปถึงเรือยอช์ตขนาด 100 ฟุต

    บางครั้งเขายังจัดงานเลี้ยงในบ้านที่ตกแต่งเพียงเล็กน้อยในฟลอริด้า โดยอาหารที่จัดเตรียมไว้ก็ไม่พ้นแซนด์วิชของ Subway

    ภรรยาหม้ายของเขา Elisabeth DeLuca เคยทำงานที่ Doc-tor’s Associates โดยหลักๆ แล้วจะทำหน้าที่เขียนคู่มือการปฏิบัติงานก่อนที่เธอจะเกษียณในปี 2004

    เธอเริ่มบริจาคเงินเกือบจะในทันทีหลังสามีของเธอเสียชีวิต ในช่วงห้าปีแรกที่เขาจากไป เธอบริจาคเงินเกือบ 450 ล้านเหรียญให้กับมูลนิธิ Frederick A. DeLuca เฉลี่ยอยู่ที่ราวๆ 90 ล้านเหรียญต่อปีอ้างอิงจากการตรวจสอบเอกสารภาษีของทางมูลนิธิ โดยยังไม่รวมการบริจาคที่กระทำในปี 2021 หรือ 2022 เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลออกมา

    Elisabeth DeLuca ได้รับการเสนอให้ดำรงตำแหน่งประธาน ผู้บริหาร และเลขานุการของมูลนิธิ ขณะที่ Kevin Byrne ได้ถูกแต่งตั้งเป็นซีอีโอในเดือนมีนาคม 2022 โดย Byrne ผู้ไม่เคยตอบรับคำขอความคิดเห็นจาก Forbes เลยได้ใช้เวลาเกือบสองทศวรรษที่มูลนิธิซึ่งก่อตั้งโดยครอบครัวของ Michael Dell ซีอีโอแห่ง Dell Technologies

    นอกจากนี้ Elisabeth ยังจัดตั้งมูลนิธิของตัวเธอเองชื่อมูลนิธิ Elisabeth DeLuca ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองปอมปาโนบีช รัฐฟลอริด้า เมื่อเดือนธันวาคม 2020

    มูลนิธิ Frederick A. DeLuca ซึ่งมีการบริจาคเงิน 25 ล้านเหรียญในปี 2020 หลักๆ แล้วจะสนับสนุนองค์กรต่างๆ ในรัฐคอนเนคทิคัตและฟลอริด้า ซึ่งเป็นรัฐที่ Elisabeth DeLuca พำนักและมีบ้านในครอบครอง

    มูลนิธิ DeLuca มีความเป็นเอกลักษณ์ตรงที่ “ไม่ใช่ว่าคุณสนใจแล้วจะมาสมัครได้” Debra Lee-Thomasset ซีอีโอและกรรมการบริหาร The Arc of the Glades องค์กรไม่แสวงหากำไรที่ให้การสนับสนุนผู้ใหญ่ที่มีความบกพร่องด้านสติปัญญาและพัฒนาการใน Glades ซึ่งอยู่ติดกับ Palm Beach กล่าว

    นอกเหนือจากหุ้น Subway ของเธอแล้ว Forbes พบว่า Elisabeth DeLuca ยังเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยขนาดกลางอีกสองแห่ง ได้แก่ คอนโดในเมืองปอมปาโนบีช และบ้านขนาด 2,500 ตารางฟุตในเมืองออเรนจ์ รัฐคอนเนคทิคัต

    เมื่อนำมาคำนวณรวมกันก็จะมีมูลค่าราว 2 ล้านเหรียญ ลูกชายของเธอ Jonathan ซึ่งเป็นผู้บริหารคนหนึ่งของมูลนิธิครอบครัวและบริษัทแม่ของ Subway ครอบครองสินทรัพย์ที่ฉูดฉาดยิ่งกว่าสองอย่างนั่นคือบ้านเจ็ดห้องนอนใน ปอมปาโนบีช ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 3 ล้านเหรียญและที่พักอาศัยมูลค่า 4 ล้านเหรียญใน Boca Raton

    

อีกหลายๆ ด้านของการกุศล

    อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่ประทับใจความทุ่มเททำการกุศลของเหล่าผู้ก่อตั้ง Subway

    ในเดือนเมษายน 2021 กลุ่มผู้ถือสิทธิ์แฟรนไชส์ Subway กว่า 100 คนได้เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกถึง Elisabeth DeLuca โดยเนื้อความกล่าวถึงปัญหาเกี่ยวกับเชนร้านอาหารที่มีรายงานข่าวเมื่อก่อนหน้านี้ รวมไปถึงการที่ Subway ปฏิเสธข้อเรียกร้องเรื่องการขอวัตถุดิบคุณภาพสูงขึ้นและการตัดยอดขายกันเองโดยการเปิดร้านสาขาใหม่ใกล้กับสาขาเดิม

    “เราถูกห้ามไม่ให้ลดชั่วโมงการทำงาน (ในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด) เพื่อต่อลมหายใจ ทางสำนักงานใหญ่จะได้ค่าถือสิทธิ์เพิ่ม” เหล่าผู้ถือสิทธิ์แฟรนไชส์กล่าว โดยไม่ลืมเจาะจงไปยังการบริจาคของ DeLuca ว่า “เราเห็นคุณทุ่มเงินบริจาคเพื่อการกุศลมหาศาลเป็นการทำบุญ เมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่าคุณเองก็อยากทำสิ่งที่ถูกต้องในชีวิต”

    ในจดหมาย กลุ่มผู้ถือสิทธิ์แฟรนไชส์เรียกร้องให้ลดค่าถือสิทธิ์ที่เดิมคือ 8% จากยอดขายลง “เพื่อเป็นนิมิตหมายแห่งความจริงใจต่อความยุ่งยากและความเศร้าใจที่พวกเราต่างก็ต้องจำทนตลอดประวัติศาสตร์ Subway อันยาวนานกว่า 40 ปี”

    “การบริจาคเพื่อการกุศลนั้นมาจากการทำนาบนหลังคน” หนึ่งในผู้ถือสิทธิ์แฟรนไชส์มายาวนานบอกกับ Forbes โดยจะไม่มีการเปิดเผยข้อมูลและตัวตนเพื่อความปลอดภัย “พวกเขามีหน้ามีตารับคำชมว่าช่างแสนดี ซึ่งนั่นเป็นการย่ำยีเหล่าผู้ถือสิทธิ์ทั้งยังเป็นการขูดรีดเอาเปรียบพวกเขาด้วย เพราะ ณ ตอนนี้กลุ่มผู้ถือสิทธิ์จำนวนมากต่างก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จถึงขนาดนั้น”

    ในขณะที่ยังไม่มี Buck หรือ DeLuca คนใดออกมาแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ โฆษกของ Subway มุ่งให้ความสำคัญกับการที่ทางบริษัทมีการปรับเปลี่ยนองค์กรใหม่ตั้งแต่ John Chidsey ซีอีโอคนปัจจุบันเข้าร่วมในปี 2019

    Chidsey ผู้เคยดำรงตำแหน่งซีอีโอของ Burger King กลายมาเป็นผู้บริหารระดับสูงคนแรกที่มาจากนอกครอบครัวของผู้ก่อตั้ง Subway ทั้งยัง “พินิจพิจารณาทุกมุมมองของธุรกิจเราอย่างละเอียด ตลอดจนยังปรับปรุงความสัมพันธ์ที่มีกับผู้ถือสิทธิ์แฟรนไชส์ผ่านการพัฒนาการดำเนินงานและการสนับสนุน”โฆษกกล่าว

    ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง Chidsey ได้ปรับลดพนักงาน ริเริ่มปรับเปลี่ยนเมนูอาหารของ Subway และปรับโครงสร้างสัญญากับผู้ถือสิทธิ์แฟรนไชส์โดยหลักๆ แล้วจะลดการพึ่งพาเจ้าหน้าที่พัฒนาธุรกิจซึ่งมักมีประเด็นให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งล่าสุดยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงถาวรเกี่ยวกับค่าถือสิทธิ์ที่ทางผู้ถือสิทธิ์ต้องจ่าย

    ในการตอบสนองต่อความกังวลพิเศษที่เหล่าผู้ถือสิทธิ์แฟรนไชส์ให้ความสำคัญ โฆษกของ Subway เน้นว่ามีผู้ถือสิทธิ์ 10,000 รายในระบบของ Subway ต่างก็ “มีมุมมองที่หลากหลาย”

    โฆษกยังชี้ไปยังยอดขายของบริษัทซึ่งเพิ่มขึ้น 6% ในปี 2021 อ้างอิงจากผู้ติดตามข้อมูล Technomic (Subway ปฏิเสธจะให้ความเห็นด้านการเงินของบริษัท) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดว่า “การพัฒนาเหล่านี้ดำเนินไปด้วยดี”

    Subway ยังแนะนำให้ Forbes รู้จักกับผู้ถือสิทธิ์แฟรนไชส์สองคน Michael Rodriguez คือผู้ถือสิทธิ์ที่บริหารงานร้าน Subway ถึง 10 สาขาในรัฐนอร์ทแคโรไลนาซึ่งชื่นชมการบริจาคเพื่อการกุศลของเหล่าเจ้าของบริษัท

    “ผมคิดว่าการที่พวกเขาบริจาคเงินเพื่อการกุศลเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยม ผมคิดว่ามันสมเหตุสมผล” Rodriguez กล่าว “บริษัทของผมก็คือบริษัทของผม คือแหล่งรายได้ในการดำรงชีวิต ผมจะใช้เงินของผมอย่างไรก็ได้หากผมคิดว่ามันถูกต้องและผมคิดว่าทุกคนมีอิสระที่จะทำในสิ่งเดียวกันนี้”

    Raghu Marwaha ทายาทรุ่นที่สองของผู้ถือสิทธิ์แฟรนไชส์ Subway ซึ่งครอบครัวเป็นเจ้าของร้านแซนด์วิชกว่า 100 สาขาในรัฐแคลิฟอร์เนียชี้ว่าทางบริษัทตัดค่าถือสิทธิลงครึ่งหนึ่งเป็นเวลาสองถึงสามสัปดาห์ในระยะแรกเริ่มที่โควิด-19 แพร่ระบาดหนัก หลังจากนั้นจึงเสนอทางเลือกให้จ่ายค่าถือสิทธิ์ล่าช้าเป็นเวลาสองถึงสามสัปดาห์

    ในตอนท้าย Marwaha กล่าวว่า โดยส่วนตัวแล้วเขาไม่ค่อยได้คิดว่าเหล่าเจ้าของ Subway จะได้เงินจากการขายเป็นจำนวนเท่าไหร่ “ผมจะกังวลเกี่ยวกับธุรกิจของผม...สิ่งที่ผมสนใจที่สุดคือ ผมมีอนาคตกับแบรนด์นี้หรือเปล่า?”

    

ขอบคุณรายงานเพิ่มเติมจาก Sue Radlauer

    

แปลและเรียบเรียงจาก Subway s Hidden Billions Revealed: How Its Founders Sliced Up A Fortune ซึ่งเผยแผร่บน Forbes

    

อ่านเพิ่มเติม ; ยุคแห่ง AI มาถึงแล้ว

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine