Terry Ragon เศรษฐีพันล้านกับยาปราบ HIV ในฝัน - Forbes Thailand

Terry Ragon เศรษฐีพันล้านกับยาปราบ HIV ในฝัน

FORBES THAILAND / ADMIN
13 Nov 2024 | 09:30 AM
READ 220

Terry Ragon เศรษฐีพันล้านเจ้าของฐานข้อมูลทางการแพทย์เชื่อว่าเขาสามารถประสบความสำเร็จในสิ่งที่รัฐบาลประเทศใหญ่ๆ ล้มเหลว นั่นคือการรวมแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ และวิศวกรหัวกะทิมาอยู่ในโครงการเอื้อมฟ้าคว้าดาวเพื่อรักษาไวรัสที่เจ้าเล่ห์ที่สุดชนิดหนึ่งของโลก


    ณ วันนี้เป็นวันเปิดอาคารใหม่ของสถาบัน Ragon Institute ซึ่งมีขนาด 323,000 ตารางฟุต สร้างจากกระจกและเหล็กซึ่งส่องประกายอยู่บนถนน Main Street ในเมือง Cambridge รัฐ Massachusetts ทั้งผู้ว่าฯ Maura Healey และ Robert Kraft เจ้าของทีม New England Patriots รวมถึงอธิการบดีทั้งในอดีตและปัจจุบันของสถาบันต่างๆ อย่าง MIT, Harvard และ Mass General Brigham กำลังจิบเลมอนสปริทเซอร์และทานอาหารว่าง คณะนักร้องประสานเสียงซึ่งประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์และเจ้าหน้าที่นับสิบเริ่มร้องเพลง “Somewhere Over the Rainbow”

    ทุกคนมาที่นี่เพื่อฉลองให้กับ Phillip “Terry” Ragon เศรษฐีพันล้านผู้ก่อตั้งบริษัทซอฟต์แวร์ InterSystems กับ Susan ภรรยาของเขาซึ่งเป็นผู้บริหารในบริษัทเดียวกัน ครอบครัว Ragon บริจาคเงิน 400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ให้งานวิจัยเพื่อหาวิธีใช้ระบบภูมิคุ้มกันต่อสู้กับโรค หลังจากงานนี้จบนักวิทยาศาสตร์เหล่านี้ก็ไม่ได้ไปร้องเพลงที่ไหน แต่จะกลับไปทำการทดลองบนโต๊ะแล็บสีขาวเงินอันแวววาวเพื่อรักษาไวรัสที่เข้าใจยากที่สุดชนิดหนึ่งของโลก นั่นคือเชื้อ HIV

    “เราได้พัฒนาแนวคิดโดยรวมของโครงการเกี่ยวกับเชื้อ HIV ที่ใหญ่ระดับโครงการ Manhattan” Ragon วัย 74 ปี กล่าวขณะให้สัมภาษณ์ซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก เขากำลังพูดถึงโครงการวิจัยและพัฒนาขนาดใหญ่ของอเมริกาที่สร้างระเบิดปรมาณูลูกแรกในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 “ถ้าคุณคิดจะทำโครงการ Manhattan ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 มันจะไม่สำเร็จ เพราะเราไม่รู้จักกลศาสตร์ควอนตัม แต่ถ้าคุณรอจนถึงสงครามโลกครั้งที่ 3 มันก็จะสายเกินไป”

    Ragon เป็นเจ้าของ InterSystems แต่เพียงผู้เดียว และมีทรัพย์สินมูลค่าประมาณ 3.1 พันล้านเหรียญ เขาเชื่อว่าพวกเราใกล้จะมีการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ครั้งใหญ่คล้ายกับตอนนั้น แต่เป็นเรื่องของการรักษาผู้ติดเชื้อ HIV ซึ่งเป็นไวรัสที่ทำให้เกิดโรคเอดส์ประมาณ 39 ล้านคนทั่วโลก ถึงแม้จะมีหลักฐานแย้งก็ตาม

    มันอาจจะฟังดูเหลือเชื่อหน่อยๆ เพราะองค์กรขนาดใหญ่ที่มีทรัพยากรมากกว่า Ragon Institute มากยังใช้เวลาหลายสิบปีในการพัฒนาวัคซีนป้องกันเชื้อ HIV เช่น Johnson & Johnson ที่ยุติการทดลองขนาดใหญ่ครั้งล่าสุดในปี 2023 หลังจากทำการทดลองมาหลายปีและได้สัญญาสนับสนุนเงินทุน 500 ล้านเหรียญมาแล้ว ซึ่งเป็นงานวัคซีนที่อ้างอิงงานวิจัยของ Ragon Institute บางส่วนด้วย

    AVAC องค์กรไม่แสวงหากำไรด้านเชื้อ HIV รายงานว่า รัฐบาล องค์กรไม่แสวงหากำไรและบริษัทต่างๆ ใช้เงินโดยรวมประมาณ 1.7 หมื่นล้านเหรียญในการพัฒนาวัคซีนป้องกันเชื้อ HIV ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา แต่ไม่มีหน่วยงานใดเลยที่ผ่านการทดลองทางคลินิกในระยะที่ 3 ได้

    แต่ถึงกระนั้น Ragon ก็ไม่ย่อท้อ เขาบอกว่า ทุนจากภาครัฐไม่ได้ประเมินข้อเสนอโครงการวิจัยจากความสำคัญเท่านั้น แต่ยังดูความเป็นไปได้ที่การทดลองจะได้ผลด้วย ซึ่งเขาคิดว่านั่นไม่เข้าท่าเลย “เพราะคนคาดว่าการทดลองส่วนใหญ่จะล้มเหลว” เขาบอก นั่นเป็นสาเหตุที่เขาเชื่อว่าความพยายามของเขาที่เน้นให้ทุนการวิจัยในระยะเริ่มต้นที่มีความเสี่ยงมากกว่าจะประสบความสำเร็จ ในขณะที่บริษัทใหญ่ๆ ทำไม่ได้


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : เกาะกระแส AI พุ่ง บริษัทเซมิคอนดักเตอร์ไต้หวันคว้าโอกาสสร้างการเติบโต

คลิกอ่านเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนตุลาคม 2567 ในรูปแบบ e-magazine