SAT สอบตกครั้งใหญ่เสียเอง - Forbes Thailand

SAT สอบตกครั้งใหญ่เสียเอง

FORBES THAILAND / ADMIN
24 Mar 2021 | 11:53 AM
READ 2959

ความโกลาหล นี่คือผลกระทบจากโควิด-19 ที่เกิดขึ้นกับระบบอุดมศึกษาของอเมริกา ซึ่งอยู่ในภาวะดิ้นรนอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนเกิดโรคระบาด

เราไม่ต้องไปหาตัวอย่างที่ไหนไกล แค่ดูจากสภาพในปัจจุบันของ College Board (คณะกรรมการเพื่อการสอบเข้ามหาวิทยาลัย) ซึ่งขึ้นชื่อมานานว่า เป็นป้อมปราการที่เจาะไม่เข้าในบรรดาหอคอยงาช้างโดยผลิตภัณฑ์หลักของที่นี่อย่างการสอบ SAT ใช้กำหนดมาตรฐานการรับนักศึกษามหาวิทยาลัยมากว่า 5 ทศวรรษ

แต่มีน้อยคนที่รู้ว่าองค์กรที่ตั้งอยู่ในเมือง New York แห่งนี้ ซึ่งให้บริการสอบ SAT และ Advanced Placement (AP) เป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ดำเนินงานโดยเกือบผูกขาด การสอบของที่นี่ซึ่งรัดคอนักเรียน/ลูกค้าจนดิ้นไม่หลุด

สร้างรายได้กว่าปีละ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และกำไรที่ไม่ต้องเสียภาษี 100 ล้านเหรียญ องค์กรนี้ลงทุน 400 ล้านเหรียญในกองทุนเฮดจ์ฟันด์และหุ้นนอกตลาด และ David Coleman ซีอีโอวัย 50 ปี ซึ่งฝึกฝีมือมาจาก McKinsey ก็สอยค่าจ้างไปเกือบปีละ 2 ล้านเหรียญ แต่ป้อมปราการ College Board กำลังถูกโจมตี

College Board ไม่ได้มีปัญหาแค่กับนักเรียนที่อารมณ์เสียและพ่อแม่จอมประคบประหงมที่กำลังเลือดขึ้นหน้าเท่านั้น แต่องค์กรไม่แสวงผลกำไรแห่งนี้และการสอบ SAT ถูกวิจารณ์มานานแล้วว่าเป็นตัวการทำให้ระบบซึ่งลำเอียงเข้าข้างคนมีเงินไม่หมดไปเสียที

College Board แถลงว่า พันธกิจขององค์กรคือการเชื่อมโยงนักเรียนไปสู่ความสำเร็จและโอกาสในมหาวิทยาลัยแต่ข้อมูลจากองค์กรเองกลับฟ้องว่า นักเรียนผิวสีทำคะแนนสอบ SAT และ AP ได้ต่ำกว่านักเรียนผิวขาว

แต่สิ่งที่ทำให้ลูกค้ายกโขยงหนีคือ การที่ College Board ขาดความสามารถในการปรับวิธีดำเนินงานให้เหมาะกับสถานการณ์โรคระบาด ทำให้ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมามีมหาวิทยาลัยกว่า 500 แห่ง ซึ่งรวมถึงทุกมหาวิทยาลัยในกลุ่ม Ivy League ร่วมกันเคลื่อนไหวตามแนวทางใช้คะแนนสอบเป็นทางเลือกมากขึ้น

โดยรวมแล้วมีสถาบันการศึกษาหลักสูตร 4 ปีมากกว่า 1,600 แห่งที่ไม่บังคับให้นักเรียนต้องยื่นคะแนนสอบเข้าในปี 2021 และมีสถาบันที่เปลี่ยนเป็นไม่ใช้คะแนนสอบเข้ามากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหมายความว่า สถาบันเหล่านี้จะไม่นำคะแนนมาพิจารณาเลย

SAT
David Coleman ซีอีโอวัย 50 ปี

สำหรับนักเรียนและมหาวิทยาลัยจำนวนมาก การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ด้านการสอบเข้าจะทำให้ปี 2021 กลายเป็นหนึ่งในปีที่มีรอบการสอบชุลมุนที่สุดเท่าที่เคยมีมาและความเปลี่ยนแปลงนี้อาจไม่ได้เกิดขึ้นแค่ชั่วคราว เพราะก่อนเกิดโรคระบาด

สภามหาวิทยาลัยของกลุ่ม University of California (UC) อันทรงเกียรติในรัฐที่มีสัดส่วนผู้เข้าสอบ SAT มากที่สุดในประเทศพิจารณากันแล้วว่า จะตัดการสอบนี้ทิ้งไปดีไหม

โดยการเคลื่อนไหวของเหล่าสภามหาวิทยาลัยได้รับรู้ถึงข้อมูลเกี่ยวกับนักเรียนที่เสียเปรียบผมเชื่อว่าการสอบนี้เหยียดผิวสมาชิกสภาฯ Jonathan Sures กล่าวในการประชุมทางไกลของ UC “ไม่มีทางคิดอย่างอื่นได้เลย

แล้วในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมกลุ่มมหาวิทยาลัยแห่งนี้ก็ประกาศว่า เจ้าหน้าที่รับนักศึกษาจะเลิกพิจารณาคะแนนสอบอย่างสิ้นเชิง โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2023 และเมื่อไม่นานมานี้ก็มีผู้พิพากษาตัดสินให้เริ่มดำเนินนโยบายทันที

ถ้า College Board มีแผนพลิกสถานการณ์ องค์กรนี้ก็ไม่ได้สื่อสารออกมาให้ชัดเจน แต่กลับมุดหลบและปฏิเสธเมื่อForbes ขอคุยกับผู้บริหารอาวุโส และตอบคำถามทางอีเมลเท่านั้นโฆษกขององค์กรเขียนตอบมาว่าโรงเรียนในท้องถิ่นและศูนย์สอบเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าจะจัดสอบ SAT หรือไม่และตอบผู้ที่วิจารณ์ว่า College Board ไม่ทำตามพันธกิจขององค์กรว่าในแต่ละปีเราช่วยเปิดทางให้นักเรียนกว่า 7 ล้านคนได้เป็นเจ้าของอนาคตของตัวเอง

การที่มีคนวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการสอบเข้ากันมากขึ้นถือเป็นส่วนหนึ่งในประเด็นใหญ่กว่า ซึ่งว่าด้วยโอกาสเข้าถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษาในอเมริกามหาวิทยาลัยกลายเป็นจุดสูงสุดในเครื่องจักรสร้างความเหลื่อมล้ำ ซึ่งทำให้ปัญหาชนชั้นและการจัดลำดับชั้นด้วยเชื้อชาติเพิ่มขึ้นและแก้ไม่หาย และกดคนรายได้น้อยให้ยิ่งจมลง

Anthony Carnevale ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาและแรงงานของ Georgetown University เขียนอธิบายในหนังสือชื่อ The Merit Myth ของเขาที่ตีพิมพ์ในปี 2020 ว่า พวกมหาวิทยาลัยซึ่งเลือกเฟ้นนักศึกษามากที่สุดของอเมริกาคือ ตัวการสนับสนุนให้ความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากฐานะยังเกิดขึ้นต่อไป Carnevale ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ผู้เคยทำงานให้ประธานาธิบดี George W. Bush และ Bill Clinton กล่าวว่า College Board สมควรถูกกล่าวโทษในบางส่วน

องค์กรนี้คือ อาณาจักรชั่วร้ายเขากล่าวการทำสอบเป็นแค่หน้าฉาก...มันคือหน้าฉากสวยๆ ที่ดูเป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งเอาไว้ปกปิดระบบแห่งความเหลื่อมล้ำที่ใช้รับประกันว่าเด็กรวยจะได้เข้ามหาวิทยาลัยที่เลือกเฟ้นนักศึกษามากที่สุด ทั้งหมดนี้ดูเหมือนเป็นวิทยาศาสตร์ทั้งที่ความจริงไม่ใช่

ในยามที่โรคระบาดกำลังคุกคามมหาวิทยาลัยในอเมริกาจนเหมือนเป็นวันโลกาวินาศในด้านการเงิน คงจินตนาการได้ยากว่าจะมีสถาบันไหนยอมทิ้งกลไกการคัดเลือกเด็กที่ช่วยปกป้องโอกาสการรับลูกเศรษฐีมาเป็นนักศึกษา

แม้ College Board จะขลุกขลักกับการจัดการความโกลาหลในการจัดสอบช่วงโควิดระบาด แต่พนักงาน 1,800 คนของที่นี่ก็ยังมีงานทำกันปกติ ในขณะที่คู่แข่งอย่าง ACT ประกาศลดตำแหน่งงานและให้พนักงานพักงาน แถมซีอีโอยังลาออกกะทันหัน

แต่กระนั้น College Board ก็อาจต้องการผู้นำแบบใหม่ที่จะหาทางพาองค์กรเข้าสู่ยุคต่อไปได้ เพราะสิ่งหนึ่งที่อดีตพนักงานหลายคนพูดถึงองค์กรแห่งนี้ก็คือ ที่นี่ล้าหลังอย่างร้ายกาจในด้านเทคโนโลยี

เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2019 David Coleman เขียนบทความให้ The Atlantic โดยพาดหัวว่ามหาวิทยาลัยมีอะไรมากกว่าแค่การสอบเข้าให้ได้ส่วนพาดหัวรองนั้นเป็นสิ่งที่น่าจะเขียนโดยผู้วิจารณ์ College Board เสียมากกว่าการสมัครเข้ามหาวิทยาลัยกลายเป็นงานน่าเบื่อไม่จบไม่สิ้น ซึ่งไม่ได้ช่วยสอนนักเรียนเลยว่าอะไรคือสิ่งสำคัญที่แท้จริงในการเรียนระดับอุดมศึกษา

อ่านแล้วเหมือนฟังมือเพลิงบ่นเรื่องไฟไหม้ลามจนคุมไม่อยู่ แถม Coleman ยังเขียนอีกว่าการได้คะแนนน้อยไม่ควรเป็นสิ่งกีดขวางทางชีวิตของนักเรียน

อ่านเพิ่มเติม: การจัดอันดับ 20 ประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก ประจำปี 2021
คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ในรูปแบบ e-magazine