ปัจจุบันมีจักรยานสาธารณะให้ยืม สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า และล่าสุด ร่มสาธารณะจาก Rentbrella ทำให้ต่อไปในอนาคต ไม่ว่าจะไปไหนมาไหน คุณก็อาจจะไม่จำเป็นต้องควักเงินซื้อของเหล่านี้แล้วก็ได้
หากเมื่อเร็วๆ นี้ได้ออกจากบ้าน คุณก็คงเข้าใจนะ จู่ๆ ฝนก็เริ่มตก ร่มสักคันก็ไม่มี อย่างมากอาจจะหาอะไรมาบังสักหน่อย (เอาเสื้อคลุมขึ้นมาบ้างอะไรประมาณนั้น) หรือไม่ก็หยิบร่มมาใช้ แต่ว่า ตายล่ะ ลืมไว้ที่บ้านซะงั้น งั้นหาไปหาซื้อข้างหน้าเอาล่ะกันนะ แต่กว่าจะไปถึงร้านก็ตัวเปียกโชกไปหมดแล้ว แต่หากคุณอยู่ที่ Manhattan, New York ล่ะก็ คุณสามารถหยิบร่มจากสถานีแชร์ของ Rentbrella ได้เลย โดยใช้ได้ฟรีถึง 24 ชั่วโมง หากอยากเก็บไว้ใช้ต่อ ก็เพียงวันละ 2 เหรียญสหรัฐฯ ต่อวัน หลังจากนั้น 3 วัน คุณจะต้องจ่ายทั้งหมดรวมเป็น 16 เหรียญ และสามารถเก็บร่มคันนั้นไว้ได้เลย นอกจากที่ Manhattan แล้ว Rentbrella ยังได้มีสถานีร่มอีก 35 แห่งตามจุดที่ผู้คนพลุกพล่าน นอกจากนี้ Rentbrella ยังมีสถานีร่มสาธารณะมากกว่า 400 สถานี มีร่มโดยรวมถึง 40,000 คันทั่วเมือง São Paulo ประเทศบราซิลบ้านเกิดบริษัทที่เปิดตัวเมื่อปี 2018 นี้อีกด้วย และทางบริษัทสุดล้ำนี้ก็มีแผนการมากมายที่จะช่วยให้เมืองอื่นๆ ตัวแห้งในวันฝนตกอีกด้วย "เรามีแผนการการขยายบริษัทที่มีความทะเยอทะยาน โดยเรามีเป้าหมายที่จะขยายไปในหลายๆ เมืองทั่วสหรัฐและยุโรปให้ได้ภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้" Freddy Marcos ผู้ร่วมก่อตั้ง Rentbrella กับ Nathan Janovich กล่าว "ในสหรัฐ เรากำลังมองหาเมืองอย่าง Seattle, Chicago, Atlanta, Miami, Philadelphia, Washington, Houston, Boston และอีกมากมายอยู่" Marcos กล่าว "ส่วนในยุโรป เราจะเริ่มจาก London ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2022 และก็จะเริ่มขยายไปเมืองอื่นๆ ที่มีปริมาณฝนค่อนข้างมาก และมีประชากรหนาแน่น" พูดกันจากประสบการณ์ คุณมักจะไม่มีร่มในเวลาที่คุณต้องการมัน มันอาจจะอยู่ในรถ หรือไม่ก็ลืมไว้ที่บ้าน หรือไม่ก็เอามาด้วยระหว่างเดินทางไปทำธุรกิจในที่ที่ฝนค่อนข้างเยอะ...แต่ลืมไว้ในห้องซะงั้นจริงไหมรีไซเคิลพลาสติก
นอกเหนือจากความสะดวกสบายแล้ว หากคุณอยู่ในที่ที่ใช่ล่ะก็นะ Marcos ยังบอกด้วยว่าร่มของพวกเขายังทำมาจากขวด PET ที่นำมารีไซเคิล โดยนำเข้าจากจีน บริษัทให้ยืมร่มแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นโดยมีเป้าหมายในการนำขยะมารีไซเคิล และลดปริมาณการผลิตร่มที่สุดท้ายก็โดนขว้างทิ้ง (มีการผลิตร่มถึง 33 ล้านคันต่อปีในทวีปอเมริกาเหนือ โดยอ้างอิงจากบริษัทให้บริการร่มในเมือง Vancouver) คุณสามารถหาสถานียืมร่มสาธารณะของบริษัทสัญชาติบราซิลนี้ได้โดนใช้แอปพลิเคชั่นบนมือถือ เหมือนกับไอเท็มอื่นๆในเมืองแห่งนี้ (รวมถึงสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าด้วย) "เราคิดถึงความยั่งยืนในทุกมุมของผลิตภัณฑ์ของเรา" Marcos กล่าว "ข้อหนึ่งเลย ผ้าร่มเนี่ยทำมาจากขวด PET ที่นำมารีไซเคิล ซึ่งเป็นการป้องกันไม่ให้ขวดพวกนั้นถูกทิ้งตามภูเขาขยะต่างๆ หรือลงในมหาสมุทร ข้อสอง หลังจากวงจรชีวิตของร่มมันหมด เราก็จะนำผ้าร่มตรงนั้นมาใช้กับผลิตภัณฑ์ใหม่ ไม่ว่าจะเป็นแมสก์หรือกระเป๋า เป็นต้น ซึ่งของเหล่านี้จะถูกแจกจ่ายไปตามองค์กรไม่แสวงกำไรที่คอยช่วยเหลือชุมชนที่ยากลำบาก" Marcos กล่าวว่าทางบริษัทได้พัฒนามาไกลมากจากตอนที่เปิดตัวใน São Paulo ในวันนั้น ทางบริษัทกล่าวว่า ร่มตัวล่าสุดนี้ ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศใน New York และทนแดด ทนฝน โดยใช้วัสดุกันน้ำที่ล้ำสมัยอีกทั้งยังสามารถกันรังสียูวี และทำมาจากไฟเบอร์แกลส ซึ่งช่วยกันลมแรงๆ ในเมืองใหญ่นี้อีกด้วยโฆษณาท่ามกลางสายฝน
แล้ว Rentbrella ทำเงินจากไหนกัน หากร่มพวกนี้มันฟรี (อยู่บ้าง) "Revenue model ของเราขึ้นอยู่กับการโฆษณา สปอนเซอร์จากแบรนด์ต่างๆ บนร่มของเรา" Marcos กล่าว "ในบราซิล ร่มของเราได้สปอนเซอร์เป็นบริษัทประกันที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอย่าง Unimed" Marcos กล่าวว่าร้อยละ 98 ของผู้ใช้ใน Manhattan คืนร่มภายใน 24 ชั่วโมง (ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ) ในขณะที่ร้อยละ 1 เก็บร่มไว้วันสองวัน (ในอัตรา 2 เหรียญต่อวัน) และอีกร้อยละ 1 เลือกที่จะเก็บร่มไว้ และจ่ายเต็มราคา (16 เหรียญ) ตัวเลขนั้นก็คล้ายกันกับในบราซิล ณ เมืองใหญ่ที่ฝนพร่ำจนได้ฉายาว่า 'land of the drizzle' ไอเดียแจ่มแจ้งนี้เกิดขึ้นมาในขณะที่ Janovich กำลังออกมาจากรถไฟฟ้าใต้ดิน โดย Marcos บอกว่า "มีคนเป็นร้อยอัดกันอยู่ที่ประตูตอนนั้น เพราะฝนมันตก แล้วเขาก็เห็นจักรยานสาธารณะปั่นผ่านไป แล้วเขาก็คิดว่า 'หากไม่มีใครจำเป็นที่จะต้องมีจักรยานเป็นของตัวเองเพื่อไปไหนมาไหน ทำไมถึงต้องจำเป็นมีร่มกันล่ะ?' "ในตอนนั้น เขาก็โทรมาหาผม แล้วผมก็เสนอให้ใช้ร่มเป็นเครื่องมือในการโฆษณาที่จะมอบความเคลื่อนตัวและคุ้มกันให้แก่ผู้ใช้งาน และก็เป็นถือเป็นประสบการณ์สื่อแบบ high impact สำหรับแบรนด์ด้วย" Marcos ทิ้งท้าย แปลและเรียบเรียงโดย ทัตชญา บุษยากิตติกร จากบทความ Rentbrella Keeps The Drops Off Your Head - For Free If You Return It In Time เผยแพร่บน Forbes.com อ่านเพิ่มเติม: Domus Stay เปิดประสบการณ์เช่าห้องพักแบบลักชัวรีไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine