"Recitatif" ของ Toni Morrison กลายเป็นงานศิลป์ในรูปหนังสือ - Forbes Thailand

"Recitatif" ของ Toni Morrison กลายเป็นงานศิลป์ในรูปหนังสือ

FORBES THAILAND / ADMIN
07 Aug 2022 | 12:00 PM
READ 2851

สุดยอดนวนิยายเรื่องสั้น “Recitatif” โดยนักเขียนเจ้าของรางวัลโนเบล Toni Morrison ได้รับการตีพิมพ์เป็นเล่มหนังสือ หลังถูกเผยแพร่ในนิตยสารครั้งแรกในปี 1983

ผู้อ่านหลายท่านอาจเคยได้อ่านเรื่องสั้นเพียงเรื่องเดียวของ Toni Morrison ในรูปของ PDF หรือจากซีรี่ยส์รวมงานประพันธ์ของนักเขียนสตรีเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกัน ซึ่งได้รวบรวม นวนิยาย, บทกวี, เรียงความ และบทละครสั้น เกี่ยวกับชีวิตของผู้หญิงผิวสีในสหรัฐอเมริกา ไว้บนกระดาษบางๆ ของนิตยสาร Confirmation อย่างไรก็ตาม เฉกเช่นรูปวาดบนผ้าใบผืนเล็กที่ใส่กรอบและวางอยู่ท่ามกลางผลงานของศิลปินผู้เป็นที่รัก สถานะของ Recitatif ได้กลายเป็นทัศนศิลป์ชิ้นเอกไปโดยปริยาย หลังถูกตีพิมพ์อีกครั้งให้เป็นรูปเล่ม ปัจจุบัน นิตยสาร Confirmation ฉบับดังกล่าว ถูกปล่อยขายในเว็บไซต์ Amazon ด้วยสภาพที่ “พออ่านได้” ในราคา 761.13 เหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ AbeBooks, African American Literature Book Club หรือเว็บไซต์อื่นๆ สำหรับซื้อขายหนังสือมือสองหรือหนังสือเก่าหาอ่านยากเกี่ยวกับเรื่องราวของผู้คนเชื้อสายแอฟริกันรวมทั้งแอฟริกัน-อเมริกันนั้น ไม่ปรากฏให้เห็นแม้เพียงฉบับเดียว คอลเลคชันงานเขียนดังกล่าวจึงมีคุณค่าเสมือนลิมิเต็ดอิดิชั่นของงานศิลป์หรือภาพถ่ายที่คงความสำคัญเหนือกาลเวลา การเปลี่ยนแปลงของสังคมหรือแม้แต่ทัศนะที่ผู้คนมีต่อศิลปะ การที่สองศิลปินและนักเคลื่อนไหวชาวแอฟริกัน-อเมริกัน อย่าง Amiri Baraka และ Amina Baraka ผู้มีบทบาทอย่างมากใน Black Arts Movement ได้รวบรวมงานเขียนไว้ในซีรี่ยส์ของนิตยสารดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของผลงาน Morrison ในช่วงเวลาที่การเลือกปฏิบัติเชิงบวกหรือการยืนยันสิทธิเฉพาะกลุ่ม (Affirmative Action) ในสหรัฐฯ นั้นเกิดความสั่นคลอน อย่างไรก็ตาม แม้กระบวนการยุติธรรมหรือการบัญญัติกฎหมายจะล่าช้า ทว่า ปี 1983 ถือเป็นจุดเปลี่ยนในประวัติศาสตร์สำหรับผู้คนเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกัน อาทิ วรรณกรรมเรื่อง The Color Purple โดย Alice Walker ได้รับรางวัล Pulitzer, การที่ Harold Washington ได้รับเลือกตั้งให้เป็นนายกผิวสีคนแรกของเมือง Chicago, ตอนที่ Guion Bluford ได้รับเลือกโดย NASA ให้ไปท่องอวกาศ หรือเมื่อ Vanessa Williams ได้รับตำแหน่ง Miss America เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สำนักพิมพ์ Knopf ซึ่งเป็นบริษัทลูกของสำนักพิมพ์ชื่อดัง Penguin Random House จัดพิมพ์ “Recitatif A Story” เป็นเรื่องสั้นเดี่ยวๆ ภายใต้หนังสือปกแข็ง โดยมี Zadie Smith นักเขียนชื่อดังเชื้อสายจาไมกัน-อังกฤษ เป็นผู้เขียนคำนำ  เรื่องสั้นดังกล่าวประกอบด้วยจำนวนหน้าทั้งหมด 96 หน้า และมีความยาวสั้นกว่านวนิยายชื่อดังเรื่องอื่นๆ ของ Morrison โดยนับเป็นจำนวนไม่ถึงครึ่งหนึ่งของเรื่อง The Bluest Eye และ Jazz และน้อยกว่าหนึ่งในสามของเรื่อง Beloved และ Song of Solomon แม้ว่าคำนำของการตีพิมพ์ครั้งใหม่นี้จะใช้พื้นที่ไปถึงเกือบครึ่งเล่ม แต่สไตล์การเขียนของ Morrison นั้นไม่เยิ่นเย้อ และมีการใช้คำที่สั้นกระชับแต่สะเทือนอารมณ์ อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าสำนักพิมพ์ Knopf เลือกปกหนังสือแบบถอดออกได้ และใช้โทนสีโมโนโครมไล่สีน้ำเงินเฉดต่างๆ สลับกันในตัวหนังสือ เพื่อสื่อให้เห็นถึงความกำกวมทางเชื้อชาติของตัวละคร
Recitatif
‘Recitatif A STORY’ โดย Toni Morrison พร้อมบทนำโดย Zadie Smith, ปกแข็ง ราคา 16 เหรียญ 01 กพ. 2022 | ISBN 9780593315033 สำนักพิมพ์ Knopf
ในเดือนมีนาคม ปี 2021 สำนักพิมพ์ Thornwillow ตีพิมพ์เรื่อง Recitatif จำนวน 3 ชุดด้วยกัน ประกอบด้วยคลาสสิกอิดิชั่น จำนวน 500 เล่ม ซึ่งหุ้มด้วยกระดาษห่อที่ใช้เทคนิคเลตเตอร์เพรส, แพทรอนอิดิชั่น 150 เล่ม ในราคาเล่มละ 165 เหรียญ โดยใช้กระดาษห่อปกแบบพิเศษที่ทำด้วยมือ แต่ละเล่มมีหมายเลขกำกับและเซ็นโดยสำนักพิมพ์ และอีก 24 เล่ม ที่ห่อด้วยปกลวดลายทำด้วยมือและหนังชั้นดีจาก Morocco พร้อมหมายเลขกำกับในแต่ละเล่มและลายเซ็นสำนักพิมพ์ วางขายในราคา 685 เหรียญ
Thornwillow's Recitatif
ปกหนังสือโดยสำนักพิมพ์ Thornwillow
แม้หนังสือวรรณกรรมจะอาศัยเนื้อหาที่ทรงพลังมากกว่ารูปลักษณ์ ทว่า ก็มีความคล้ายคลึงวัตถุทางศิลปะในแง่ที่ดีไซน์ตัวเล่มมีไว้เพื่อสะสม ชื่นชม ตกทอด หรือเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์อันสำคัญ เช่นนี้ การที่สำนักพิมพ์ Knopf จัดพิมพ์เรื่องสั้นดังกล่าวให้เป็นเล่มหนังสือจึงเป็นการสร้างและเติมเต็มประสบการณ์พิเศษให้แก่ผู้อ่าน อีกทั้งยังช่วยเน้นย้ำชื่อเสียงในวงการวรรณกรรมของผู้แต่งและเป็นผลดีต่อการตลาดอีกด้วย เหมือนกับงานศิลป์ชิ้นอื่น ผู้อ่านสามารถอ่านเรื่องสั้นดังกล่าวได้แบบเดี่ยวๆ หรือจะอ่านพร้อมทำความเข้าใจบริบทของ Morrison ในฐานะนักวรรณกรรม, ผู้ประพันธ์, นักเล่าเรื่อง, ศิลปิน หรือแม้แต่ผู้ก่อการจลาจลก็ย่อมได้ เช่นนี้ จึงเป็นที่ปฏิเสธไม่ได้ว่านวนิยายเรื่องสั้นดังกล่าวนั้นควรค่าแก่การนำเสนอสู่สายตาของสาธารณชนเหมือนกับผลงานชิ้นเอกอื่นๆ Toni Morrison ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมเมื่อปี 1993 เธอให้นิยาม Recitatif ว่าเป็น "การทดลองเขียน" วิธีดำเนินเรื่องโดยลบลักษณะเฉพาะทางเชื้อชาติออกจากตัวละครหลักทั้งสอง พร้อมชูประเด็นเรื่องอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์เป็นปมสำคัญ ยิ่งไปกว่านั้น นักเขียนสตรีคนดังกล่าวยังคาดการณ์ไว้อีกว่า เรื่องสั้นดังกล่าวจะสามารถทำให้ผู้อ่านตั้งคำถามและตกตะกอนทางความคิดได้ แม้เวลาจะผ่านไปอีกหลายปีก็ตาม แปลและเรียบเรียงโดย สิรินนรี อ๋องสกุล จากบทความ Toni Morrison’s ‘Recitatif’, Always A Literary Triumph, Transformed By Visual Art Materiality เผยแพร่บน Forbes.com อ่านเพิ่มเติม:

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine