Mizu-Who? ดีลระดับโลกต้องมีเขา - Forbes Thailand

Mizu-Who? ดีลระดับโลกต้องมีเขา

FORBES THAILAND / ADMIN
18 Feb 2016 | 11:48 AM
READ 3669
เรียบเรียง พิษณุ พรหมจรรยา ธนาคารญี่ปุ่นมักจะถูกล้อเลียนโดยนักการเงินใน Wall Street มาโดยตลอด แต่นายธนาคารสัญชาติกรีก-อเมริกันคนหนึ่งตั้งเป้าที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อล้างภาพเก่าๆ ทิ้งไปให้หมด “เราต้องการที่จะเป็นโฉมใหม่ของ Wall Street” John Koudounis CEO ของ Mizuho Securities USA ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Mizuho Financial Group ธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับสองของญี่ปุ่นบอกอย่างแข็งขัน Koudounis บริหารกิจการจนได้รับการยอมรับในแวดวงตลาดทุนสหรัฐ โดยเขาเล่าถึงความสำเร็จในปีที่ผ่านมาว่า “เราได้ขยับมาขึ้นแท่น top 10 สำหรับธุรกรรมสินเชื่อประเภท investment-grade และ สินทรัพย์ประเภทที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (asset-back securities) โดยเราสามารถคว้าดีลในการเป็นผู้จัดการจำหน่ายได้มากถึง 147 ดีล” บริษัทของเขาทำรายเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวติดต่อกันมาหลายปีแล้ว โดยมีรายได้จากการค่าธรรมเนียมการรับประกันการจำหน่ายพันธบัตร (bond-underwriting fee) ถึงกว่า 300 ล้านเหรียญ Koudounis กล่าวต่อว่า "เราคือโฉมใหม่ของผู้ให้บริการวาณิชธนกิจที่ติดอันดับ top 10 ซึ่งผู้คนกำลังจับตามองอยู่” ถึงแม้บรรดาผู้เล่นขาใหญ่อย่างเช่น Goldman Sachs หรือ JP Morgan จะไม่ยอมให้ผู้เล่นรายใหม่อย่าง Mizuho เบียดแทรกเข้ามาแข่งขันได้ง่ายๆ แต่ความขึงขังของ Koudonis ชายวัย 49 หนัก 275 ปอนด์ซึ่งเป็นอดีตนักกีฬาอเมริกันฟุตบอลตำแหน่ง linebacker ตัวมหาวิทยาลัยผู้นี้ก็สามารถทำให้คล้อยตามไปได้พอสมควร เมื่อปี 2008 Mizuho พลาดท่าครั้งใหญ่ที่ทุ่มเงินลงทุนลงไปในสินทรัพย์ประเภท subprime ทำให้ต้องแบกผลขาดทุนสูงถึง 7 พันล้านเหรียญ แต่ Koudounis บอกว่าเจ็ดปีต่อมา Mizuho Securities ก็กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้งโดยมีสินทรัพย์มากถึง 5 หมื่นล้านเหรียญ มีพนักงานถึง 700 คน และก็กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว Koudonis เป็น CEO เพียงไม่กี่คนของธุรกิจการเงินที่อยู่ในฝั่งขาขายของ Wall Street ที่มีแผนจะสร้างการเติบโตในระยะต่อไป เพราะธุรกิจการเงินยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกันรายอื่นๆ ล้วนแต่กำลังอยู่ระหว่างการลดคน และปิดกิจการธุรกิจบางอย่างลง ส่วนในยุโรป ทุกแห่งต่างก็มุ่งที่จะลดภาระหนี้กันทั้งนั้น และยังมีการปลด CEO กันเป็นระลอกตั้งแต่ลอนดอน (Barclays) ไปยันแฟรงค์เฟิร์ต (Deutsche Bank) ซึ่งทำให้บริษัทต่างๆ ลดขนาดลง เราสัมภาษณ์ Koudounis ที่ Grill Room ของ Four Seasons Restaurant ในวันอังคารที่ฝนตกพรำของเดือนพฤศจิกายน เขามาถึงเวลา 12.30 น. ซึ่งเป็นเวลาที่ทางภัตตาคารเริ่มเสิร์ฟอาหารกลางวันขึ้นชื่อ “power lunch” เขามาในชุดสูทสีกรมท่าลายทาง ใส่เนคไทสีแดงเข้ากันกับผ้าเช็ดหน้าในกระเป๋าสูท และเมื่อมาถึงก็ไปนั่งในที่ของเขาซึ่งอยู่ท่ามกลางนักการเงินระดับอภิมหาเศรษฐีอย่างเช่น Leon Black, Michael Steinhardt, Sanford “Sandy” Weill และ Maurice “Hank” Greenberg จะว่าไปแล้ว Koudounis มาทานอาหารกลางวันที่นี่เป็นประจำสัปดาห์ละสองครั้งเพื่อมาดูความเป็นไปของแวดวงนักการเงินระดับสูง และแสดงภาพให้คนเห็นว่าเขาก็เป็นคนหนึ่งที่อยู่ในแวงวงนี้ด้วย แต่ดูเหมือนความพยายามของเขาจะยังไม่ได้ส่งผลเท่าไหร่นัก เพราะตลอดเวลาที่เรานั่งทานอาหารกลางวันและสัมภาษณ์เขา ไม่มีนักการแถวหน้าคนไหนในร้านเดินมาทักเขาที่โต๊ะของเราเลย Koudounis มีพื้นเพที่ธรรมดาสามัญโดยโตมาจาก Chicago รุ่นปู่ย่าของเขาอพยพมาจากเกาะสปาร์ตาของกรีซในราวปี 1900 และดิ้นรนหาเลี้ยงชีพด้วยการขาย hotdogs นอกสนามกีฬา Wrigley Field พ่อของเขาสานต่อกิจการของครอบครัวด้วยการเปิดร้ายอาหารแบบ drive-in โดยใช้ชื่อว่า George’s Old Town Red Hots ธุรกิจขายไส้กรอกของครอบครัวทำให้ Koudounis โตมาในฐานะชนชั้นกลางที่อาศัยในย่านชานเมือง การที่เขาเป็นนักกีฬาอเมริกันฟุตบอลระดับแนวหน้าและยังเป็นประธานนักเรียนของโรงเรียน Niles West High School ทำให้ Koudounis ได้รับคัดเลือกให้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่งทั้ง Harvard, Yale และ Princeton แต่เขาเลือกไปเรียนที่ Brown โดยเขาและพี่สาวเป็นสองคนแรกของตระกูลที่ได้เข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย Koudounis ก็ไม่ต่างจากบรรดานักศึกษา Ivy League ทั้งหลายในยุคทศวรรษ 1980 ที่ตั้งเป้าหมายไว้ว่าอยากจะเรียนเพื่อเป็นหมอ ทนายความ หรือนักการเมือง แต่สุดท้ายก็เรียนจบมาเพื่อมุ่งหน้าสู่ตลาดหุ้น Wall Street เขาเริ่มทำงานที่ Merrill Lynch ในปี 1988 ในตำแหน่งพนักงานขายพันธบัตรประเภท junk bond โดยหนึ่งในภารกิจแรกๆ ที่เขาได้รับมอบหมายคือการทำดีลที่ Donald Trump เข้าซื้อกิจการของ Taj Mahal Casino หลังจากใช้เวลาไม่กี่ปีที่ Merrill และสถาบันการเงินแห่งอื่นๆ Koudounis ก็ย้ายมาทำงานกับ ABN AMRO ซึ่งเป็นธนาคารของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเขาได้เริ่มก่อตั้งธุรกิจตราสารหนี้และบริหารมันมาอย่างต่อเนื่องถึงสิบกว่าปีจนกระทั่ง Royal Bank of Scotland เข้ามาซื้อกิจการของ ABN AMRO ไปที่ราคา 1 แสนล้านเหรียญในปี 2007 ในตอนนั้น Koudounis ได้รับข้อเสนอมากมายจากบริษัทชั้นนำใน Wall Street แต่เขาตัดสินใจเลือก Mizuho โดยรับตำแหน่งเป็นผู้บริหารที่ดูแลด้านตราสารหนี้ มีหน้าที่โดยตรงในการฟื้นฟูธุรกิจนี้ขึ้นมาใหม่หลังจากที่พลาดท่าไปอย่างแรงเมื่อปี 2008 ในการบริหารงานที่ Mizuho นั้น Koudounis ใช้กลยุทธ์ง่ายๆ นั่นก็คือหลีกเลี่ยงการบริหารแบบบริษัทญี่ปุ่น ซึ่งรวมถึงการจ่ายโบนัสในแบบ Wall Street ซึ่งสูงอย่างที่ไม่เคยได้ยินมาก่อนว่ามีการจ่ายกันในบริษัทญี่ปุ่น ในขณะที่พนักงานขาย และนักการธนาคารที่ทำงานกับเขาก็ยังได้รับส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทตามสัดส่วนกำไรที่พวกเขาทำให้กับบริษัทด้วย นอกจากนี้เขายังเลิกแนวคิดเก่าๆ ในการเข้าซื้อกิจการขนาดใหญ่อีกด้วย หลายปีที่ผ่านมา ธนาคารขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นมองหาการลงทุนที่ปลอดภัยในสหรัฐเพื่อขนเงินสดที่กองสุมอยู่ในงบดุลมาลงทุน แต่ปรากฏว่าหลายแห่งต้องประสบความล้มเหลวเนื่องจากความแตกต่างของวัฒนธรรมการดำเนินธุรกิจ หรือไม่ก็การขาดการวางแผนงานที่ดี ซึ่งธนาคารญี่ปุ่นเหล่านี้มักจะจ้างพนักงานมากเกินไปในสายงานที่พวกเขายังไม่มีประสบการณ์มากพอ ซึ่งสุดท้ายก็ต้องลงเอยด้วยการปลดพนักงานออกจำนวนมาก แต่ถึงแม้ธนาคารแม่ของเขาจะมีสินทรัพย์มากถึง 1.6 ล้านล้านเหรียญ แต่ Koudounis ก็รู้ดีว่าธนาคารแม่จะไม่มีวันยกโทษให้เขาแน่ถ้าหากเขาทำพลาดขึ้นมา ดังนั้น เขาจึงต้องเข้าตรวจสอบห้องค้าของบริษัททุกวัน และหลายครั้งเขาต้องลุยเข้าไปถึงโต๊ะของ trader ในทีมของเขาเพื่อบังคับให้ปิด position เพื่อลดความเสี่ยง “บางทีผมก็ต้องไปจัดการกับทีมที่ดูแลเรื่องการซื้อขายตราสารเกี่ยวกับสินเชื่อที่อยู่อาศัยด้วยเพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกตราสารประเภทอนุพันธ์” เขาบอก ในปี 2008 เป็นจังหวะที่ธุรกิจตราสารหนี้ของ Koudounis เข้ามาใน Wall Street ได้อย่างเหมาะเจาะพอดี เพราะเป็นช่วงที่ผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดกำลังอยู่ในภาวะยากลำบากจากวิกฤติการเงิน ในช่วงนั้นบางวันบริษัทของเขาประมูลพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐได้มากถึงครึ่งหนึ่งของจำนวนที่เปิดประมูลทั้งหมดเลยทีเดียว การบริหารงานในช่วงที่เกิดวิกฤติการเงินทำให้ทีมงานของ Koudounis ทำกำไรให้บริษัทได้มากเป็นประวัติการณ์ และพอถึงปี 2010 เขาก็ได้รับเลือกให้ขึ้นไปนั่งเก้าอี้ผู้บริหารหมายเลขหนึ่งของ Mizuho Securities USA สินทรัพย์มหาศาลของ Mizuho ในญี่ปุ่นคือหัวใจของแผนสร้างการเติบโตของ Koudounis ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา บริษัทของเขาได้รับเลือกให้เป็นผู้ปล่อยเงินกู้ bridge loan 1.5 หมื่นล้านเหรียญเพื่อสนับสนุน Actavis ในดีลการเข้าซื้อกิจการ Allergan มูลค่า 7.05 หมื่นล้านเหรียญ ซึ่งการปล่อยเงินกู้ก้อนใหญ่ขนาดนี้เป็นสิ่งที่ธนาคารส่วนใหญ่ไม่สามารถจะหาเงินก้อนมาปล่อยกู้ให้ได้ภายในเวลาสั้นๆ นอกจากดีลนี้ แล้ว Mizuho ก็ยังให้การสนับสนุนเงินกู้แก่ Anheuser-Busch InBev ในดีลการเข้าซื้อกิจการของผู้ผลิตเบียร์ SABMiller มูลค่า 1.07 แสนล้านเหรียญด้วย “เราเป็นตัวจริงเสียงจริง คนทั่วไปอาจจะไม่เคยได้ยินชื่อเราเพราะเราไม่ได้เป็นธนาคารสำหรับรายย่อย และไม่ได้มีสาขากระจายอยู่ทั่วทุกหัวถนน แต่ถ้าหากว่าคุณจะคิดจะทำดีลอะไรสักดีลที่ใหญ่สุดๆ ในโลกใบนี้ คุณแทบจะหนีไม่พ้นเลยที่จะต้องมีเราเข้าไปเอี่ยวด้วย” Koudounis บอก ในปีที่แล้ว Koudounis ได้เริ่มเข้าสู่ช่วงที่สองของแผนการสร้างการเติบโตของธุรกิจของเขาแล้ว โดย Mizuho ได้ใช้เงิน 3 พันล้านเหรียญเข้าซื้อพอร์ตสินเชื่อซึ่งมีมูลค่าทางบัญชี 3.65 หมื่นล้านเหรียญจาก RBS ซึ่งทำให้ Mizuho สามารถเข้าถึงฐานลูกค้าธุรกิจ และได้วาณิชธนากรมาร่วมงานกับบริษัทเพิ่มอีก 130 คน และเขายังบอกอีกว่าแผนการขยายธุรกิจในช่วงต่อจากนี้ไปจะพุ่งเป้าไปที่ตลาดหุ้น ในช่วงท้ายของการสัมภาษณ์และทานอาหารกลางวันที่ใช้เวลา 90 นาที โต๊ะอื่นๆ ลุกไปจนเกือบหมดร้านแล้ว แต่ Koudounis ยังคงพูดต่อไปว่า “ตอนนี้เราสามารถนำสินทรัพย์มหาศาลที่อยู่ในงบดุลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริงๆ” และเมื่อเอนตัวไปด้านหลังเพื่อย่อยอาหารที่เพิ่งอิ่มหมาดๆ เขาเสริมอีกว่า “ซึ่งนั่นหมายถึงการที่เราจะได้ที่นั่งบนโต๊ะพิเศษ และไม่ใช่แค่ที่ Four Seasons เท่านั้นหรอกนะ”