MIRROR กระจกอัจฉริยะ ของว่าที่สตาร์ทอัพพันล้าน - Forbes Thailand

MIRROR กระจกอัจฉริยะ ของว่าที่สตาร์ทอัพพันล้าน

FORBES THAILAND / ADMIN
26 Nov 2020 | 11:27 AM
READ 2314

เมื่อวันที่ 13 มีนาคมชาวนิวยอร์กเตรียมหลบเข้าบ้านเพื่อชะลอการระบาดของโคโรนาไวรัส Brynn Putnam ผู้ก่อตั้ง Mirror กระจกอัจฉริยะ ก็ต้องปิดสำนักงานสตาร์ทอัพฟิตเนสไฮเทคของเธอ แล้วปล่อยให้พนักงานเกือบร้อยชีวิตกลับบ้าน ตอนนี้อดีตนักบัลเลต์นั่งหลบเชื้ออยู่ในอะพาร์ตเมนต์ของเธอในย่าน Greenwich Village อยู่กับสามีชื่อ Lowell ซึ่งเป็นผู้ประกอบการเช่นกัน ทั้งคู่ผลัดกันเข้า Zoom จากในห้องนอน และผลัดกันดูแล George ลูกชายวัย 3 ขวบในห้องนั่งเล่น

เรื่องเดียวที่ทำได้ง่ายก็คือ การออกกำลังกาย Putnam ขน กระจกอัฉริยะ ที่ทำงานแบบอินเทอร์แอคทีฟของบริษัทฟิตเนสเธอซึ่งตั้งชื่อแบบตรงตัวว่า Mirror กลับมา 2 บาน แล้วติดไว้ในห้องนอนกับห้องนอนแขกห้องละบาน “ถ้าเขา (Lowell) อยากฝึกมวยและฉันอยากเล่นโยคะ เราก็ทำได้” Putnam วัย 36 ปีกล่าว มูลค่าหุ้นตามราคาตลาดมากกว่า 1.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ บวกกับสินค้าและแคมเปญการตลาดที่ถูกชาวเน็ตรุมล้อ ทำให้ Peloton กลายเป็นบริษัทฟิตเนสที่คนพูดถึงกันหนาหูที่สุดในยุคโคโรนาไวรัส แต่ Mirror ซึ่งไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ก็ตามมาติดๆ ด้วยข้อได้เปรียบข้อเดียวที่ Peloton สู้ไม่ได้ นั่นคือความกะทัดรัด สินค้าขนาดกว้าง 22 นิ้ว สูง 52 นิ้ว และหนา 1.4 นิ้ว ของ Putnam มีหน้าตาและการใช้งานเหมือนกระจกเงาธรรมดาแต่เมื่อเปิดเครื่อง ใช้งานก็จะดูครูฝึกสอนคลาสได้ (พร้อมทั้งเห็นภาพสะท้อนของตัวเองด้วยเพื่อการจัดท่าทาง) ที่มุมจอมีซอฟต์แวร์ ซึ่งปรับแต่งให้เหมาะกับการใช้งานของแต่ละคนได้เพื่อช่วยติดตามผลการออกกำลังกายตามเป้าหมาย โดยที่สมาชิกต้องจ่ายค่า Mirror 1,495 เหรียญ และจ่ายรายเดือนอีก 39 เหรียญเพื่อเข้าใช้งานคลาสหลากหลายผ่านไลฟ์สตรีม ซึ่งมีทั้งคลาสออกกำลังแบบคาร์ดิโอคลาสบาร์ (barre คือ การออกกำลังที่ผสมผสานการเต้นบัลเลต์ โยคะ และพิลาทีส) คลาสฝึกกล้ามเนื้อ และคลาสโยคะ ซึ่งมีทั้งคลาสแบบ 15, 30 และ 60 นาที “ไม่เคยมีใครคิดเรื่องเอาจอภาพมาใส่ไว้ในกระจกเงาเพื่อใช้เป็นแพลตฟอร์มสำหรับออกกำลังกายมาก่อน” Kevin Thau หุ้นส่วนทั่วไปของ Spark Capital ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ลงทุนรายแรกๆ ของ Putnam กล่าว “พอมองย้อนกลับไปแล้วมันดูเหมือนไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ก็ไม่เคยมีใครทำมาก่อน” ตามข้อมูลของ International Health Racquet และ Sportsclub Association กล่าวว่า ธุรกิจยิมและฟิตเนสสตูดิโอแบบมีอาคารสถานที่จริงมีมูลค่าเกือบแสนล้านเหรียญ แต่เมื่อ Putnam เปิดตัวสินค้าในเดือนกันยายน 2018 หรือ 5 ปีหลังจากที่ Peloton เริ่มขายจักรยานแบบเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ เธอเดิมพันว่า เทรนด์การออกกำลังกายจะเปลี่ยนอย่างช้าๆ ไปสู่การทำฟิตเนสในบ้าน แต่วันนี้เมื่อคนหลายล้านต้องติดอยู่ในบ้านและอยากออกกำาลังกายใจจะขาด ธุรกิจของเธอจึงวิ่งฉิวด้วยยอดขายสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์เดิม ซึ่งก็ตั้งไว้สูงมากแล้ว และเธอก็ได้เข้ามาอยู่ในทำเนียบว่าที่สตาร์ทอัพพันล้านของเรา โดยเป็น 1 ใน 25 บริษัทเอกชนที่ Forbes พนันว่าน่าจะกลายเป็นยูนิคอร์นได้ “มันเหมือนเราได้ฉลองคริสต์มาสในเดือนเมษายน” Putnam กล่าว และชี้ว่า สมาชิกหลายหมื่นคนของ Mirror ออกกำลังกายเฉลี่ยเพิ่มจาก 10 ครั้ง เป็น 15 ครั้งต่อเดือน แม้ Putnam และบริษัทของเธอจะหวงตัวเลขจนออกนอกหน้า แต่ Forbes ประเมินว่ารายได้ของบริษัทแตะ 45 ล้านเหรียญไปแล้วในปี 2019 และจะพุ่งทะลุ 100 ล้านเหรียญในปีนี้ ซึ่ง Putnam ก็ยืนยันตามนั้น และแม้บริษัทจะกำลังเน้นเรื่องการเติบโตอย่างเห็นได้ชัดแต่ Putnam ก็กล่าวว่า เธอคาดหวังให้ Mirror ทำกำไรได้ภายในต้นปีหน้าด้วย Brynn Jinnett Putnam โตมาในย่าน Upper East Side ของ Manhattan เธอเป็นลูกสาวของพ่อซึ่งเป็นทนายความและแม่ซึ่งเป็นแม่บ้าน เธอเริ่มเรียนเต้นเมื่ออายุ 3 ขวบ “หนึ่งในเรื่องราวสมัยฉันยังเล็กที่พ่อแม่เล่าให้ฟังคือ พวกเขาพาฉันไปร้านอาหารที่มีนักร้องและดนตรีเล่นสดบนเวที” เธอเล่า “แล้วฉันก็หาทางขึ้นเวทีไปเต้นกับนักร้องจนได้” เมื่ออายุ 7 ขวบ เธอเข้าเรียนที่ School of American Ballet ซึ่ง George Balanchine เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง การแสดงครั้งแรกของเธอกับคณะ New York City Ballet ได้ลงใน New York Times โดยมีภาพถ่ายของเธอกับเพื่อนอีก 2 คน ในปีนั้นเธอได้แสดงเป็นกระต่ายในเรื่อง The Nutcracker หลังจบมหาวิทยาลัย เธอเดินสายแสดงกับคณะ Pennsylvania Ballet และ Les Grands Ballets Canadiens de Montreal และในช่วงพักการแสดงเมื่อเธออยู่ใน New York เธอก็สอนบัลเลต์กับคลาสเสริมสร้างกล้ามเนื้อ ช่วงนั้นฟิตเนสสตูดิโอแบบบูติกกำลังเป็นที่นิยมมากและก็เป็นวิธีหาเงินง่ายๆ ด้วย เมื่อเธอแขวนรองเท้าบัลเลต์เมื่อ 10 ปีก่อนเธอจึงอยากเปิดบูติกสตูดิโอของตัวเอง ตอนนั้นเธอมีเงินเก็บแค่ 15,000 เหรียญ เธอจึงเดินเตร่ไปตามถนนใน Manhattan เพื่อหาพื้นที่ให้เช่าแปลกๆ แบบไหนก็ได้ที่ค่าเช่าไม่แพงเหมือนที่ทำเลดี ขณะเดินผ่านโบสถ์นิกายออร์ทอดอกซ์ในย่าน Upper East Side เธอได้ยินคนพูดภาษารัสเซีย เธอจึงเดินเข้าไปคุยภาษารัสเซียกับบาทหลวงและชาวโบสถ์กลุ่มหนึ่ง ไม่นานบทสนทนาก็สลับมาเป็นภาษาอังกฤษ และเธอก็ได้รู้ว่า พวกเขามีที่ว่างให้เช่าได้ในปี 2010 Refine Method จึงเกิดขึ้น “ปัญหาคือ ทุกวันอาทิตย์เราต้องเปลี่ยนสถานที่กลับมาเป็นโบสถ์” เธอกล่าว ลูกค้าชื่นชม Refine กันมาก และ Putnam ก็ขยายสตูดิโอจนกลายเป็นเครือกิจการขนาดจิ๋ว แต่ในปี 2016 เมื่อเธอท้องอ่อนๆ และทรมานมากกับอาการแพ้ท้องตอนเช้า การออกกำลังกายในคลับก็ไม่ใช่เรื่องน่ารื่นรมย์สำหรับเธออีกต่อไป ตอนนั้น Peloton กำลังเติบโต แต่ Putnam ไม่อยากเอาจักรยานมาตั้งในอะพาร์ตเมนต์และเธอก็ไม่ชอบเนื้อหาและลักษณะการโต้ตอบผ่านแอปสตรีมมิ่งที่เธอได้ลองด้วย แล้วนาทีอะฮ้า! ของเธอก็มาถึง เมื่อเธออัพเกรดสตูดิโอของ Refine ด้วยการติดกระจกเพิ่มแล้วได้รีวิวชื่นชมอย่างมากจากลูกค้า “ฉันเลยนึกได้ว่า เทคโนโลยีหลายอย่างที่ฉันเคยคิดไว้มันเอามาใส่ในกระจกเงาได้” เธอกล่าว Putnam สร้างตัวต้นแบบคร่าวๆ ในครัวของเธอเองด้วยแท็บเล็ตถูกๆ ที่ซื้อมาจาก Amazon กระจกเงา 1 บาน และ Raspberry Pi ซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กราคาถูกที่คนชอบทำงานอดิเรกมักใช้ประดิษฐ์สิ่งของด้วยตัวเอง กว่าเธอจะได้สินค้าต้นแบบที่ดูดีพอจะใช้ระดมทุนได้ เธอก็ท้อง 7 เดือนแล้ว และเมื่อเธอไปขอคำแนะนำจากเหล่าผู้ประกอบการและนักลงทุน หลายคนก็บอกให้เธอรอไปก่อน “ฉันเจอผู้ก่อตั้งกิจการหลายคนบอกว่า ‘สิ่งที่คุณทำอยู่เนี่ยเยี่ยมมาก แต่คุณต้องเจอแรงต่อต้านแน่ๆ พวกนักลงทุนไม่ชอบสนับสนุนผู้ก่อตั้งที่ทำงานคนเดียวไม่ชอบสนับสนุนผู้ก่อตั้งหญิงที่ทำงานคนเดียว และไม่ชอบสนับสนุนผู้ก่อตั้งหญิงที่ทำงานคนเดียวแถมยังท้อง 7 เดือนด้วยแหงๆ’” Putnam กล่าว ผู้คนเชื่อว่าในที่สุดฟิตเนสจะต้องย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านตั้งแต่สมัยที่ Jane Fonda ออกวิดีโอสอนออกกำลังกายเทปแรกเมื่อปี 1982 แต่ศึกบ้านปะทะยิมก็ผลัดกันรุกผลัดกันรับมาตั้งแต่ตอนนั้น แล้วคราวนี้มีอะไรต่างจากเดิมหรือ? ก็เทคโนโลยีที่เสนอประสบการณ์ ซึ่งปรับให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคลได้มากขึ้น และวิธีการติดตามผลลัพธ์ของคุณเองได้ไงละ สินค้าชิ้นนี้อยู่ยาวแน่ ไม่ใช่แค่เป็นกระแส” Jed Katz กรรมการผู้จัดการของ Javelin Venture Partners กล่าว ตัวเขาเองลงทุนกับ Peloton แต่ไม่ได้ลงทุนกับ Mirror “มันใช้แล้วติด สะดวก และคอนเทนต์ก็ดีขึ้นมากๆ” สำหรับ Joe Popson ผู้จัดการสายสนับสนุนไอทีวัย 32 ปีจาก New York มันเป็นเช่นนั้นจริง เมื่อก่อนเขาต้องพยายามบังคับตัวเองไปเข้ายิม แต่นับตั้งแต่เขาซื้อ Mirror มาเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว เขาก็ออกกำลังสัปดาห์ละ 5 ครั้ง โดยทั่วไปเขาจะเริ่มต้นวันใหม่ด้วยการเต้นคาร์ดิโอ 15 นาที และน้ำหนักของเขาก็ลดไปแล้ว 20 ปอนด์ เขากล่าวว่า เมื่อใช้ Mirror เขาชอบที่ได้มองเห็นทั้งครูฝึกและตัวเองไปพร้อมกันขณะออกกำลัง และหลังออกกำลังเขาก็พูดคุยกับครูฝึกทาง Instagram และเมื่อโคโรนาไวรัสกับมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมก็เข้ามา ซึ่ง Alex Alimanestianu อดีตซีอีโอของ Town Sports International (บริษัทแม่ของ New York Sports Clubs) และที่ปรึกษาของ Mirror ให้นิยามว่าเป็น “เรื่องคอขาดบาดตายสำหรับยิมจำนวนมาก” ในเดือนพฤษภาคม Gold’s Gym ซึ่งมี 700 สาขาทั่วโลกแต่มีกลยุทธ์ด้านดิจิทัลน้อยมากยื่นล้มละลายตาม Chapter 11 และมีรายงานหลายฉบับชี้ว่า Town Sports หรือ 24 Hour Fitness อาจเป็นรายต่อไป ปัจจุบัน Town Sports ซึ่งอยู่ในตลาดหลักทรัพย์มีมูลค่าเพียง 12 ล้านเหรียญ และมีหนี้เกือบ 200 ล้านเหรียญที่จะครบกำหนดชำระในเดือนพฤศจิกายน และบริษัทออกคำเตือนเรื่อง “การดำเนินงานต่อเนื่อง” ไว้ในเอกสารที่ยื่นต่อหน่วยงานกำกับดูแลในฤดูใบไม้ผลิปีนี้ แต่ไม่ตอบคำถามอื่นๆ ส่วน 24 Hour Fitness กล่าวในแถลงการณ์ว่า บริษัท “กำลังพิจารณาทางเลือกหลายๆ ทาง” โชคไม่ดีสำหรับ Putnam ที่รายอื่นก็ประเมินสถานการณ์ออกเหมือนกัน นอกจาก Peloton ตอนนี้ก็มี Tonal ซึ่งเสนอบริการสมาร์ทโฮมยิมที่ใช้โมเดล 3 มิติ และปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วยสนับสนุน Hydrow ซึ่งขายเครื่องฝึกกรรเชียงบกแบบสมาร์ท และ FightCamp ซึ่งขายคลาสสอนชกมวยและมวยเตะแบบอินเทอร์แอคทีฟที่ฝึกในบ้านได้ ในขณะเดียวกัน ยิมใหญ่ๆ ก็กำลังหันมาให้บริการฟิตเนสในบ้านผ่านระบบดิจิทัลกันมากขึ้น เพื่อช่วยกอบกู้กิจการ ในฤดูใบไม้ผลิปีนี้ Equinox เครือโรงยิมที่มีคลับเกือบ 100 สาขาทั่วสหรัฐฯ เปิดตัว Variis แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งที่เสนอคลาสผ่านระบบดิจิทัลให้สมาชิก และยังนำคลาสสอนออกกำลัง SoulCycle ในเครือตัวเองมาจับคู่กับจักรยานแบบปั่นในบ้านด้วย (ราคา 2,500 เหรียญ) นอกจากนี้ ก็มีกระทั่งคู่แข่งที่ทำกระจกอินเทอร์แอคทีฟเหมือนกันอย่างบริษัทสตาร์ทอัพ Echelon ซึ่งตั้งชื่อสินค้าว่า Reflect Putnam มีแผนนำหน้าคู่แข่งคือ วางตำแหน่ง Mirror ให้เป็นจอที่ 3 ประจำบ้าน “ฉันมอง Mirror เป็นเหมือน iPhone อีกแบบหนึ่ง" เธอไม่ได้พูดล้อเล่น เธอเพิ่มคลาสนั่งสมาธิโดยจับมือกับ Lululemon ซึ่งเป็นแบรนด์เสื้อผ้าสำหรับฝึกโยคะ และเปิดบริการคลาสฝึกส่วนตัวด้วยค่าบริการ 40 เหรียญต่อครั้ง โดยเป็นการฝึกทางไกลที่ถ่ายทอดจากบ้านของเทรนเนอร์ แผนขั้นต่อไปคือ การทำกายภาพบำบัดและฟื้นฟูสภาพ แม้จะยังไม่แน่ว่าบริษัทประกันจะยอมจ่ายค่าบำบัดด้วยวิธีแบบนี้ไหม ส่วนในระยะยาว เธอคิดว่า Mirror น่าจะใช้กับการดูแลสุขภาพทางไกล การบำบัด และการใช้งานแบบอินเทอร์แอคทีฟอื่นๆ อีกหลายอย่างได้ในที่สุด เพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานแสวงหาคำตอบได้ง่ายดายราวกับราชินีใจร้ายในนิทานเรื่อง Snow White ที่จริงแล้ว Putnam ได้รับโทรศัพท์ไม่หยุดจากคนที่อยากคุยเรื่องการจับมือเป็นหุ้นส่วนเพื่อใช้งานจอภาพของเธอสำหรับการแชทใช้เป็นสมุดติดรูป ใช้เพื่อการศึกษา และอื่นๆ อีกล้านอย่าง จนชักจะรับกันไม่หวาดไม่ไหว “ในธุรกิจที่โตเร็วมากและมีศักยภาพสูงมาก เราจะรักษาวินัยในเรื่องการตอบปฏิเสธได้อย่างไร” เธอกล่าว “เรื่องนี้เป็นบทเรียนที่ยากที่สุด แต่ก็สำคัญที่สุดในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา” อ่านเพิ่มเติม: 8 ว่าที่ “สตาร์ทอัพพันล้าน” ประจำปี 2020
คลิกอ่านฉบับเต็ม “MIRROR กระจกอัจฉริยะ ของว่าที่สตาร์ทอัพพันล้าน ” ได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนตุลาคม 2563 ในรูปแบบ e-magazine