‘ล้ม 5 ครั้ง ลุก 5 ครั้ง’ กรณีศึกษาของ Michael Dell ผู้เรียนรู้จากความล้มเหลว - Forbes Thailand

‘ล้ม 5 ครั้ง ลุก 5 ครั้ง’ กรณีศึกษาของ Michael Dell ผู้เรียนรู้จากความล้มเหลว

Michael Dell เริ่มต้นธุรกิจเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ขึ้นในหอพักของมหาวิทยาลัยเท็กซัส ออสตินเมื่อปี 1984 ซึ่งธุรกิจดังกล่าวได้เติบโตมาเป็นบริษัท Dell Technologies ที่มีมูลค่าตลาดกว่า 8.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปัจจุบัน ส่วนตัวเขาก็ขึ้นแท่นมหาเศรษฐีโลกของ Forbes ประจำปี 2024 ที่อันดับ 16 ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 9.1 หมื่นล้านเหรียญ แต่กว่าจะประสบความสำเร็จถึงขั้นนี้ได้นั้น เขาต้องพบเจอกับความล้มเหลวถึง 5 ครั้ง


    ในปี 2021 มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้ง Dell Technologies เคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CNBC พร้อมเผยมุมมองที่เขามีต่อความล้มเหลว จากประสบการณ์อันยาวนานตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจในวัย 19 ปี สู่การเป็นผู้นำองค์กรธุรกิจคอมพิวเตอร์ยักษ์ใหญ่ระดับโลก

    Michael Dell กล่าวว่า หากคุณเป็นผู้ก่อตั้งที่ดี “คุณจะต้องพบกับความผิดพลาดครั้งใหม่ที่ไม่มีใครเคยทำมาก่อน” และชี้ว่า “มีสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน คุณจะต้องล้มเหลว ทดลอง เรียนรู้ และท้ายที่สุดก็จะพบผลลัพธ์คือหนทางสู่ความสำเร็จ ดังนั้นจงอย่ากลัวที่จะผิดพลาดบ้าง”

    Dell อธิบายว่า ความผิดพลาดไม่ใช่เรื่องแย่ ตราบเท่าที่สามารถเรียนรู้จากมันได้ อย่างไรก็ตาม ขอให้ความผิดพลาดเหล่านั้นไม่ใช่ความผิดพลาดที่ไม่จำเป็น และหากใครที่ยังไม่เห็นภาพ ขอให้ลองพิจารณาจากกรณีศึกษาความล้มเหลว 5 ครั้งของ Dell และหนทางก้าวข้ามมันของเขา ดังนี้


ล้มเหลวครั้งที่ 1 ลาออกจากมหาวิทยาลัย

    เป็นที่ทราบกันดีว่าตำนานของ Dell เริ่มต้นขึ้นที่มหาวิทยาลัยเท็กซัส ออสติน ที่ซึ่งเขาเข้าเรียนในฐานะนักศึกษาเตรียมแพทย์ แต่ระหว่างทางเขาก็ได้เริ่มต้นธุรกิจคอมพิวเตอร์และตัดสินใจหยุดเรียนเพื่อทุ่มเทให้กับธุรกิจนี้ ซึ่งหลายคนอาจมองว่าการไม่มีใบปริญญาหรือเกรดเฉลี่ยสูงๆ นั้นเท่ากับความล้มเหลว

    หนทางก้าวข้าม: การตัดสินใจออกจากมหาวิทยาลัยของ Dell ไม่ใช่แค่อารมณ์ชั่ววูบ แต่เป็นความคิดเชิงกลยุทธ์ เขาพิจารณาและเล็งเห็นถึงศักยภาพในการเติบโตของอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ จึงปรับเป้าหมายสู่การเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งเน้นย้ำความสำคัญของการเดินตามแพสชั่นรวมถึงความกล้าที่จะพาตัวเองออกจากแบบแผนเพื่อไขว่คว้าความสำเร็จ


ล้มเหลวครั้งที่ 2 เสียงตอบรับ Turbo PC ไม่ดีดังหวัง

    ในระยะเริ่มต้นของธุรกิจ Dell ต้องเผชิญกับความล้มเหลวในการขายคอมพิวเตอร์ Turbo PC ซึ่งเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์แรกๆ ของบริษัท โดย Turbo PC ไม่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้เนื่องจากราคาที่แพงเกินไปและฟีเจอร์ที่จำกัดเมื่อเทียบกับคู่แข่ง นับเป็นปัญหาใหญ่ที่กระทบชื่อเสียงของบริษัทในฐานะหน้าใหม่ในตลาด

    หนทางก้าวข้าม: Dell มองความล้มเหลวครั้งนี้เป็นโอกาสในการเรียนรู้แทนที่จะยอมจำนนต่อความพ่ายแพ้ เขาศึกษาทำความเข้าใจความต้องการของตลาด และปรับทิศทางมุ่งยึดเอาลูกค้าเป็นศูนย์กลาง โดยให้ความสำคัญกับคอมพิวเตอร์ที่มีความพิเศษและราคาจับต้องได้ส่งตรงถึงผู้บริโภค พลิกความผิดพลาดเป็นตัวกระตุ้นความสำเร็จในอนาคต


ล้มเหลวครั้งที่ 3 เมื่อเลือกขยายหน้าร้านผิดเวลา

    Dell หันมารุกทำหน้าร้านแบบรีเทลช่วงปลายยุค 80s ถึงต้น 90s เพื่อขยายธุรกิจคอมพิวเตอร์ของเขา อย่างไรก็ตาม การขยายกิจการในครั้งนี้กลับมีค่าใช้จ่ายมหาศาล เพิ่มต้นทุนและลดผลกำไร สั่นคลอนสถานะทางการเงินของบริษัท

    หนทางก้าวข้าม: เมื่อตระหนักว่าการทำร้านแบบรีเทลคือหลุมพรางอันตราย Dell จึงหันหัวเรือกลับสู่การส่งสินค้าตรงถึงผู้บริโภค เขาพัฒนาการดำเนินงานให้ทรงประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและยกเลิกแผนการกับบรรดาคู่ค้ารีเทล ทำให้บริษัทได้ศักยภาพในการแข่งขันคืนมา อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นความสำคัญของการยึดแก่นหลักของการทำธุรกิจเอาไว้


ล้มเหลวครั้งที่ 4 ไม่สามารถเจาะตลาดสมาร์ทโฟน

    ช่วงต้นยุค 2000s ที่เทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือมาแรง บริษัทของ Dell กลับตามหลังบรรดาคู่แข่งในตลาดสมาร์ทโฟน แม้จะพยายามเจาะตลาดด้วยผลิตภัณฑ์อย่างแท็บเล็ต Dell Streak แต่บริษัทก็ไม่อาจดึงดูดความสนใจจากลูกค้า ทำให้ต้องเสียโอกาสมากมาย และส่วนแบ่งทางการตลาดก็ตกลงมหาศาล

    หนทางก้าวข้าม: Dell อ้าแขนโอบรับการปรับตัวและสร้างสรรค์นวัตกรรม ภายใต้การนำของเขา Dell Technologies ขยับขยายไลน์ธุรกิจจากคอมพิวเตอร์แบบดั้งเดิม สู่คลาวด์คอมพิวติ้ง ความปลอดภัยทางไซเบอร์ และการวิเคราะห์ดาต้า มีการพัฒนาด้านการบูรณาการฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ โดยวางตำแหน่งของบริษัทในฐานะผู้นำยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล และแสดงให้เห็นถึงการปรับตัวอย่างยืดหยุ่นท่ามกลางภูมิทัศน์ด้านเทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยนแปลง


ล้มเหลวครั้งที่ 5 สูญเสียตำแหน่งเจ้าตลาด

    แม้ประสบความสำเร็จในระยะแรกเริ่ม Dell Technologies กลับเผชิญการแข่งขันอันดุเดือดของอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ ทำให้ทั้งส่วนแบ่งการตลาดและความสามารถในการทำกำไรตกลง บริษัทต้อนดิ้นรนปรับแผนการภายใต้การนำของ Dell เพื่อให้กลับมายืนหยัดได้อีกครั้ง โดยเปลี่ยนจากการเป็นบริษัทที่ยึดฮาร์ดแวร์เป็นหลักสู่ผู้ให้บริการด้านโซลูชันที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการของลูกค้าองค์กร

    หนทางก้าวข้าม: หลังเล็งเห็นความจำเป็นในการปรับตัว Dell ก็กุมบังเหียนบริษัทอ้าแขนรับความเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง คราวนี้เขาตั้งเป้าไว้ที่การมอบโซลูชันด้านเทคโนโลยีแบบครบวงจร พลิกให้ Dell Technologies กลับมาเป็นผู้นำอุตสาหกรรมได้อีกครั้ง ตอกย้ำว่าความยืดหยุ่นและความว่องไวในการรับมือกับตลาดที่เกิดการวิวัฒน์ไม่หยุดนิ่งคือสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง


    เมื่อพิจารณาโดยภาพรวมแล้ว ความล้มเหลวทั้ง 5 ครั้งและทุกการก้าวข้ามซึ่งปัญหาของ Dell สะท้อนความสำคัญของทัศนคติ ความยืดหยุ่นในการปรับตัว และความมุ่งมั่นไม่ย่อท้อ มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งบริษัทคอมพิวเตอร์ยักษ์ใหญ่รายนี้มองความผิดพลาดเป็นโอกาสในการเรียนรู้ และพร้อมจะหาหนทางพัฒนาเพื่อก้าวไปข้างหน้าเสมอ

    Dell ยังเผยในการสัมภาษณ์กับ CNBC ว่าการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ก็สำคัญเช่นกัน ต้องมองการขับเคลื่อนนวัตกรรมทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว นอกจากนี้อีกสิ่งที่ Dell แบ่งกันคือการ ‘เป็นคนดี’ ที่แม้จะฟังดูเรียบง่าย แต่ไม่ควรละเลย

    “เมื่อเวลาผ่านไป การได้รับชัยชนะมาอย่างถูกต้องนั้นนับว่ามีความหมายอย่างมาก” เขากล่าว “ชีวิตสั้นเกินกว่าจะทำแบบอื่น ผมไม่อยากจะใช้ชีวิตบนเส้นทางที่ผิดพลาดหรอกครับ”


แหล่งที่มา:

Success of Dell Technologies: The Leadership Journey of Michael Dell

Michael Dell on the simple way to tell a good mistake from a bad one


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ‘ปรับตัว-ใส่ใจลูกค้า-ดูแลบุคลากร’ เคล็ดลับสู่ธุรกิจที่มั่นคงถึง 90 ปี ฉบับผู้นำ Securitas

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine