Justin Ishbia เจ้าพ่อธุรกิจขนาดเล็ก - Forbes Thailand

Justin Ishbia เจ้าพ่อธุรกิจขนาดเล็ก

FORBES THAILAND / ADMIN
19 Jul 2024 | 09:30 AM
READ 1148

Justin Ishbia เศรษฐีพันล้านผู้ปลุกปั้นบริษัทลงทุนหุ้นนอกตลาดที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดแห่งหนึ่งในสหรัฐฯ จากการมุ่งเน้นลงทุนในกิจการขนาดเล็กทั่วประเทศ เขาเข้าซื้อธุรกิจขนาดเล็กในชุมชนกว่า 1,000 แห่ง พร้อมกับการสร้างผลตอบแทนมากมายให้กับผู้ลงทุนและยังไม่เคยพลาดขาดทุนเลยสักครั้ง ทว่า Mat น้องชายของเขายังคงมีทรัพย์สินในครอบครองมากกว่าเกือบ 2 เท่า


    Justin Ishbia บอกว่า “ผมเป็นคนพูดเร็ว” เขากล่าวพร้อมรอยยิ้มระหว่างพาเยี่ยมชม Shore Capital Partners บริษัทเพื่อการลงทุนหุ้นนอกตลาดของเขา (private equity) ซึ่งตั้งอยู่ใน Chicago เศรษฐีพันล้านวัย 46 ปี ในชุดเสื้อสูทลำลองและกางเกงยีนส์กับรองเท้าผ้าใบ Nike ยังเป็นคนคิดเร็วทำเร็วเพื่อแข่งกับตารางชีวิตที่แน่นเอี้ยดด้วยเช่นกัน

    ช่วงค่ำวันก่อนหน้า Ishbia ได้เข้าชมการแข่งขันของทีมบาสเกตบอล Chicago Bulls ในโซนที่นั่งติดขอบสนามพร้อมกับ Mat น้องชายของเขาซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่สโมสร Phoenix Suns ผู้มีความมั่งคั่งหลักพันล้านเหรียญเช่นกัน ในวันถัดมาเขามีนัดทานมื้อกลางวันแบบสบายๆ กับ Forbes พร้อมผู้บริหารระดับสูงของบริษัทอีก 4 คน ตามด้วยการประชุมคณะกรรมการของบริษัทในพอร์ตการลงทุน

    หลังจากนั้นเดินทางด้วยเครื่องบินส่วนตัวมาเจอเพื่อนๆ สมัยเรียนกฎหมายเพื่อดูแข่งขันฟุตบอลทีม University of Oregon เปิดสนามรับการมาเยือนของทีม USC เขาตอบกลับข้อความและอีเมลภายในเวลาไม่กี่นาทีไม่ว่าจะดึกแค่ไหน

    “ผมไม่ค่อยได้นอนเท่าไร” เขากล่าว

    Shore Capital ก็ดำเนินงานรวดเร็วไม่แพ้ผู้ก่อตั้งเช่นกัน บริษัทเพื่อการลงทุนในหุ้นขนาดเล็กนอกตลาดที่มุ่งเจาะกลุ่มธุรกิจสุขภาพแห่งนี้ปิดดีลซื้อขายกิจการทั้งหมด 801 แห่งระหว่างปี 2020-2023 ตัวเลขนี้ทำให้บริษัทขึ้นแท่นเป็นหนึ่งในผู้ซื้อกิจการจำนวนมากที่สุดในโลก มูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารทะยานขึ้น 7 เท่าเป็น 7 พันล้านเหรียญในช่วงปีดังกล่าวอันเป็นผลจากการที่อัตราผลตอบแทนระดับสูงดึงดูดให้นักลงทุนระยะเริ่มแรก เช่น University of Notre Dame และธุรกิจบริหารความมั่งคั่งภายใต้เครือ Sequoia Capital เซ็นสัญญาเพิ่มเงินลงทุนอย่างต่อเนื่อง

    อย่างไรก็ดี Shore ที่จะมีอายุครบ 10 ปีในปีนี้ยังถือว่ามีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับเจ้าตลาดกลุ่มธุรกิจลงทุนหุ้นนอกตลาดอย่าง Apollo, Blackstone และ KKR ซึ่งมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการมากกว่าบริษัทละ 5 แสนล้านเหรียญ แต่นี่คือสิ่งที่เราตั้งใจ

    “เราปฏิเสธเงินลงทุนไปหลายพันล้านเหรียญ” Ishbia กล่าว “สำหรับบริษัทลงทุนหุ้นนอกตลาดหากคุณทำผลงานได้ดีก็เป็นเรื่องปกติที่จะระดมเงินทุนก้อนใหญ่ขึ้น แต่แนวทางการดำเนินธุรกิจของผมเริ่มมาจากความคิดที่ว่า กิจการขนาดเล็กเป็นสิ่งที่ทุกคนมองข้าม”

    การมุ่งเป้าลงทุนในธุรกิจครอบครัวขนาดเล็กสร้างผลตอบแทนได้อย่างโดดเด่น Shore มีอัตราผลตอบแทนการลงทุนหลังหักค่าธรรมเนียมการจัดการเฉลี่ยปีละ 53% จากการลงทุนในธุรกิจด้านสุขภาพ 14 แห่งที่ปิดดีลขายออกไป ข้อมูลจาก Cambridge Association ระบุว่า ตัวเลขดังกล่าวสูงกว่าอัตราผลตอบแทน IRR ของกองทุนเพื่อเข้าถือครองบริษัท (การลงทุนประเภทหนึ่งของไพรเวทอิควิตี้) ที่มีการระดมทุนนับตั้งแต่ปี 2009 ถึง 3 เท่า

    หลังจาก Shore หักค่าธรรมเนียมการบริหาร 20-30% จากตัวเลขกำไรไปแล้วการลงทุนยังทำให้เงินต้นงอกเงยขึ้นอีก 5.5 เท่าโดยเฉลี่ย ซึ่งสูงกว่าอัตราส่วนผลตอบแทนสะสมบวกมูลค่าคงเหลือต่อเงินลงทุน (TVPI ใช้ในการชี้วัดผลการดำเนินงาน) ของกองทุนเพื่อเข้าซื้อกิจการในสหรัฐฯ เกือบ 3 เท่าเช่นเดียวกัน

    Shore กล่าวว่า บริษัทไม่เคยได้รับผลตอบแทนก่อนหักค่าธรรมเนียมต่ำกว่า 3 เท่าของเงินลงทุน และยังไม่เคยประสบการขาดทุน

    “อัตราผลตอบแทนของพวกเขาอยู่ที่ยอดพีระมิด 1 ใน 100 จากผู้เล่นไพรเวทอิควิตี้ทั้งหมด” นักลงทุนรายหนึ่งผู้ไม่เปิดเผยชื่อเนื่องจากขัดต่อนโยบายด้านสื่อขององค์กรกล่าวด้วยความทึ่ง “ผลกำไรระดับนี้หาได้ยากมาก แทบจะเปรียบได้กับการลงทุน VC ในสตาร์ทอัพหน้าใหม่มากกว่าการเข้าซื้อกิจการแบบดั้งเดิม”

    นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทขึ้นเมื่อปี 2009 Ishbia และทีมงานของเขาได้เข้าซื้อธุรกิจขนาดเล็กมากกว่า 1,000 แห่งที่กระจายอยู่ตามเมืองต่างๆ ในสหรัฐฯ (มูลค่าการลงทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 15 ล้านเหรียญ) หลังจากนั้นดำเนินการพลิกโฉมยกระดับสู่เครือกิจการขนาดใหญ่ 61 แห่งในหลากหลายธุรกิจ ตั้งแต่คลินิกรักษาโรคออทิสติก ร้านเบเกอรี่ และบริการกำจัดปลวก

    “เราเข้าซื้อกิจการใน Akron, Ohio และ Pittsburgh ไปจนถึง Birmingham และ Alabama” Ishbia กล่าว “ผมสามารถหาโอกาสทำกำไรได้ง่ายกว่าเพราะธุรกิจเหล่านี้มีอยู่ทุกมุมเมือง”

    หลังจากนั้น Shore ได้เข้าลงทุนในด้านระบบและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และเสริมทัพทีมบริหารด้วยบรรดาผู้เชี่ยวชาญมากประสบการณ์พร้อมทั้งเฟ้นหาบริษัทในอุตสาหกรรมใกล้เคียงที่จะมาเกื้อหนุนส่งเสริมกัน

    “เราซื้อและซื้อ และก็ซื้อ” Ishbia ซึ่งย้ำว่า Shore ไม่ได้ก่อหนี้ยืมสินมากเท่าบริษัทไพรเวทอิควิตี้รายอื่นๆ และไม่ได้ตัดลดบริการหรือจำนวนพนักงานลงกล่าว “วงการไพรเวทอิควิตี้มีชื่อเสียในเรื่อง ‘ควักเงินซื้อและตัดโน่นตัดนี่ทิ้ง’ แต่เราเป็นบริษัทที่เติบโต เรามีพนักงานเกือบ 35,000 คน และจ้างงานเพิ่มปีละหลายพันตำแหน่ง”

    แม้จะประสบความสำเร็จอย่างสูงดังที่กล่าวมา แต่ Ishbia ยังไม่โด่งดังเท่าน้องชายของเขาผู้มีมูลค่าทรัพย์สินในครอบครองมากกว่า Mat นั่งตำแหน่งซีอีโอของ United Wholesale Mortgage (UWM) บริษัทผู้ปล่อยกู้สินเชื่อที่อยู่อาศัยรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ

    อย่างไรก็ดีตำแหน่งการจ้างงานของบริษัทในพอร์ตการลงทุนของ Shore มีจำนวนมากกว่าถึง 5 เท่า และได้รับการยอมรับว่ามีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่แพ้กันจากการช่วยพัฒนาธุรกิจขนาดเล็กในประเทศ ขณะที่นักวิจารณ์บางรายชี้ว่า การลงทุนในหุ้นนอกตลาดส่งผลเสียต่อผู้บริโภคเนื่องจากทำให้การแข่งขันและคุณภาพสินค้าหรือบริการถดถอยลงอันสวนทางกับราคาที่สูงขึ้น แต่ Ishbia ไม่เห็นด้วย

    “ในตลาดไม่ได้มีคลินิกรักษาสัตว์ คลินิกทันตกรรม หรือศูนย์ดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน ซึ่งกลายมาอยู่ภายใต้การถือครองของบริษัทไพรเวทอิควิตี้เพียงแห่งเดียว”


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : Todd Boehly เศรษฐีการลงทุน เจ้าของอาณาจักรหมื่นล้าน

คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมิถุนายน 2567 ในรูปแบบ e-magazine​