สตาร์ทอัพแท็กซี่อากาศไฟฟ้าซึ่งใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ปีในการเตรียมพร้อมเพื่อให้บริการผู้โดยสารรายแรก และในที่สุดก็ได้ผลักดันให้ JoeBen Bevirt ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ Joby Aviation ก้าวเข้าสู่ทำเนียบมหาเศรษฐีคนแรกของอุตสาหกรรม
หุ้นของบริษัทจากเมือง Santa Cruz รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 5.8 ที่ 10.90 เหรียญสหรัฐฯ เมื่อวันอังคารที่ 24 สิงหาคม ทำให้บริษัทมีมูลค่า ณ ราคาตลาด 6.8 พันล้านเหรียญ ขณะที่
JoeBen Bevirt วัย 47 ปี ผู้ซึ่งถือหุ้นในบริษัทอยู่ที่ 98.7 ล้านหุ้น มีทรัพย์สินมูลค่า 1.08 พันล้านเหรียญ
นับเป็นก้าวสำคัญสำหรับ Bevirt ซึ่งเริ่มก่อตั้งธุรกิจตั้งแต่ปี 2009 เพื่อพัฒนาเครื่องบินที่สามารถบินขึ้นและลงจอดในแนวตั้งได้เสมือนเฮลิคอปเตอร์ในชุมชนเมืองที่คับแคบ และเปลี่ยนไปบินอย่างมีประสิทธิภาพด้วยปีกเหมือนเครื่องบิน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการจราจรติดขัด โดยเฉพาะบนถนนแคบๆ และลดความจำเป็นของเครือข่ายถนนไปในที่สุด
ทั้งนี้ การพัฒนาเครื่องบินลำนี้เกิดขึ้นอย่างลับๆ ที่ฟาร์มปศุสัตว์ของ Bevirt กลางป่าเรดวู้ดในเทือกเขา Santa Cruz ในรัฐแคลิฟอร์เนียตอนเหนือ ใกล้กับชุมชนที่เขาเติบโตขึ้นมาที่เรียกว่า Last Chance ซึ่งสมาชิกในชุมชนต่างปลูกอาหารของตนเองบนที่ดินที่ Ron Bevirt และ Paula Fry ผู้เป็นพ่อและแม่ของเขาซื้อในปี 1970 ร่วมกับนักเขียน Gurney Norman ที่โด่งดังจากการเดินทางด้วย Magic Bus ในปี 1960
โดยชื่อของ Bevirt นั้น ได้รับการตั้งตามตัวละคร JoeBen ในนวนิยายของ Ken Kesey ผู้ซึ่งปฏิบัติกับเขาเหมือนลูกบุญธรรม
เมื่อปีที่แล้ว Bevirt กล่าวกับ
Forbes ว่า เขามีความตั้งใจที่จะสร้างเครื่องบินเตั้งแต่สมัยที่ยังเรียนอยู่ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ขณะที่เดินไปตามถนนสูงชัน 4.5 ไมล์หลังเลิกเรียนจากจุดที่รถบัสส่งเขาบนทางหลวง Pacific Coast
“มันเป็นเนินเขาที่ยาวมาก” Bevirt หัวเราะ
“มันทำให้ผมนึกถึงหนทางที่ดีกว่านี้”
Bevirt ซึ่งจบการศึกษาด้านวิศวกรรมจาก University of California จึงได้เริ่มทำตามความฝันของเขาด้วยเงิน 1.1 พันล้านเหรียญที่ Joby Aviation ระดมทุนได้จากการควบรวมกิจการกับ Reinvent Technology Partners ด้วยวิธีการ SPAC ก่อนนำเข้าตลาดหลักทรัพย์
ในที่นี้ Joby เผยว่า บริษัทได้ทดสอบการบินของเครื่องบินต้นแบบ 5 ที่นั่งจากระยะไกลมากกว่า 1,000 เที่ยวบิน และเมื่อเดือนที่แล้วก็ได้ประสบความสำเร็จในการทดลองเที่ยวบิน 150 ไมล์ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาที่มากที่สุดที่บริษัทตั้งเป้าไว้ในขณะนี้
ล่าสุด
Joby กำลังอยู่ระหว่างการพิสูจน์ความปลอดภัยของเครื่องบินต่อองค์การบริหารการบินแห่งชาติ (Federal Aviation Administration) ซึ่งบริษัทหวังว่าจะได้รับการรับรองในปี 2023 เพื่อเดินหน้าพัฒนาโรงงานผลิตเครื่องบินหลายพันลำต่อปี และสร้างเครือข่ายลานจอดในเมืองต่างๆ
ปัจจุบัน Joby กำลังได้รับความช่วยเหลือที่สำคัญในการผลิตจาก Toyota Motor ซึ่งให้การสนับสนุนด้านเงินทุนประมาณ 400 ล้านเหรียญ ร่วมกับนักลงทุนรายอื่นๆ อาทิ Paul Sciarra ผู้ร่วมก่อตั้ง Pinterest ซึ่งลงทุนใน Joby ในรอบ Seed Round เมื่อปี 2013 และดำรงตำแหน่งประธานบริหารของบริษัท (มหาเศรษฐี Pinterest ถือหุ้นใน Joby มูลค่า 653.6 ล้านเหรียญในวันอังคาร) และ Capricorn Investment Group ของมหาเศรษฐีพันล้าน Jeff Skoll
แปลและเรียบเรียงโดย ชญาน์นัทช์ ธนินท์พงศ์ภัค จากบทความ Electric Aviation Launches Its First Billionaire: Joby Founder JoeBen Bevirt เผยแพร่บน Forbes.com
อ่านเพิ่มเติม:
Joby Aviation สร้างรถยนต์เหินฟ้าจนได้