Insitro สตาร์ทอัพยุคใหม่สร้าง AI คิดค้น "ต้นตำรับยา" - Forbes Thailand

Insitro สตาร์ทอัพยุคใหม่สร้าง AI คิดค้น "ต้นตำรับยา"

FORBES THAILAND / ADMIN
04 Jun 2020 | 08:00 AM
READ 4067

มันเป็นไปได้หรือที่ข้อมูลมหาศาลผสานกับ AI คิดค้น จะเหนือล้ำไปกว่าความเชี่ยวชาญของมนุษย์ในการคิดค้นยารักษาโรค? Daphne Koller อาจจะมีคำตอบที่น่าประหลาดใจสำหรับคำถามนี้ให้กับเรา

การรุมขอถ่ายรูปกับนักวิทยาศาสตร์ที่เป็นดาวเด่นและยังเป็นผู้สร้าง AI คิดค้น สูตรตำรับยาในวงการนี้มีไม่กี่คนหรอก แต่สำหรับ Daphne Koller แล้วมันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นประจำ “มันเป็นแบบนี้แทบจะทุกงานที่มีคนในแวดวงเทคโนโลยีเข้าร่วมเลย” Koller เล่าให้เราฟังเมื่อถูกถามถึงเรื่องที่แฟนคลับเข้ามาขอถ่ายรูปกับเธอ “มันจะกระอักกระอ่วนใจนิดหน่อย เพราะฉันไม่ได้รู้สึกว่า มันเป็นสิ่งที่ฉันสมควรได้รับ” การถูกขอถ่ายรูปด้วยเป็นแค่หนึ่งในสัญญาณที่บ่งบอกความเป็นดาวเด่นของ Koller เนื่องจากชื่อเสียงของเธอสั่งสมมาจากการทำงานอย่างหนักถึงกว่า 20 ปี ในการเชื่อมโยงวิทยาศาสตร์ คอมพิวเตอร์ ชีววิทยา และการศึกษาเข้าด้วยกัน ทั้งนี้ เส้นทางการศึกษาและการทำงานของเธอนั้นก็ไม่ธรรมดาเลย เธอจบปริญญาโทจาก Hebrew University ในกรุง Jerusalem ตั้งแต่อายุ 18 ปี ต่อมาก็ได้เป็นศาสตราจารย์ที่ Stanford University โดยเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเรียนรู้ด้าน AI เมื่ออายุ 26 ปี และถัดจากนั้นอีกประมาณ 10 ปีเธอก็ได้รับทุนอัจฉริยะจากมูลนิธิ MacArthur เพื่อทำวิจัยเรื่องการนำปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามาใช้กับการศึกษาจีโนมในสาขาวิชาพันธุศาสตร์ นอกจากนี้เธอยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Coursera (มูลค่าประมาณ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มแรกๆ ที่เปิดโอกาสให้คนทั่วโลกสามารถเข้าชั้นเรียนมหาวิทยาลัยได้ฟรีโดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน ความท้าทายล่าสุดของนวัตกรวัย 51 ปีคนนี้คือ Insitro ซึ่งเป็นบริษัทที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของ San Francisco ที่มีเป้าหมายจะคิดค้นยาตัวใหม่ๆ โดยอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาลที่มีอยู่ถ้าหากความพยายามของเธอประสบความสำเร็จก็จะเป็นการพลิกโฉมหน้าวิธีการคิดค้นยารักษาโรคของโลกเลยทีเดียว โดยปกติแล้วนักชีววิทยาในห้องทดลองจะมุ่งเน้นไปที่โปรตีน 2-3 ตัวที่เป็นเป้าหมายในการผลิตยาแต่หากการทดลองไม่สำเร็จ นักวิทยาศาสตร์ด้านข้อมูลก็จะจัดทำข้อแนะนำให้นักชีววิทยาคนอื่นๆ ทำการทดลองต่อไป แต่ในทางกลับกัน Insitro พยายามจะเก็บรวบรวมข้อมูลจำนวนมากๆ ให้ได้ก่อนที่นักชีววิทยาจะเริ่มทำการทดลอง โดยจะอาศัยความก้าวหน้าในสาขาวิศวกรรมพันธุศาสตร์ (อย่างเช่นการตัดต่อยีนด้วยเทคโนโลยี Crispr) และการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ทำให้คอมพิวเตอร์สามารถมองเห็นสิ่งที่มนุษย์มองข้ามไปได้ Koller เล่าถึงช่วงเวลาที่ทำให้เธอเกิดปิ๊งไอเดียนี้ขึ้นมาว่า “การเรียนรู้ของเครื่องทุกวันนี้สามารถทำสิ่งที่น่าอัศจรรย์ได้ถ้าหากคุณป้อนข้อมูลให้กับมันมากพอ ในที่สุดเราก็มีโอกาสที่จะสร้างข้อมูลชีวภาพในปริมาณมหาศาลได้แล้ว” ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการคำนวณและนักชีววิทยาที่ Insitro ทำงานร่วมกันเพื่อสร้างการทดลองที่จะผลิตชุดข้อมูลขนาดใหญ่ขึ้นมา แล้วใช้โมเดลการเรียนรู้ของเครื่องในการหารูปแบบการทดลองใหม่ๆ และแนวทางที่อาจจะใช้ในการรักษาโรคได้ การใช้เครื่องจักรที่มีลักษณะคล้ายๆ หุ่นยนต์มาทำงานแบบอัตโนมัติ สามารถช่วยลดความผิดพลาดที่เกิดจากมนุษย์ได้ ดังนั้น Insitro จึงสามารถ “ทำการทดลองได้จบภายในระยะเวลาแค่ไม่กี่สัปดาห์ แทนที่จะต้องใช้เวลาหลายปี” Koller บอก เธอบอกว่า ประสบการณ์ของเธอในด้านปัญญาประดิษฐ์บวกกับชีววิทยาเป็นการผสมผสานที่ลงตัวอย่างสมบูรณ์แบบสำหรับนักลงทุน โดยภายในเวลาแค่ 6 เดือน Koller สามารถระดมทุนได้ถึง 100 ล้านเหรียญ จาก ARCH Ventures, Andreessen Horowitz, Foresite Capital, GV ซึ่งเป็นกองทุนร่วมทุนของ Alphabet และ Third Rock โดยมีนักลงทุนขาใหญ่อย่าง Jeff Bezos และคนอื่นๆ เข้ามาร่วมด้วยในภายหลัง เมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้วเธอได้ทำข้อตกลงกับ Gilead Sciences ซึ่งให้เงินลงทุนกับ Insitro ทันที 15 ล้านเหรียญ และสัญญาว่าจะใส่เพิ่มอีก 1 พันล้านเหรียญ ถ้าหากบริษัทพบวิธีรักษาโรคไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้สำเร็จ ซึ่งคาดกันว่าในอนาคตอันใกล้โรคนี้จะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ต้องมีการผ่าตัดเปลี่ยนตับ “มีคนไม่กี่คนหรอกที่จะรู้และเข้าใจสองเรื่องนี้เป็นอย่างดี” Mani Subramanian ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมวิจัยโรคตับที่ Gilead บอก “ทั้งเรื่องชีววิทยาและการเรียนรู้แบบลงลึก” ทั้งนี้ การที่ Insitro จะได้รับเงินก้อนโตในอนาคตจาก Gilead หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับว่า บริษัทสามารถระบุโปรตีน 5 ตัว ที่เป็นเป้าหมายในการผลิตยาและโปรตีนเหล่านั้นสามารถนำไปสู่การรักษาโรคตับอย่างได้ผลหรือไม่ หาก Insitro มีโอกาสได้เงินก้อนโตดังกล่าว รวมถึงส่วนแบ่งรายได้ที่จะได้หากปรุงยาสำเร็จ ทำให้ Insitro ได้เข้ามาอยู่ในทำเนียบ AI 50 ซึ่งเป็นรายชื่อบริษัทด้านปัญญาประดิษฐ์ที่มีแนวโน้มสดใสมากที่สุด ซึ่ง Forbes เพิ่งจัดทำขึ้นเป็นครั้งแรก นอกจาก Insitro แล้ว ยังมีกิจการสตาร์ทอัพอีกกว่า 20 แห่งที่กำลังพยายามไล่ตามความฝันที่จะค้นพบยาตัวใหม่ให้ได้เร็วขึ้น และมีราคาถูกลงโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์เป็นตัวช่วย และในบรรดากิจการเหล่านี้ก็เช่น Notable Labs ที่มีเงินทุน 55 ล้านเหรียญ และ Verge Genomics ที่มีเงินทุน 36 ล้านเหรียญ ในขณะที่ยักษ์ใหญ่ในวงการยาอย่าง Novartis ก็ได้ประกาศแผนความร่วมมือด้านปัญญาประดิษฐ์ 5 ปีกับ Microsoft ส่วน Merck และ GSK ก็จับมือกันตั้งกิจการสตาร์ทอัพขึ้นมาเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม ปัญญาประดิษฐ์ไม่ได้ถึงกับทำให้การค้นคว้าทางชีววิทยากลายเป็นเรื่องง่ายดายไปเสียทีเดียว Koller บอกว่า “ฉันไม่คิดว่าแพลตฟอร์มที่เราสร้างขึ้นมาเป็นของวิเศษหรอก” กว่าที่ Insitro จะประสบความสำเร็จได้อย่างที่หวังไว้นั้น ต้องทำการทดลองในห้องแล็บนับแสนๆ ครั้ง ผ่านหุ่นยนต์และ AI คิดต้น ตำรับยาต่าๆ ซึ่ง Koller ก็มีพลังเต็มเปี่ยมที่จะทำเช่นนั้น การที่เธอเดินไปทั่วออฟฟิศตลอดทั้งวันทำให้เธอยกโต๊ะทำงานของตัวเองให้กับพนักงานคนหนึ่งในจำนวน 53 คนของ Insitro เพราะเธอไม่เคยมีโอกาสได้นั่งโต๊ะเลย แต่เธอมักจะเดินไปเดินมาระหว่างห้องทดลองที่ตั้งชื่อว่า Macrophage (เซลล์เม็ดเลือดขาว) กับอีกห้องที่ตั้งชื่อว่า Elastic Net (เทคนิคการทำแบบจำลองในการวิเคราะห์ข้อมูล) มากกว่า บริษัทยายักษ์ใหญ่อาจจะมอง Insitro เป็นเป้าหมายที่น่าซื้อกิจการ ถ้าหากว่าบริษัทประสบความสำเร็จในการค้นพบยาตัวใหม่ แต่ Koller บอกว่า เธอไม่อยากเห็น Insitro “ถูกกลืนลงกระเพาะ” ขององค์กรขนาดใหญ่แต่เธออยากเห็น Insitro สร้างแบรนด์ยาของตัวเองขึ้นมามากกว่า เธอบอกว่า เป้าหมายสูงสุดของเธอก็คือ การที่ Insitro ทำให้คนที่มาขอถ่ายรูปคู่กับเธอมีสุขภาพแข็งแรงขึ้นโดย Koller หวังว่า คนพวกนั้นจะเดินเข้ามาหาเธอแล้วบอกว่า “เป็นเพราะคุณ ฉันถึงมีชีวิตต่อไปได้”

อ่านเพิ่มเติม:  Timothy Springer อาจารย์ Harvard ผู้กลายเป็นมหาเศรษฐีจากการต่อสู้กับไวรัสโคโรน่า


คลิกอ่านบทความทางธุรกิจที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤษภาคม 2563 ในรูปแบบ e-magazine