Francis Pedraza ขายหุ้นครึ่งหนึ่งของ Invisible Technologies ฟาร์มพนักงานฝึก AI ของเขาให้แก่บริษัทร่วมลงทุนไปเมื่อมันมีอนาคตไม่มาก แต่ในวันนี้บริษัทกำลังมาแรงเขาจึงอยากซื้อหุ้นคืนโดยใช้บริษัทเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้
ณ ช่วงต้นปี 2020 Francis Pedraza จ้องมองความล้มเหลวอยู่ตรงหน้า ศิษย์เก่า Cornell คนนี้พยายามมานานกว่า 4 ปี เพื่อนำ AI และกองทัพพนักงานทำงานทางไกลมาช่วยให้ธุรกิจต่างๆ ทำโครงการที่จุกจิกยุ่งยากได้มากขึ้น เช่น การคัดกรองประวัติผู้สมัครงาน การดูแลแชทบอท หรือแก้ไขคำบรรยายสินค้า ซึ่งเป็นงานที่จำเจแต่ก็ซับซ้อนเกินกว่าจะใช้ระบบอัตโนมัติได้ทั้งหมด
แต่ธุรกิจของเขายังหาลูกค้าได้ช้าและนักร่วมลงทุนก็ยังลังเล ชาว Silicon Valley สั่งสอนกันมาว่า ธุรกิจบริการอย่างที่ Invisible Technologies ทำนั้นถือเป็นการลงทุนที่ไม่ได้เรื่อง เพราะโตยาก บริหารยาก และปกป้องตลาดยาก ดังนั้น อย่าไปแตะ Invisible จึงเสียผู้ร่วมก่อตั้งไป 4 คน และต้องกลับไปขอเงินเพิ่มจาก angel investor ไม่กี่รายที่ยังเชื่อมั่นในบริษัทอยู่
และแล้วในเดือนมีนาคม ปี 2020 DoorDash ก็โทรเข้ามาบริษัทผู้ให้บริการส่งอาหารรายนี้บอกPedraza ว่า ต้องการความช่วยเหลือด่วนมาตรการปิดเมืองหนีโควิดจะทำให้ความต้องการบริการส่งอาหารถึงบ้านพุ่งขึ้นเท่าตัวเป็น 5.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปีนั้น ซึ่ง DoorDash กำลังแข่งกับ Uber Eats และ Grubhub เพื่อหาร้านอาหารใหม่ๆ มาเซ็นสัญญา และบริษัทเจาะจงมาว่าต้องการความช่วยเหลือในการนำข้อมูลเมนูและราคาอาหารเข้าสู่ระบบซึ่งเป็นงานยุ่งเหยิง แต่ในช่วงนั้นผู้รับเหมาที่เคยรับงานนี้ก็ปิดทำการกันหมด
นี่คือข้อตกลงที่ Pedraza ตามหามานาน “ผมเกลียดงานปฏิบัติการเพราะมันมีแรงต้านตลอดทาง แต่นั่นแหละเหตุผลที่คนยอมจ่าย” เขากล่าว
2 ปีต่อมาเขาได้รับโทรศัพท์จากบริษัทที่กำลังปวดหัวกับปัญหาเรื่องข้อมูลกองโตขึ้นไปอีก OpenAI อยากให้ Invisible ช่วยเคาะเอาข้อมูลที่อาจสร้างความเข้าใจผิดให้ AI (hallucination) ออกไปจากโมเดลที่จะกลายมาเป็นพื้นฐานของ ChatGPT หลังจากนั้นสัญญาจ้างงานจาก Amazon, Microsoft และบริษัทระดับยูนิคอร์นด้าน AI ชื่อ Cohere ก็ตามมา ทำให้รายได้ของ Invi-sible ทะยานจาก 3 ล้านเหรียญในปี 2020 เป็น 134 ล้านเหรียญในปีที่แล้ว โดยมีกำไร 15 ล้านเหรียญ (EBITDA)
ธุรกิจฝึก AI กลายเป็นวงการที่แออัดไปอย่างรวดเร็ว โดยมีโรงงาน clickworker (พนักงานที่ทำงานกับข้อมูลที่ใช้ในการฝึก AI) อย่าง Scale, Surge และ Turing ตั้งขึ้นมาแย่งงานกัน แต่ในขณะที่ Scale เน้นขยายกิจการให้สมชื่อบริษัท โดยระดมทุน 1 พันล้านเหรียญด้วยมูลค่าประเมิน 1.4 หมื่นล้านเหรียญในปีที่แล้วจากรายได้ 1 พันล้านเหรียญต่อปี Pedraza วัย 35 ปี กลับจงใจเลือกแนวทางอื่นสำหรับ Invisible ซึ่งอ้างตัวว่าเป็นบริษัทที่เน้นการทำงานทางไกล (บริษัทนี้ก่อตั้งในรัฐ Delaware แต่ Pedraza ประจำอยู่ใน New York City เป็นส่วนใหญ่) บริษัทระดมทุนได้แค่ 23 ล้านเหรียญจากนักลงทุนที่รวมถึงบริษัทร่วมลงทุน Day One, Greycroft และ Backed ซึ่งถ้าดูจากกระแสคลั่ง AI ที่ยังแรงอย่างต่อเนื่องก็ต้องถือว่าน้อยมาก
แทนที่บริษัทจะขายหุ้นให้นักร่วมลงทุนเพิ่มอีก Invisible กลับซื้อหุ้นของตัวเองคืน “เราแตกต่างจากชาวบ้านแบบสุดๆ แล้ว” Pedraza กล่าว เขายังถือหุ้นของบริษัทอยู่ประมาณ 10% ซึ่งมีมูลค่าประเมินล่าสุด 500 ล้านเหรียญในปี 2023 (เขาโชว์ความใจกว้างด้วยการแบ่งหุ้นส่วนใหญ่ให้กับพนักงานและอดีตพนักงานของ Invisible ประมาณ 300 คนที่เขาเรียกว่าเป็น “หุ้นส่วน” คนเหล่านี้ถือหุ้นรวมกัน 55% หรือประมาณคนละ 1 ล้านเหรียญ)
Pedraza กู้เงินมา 20 ล้านเหรียญในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ครั้งแรกกู้จากกองทุนเน้นการเติบโตใน New York ชื่อ Level Equity และต่อมาก็กู้จาก JPMorgan) เพื่อซื้อหุ้นคืนจากนักลงทุนกลุ่มแรกๆ ของเขา “ผมเชื่อว่ามูลค่าหุ้นเราจะเพิ่มเป็น 10 เท่า ดังนั้น กำไรจากส่วนต่างจึงดีเยี่ยม” เขากล่าว
นี่เป็นแนวทางที่กล้ามากและไม่ใช่แนวทางปกติของสตาร์ทอัพที่ได้บริษัทร่วมลงทุนช่วยหนุน การยอมจ่ายดอกเบี้ย (Level Equity คิดดอกเบี้ยเงินกู้สูงถึง 20%) จะเป็นวิธีการนำเงินทุนของ Invisible ที่มีจำกัดมาใช้อย่างดีที่สุดแล้วจริงหรือ “คุณต้องมั่นใจมากเลยนะถึงจะยอมเป็นหนี้ก้อนโตแค่เพื่อจะลดตัวหารในสัดส่วนการถือหุ้น” David Wanek ซีอีโอของกองทุนตราสารหนี้ที่เก่าแก่ที่สุดรายหนึ่งใน Silicon Valley ชื่อ Western Technology กล่าว แล้วถ้านำเงินก้อนนี้ไปใช้สร้างการเติบโตจะไม่ดีกว่าเอามาใช้เพิ่มสัดส่วนหุ้นของ Pedraza หรือ?
เรื่องนี้ตัดสินใจไม่ยากเลยสำหรับ Pedraza เพราะการเปลี่ยนลูกจ้างให้กลายเป็นเจ้าของ (รายย่อย) คือทางลัดที่สร้างการเติบโตสูงได้ด้วยงบประมาณต่ำ
มูลค่าประเมิน 500 ล้านเหรียญ (มากกว่า 3 เท่าของรายได้) ดูจะไม่สูงเท่าไรสำหรับบริษัทที่ทำธุรกิจด้านบริการ แต่ต้องถือว่าต่ำจนน่าตกใจสำหรับบริษัทด้าน AI เมื่อ Pedraza ขอซื้อหุ้นคืนจากกลุ่มนักลงทุนของเขาซึ่ง “อยู่เฉยๆ” ในปี 2021 นั้น นอกจากเขาจะเป็นผู้ขอซื้อเพียงรายเดียวแล้ว เขายังเป็นคนเสนอราคา 50 ล้านเหรียญให้เองด้วย “ทุกคนพอใจผลลัพธ์ แต่ประโยชน์อีกอย่างคือ การกดมูลค่าประเมินให้ต่ำด้วย” เขากล่าว
Edward Lando เป็น angel investor ที่ยอมขายหุ้นหลังจากที่เคยเขียนเช็คใบแรกๆ ให้ Invisible ซึ่งมีมูลค่าประเมิน 5 ล้านเหรียญเมื่อ 1 ทศวรรษก่อน “บริษัททำผลงานได้ดีต่อเนื่อง และผมนึกเสียดายอยู่เรื่อยว่าผมไม่น่าขายหุ้นไปเลย” เขากล่าว
Pedraza คิดว่าทุกคนพอใจข้อตกลงนี้ เขาได้อำนาจควบคุมเพิ่ม ส่วนนักร่วมลงทุนรายแรกๆ ซึ่งอาจจะคิดว่าตัวเองสูญเงินกับการลงทุนครั้งนี้ไปนานแล้วก็มีโอกาสถอนตัวออกไปแบบสวยๆ เรื่องการถอนตัวง่ายนั้นน่าจะถูกใจนักลงทุนเป็นพิเศษ เพราะ Pedraza พูดชัดเจนมาตลอดว่า เขาตั้งใจจะไม่ขายกิจการ Invisible หรือทำการเสนอขายหุ้น IPO โดยเขากล่าวว่า “เราไม่จำเป็นต้องขายบริษัทหรือนำหุ้นเข้าตลาดซึ่งทำให้เรามีอิสระมากกว่า”
เรื่อง: Iain Martin เรียบเรียง: ธรรดร โสตถิอำรุง ภาพ: Aleksandr Karnyukhin
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : 'Jonathan Ross' ชาร์จพลังธุรกิจ AI