พลังงานในดงดอกไม้ เมื่อพืชใกล้สูญพันธุ์เบ่งบานบนแหล่งแร่ลิเธียม - Forbes Thailand

พลังงานในดงดอกไม้ เมื่อพืชใกล้สูญพันธุ์เบ่งบานบนแหล่งแร่ลิเธียม

FORBES THAILAND / ADMIN
26 Jun 2024 | 09:30 AM
READ 1420

พืชเล็กจิ๋วและกลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นอุปสรรคของการทำเหมืองแร่ลิเธียมในรัฐ Nevada ซึ่งเตรียมผลิตแร่สำคัญนี้ในปริมาณที่มากพอจะรองรับรถยนต์ไฟฟ้าจำนวน 50 ล้านคัน และแล้วผู้ก่อตั้งก็พบวิธีที่ดีที่สุดในการเอาชนะแก๊งรักษ์โลก นั่นคือเข้าเป็นพวกเดียวกัน


    Bernard Rowe นักธรณีวิทยาสายสำรวจและซีอีโอของ Ioneer บริษัทเหมืองแร่สัญชาติออสเตรเลียกล่าวด้วยความตะลึงว่า “Rhyolite Ridge เป็นแหล่งแร่ที่น่าทึ่ง หาที่ไหนบนโลกไม่มีแล้ว”

    Rowe ในวัย 56 ปี มาที่รัฐ Nevada เพื่อสำรวจแร่ทองคำและทองแดงแล้วก็ได้พบ The Ridge แนวหินภูเขาไฟที่โผล่ออกมาทางตะวันตกเฉียงใต้ของรัฐ เขาเก็บตัวอย่างแร่ไปตรวจสอบและพบว่ามีลิเธียมและโบรอนที่มีความเข้มข้นสูง

    หลังจากพบสิ่งนี้เขารีบโทรหาเพื่อนชื่อ James Calaway ซึ่งเป็นชาว Texas ที่ทำธุรกิจเหมืองลิเธียมใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกในอาร์เจนตินา หลังจากตรวจสอบอย่างละเอียดในปี 2017 พวกเขาก็ได้สิทธิ์ในการขุดแร่ใน Esmeralda County ของรัฐ Nevada มากพอที่จะผลิตลิเธียมกว่า 100,000 ตันต่อปี ซึ่งเพียงพอที่จะผลิตแบตเตอรี่ให้ iPhone หลายพันล้านเครื่องและรถยนต์ไฟฟ้าหลายล้านคัน ตอนนี้เหลือแค่เริ่มขุด

    Rhyolite Ridge ตั้งอยู่ในที่ดินของรัฐบาลกลางซึ่งต้องได้รับใบอนุญาตจากสำนักจัดการที่ดินของกระทรวงมหาดไทย แต่เมื่อคิดถึงการที่จีนครองตลาดลิเธียมอยู่ (สกัดแร่ได้ 75% ของปริมาณที่ผลิตได้ทั้งโลก 1 ล้านตันในปี 2023) Calaway ประธานของ Ioneer เชื่อว่าโครงการของเขาจะเอื้อประโยชน์ในแง่การเมือง เพราะปัจจุบันสหรัฐฯ ยังผลิตได้เพียง 7,000 ตันต่อปี

    ยังมีเรื่องยุ่งยากนั่นคือ ดอกไม้ทะเลทรายสูง 6 นิ้วสีเหลืองที่ชื่อว่า ทีมส์บัควีท (Tiehm’s buckwheat หรือชื่อวิทยาศาสตร์ Eriogonum tiehmii) ใจกลางของพื้นที่ 900 เอเคอร์ที่มีไม้ล้มลุกหายากพันธุ์นี้อยู่ตรงจุดที่ Ioneer ตั้งใจจะทำเหมืองพอดี บริษัทจึงต้องช่วยกันหาทางออกร่วมกับนักพฤกษศาสตร์ด้านพืชทะเลทราย รวมถึงนักวิจัยจาก University of Nevada เพื่อวางแผนการขุดและ “ย้าย” ต้นไม้หลายพันต้นไปยังภูมิประเทศที่คล้ายคลึงกันในบริเวณใกล้เคียง

    “ผลการวิเคราะห์ของเราบอกว่ามันน่าจะได้ผล” Calaway กล่าว แต่เขาไม่มีโอกาสได้ลองเลย เพราะหลังจากต้นไม้พื้นเมืองนี้ 40% หรือประมาณ 17,000 ต้นล้มตายอย่างปริศนาในฤดูร้อนปี 2020 นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมก็ได้ยื่นคำร้องให้ขึ้นบัญชีมันในฐานะพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์ ส่วน Ioneer ยังเดินหน้าส่งแผนการทำเหมืองที่ปรับใหม่ตอนต้นปี 2022 หลายเดือนต่อมาองค์การบริหารปลาและสัตว์ป่าแห่งสหรัฐ (USFWS) ได้กำหนดให้ทีมส์บัควีทเป็นพืชใกล้สูญพันธุ์อย่างเป็นทางการ

    ปัญหาดอกไม้ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกของ Calaway กลายเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ที่ผู้กำหนดนโยบายต้องเผชิญ ใครจะชนะระหว่างกระแสรักษ์โลก 2 สาย เมื่อการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเรื่องหนึ่งกลายเป็นขัดแย้งกับอีกเรื่องหนึ่ง การขุดแร่ เช่น ลิเธียม นีโอไดเมียม และดิสโพรเซียม ให้เพียงพอสำหรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้รถยนต์ไฟฟ้าจะคุ้มค่าพอให้ฆ่าพืชเล็กๆ 44,000 ต้นที่เติบโตกลางทะเลทราย Nevada หรือไม่ เราควรสร้างกังหันลมนอกชายฝั่งหรือไม่หากมันทำให้วาฬและนกทะเลตาย และถ้าเป็นแบบนั้นวาฬตายกี่ตัวถึงจะถือว่ามากเกินไป

    “ทุกคนอยากให้มันสำเร็จเพื่อประโยชน์ของโลก” Calaway กล่าว ซึ่งรวมถึงรัฐบาลของ Biden ซึ่งประกาศในปี 2023 ว่า จะให้ Ioneer กู้เงิน 700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับโครงการนี้หากได้รับใบอนุญาต แต่เสียงร้องระงมของฝ่ายคัดค้านเหมือง ซึ่งรวมถึงศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพในเมือง Tucson รัฐ Arizona ก็ดังเกินกว่าจะเพิกเฉยได้ “มันเสี่ยงเกินไปที่รัฐบาลจะเซ็นอนุมัติ” Calaway คร่ำครวญ “ทีแรกผมเกลียดต้นไม้นี้เอามากๆ เลย”

    Calaway วัย 66 ปี ไม่ใช่เป็นแค่ผู้บริหารบริษัทพลังงานชาว Texas ประเภทที่เอะอะก็ชอบด่าพวกเสรีนิยม แม้ว่าพ่อของเขาจะเป็นเจ้าของบ่อน้ำมัน แต่เขาก็ยังเป็นสมาชิกตลอดชีวิตของสมาคมเพื่อการพัฒนากลุ่มคนผิวสีแห่งสหรัฐฯ (NAACP) และเป็นประธานกรรมการผู้ดูแลผลประโยชน์ของ Aspen Institute ที่เอียงซ้าย

    Calaway จบปริญญาสาขาเศรษฐศาสตร์จาก UT Austin และปริญญาโทสาขาปรัชญาจาก Oxford ในปี 1981 ก่อนที่จะทำงานเป็นผู้บริหารในบริษัทเหมืองแร่และบริษัทพลังงานลมหลายแห่ง เขากล่าวว่า ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับปัญหาของ Ioneer เรื่องต้นบัควีทจำเป็นต้องมีการปรับกรอบความคิดเสียใหม่ “เราเปลี่ยนจากความรู้สึกเกลียดชังที่สิ่งนี้เป็นอุปสรรคสำหรับเรามาเป็นการโอบรับต้นไม้นี้มาเป็นสัญลักษณ์แทน”

    “เราตัดสินใจว่าเราจะรับผิดชอบดูแลต้นไม้เหล่านี้ พอตัดสินใจแบบนั้นแล้วทุกอย่างก็เปลี่ยนไป” Ioneer ออกแบบบ่อเหมืองใหม่และใช้นโยบาย “ห้ามแตะต้อง” อย่างเข้มงวด โดยกำหนดเขตกันชนกว้างหลายร้อยฟุตล้อมรอบทุกอย่างยกเว้นต้นไม้เพียงนิดหน่อย และแทนที่จะปล่อยให้บรรดาต้นทีมส์บัควีทกลายเป็นเกาะที่ถูกล้อมด้วยเหมืองหินตัดยอด พวกเขาก็เลื่อนพื้นที่ปฏิบัติงานบางส่วนออกไปอีกครึ่งไมล์ นอกจากนี้ ก็ยังดำเนินโครงการด้านชีววิทยาอย่างจริงจังยิ่งขึ้น


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : Edgar Sia II เจ้าสัวฟิลิปปินส์ กับเป้าหมายปั้นเชนโรงแรมระดับโลก

คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤษภาคม 2567 ในรูปแบบ e-magazine