Fawn Weaver สานต่อเรื่องราวแห่งชาติพันธุ์ ชวนระลึกรสสุราปี 1856 - Forbes Thailand

Fawn Weaver สานต่อเรื่องราวแห่งชาติพันธุ์ ชวนระลึกรสสุราปี 1856

FORBES THAILAND / ADMIN
02 Oct 2024 | 09:30 AM
READ 173

ทางใต้ของรัฐ Tennessee ที่ซึ่งวิสกี้เป็นสิ่งที่อยู่กึ่งกลางระหว่างการเป็นเสมือนเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจกับการเป็นเครื่องเล่นในสวนสนุก Fawn Weaver ทอดสายตาไปยังโรงกลั่นสุรากึ่งสวนสนุกที่สร้างขึ้นใน Shelbyville เพื่อส่งเสริม Uncle Nearest แบรนด์สุราอายุ 7 ปีของเธอ


    ที่นี่มีทั้งเส้นทางชมประวัติศาสตร์ จุดชิมเครื่องดื่ม 4 แห่ง บาร์ที่ยาวที่สุดในโลก (158 เมตร) สถานที่แสดงดนตรีกลางแจ้ง โรงนาเก่าที่เคยเป็นโรงเลี้ยงม้า ร้านอาหารบาร์บีคิวและซุ้มขายของกินเล่นที่มีของกินท้องถิ่นอย่าง Goo-Goo Cluster หรือ Mountain Dew ไว้รอต้อนรับนักท่องเที่ยว ทั้งหมดมีไว้เพื่อแข่งขันกับ Jack Daniel’s ซึ่งเปิดโรงกลั่นต้อนรับนักท่องเที่ยวปีละถึง 300,000 คน ให้ได้เข้าไปลองลิ้มชิมวิสกี้ในเขตที่ไม่ได้เปิดให้จำหน่ายสุราอย่างเสรี

    ที่นี่จัดว่ามีเรื่องราวประวัติศาสตร์แฝงตัวอยู่ Fawn Weaver ซึ่งเป็นทั้งผู้ก่อตั้งและซีอีโอเปิดตัวแบรนด์ Uncle Nearest เพื่อเป็นเกียรติแก่ Nearest Green อดีตทาสและนักปรุงวิสกี้คนแรกของ Jack Daniel’s ทว่าชื่อของเขากลับถูกลบเลือนหายไปจากเรื่องราวความเป็นมาของวิสกี้ที่เล่าขานกันมานานหลายทศวรรษ เธอจึงปั้นธุรกิจนี้ขึ้นมาเพื่อโอบรับเสรีภาพที่ Green และคนรุ่นหลังไม่เคยมีโอกาสได้รับ

    “ฉันไม่เชื่อว่าเราจะเป็นเจ้าของแบรนด์สินค้าได้อย่างแท้จริงถ้าไม่ได้เป็นเจ้าของสถานที่ต้นกำเนิดสิ่งนั้นด้วย เรื่องนี้พิเศษและยิ่งสำคัญมากขึ้นอีกสำหรับบรรดาคนผิวดำ” Weaver วัย 47 ปีในชุดสีแดงจาก Athleta กล่าว “ในสมัยก่อนเรามักเน้นเช่ามากกว่าถือครองทรัพย์สิน เน้นเป็นตัวแทน คอยสร้างอะไรต่อมิอะไรให้คนอื่นแทนที่จะสร้างเป็นของตัวเอง”

    มาคราวนี้ Weaver จึงลงมือสร้างอย่างเต็มกำลัง หลังเปิดตัวเมื่อปี 2017 ยอดขายของ Uncle Nearest เพิ่มขึ้น 3 เท่าตัวตั้งแต่ปี 2021 และปีนี้น่าจะทำรายได้ถึง 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยคาดว่าจะมีกำไรสุทธิถึง 20% ซึ่งถ้าอ้างอิงข้อมูลจากบริษัทวิจัยด้านสุรากลั่น IWSR นับว่า Uncle Nearest เป็นแบรนด์วิสกี้อเมริกันที่โตเร็วที่สุดเป็นประวัติการณ์ ขับเคลื่อนธุรกิจที่ Forbes ประเมินไว้อย่างต่ำๆ ว่า น่าจะมีมูลค่าสูงถึง 1.1 พันล้านเหรียญ

    หุ้นบริษัทที่ Weaver ถืออยู่ในมือ 40% รวมถึงอสังหาริมทรัพย์ทำให้เธอมีทรัพย์สินรวมกว่า 480 ล้านเหรียญ มากพอที่จะทำให้เธอติดอันดับที่ 68 ในทำเนียบผู้หญิงสร้างเนื้อสร้างตัวที่ร่ำรวยที่สุดของ Forbes และยังเป็นเจ้าของแบรนด์วิสกี้ซึ่งมีคนผิวดำเป็นเจ้าของและบริหารงานที่ขายดีที่สุดเท่าที่เคยมีมาอีกด้วย

    ที่น่าประทับใจยิ่งไปกว่านั้นคือ เบื้องหลังการสร้างธุรกิจ Uncle Nearest การให้ความสำคัญกับการเป็นเจ้าของทำให้ Weaver ตัดสินใจกีดกันการลงทุนจากบรรดาธุรกิจร่วมลงทุนและกองทุนต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้นักลงทุนรายย่อย ทำให้มีผู้ถือหุ้นมากถึง 163 รายที่ถือหุ้นกันมูลค่าคนละ 500,000 เหรียญ และคอยจัดการแบ่งสรรปันส่วนการบริหารกิจการและการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน โดยไม่มีนักลงทุนคนไหนที่ถือหุ้นเกิน 2.3% ส่วนพนักงาน (ที่บางคนเป็นลูกหลานของ Nearest Green) ถือหุ้นได้ไม่เกิน 3%



    โครงสร้างการบริหารงานแบบกระจายอำนาจนี้ช่วยให้ Weaver ที่ถือหุ้น 40% ยังควบคุมกิจการได้ เพราะเมื่อรวมกับสัดส่วนหุ้นของ Keith สามี เธอจึงมีสิทธิ์ออกเสียงในการลงมติต่างๆ ถึง 80% และถึงตอนนี้ทางบริษัทยังมีหนี้ธนาคารอยู่อีกประมาณ 106 ล้านเหรียญ

    การปิดกั้นนักลงทุนกลุ่มสถาบันไม่ได้ทำให้บรรดานักลงทุนผู้อยู่เบื้องหลังสถาบันการเงินขยาดบริษัทนี้แต่อย่างใด Byron Trott เศรษฐีพันล้านเจ้าของธนาคารพาณิชย์ BDT & MST ที่ไม่ได้ร่วมลงทุนถึงกับยอมควักกระเป๋าลงขันเป็นการส่วนตัว เขากล่าวว่า “Fawn มีศักยภาพความเป็นผู้นำที่โดดเด่น มีวิสัยทัศน์ยาวไกล และยังรู้จักปรับตัวรับสถานการณ์ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ขาดไม่ได้ของผู้ก่อตั้งธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ”

    ไม่ว่าจะเป็นเพราะ Weaver ไม่ยอมเปิดรับการลงทุนจากรายใหญ่หรือการปิดกั้นนี้เองที่กลับยิ่งทำให้น่าดึงดูดใจ บรรดาที่ปรึกษาการลงทุนต่างพากันติดต่อไปหาเธออยู่เรื่อยๆ Jason Coppersmith ที่ปรึกษาการลงทุนในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มจาก Goldman Sachs กล่าวไว้ว่า แบรนด์สุรากลั่นหลายเจ้า “มักจะมอดดับไปในที่สุด” เมื่อเติบโตถึงจุดหนึ่ง

    แต่ในทางกลับกันวิธีที่ Weaver ใช้คือการวางรากฐานไว้เพื่อระยะยาว เธอได้ขึ้นแท่นเป็นคนผิวดำที่เป็นเจ้าของที่ดินรายใหญ่ที่สุดใน Tennessee อย่างรวดเร็ว เพราะนอกจากที่ตั้งของ Uncle Nearest ที่เธอเป็นเจ้าของ (ร่วมกับ Keith) แล้ว ไม่ไกลนักเธอมีที่ดินอีก 148 เฮกตาร์ ส่วนใน Shelbyville เธอถือกรรมสิทธิ์พื้นที่ใจกลางเมืองส่วนหนึ่ง รวมถึงอาคารสไตล์ Georgian ซึ่งเป็นที่ตั้งของสาขาธนาคาร U.S. Bank และสำนักงานใหญ่หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งด้วย

    Weaver ยังพาผู้สื่อข่าวของ Forbes ชมโรงปั่นฝ้ายเก่าขนาด 35,210 ตารางเมตรที่กำลังจะประกาศขาย ซึ่งที่นี่เคยเป็นสถานที่เพียงไม่กี่แห่งที่คนผิวดำจะหางานทำได้ในยุคหลังการประกาศเลิกทาส หลังจากการชมสถานที่ซึ่งทำให้เธอมองเห็นภาพในอนาคตว่าที่นี่จะเต็มไปด้วยถังบ่มสุรา สายพานการบรรจุขวด และพื้นที่สำหรับสำนักงานฝ่ายขาย Weaver จึงตกลงซื้อโรงปั่นฝ้ายเก่านี้กับตัวแทนขายอสังหาฯ ในราคา 2.3 ล้านเหรียญก่อนที่จะได้ประกาศขายเสียด้วยซ้ำ


เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : Mike Keiser ในวัย 79 ปีกับการปลุกปั้น ‘สนามกอล์ฟที่ตามหา’

คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนสิงหาคม 2567 ในรูปแบบ e-magazine