ท่ามกลางกระแสตื่นทอง เห่อธุรกิจปล่อยเงินกู้ทางตรง Blue Owl จาก New York เป็นผู้ยื่นจอบและเสียมให้เป็นเครื่องมือทำกินแก่บรรดาบริษัทลงทุนนอกตลาดผู้หิวกระหายจะทำข้อตกลงทางธุรกิจให้ลุล่วง
ณ ต้นเดือนเมษายน ปี 2020 ในยามที่ความหวาดกลัวโควิด-19 พุ่งขึ้นถึงขีดสุด และการลงทุนต่างๆ นอกตลาดหลักทรัพย์แทบจะหยุดชะงักโดยสิ้นเชิง Marc Lipschultz ผู้ร่วมก่อตั้ง Owl Rock Capital Partners ที่ขณะนั้นยังทำธุรกิจให้สินเชื่อทางตรงได้รับโทรศัพท์ในกลางดึกคืนวันอาทิตย์จาก Philip Hammarskjold เพื่อนเก่าแก่และประธานกรรมการของ Hellman & Friedman บริษัทไพรเวทอิควิตี้ที่กำลังอยู่ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเข้าซื้อ Checkmarx บริษัทที่ทำธุรกิจด้านความมั่นคงทางไซเบอร์เป็นเงิน 1.15 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และอยากจะได้คำยืนยันว่า Owl Rock หรือบริษัทที่เป็นต้นกำเนิดของ Blue Owl ในปัจจุบันจะยังคงให้เงินทุนหนุนหลังข้อตกลงธุรกิจนี้อยู่
“แน่นอนว่าคำตอบคือใช่” Lipschultz กล่าว “เพราะนั่นคือหลักใหญ่ใจความของธุรกิจเรา ซึ่งก็คือการเป็นทางเลือกการลงทุนในระยะยาวขึ้นที่มั่นคงแบบไม่ต้องสั่นคลอนไปตามความเอาแน่เอานอนไม่ได้ของตลาดทุน”
การเข้าซื้อกิจการเสร็จสิ้นลงเมื่อวันที่ 16 เมษายน ปี 2020 โดยมี Owl Rock เป็นผู้ปล่อยสินเชื่อที่มีสิทธิ์ได้รับชำระคืนเป็นอันดับแรก 250 ล้านเหรียญ ในอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว 7.75% อ้างอิงตามอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมระหว่างธนาคารของ London การทำธุรกิจมือใหญ่แบบนี้ทำให้ทางบริษัทกลายเป็นที่รู้จักภายในช่วงเวลาสั้นๆ เพียง 4 ปีนับตั้งแต่การก่อตั้งและท่ามกลางการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในปีถัดๆ มาผลกำไรที่ได้ก็ยิ่งงอกงามมากขึ้น
ธุรกิจหลักของ Blue Owl อย่างการให้กู้ทางตรงได้ปล่อยสินเชื่อให้ผู้กู้ไปแล้วไม่น้อยกว่า 600 ราย รวมมูลค่ากว่า 1 แสนล้านเหรียญ นับตั้งแต่ Owl Rock ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2016 ในจำนวนนี้ยอดสินเชื่อประมาณ 1.5 หมื่นล้านเหรียญอยู่ในมือของ Blue Owl Capital ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทลูกที่ทำงานด้านการพัฒนาธุรกิจที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ NYSE ที่มีผลตอบแทนภายในถึง 9.8% นับตั้งแต่เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2016
Blue Owl จาก New York City แม้จะค่อนข้างเป็นชื่อที่ไม่คุ้นหูเท่าไรนักในวงการการลงทุนนอกตลาด แต่บริษัทนี้บริหารงานโดยผู้ช่ำชองในธุรกิจ ที่นี่ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2021 หลังการควบรวมกิจการในรูปแบบ SPAC ซึ่งมีมูลค่า 1.25 หมื่นล้านเหรียญ ระหว่าง Owl Rock และ Dyal Capital Partners ของ Michael Rees ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องการซื้อหุ้นบางส่วนในบริษัทไพรเวทอิควิตี้อื่นๆ ทุกวันนี้บริษัทนี้โตขึ้นถึง 4 เท่า มียอดบริหารทรัพย์สินมากถึง 1.74 แสนล้านเหรียญ (ณ ปลายไตรมาสแรกของปีนี้) และในจำนวนนี้มีเงินถึง 9.1 หมื่นล้านเหรียญที่ทุ่มไปกับธุรกิจสินเชื่อ
หลังจากเข้าซื้อ Kuvare Asset Management และบริษัทสินเชื่อเพื่ออสังหาริมทรัพย์ Prima Capital เมื่อเดือนเมษายน มูลค่าของ Blue Owl พองโตทะลุ 2 แสนล้านเหรียญ โดยเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมหุ้นของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 86% ในรอบปีจนกลายเป็นเรื่องราวความสำเร็จที่หายากในกลุ่มบริษัทที่เกิดจากการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ในรูปแบบ SPAC ทั้ง Doug Ostrover วัย 61 ปี กับ Lipschultz วัย 55 ปี ซีอีโอร่วมของบริษัท และ Rees กรรมการผู้จัดการใหญ่ร่วม ยังคงบริหารส่วนงานการลงทุนทั่วไปที่มีเม็ดเงินกว่า 5.6 หมื่นล้านเหรียญอยู่ และทุกคนเป็นเศรษฐีพันล้านกันทั้งนั้น
Blue Owl เชี่ยวชาญการให้เงินทุนเพื่อการซื้อกิจการด้านซอฟต์แวร์และธุรกิจอื่นๆ ในภาคส่วนที่โตเร็วและกระแสเงินสดหมุนเวียนดีที่มีบริษัทไพรเวทอิควิตี้หนุนหลัง Ostrover เล่าว่า ทางบริษัทไม่เคยสูญเงินเพราะข้อตกลงซื้อบริษัทซอฟต์แวร์ ซึ่งสถิติการเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของพวกเขาเยี่ยมยอดมาก โดยในพอร์ตมียอดการสูญเสียต่อปีเพียง 0.06% เท่านั้น
“เราต้องพยายามให้แน่ใจว่าถ้าลงทุนไป 1 เหรียญจะได้คืนสัก 80 เซนต์ ซึ่งส่วนมากข้อตกลงธุรกิจเหล่านี้จะไม่ได้ประสบปัญหาตั้งแต่ต้น และถ้าหากว่าเราจัดการได้แบบนี้สัก 2-3 ปี เท่ากับคืนกำไรให้นักลงทุนได้แล้ว” Ostrover เล่าให้ฟังถึงแนวทางการลดความเสี่ยงของบริษัท และการลงทุนในอุตสาหกรรมอย่างซอฟต์แวร์ที่รูปแบบธุรกิจทำให้มีกระแสเงินสดหมุนเวียนเป็นรายปี “เป้าหมายของเราไม่ใช่ต้องได้ผลตอบแทนสูงกว่าใครๆ”
Doug Ostrover ได้รู้จักโลกแห่งสินเชื่อดอกเบี้ยสูงตั้งแต่เข้าทำงานที่บริษัทโบรกเกอร์ E.F. Hutton ไม่นานหลังจบการศึกษาสาขาเศรษฐศาสตร์จาก University of Pennsylvania เมื่อปี 1984 แรกเริ่มเขาได้ทำงานในแผนกการเงินระดับท้องถิ่นและดูแลตราสารหนี้เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรม รูปแบบสินเชื่อที่น่ากังขาประเภทนี้ช่วยให้กิจการต่างๆ ได้จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราที่ต่ำลงเพื่อนำไปก่อสร้างหรืออื่นๆ ด้วยการจัดให้เป็นตราสารประเภทที่ได้รับการยกเว้นภาษี เช้าวันหนึ่งระหว่างขึ้นรถไฟใต้ดินไปทำงาน Ostrover เปิดหนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal ไปเจอบทความว่า หน่วยงานด้านสรรพากรจะเปลี่ยนแปลงระเบียบด้านภาษีเพื่อจัดการกับตราสารประเภทนี้และพอไปถึงที่ทำงานก็พบว่า บรรดาเพื่อนร่วมงานกำลังเก็บข้าวของซึ่งวันนั้นเขาคิดว่าตัวเองคงตกงานเสียแล้ว
“พวกเขาเข้ามาที่ห้องเราแล้วบอกให้เก็บของ” Ostrover เล่าย้อน “แต่เพราะพวกคุณทำงานกับบริษัทขนาดเล็กมาตลอด ดังนั้น เราจะเปลี่ยนให้แผนกนี้เป็นแผนกตราสารอัตราผลตอบแทนสูงแห่ง E.F. Hutton และนั่นแหละคือจุดเริ่มต้นของผม”
ต่อมาในปี 1992 Ostrover เข้าทำงานในธนาคารเพื่อการลงทุนอย่าง Donaldson, Lufkin & Jenrette และมีส่วนช่วยทำให้ที่นี่กลายเป็นธนาคารที่ออกตราสารอัตราผลตอบแทนสูงมากเป็นอันดับต้นๆ ในแวดวงการเงินในช่วงทศวรรษหลังการล่มสลายของ Drexel Burnham Lambert เขาทำงานบริษัทที่ Credit Suisse ซื้อกิจการไปแห่งนี้ยาวนานถึง 13 ปี ก่อนที่เขาและเพื่อนร่วมงานคือ Bennett Goodman กับ Tripp Smith จะคิดขึ้นได้ว่าถึงเวลาแล้วที่ควรจะแตกกิ่งก้านสาขา ต่อยอดธุรกิจเป็นของตัวเอง
“เราเริ่มคิดกันว่า เราเองก็เป็นผู้ออกตราสารหนี้อันดับ 1 และอะไรที่ผ่านมือเราไปก็การันตีได้ว่าดี ดังนั้น แทนที่จะหาผู้ให้กู้ร่วมและขายตราสารให้ Pimco, Fidelity หรือ Blackrock ทำไมเราไม่สร้างธุรกิจที่จะเก็บของดีเหล่านี้ไว้กับตัวล่ะ” Ostrover กล่าว “ทุกวันนี้สิ่งที่เราทำในตอนนั้นเรียกว่าการปล่อยกู้ทางตรง แต่ในวันนั้นยังเป็นอะไรที่แทบไม่มีใครทำกัน”
3 สหายตั้งชื่อบริษัทใหม่ว่า GSO Capital Partners ตามตัวย่อนามสกุลของทั้ง 3 คน ภายในเวลาเพียง 3 ปี พวกเขาได้บริหารเงินลงทุน 1 หมื่นล้านเหรียญ เดือนมกราคมปี 2008 พวกเขาทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำจากการขายบริษัทนี้ให้ Blackstone ในราคา 945 ล้านเหรียญ ซึ่ง Ostrover ก็ยังเดินหน้าพัฒนา GSO (ที่เปลี่ยนชื่อเป็น Blackstone Credit แล้ว) ไม่ถึงปี 2015 จะมีสินทรัพย์ที่ต้องบริหารการลงทุนสูงถึง 7.5 หมื่นล้านเหรียญ จนปลุกจิตวิญญาณผู้ประกอบการของ Ostrover ขึ้นมาอีกครั้ง
ในเวลานั้นเขามองว่ามีบริษัทที่ปล่อยกู้ 10 ล้านเหรียญบ้าง 30 ล้านเหรียญบ้างอยู่ทั่วไป แต่มีเพียงไม่กี่แห่งที่จะปล่อยเงินกู้ทีละหลายร้อยล้านเหรียญอย่างที่พวกเขาทำกันที่ Blackstone ซึ่งเขารู้สึกว่ามีคนต้องการสินเชื่อก้อนใหญ่แบบนี้มากพอที่บริษัทหน้าใหม่จะพอใช้ไต่เต้าไปให้ถึงยอดพีระมิดได้ จึงเริ่มมองหาหุ้นส่วนรายใหม่ๆ
ส่วน Lipschultz นำทีมแผนกลงทุนด้านพลังงานและโครงสร้างพื้นฐานที่ KKR บริษัทที่ขึ้นชื่อเรื่องการทุ่มซื้อหุ้นกิจการ เขาเข้าทำงานที่นี่ตั้งแต่ปี 1995 ทันทีที่จบการศึกษาจาก Harvard Business School ซึ่งแม้ว่า Lipschultz จะเคยบริหารการลงทุนจนทำเงินได้หลักหลายพันล้านเหรียญมาแล้ว เช่น ข้อตกลงซื้อ Hilcorp และ East Resources แต่เขาก็เคยพลาดติดกับบริษัทที่คว้าน้ำเหลวอื่นๆ มาเหมือนกัน เช่น TXU ซึ่งประสบปัญหาในจังหวะที่ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคลดต่ำลง
ดังนั้นเมื่อ Ostrover ชวนให้เข้าสู่โลกของการลงทุนผ่านการปล่อยกู้ซึ่งความผันผวนต่ำกว่าแบบนี้เขาจึงรีบคว้าโอกาสไว้ทันที “ถ้าเกิดเราสร้างชุดผลิตภัณฑ์ที่จะช่วยให้การลงทุนในพอร์ตทางเลือกยั่งยืนและคาดการณ์ได้มากกว่าเดิม แถมยังมีการันตีว่าจะไม่ขาดทุนก็น่าจะเป็นอะไรที่พิเศษมากๆ สำหรับนักลงทุน” Lipschultz กล่าว “เราจะเป็นเสมือนจอบเสียมสำหรับขุดเหมืองทองแห่งการลงทุนในไพรเวทอิควิตี้”
หลังจากนั้นไม่นาน Ostrover ตระหนักว่า ถ้าหาก Owl Rock อยากจะก้าวขึ้นเป็น “ส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ในระบบการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาด” Dyal เป็นเหมือนอะไรที่เกิดมาคู่กัน จากที่ Owl Rock ปล่อยสินเชื่อให้บริษัทนอกตลาดนำไปลงทุนในด้านต่างๆ แต่เมื่อมี Dyal เข้ามาร่วมด้วย พวกเขาจึงสามารถนำเงินไปถึงมือบริษัทเหล่านี้และผู้ร่วมทุนต่างๆ ได้โดยตรง
ตั้งแต่เริ่มกิจการ Dyal ลงทุนในบริษัททางเลือกมากกว่า 60 แห่ง และได้พลิกให้ผู้ก่อตั้งไพรเวทอิควิตี้กลายเป็นเศรษฐีพันล้านมาแล้วนับสิบชีวิต ไม่ว่าจะเป็น Egon Durban เจ้าของ Silver Lake, Tom Gores จาก Platinum Equity และ Barry Sternlicht จาก Starwood ปัจจุบันภายใต้ชื่อ Blue Owl GP Strategic Capital ความสำเร็จทางธุรกิจของที่นี่สะท้อนถึงการเติบโตของไพรเวทอิควิตี้ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนภายในของกองทุนหลักที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ของทางบริษัท ซึ่งบริหารสินทรัพย์รวมกัน 3.9 หมื่นล้านเหรียญอยู่ที่สูงถึง 23% , 42% และ 15% ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังมีทรัพย์สินอีก 700 ล้านเหรียญที่อยู่กับกองทุน Blue Owl Home Court ซึ่งซื้อหุ้นส่วนน้อยทีมบาสเกตบอลในสหรัฐฯ อย่าง Phoenix Suns, Atlanta Hawks และ Sacramento Kings ด้วย
Blue Owl เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2021 และในปลายปีนั้นทางบริษัทยังขยายขอบเขตการลงทุนไปในตลาดอสังหาริมทรัพย์ด้วยการเข้าซื้อ Oak Street Real Estate Capital เป็นเงิน 950 ล้านเหรียญด้วย Oak Street คือผู้นำตลาดในการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์แบบทำสัญญาเช่าที่รวมค่าใช้จ่ายดำเนินการสุทธิ คือให้ผู้เช่าเป็นฝ่ายชำระทั้งค่าประกันภัย ภาษี และการบำรุงรักษาที่อยู่อาศัยเอง เพื่อลดความเสี่ยงในฝั่งของผู้ประกอบการ ทุกวันนี้ฝ่ายธุรกิจอสังหาฯ ของ Blue Owl บริหารสินทรัพย์อยู่ 2.72 หมื่นล้านเหรียญ และ Marc Zahr ผู้ก่อตั้ง Oak Street ได้ยังนั่งเก้าอี้หัวหน้าฝ่ายอสังหาริมทรัพย์ของ Blue Owl แถมได้เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ร่วมของบริษัทอีกคนหนึ่งด้วย
ปีนี้ทางบริษัทยังเดินหน้าเข้าซื้อกิจการต่างๆ อย่างไม่หยุดหย่อนต่อไป เริ่มจากการทุ่มเงิน 170 ล้านเหรียญเข้าซื้อ Prima ที่บริหารอสังหาริมทรัพย์มูลค่า 1 หมื่นล้านเหรียญอยู่ในมือ และอีก 750 ล้านเหรียญที่เข้าซื้อ Kuvare Asset Management (KAM) ซึ่งรับบริหารทรัพย์สินของบรรดาบริษัทประกันภัยที่น่าจะมาช่วยสมทบเพิ่มจำนวนสินทรัพย์ในมือที่ Blue Owl บริหารอีกถึง 2 หมื่นล้านเหรียญ นอกจากนี้ ทางบริษัทยังซื้อหุ้นบุริมสิทธิของ Kuvare UK Holdings อีก 250 ล้านเหรียญ ซึ่งที่นี่เป็นบริษัทให้บริการกรมธรรม์เงินบำนาญ และแม้จะเป็นบริษัทแยกต่างหากแต่ก็มีทรัพย์สินอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของ KAM เช่นกัน สินทรัพย์ในแวดวงประกันภัยที่เดิมนิยมลงทุนแต่ในหุ้นกู้ถือเป็นบ่อเงินบ่อทองที่บรรดาผู้ปล่อยสินเชื่อทางตรงอย่าง Blue Owl ต่างหมายตา และการทำข้อตกลงทางธุรกิจกับ Kuvare จะเปิดทางให้ Blue Owl เข้าถึงตลาดประกันภัยได้โดยไม่ต้องแข่งขันกับลูกค้าบริษัทไพรเวทอิควิตี้ด้วยการเข้าไปเป็นเจ้าของผู้ให้ประกันภัยโดยตรง
“สองธุรกิจที่กำลังจะเป็นแรงขับเคลื่อนการลงทุนทางเลือกในช่วงอีกไม่กี่ปีข้างหน้าคือการบริหารความมั่งคั่งและประกันภัย” Crispin Love นักวิเคราะห์จาก Piper Sandler ซึ่งให้คะแนนหุ้นของ Blue Owl ว่าเป็นหุ้นที่น่าซื้อกล่าวไว้ “Blue Owl มีรากฐานด้านการบริหารความมั่งคั่งและการค้าปลีกที่แข็งแรงอยู่เป็นทุนเดิมแล้ว และตอนนี้สิ่งที่ขาดหายไปน่าจะเป็นแง่ประกันภัย ดังนั้นข้อตกลง Kuvare Asset Management จะช่วยอุดรูรั่วในจุดนี้ได้”
เรื่อง: Hank Tucker เรียบเรียง: วินิจฐา จิตร์กรี ภาพ: Aleksandr Karnyukhin
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : Arnold Schwarzenegger คนเหล็กพันล้าน